ชีวิตที่พอเพียง : 2818. เรื่องเล่านักวิทยาศาสตร์ทางเลือก



บทความเรื่อง Making a difference, differently เขียนโดย Matthew Tuhill รองศาสตราจาย์ แห่ง Kapi ‘olani Community College, Honolulu ลงในวารสาร Science ฉบับวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ เป็นเรื่องเชิง career story ของคนที่เรียนปริญญาเอกสายวิทยาศาสตร์ บอกว่าชีวิตนักวิทยาศาสตร์ที่ดีไม่ได้มีเส้นทางเดียว


เมื่อผู้เขียนเรียนจบปริญญาเอกก็ทำงานเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoc) ๒ ปี แล้วก็เริ่มหวั่นไหวในอนาคตของตนเอง นั่นเป็นช่วงสิบปีที่แล้ว


สาเหตุเป็นเพราะเริ่มเบื่องานวิจัย ประกอบกับงบวิจัยของประเทศลดลง ทำให้อาชีพนักวิจัยไม่มั่นคงดังก่อน จึงแสวงหางานใหม่ ที่สนองความรักวิทยาศาสตร์ของตน และเป็นงานที่ตนสามารถ สร้างผลงานที่มีคุณค่าได้ แล้วตนก็ได้งานที่คนไม่คิดว่านักวิชาการจะทำ คือเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยชุมชน (นศ. เรียน ๒ ปี ได้อนุปริญญา เป้าหมายเพื่อการมีงานทำ) ซึ่งเทียบคล้ายๆ วิทยาลัยอาชีวะของเรา (สหรัฐอเมริกาไม่มีวิทยาลัยอาชีวะ วิทยาลัยชุมชนทำหน้าที่สร้างคนสู่อาชีพ)


อ่านเรื่องเล่านี้แล้ว ผมเรียกท่านผู้นี้ว่าเป็น “นักวิทยาศาสตร์ทางเลือก” คือเขาเลือกเอง ไม่ใช่เส้นทางอาชีพของนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป เพราะเป็นเส้นทางที่ค่าตอบแทนต่ำ และเกียรติยศศักดิ์ศรีก็ไม่สูง แต่คุณค่าต่อนักศึกษาสูงมาก รวมทั้งผลตอบแทนทางใจของ Dr. Matthew Tuhill ก็สูงมาก


ต้องอ่านบทความเองนะครับ จึงจะได้ประจักษ์ว่า ทุกขั้นตอนชีวิตเป็นการเรียนรู้และเป็นโอกาส อยู่ที่ตนเองจะเห็นโอกาสนั้นหรือไม่ และเห็นคุณค่าของโอกาสนั้นหรือไม่ คนที่รู้จักคิดเท่านั้น ที่จะเห็นช่องทางโอกาสใหม่ๆ ที่จะทำงานและใช้ชีวิตให้มีคุณค่า


คุณค่าของผลงานของ รศ. ดร. แมทธิว ทูฮิลล์ คือการฝึกนักศึกษาของวิทยาลัยชุมชน ให้ทำงานไฮเทค คือผลิตโมโนโคลนัล แอนติบอดีย์ ตามสั่งเฉพาะผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งต้องมีงานวิจัยสนับสนุนด้วย รศ. ดร. แมทธิว ทูฮิลล์ รักงานวิจัย และงานสอน จึงได้ทำสิ่งที่ตนรัก และรู้สึกคุณค่าของชีวิตที่ได้ทำงานให้แก่ นักศึกษาที่มาจากครอบครัวด้อยโอกาส


ที่น่าชื่นชมอีกอย่างหนึ่งคือ บรรณาธิการวารสาร Science ที่ริเริ่มให้มีการประกวดเรื่องเล่าชีวิตการ ทำงานวิทยาศาสตร์ เอามาลงในวารสารชั้นนำนี้ เพื่อส่งเสริมอาชีพนักวิทยาศาสตร์แบบใหม่


วิจารณ์ พานิช

๓ ธ.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 620530เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2016 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2016 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท