แนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง


แนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

22 ธันวาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ “แนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในการดำรงชีวิตของคนชนบท

แนวคิดพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในนิยาม “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” [2] เริ่มจากพระราชดำรัสเมื่อ 18 กรกฎาคม 2517 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า [3] “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด...” และ ทรงพระราชทานพระราชดำริ ไว้เมื่อปี 2519 เกิดป่าไม้ผล ไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ เป็นป่าไม้แบบผสมผสาน ณ หน่วยพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ [4]

ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง [5]

เพราะป่าให้อาหาร ให้น้ำ และให้อากาศ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ความสำคัญกับการปลูกป่า ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ อ.ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร [6] หรือ “อาจารย์ยักษ์” อดีตข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านมาเป็นเข็มทิศนำทาง ประมาณปี 2540 ท่านได้ลาออกราชการมาเริ่มต้นกับผืนดินแห้งแล้งของตนเองที่ตำบลมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จำนวน 40 ไร่ ขุดบ่อน้ำลึก 15 เมตร พื้นที่ 5 ไร่ เมื่อได้น้ำแล้ว ก็เริ่มปลูกป่าทันที ตามแนวพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จนต่อมาเห็นผลเป็นรูปธรรม จากนั้นก็กลายเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ชื่อว่า “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง” [7]

จำแนกป่า 3 อย่าง

(1) ป่าไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา ไม้ไผ่ (2) ป่าไม้กินได้ คือ ไม้ผล เช่น มะม่วง และผักกินใบต่างๆ (3) ป่าไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้ที่ปลูกไว้ขาย หรือไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก

จำแนกประโยชน์ 4 อย่าง

(1) ป่าไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ด้ามจอบเสียม ทำหัตถกรรม หรือกระทั่งใช้เป็นเชื้อเพลิง (ฟืน) ในการหุงต้ม (2) ป่าไม้กินได้ นำมาเป็นอาหาร ทั้งพืชกินใบ กินผล กินหัว และเป็นยาสมุนไพร (3) ป่าไม้เศรษฐกิจ เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน เป็นพืชที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ ซึ่งควรปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาตกต่ำและไม่แน่นอน (4) ประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกพืชที่หลากหลายอย่างเป็นระบบ จะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศในสวน ช่วยปกป้องผิวดินให้ชุ่มชื้น ดูดซับน้ำฝน และค่อยๆ ปลดปล่อยความชื้อสู่สวนเกษตรกรรม

ปลูกป่า 5 ระดับ

ดำรงชีพ และฟื้นธรรมชาติ ตามชั้นความสูงของไม้ซึ่งได้มาจากการสังเกตธรรมชาติของป่าคือ (1) ไม้ระดับสูง เช่น ตะเคียน ยางนา มะค่าโมง สะตอ มะพร้าว (2) ไม้ระดับกลาง เช่น ผักหวานป่า ติ้ว พลู กำลังเสือโคร่ง กล้วย (3) ไม้พุ่มเตี้ย เช่น ผักหวานบ้าน มะนาว พริกไทย ย่านาง เสาวรส (4) ไม้เรี่ยดิน เช่น ผักเสี้ยน มะเขือเทศ สะระแหน่ (5) ไม้หัวใต้ดิน เช่น ข่า ตะไคร้ ไพล เผือก มัน บุก กลอย

เมื่อปลูกไม้ครบทั้ง 5 ระดับแล้ว เอาฟางห่มดินให้หนาเพื่อรักษาความชื้นให้กับดิน จุลินทรีย์ในดินจะขยายตัว รากของต้นไม้จะชอนไชไปในดินได้ง่าย ตามด้วยปุ๋ยแห้งจำพวกมูลสัตว์โรยทับ แม้จะไม่ถึงดินโดยตรง แต่ความชื้นจะค่อยๆ ดึงปุ๋ยลงสู่ดิน ดินก็จะย่อยสลาย “นี่ยังเป็นยุทธวิธีสู้ภัยแล้งได้อย่างมหัศจรรย์”

การพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เนื่องจากป่าไม้ของประเทศไทยถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วตามแรงหนุนเนื่องของประชากรที่เพิ่มขึ้นผนวกกับพลังผลักดันทางเศรษฐกิจระบบทุนนิยมเสรีที่มุ่งค้าขาย โดยใช้ป่าเป็นตัวสำคัญเชิงพาณิชย์ พระองค์ทรงห่วงใยเป็นอย่างมาก มีแนวทางพระราชดำริสำคัญดังนี้ [8]

ป่าไม้สาธิต ทรงเริ่มทดลองปลูกต้นยางด้วยพระองค์เอง โดยทรงเพาะเมล็ดยางในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และได้ทรงปลูกต้นยางนั้นในแปลงป่าไม้ทดลองในบริเวณแปลงทดลองปลูกต้นยางนาพร้อมข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2504 จำนวน 1,250 ต้น ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดาในลักษณะป่าไม้สาธิต นอกจากนี้ยังได้สร้างพระตำหนักเรือนต้นในบริเวณป่าไม้สาธิตนั้นเพื่อทรงศึกษาธรรมชาติวิทยาของป่าไม้ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งในปี 2508

ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก 3 วิธี

ถ้าเลือกได้ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว การปลูกป่าในที่สูงทรงแนะนำวิธีการ ดังนี้ (1) ใช้ไม้จำพวกที่มีเมล็ดทั้งหลายขึ้นไปปลูกบนยอดที่สูง เมื่อโตแล้วออกฝักออกเมล็ดก็จะลอยตกลงมาแล้วงอกเองในที่ต่ำต่อไป เป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ (2) ปลูกป่าต้นน้ำลำธาร หรือ การปลูกป่าธรรมชาติ ทรงเสนอแนวทางปฏิบัติว่า ปลูกต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิม คือ ศึกษาดูก่อนว่าพืชพันธุ์ไม้ดั้งเดิมมีอะไรบ้าง แล้วปลูกแซมตามรายการชนิดต้นไม้ที่ศึกษาได้ (3) งดปลูกไม้ผิดแผกจากถิ่นเดิม คือ ไม่ควรนำไม้แปลกปลอมต่างพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาปลูกโดยยังไม่ได้ศึกษาอย่างแน่ชัดเสียก่อน

การปลูกป่าทดแทน

การปลูกป่าทดแทน เพื่อคืนธรรมชาติสู่แผ่นดินด้วยวิถีทางแบบผสมผสานกันในเชิงปฏิบัติ ด้วยเพราะประเทศไทยเรามีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียงร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศประมาณการได้เพียง 80ล้านไร่เท่านั้น หากจะเพิ่มเนื้อที่ป่าไม้ให้ได้ประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศแล้ว คนไทยจะต้องช่วยกันปลูกป่าถึง 48 ล้านไร่ โดยใช้กล้าไม้ปลูกไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านต้น ใช้เวลาถึง 20 ปี จึงจะเพิ่มป่าไม้ได้ครบเป้าหมายที่กำหนดไว้เท่านั้น

ได้แก่ การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกแผ้วถางและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา การปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำบนยอดเขาและเนินสูง การปลูกป่าที่ยอดเขา การปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ หรือเหนืออ่างเก็บน้ำที่ไม่มีความชุ่มชื้นยาวนานพอ การปลูกป่าเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำและแหล่งน้ำให้มีน้ำสะอาดบริโภค การปลูกป่าให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น การปลูกป่าเสริมธรรมชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่า เป็นต้น

การปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง ถือเป็นการรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยพระปรีชาญาณอย่างชาญฉลาดให้เกิดประโยชน์แก่ปวงชนมากที่สุดยาวนานที่สุดและทั่วถึงกัน เป็นการปลูกป่าในเชิงผสมผสาน ทั้งด้านเกษตรวนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมไว้เป็นมรรควิธีปลูกป่าแบบลักษณะเบ็ดเสร็จนั้นไว้ด้วยกัน ยังความเจริญพัฒนาก้าวหน้าแก่พสกนิกรทั่วไป



[1] PhachernThammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2559 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23250 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ที่ 23 – วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2559, หน้า 66

[2] 3 ห่วง 2 เงื่อนไข : หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, https://aeioulove4143.wordpress.com/3-ห่วง-2-เงื่อนไข-หลักปรัชญ/ & หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข, https://sites.google.com/site/sufficiencyeconomybrr/hlak-3-hwng-2-ngeuxnkhi

3 ห่วง คือ (1) ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ (2) ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ (3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

2 เงื่อนไข คือการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ประกอบไปด้วย (1) เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการ วางแผน และความระมัดระวังในขั้นตอนปฏิบัติ (2) เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

และ สมดุล 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม

[3] พิชัย แจ่มจำรัส, “สืบสานแนวคิดด้านความปลอดภัย ประยุกต์ใช้ในการทำงาน” กับโครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9, 16 ธันวาคม 2559, www.greencoun.com/3forest_4benefits.php

[4] ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 ประการ, บ้านไร่นาเรา, http://www.banrainarao.com/knowledge/tree_bank

[5] การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, http://tak.dnp.go.th/Home_files/Division/dumri/km/image/การปลูกป่า%20%203%20%20อย่าง%20%20ประโยชน์%20%204%20%20อย่าง.doc

& ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, วิถีพอเพียงและ วิชาการ.คอม, ข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของวารสารจดหมายข่าว รักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล, 16 กันยายน2552, http://www.pttplc.com/TH/Default.aspx & http://www.vcharkarn.com/varticle/39438

[6] วิวัฒน์ ศัลยกำธร, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/วิวัฒน์_ศัลยกำธร

& ผู้เด็ดเดี่ยวตามรอยในหลวง อ.ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ให้เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชีวิต, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 28 พฤษภาคม 2558, http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000059714

[7] ประวัติความเป็นมาศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง, http://www.agrinature.or.th/node/84

[8] ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, มูลนิธิชัยพัฒนา, http://www.chaipat.or.th/site_content/68-4/254-theory-developed-forest-restoration.html

ดอยตุงโมเดล : ไทยรัฐออนไลน์, ชมชื่น ชูช่อ, 9 เมษายน 2556, https://www.thairath.co.th/content/337540

พูดถึงการบริหารจัดการน้ำป่าต้นน้ำ ในพื้นที่สูงต้องยกให้ “ดอยตุงโมเดล” เป็นต้นแบบของการปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 620494เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2016 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2020 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท