๒๐๖ ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่...ครั้งแรก


ปลูกครั้งก่อน ใช้วิธีดำนา ครั้งนี้ปลูกนอกฤดูและจะใช้วิธีหยอดเมล็ด เหมือนจะไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย สำหรับครูและนักเรียน ซึ่งไม่มีประสบการณ์เลย

ที่โรงเรียนจะปลูกข้าวปีการศึกษาละ ๑ ครั้ง ปีนี้ปรับเปลี่ยนใหม่ จะปลูก ๒ ครั้ง และจะปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นครั้งแรก หลังจากปลูกข้าวพันธุ์หอมสุรินทร์และเก็บเกี่ยวเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นก็สีเป็นข้าวกล้อง ป้อนเข้าสู่ครัวโรงเรียน..เป็นอาหารกลางวัน...

ปลูกครั้งก่อน ใช้วิธีดำนา ครั้งนี้ปลูกนอกฤดูและจะใช้วิธีหยอดเมล็ด เหมือนจะไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย สำหรับครูและนักเรียน ซึ่งไม่มีประสบการณ์เลย

วันนี้ เชิญ กรรมการสถานศึกษา ผู้มีความชำนาญการปลูกข้าว มาอธิบายวีธีการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ และเปิดโอกาสให้นักเรียนซักถาม มีข้อคำถามที่น่าสนใจ อาทิ..หลุมลึกมากน้อยแค่ไหน แต่ละหลุมและแต่ละแถวนั้นห่างกันเท่าไร ต้องหยอดกี่เมล็ด และไม่ต้องเอาน้ำใส่ในแปลงนาก่อนใช่หรือไม่

คำถามสุดท้าย ผมเป็นคนถามเอง..ก็ได้คำตอบว่า ยังไม่ต้องใส่น้ำในแปลงนาก็ได้ ขุดหลุมหยอดเมล็ดข้าวได้เลย เมื่อต้นกล้าโตสักหน่อย ค่อยเติมน้ำเข้านา

๑๔.๓๐ น. ผมให้ ป.๕ ดูแลผักสวนครัว ส่วน ป.๖ ผมเรียกประชุมวางแผน ตกลงกันว่า วันนี้จะเริ่มปลูก โดยแบ่งเป็น ๑๐ แถว มีนักเรียน ๑๐ คน ก็แบ่งกันคนละแถว คงปลูกได้วันละ ๒ แถวเท่านั้น ใช้เวลา ๕ วัน ก็จะครบถ้วนและเสร็จเรียบร้อย ว่าแล้วนักเรียนก็ช่วยกันขึงเชือกทำแนว แล้วขุดหลุมทันที....

ขณะที่นักเรียนช่วยกันทำงาน ก็มีเสียงบ่น ปนคำถามว่า ดินแข็งจัง ..ทำไมไม่รดน้ำให้ดินชื้นก่อน..ปลูกข้าวแบบนี้ เหมือนปลูกผักเลยนะ ..และปลูกไม่พร้อมกัน..ข้าวน่าจะสูงไม่เท่ากัน

ผมเลยบอกว่า เริ่มปลูกวันจันทร์ แล้วเสร็จวันศุกร์ ห่างกันแค่ ๔ – ๕ วัน ความสูงของต้นข้าวคงไม่แตกต่างกันเท่าไรหรอก เดี๋ยวเราใช้น้ำหมักชีวภาพ ช่วยเร่งให้ต้นกล้า โตทันกันก็ได้

นักเรียน ป.๖ เลขที่ ๑ – ๒ หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ หลุมละ ๗ เมล็ด เพื่อนๆเข้ามาช่วย เอาแรงกันไว้ ป.๕ เสร็จจากรดน้ำต้นไม้ ก็มาช่วยกลบหลุม และช่วยรดน้ำจนชุ่มโชก ส่วนนักเรียนหญิงช่วยเอาฟางข้าวมาคลุม มองดูเหมือนแปลงผักขนาดยาว แปลกตาดี

ผมบอกนักเรียนให้เริ่มสังเกตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปว่า ใช้เวลากี่วันข้าวถึงจะงอก และงอกจำนวนกี่ต้น/หลุม...ทุกคนต้องจดบันทึกมาส่งครู.

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 620432เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2016 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2016 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมบอกนักเรียนให้เริ่มสังเกตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปว่า ใช้เวลากี่วันข้าวถึงจะงอก และงอกจำนวนกี่ต้น/หลุม...ทุกคนต้องจดบันทึกมาส่งครู..
..

สะท้อนวิถีการเรียนรู้ ถอดรหัสพฤติกรรมของสรรพสิ่ง อย่างน่าชื่นใจมากโขเลยทีเดียวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท