Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะแก้ปัญหาความไร้สัญชาติของน้องบอส


กรณีศึกษา “น้องบอส” : เขาประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อสอบในวิชา น.๔๙๐/น๔๙๑ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และศูนย์ลำปาง

เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙

-------------

ข้อเท็จจริง

--------------

ปรากฏข้อเท็จจริงจากบันทึกของเภสัชกรหญิงปรียานุช กฤษณะประสิทธิ์ดังนี้[1]

นายเซิง แซ่ตวง เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ที่จังหวัดยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเกิดจากนายหยูจิง แซ่ตวง และนางเชียงควง แซ่ลี คนเชื้อสายจีน และสัญชาติจีน ในขณะที่นายเซิงเกิด มีปัญหาความไม่สงบอย่างมากในพื้นที่ที่เขาเกิด เขาจึงไม่ได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐจีน และไม่เคยมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐจีนเช่นกัน

ในราวเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ นายเซิงได้เดินเท้าเข้ามาในประเทศไทย ผ่านเข้ามาทาง บ้านถ้ำง้อบ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเข้ามาอาศัยอยู่ในตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และประกอบอาชีพรับจ้างทำสวนผลไม้เพื่อยังชีพ

โดยตระหนักในปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติที่นายเซิงประสบอยู่ กรมการปกครอง ซึ่งทำหน้าที่นายทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงได้เข้าสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้แก่นายเซิงเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑ ซึ่งทะเบียนประวัติดังกล่าวมีชื่อว่า “จีนฮ่ออพยพ” และกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้นายเซิงถือเพื่อแสดงตน เลขประจำตัวดังกล่าวขึ้นต้นด้วยเลข ๖ นอกจากนั้น กรมการปกครองไทยยังได้ออกบัตรประจำตัวตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่มีชื่อว่า “บัตรประจำตัวจีนฮ่ออพยพ” ให้ถือไว้อีกด้วย

ในราว พ.ศ.๒๕๓๒ นายเซิงได้เข้ามารับจ้างทำงานให้แก่ครอบครัวกฤษณะประสิทธิ์ในกิจการโต๊ะสนุกเกอร์ในโรงแรมไทยวารี ณ ถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร

วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๘ นายเชิงได้รับอนุญาตให้มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยในสถานะคนไร้สัญชาติ ทั้งนี้ โดยผลของมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ โดยสถานะบุคคลนี้ เขาได้รับการออกใบถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว นอกจากนั้น เขาได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๘ ในปัจจุบัน นายเซิงมีทะเบียนบ้านอยู่ในความดูแลของเขตพระนคร

ใน พ.ศ.๒๕๔๔ นายเซิงได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวหรงชุน ลี่ โดยได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายไทย แต่หลังจากนั้นประมาณ ๑ ปีครึ่ง เขาจึงได้แยกทางกับนางสาวหรงชุน โดยไม่มีบุตรร่วมกัน

ใน พ.ศ.๒๕๔๕ นายเซิงได้เริ่มต้นเข้ามาดูแลกิจการร้านข้าวมันไก่ของเภสัชกรปรียานุช กฤษณะประสิทธิ์ เมื่อครอบครัวกฤษณะประสิทธิ์เลิกกิจการโต๊ะสนุกเกอร์

ใน พ.ศ. ๒๕๔๘ นายเซิงได้เริ่มต้นอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวเสี่ยวเอี้ยน เฉิน ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติจีน เธอถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยวบ้าง หรือวีซ่าทำงานบ้าง สลับกันไป

ในวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ นายเซิงและนางสาวเสี่ยวเอี้ยน มีบุตรด้วยกัน ๑ คน ซึ่งมีชื่อว่า เด็กชายณพวุฒิ แซ่ตวง หรือ “น้องบอส” ซึ่งเกิด ณ โรงพยาบาลหัวเฉียว เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.

เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ น้องบอสได้รับการออกสูติบัตรประเภท ท.ร.๓ เพื่อบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในลักษณะชั่วคราว สูติบัตรนี้ระบุว่า น้องบอสไม่มีสัญชาติไทย และระบุว่า น้องบอสมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗ และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งทะเบียนบ้านนี้ซึ่งออกโดยเขตพระนครนี้ ก็ระบุว่า น้องบอสไม่มีสัญชาติไทย แต่ขอให้สังเกตว่า ทั้งสูติบัตรและทะเบียนบ้านนี้ต่างก็ระบุว่า นายเซิงเป็นคนสัญชาติจีน มิใช่คนไร้สัญชาติ ดังที่ปรากฏในใบถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

นอกจากนั้น ไม่ปรากฏว่า นางสาวเสี่ยวเอี้ยนได้เคยเพิ่มชื่อน้องบอสในทะเบียนราษฎรของรัฐจีนแต่อย่างใด

เมื่ออายุ ๓ ปี น้องบอสเริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาล ที่ โรงเรียนภารตวิทยาลัย และยังคงเรียนในสถาบันนี้ จนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไปแก่บุตรของบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศและอาศัยอยู่มานานแล้วที่มิได้มีเชื้อสายไทยและเกิดในประเทศไทย หากบุพการีมีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยไว้แล้ว รวม ๑๔ กลุ่ม ได้แก่ (๑) กลุ่มชาวเขา ๙ เผ่า (๒.) กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนพื้นที่สูงที่อพยพเข้ามาก่อนและหลังวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๘ (๓.) กลุ่มอดีตทหารจีนคณะชาติ (๔.) กลุ่มจีนอพยพพลเรือน (๕) กลุ่มจีนฮ่ออิสระ (๖.) กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (๗.) กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า (๘.) กลุ่มชาวเวียดนามอพยพ (๙.) กลุ่มชาวลาวอพยพ (๑๐.) กลุ่มเนปาลอพยพ (๑๑.) กลุ่มอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (๑๒.) กลุ่มไทยลื้อ (๑๓.) กลุ่มม้งถ้ำกระบอกที่ทำคุณประโยชน์ และ (๑๔.) กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวกัมพูชา ขอให้ตระหนักว่า บุคคลทั้ง ๑๔ กลุ่มนี้ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและมีเอกสารแสดงตน มาตั้งแต่ก่อนวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๘ โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง นอกจากนั้น บุตรของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง ๑๔ กลุ่มนี้ จะต้องมีข้อเท็จจริง ๗ ประการ ดังต่อไปนี้อีกด้วย (๑.) ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น (๒.) เกิดและมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่อง โดยต้องมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร หรือมีเอกสารทางราชการที่แสดงว่าเกิดในราชอาณาจักรไทย (๓.) สามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ ยกเว้นกรณีเด็กอายุต่ำกว่าเจ็ดปี (๔.) ต้องมีความจงรักภักดีต่อประเทศไทย และเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (๕.) มีความประพฤติดี ไม่เคยได้รับโทษคดีอาญา เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ กรณีได้รับโทษในคดีอาญาต้องพ้นโทษแล้วอย่างน้อยห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้อง (๖.) ประกอบอาชีพสุจริต ยกเว้นพระภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาอื่น ๆ ซึ่งต้องปฏิบัติกิจมาไม่น้อยกว่าห้าปี หรือผู้ยื่นคำร้องที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และไม่ได้ประกอบอาชีพ และ (๗.) ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หลักเกณฑ์นี้ไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ประเภทที่อาศัยอยู่มานานซึ่งสำรวจภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๙ ถึงปี พ.ศ.๒๕๕๒

เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เขตพระนคร กทม. ได้ออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ประเภทบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยให้แก่น้องบอสเพื่อแสดงตน ตามคำขอของเภสัชกรปรียานุช ซึ่งทำการแทนนายเซิงและนางสาวเสี่ยวเอี้ยน

ใน พ.ศ.๒๕๕๙ นายเซิงได้เข้าทำงานเป็นพ่อครัวในร้านต้นตำรับไทยอีกด้วย ในขณะที่นางสาวเสี่ยวเอี้ยนก็ยังเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นปกติ

ในปีเดียวกัน เภสัชกรปรียานุชได้ยื่นขออนุญาตต่ออธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่จะรับน้องบอสเป็นบุตรบุญธรรม ด้วยว่า เธออยากที่จะอุปถัมภ์น้องบอสให้ได้รับการศึกษาให้ดีที่สุด ซึ่ง นายมานิตย์ มณีธรรม รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนก็ได้ลงนามในหนังสือที่ พม.๐๓๐๖/๙๒๑๑ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เพื่ออนุมัติให้ทำการทดลองเลี้ยงดูเด็ก ก่อนที่จะมีกระบวนการตาม พ.ร.บ.การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒ เพื่ออนุญาตให้เป็นผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนครอบครัวบุญธรรมตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘

---------------------

ประเด็นพิจารณา

----------------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล น้องบอสประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร ?

--------------

แนวคำตอบ

--------------

มีคำตอบสำหรับคำถามในข้อนี้ ๓ ประเด็น กล่าวคือ (๑) น้องบอสมีสถานะเป็นคนไร้รัฐหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? (๒) น้องบอสมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? และ (๓) การจัดการปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของน้องบอสต้องทำอย่างไร ? ด้วยข้อกฎหมายและข้อนโยบายใด ?

(๑) น้องบอสมีสถานะเป็นคนไร้รัฐ (Stateless Persons) หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล “คนไร้รัฐ (Stateless Person)” ก็คือ คนที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐทุกรัฐบนโลก อันทำให้คนดังกล่าวตกเป็น “คนไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมจะต้องได้รับการรับรองสถานะคนเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดและ/หรือรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุพการีทั้งสอง อันทำให้คนดังกล่าวย่อมได้รับการบันทึกทั้งในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติของรัฐใดรัฐหนึ่ง อันทำให้คนดังกล่าวย่อมมีสถานะเป็น “คนมีรัฐเจ้าของตัวบุคคล” อันทำให้นายทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎรมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่คนดังกล่าว คนในสถานการณ์นี้ย่อมมีสถานะเป็นคนที่ “มี” เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ (Documented Person) คนในสถานการณ์นี้จึงไม่ประสบทั้งปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร แต่ในทางตรงกันข้าม หากคนดังกล่าวไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก (Unregistered Person) พวกเขาก็จะมีสถานะเป็น “คนไร้รัฐ” อันทำให้ตกเป็นคนที่ “ไม่มี” เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ (Undocumented Person) เพราะไม่ปรากฏตัวนายทะเบียนราษฎรของรัฐเพื่อออกเอกสารรับรองตัวบุคคล

โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงของน้องบอส จะเห็นว่า น้องบอสเกิดในวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ณ โรงพยาบาลหัวเฉียว เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และได้รับการจดทะเบียนคนเกิดเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ จนได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ จึงประสบปัญหาความไร้รัฐระหว่างวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ รวมเป็นเวลา ๓๖ วันเท่านั้น ในระหว่างกระบวนการตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อจดทะเบียนคนเกิดอย่างครบขั้นตอน

จะเห็นว่า เมื่อเขาได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยประเภทนี้แล้ว เขาก็จะไม่มีสถานะเป็นคนไร้รัฐอีกต่อไป เพราะการบันทึกในทะเบียนบ้านนี้โดยเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายย่อมหมายความได้ว่า รัฐไทยได้ยอมรับเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเขาแล้ว เขาย่อมมีสถานะเป็นราษฎรไทย และมีสิทธิในเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐไทย ในที่นี้ ก็คือ สำเนาทะเบียนบ้านประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว (ท.ร.๑๓) และบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย ประเภทคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๓๘[2] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ประกอบกับข้อ ๕๖ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการรับแจ้งว่า มีคนเกิดในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล[3] ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลในช่วงเวลาที่เขาเกิด

จึงสรุปได้ว่า ความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงของน้องบอสย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ และเข้าสู่สถานะของ “คนมีรัฐแต่ไร้สัญชาติ” ในทะเบียนราษฎรไทย หรือเป็น “ราษฎรไทยประเภทคนไร้สัญชาติ”

(๒) น้องบอสมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ (Nationality-less Persons) หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นคนที่มีรัฐหรือคนที่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ก็ไม่หมายความว่า คนในสถานการณ์นี้จะได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ โดยรัฐใดรัฐหนึ่งเสมอไป พวกเขาอาจจะมีสถานะเป็น “คนมีรัฐมีสัญชาติ” หรือ “คนมีรัฐแต่ไร้สัญชาติ” ก็เป็นได้

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของน้องบอส เราอาจจำแนกสภาวะความเป็นคนไร้สัญชาติของน้องบอสออกเป็น ๓ ช่วงเวลา กล่าวคือ

ในช่วงเวลาแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้องบอสประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งเป็นวันที่น้องบอสเกิด จนถึงวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่น้องบอสจะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนไม่มีสัญชาติไทย

เราพบว่า ในช่วง ๓๖ วันภายหลังการเกิด น้องบอสก็จะมีสถานะเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของทุกรัฐบนโลก เขาจึงประสบปัญหาความไร้สัญชาติไปด้วย จะเห็นว่า สภาวะดังกล่าวปรากฏอยู่กับน้องบอสเพียง ๓๖ วัน กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ จนถึงวันวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ๒๕๕๐ อันเป็นวันก่อนวันที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) กล่าวคือ วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐

ในช่วงเวลาที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้องบอสมีสถานะเป็นคนที่มีรัฐไทยเป็นเจ้าของตัวบุคคล แต่ยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติ เพราะรัฐเจ้าของตัวบุคคลยังไม่รับรองจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงอันก่อตั้งสิทธิในสัญชาติโดยการเกิด กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันที่น้องบอสได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนไม่มีสัญชาติไทย จนถึงปัจจุบัน

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของน้องบอสในช่วงเวลานี้ แม้เขาได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยแล้ว และได้รับการออกบัตรประจำตัวตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้ถือเพื่อแสดงตน เขาก็ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย เพราะเขามีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของบุคคลที่ตกอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นของการได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด “แบบมีผลโดยพลัน” ตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑[4] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ จึงไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยนี้ได้ จนกว่าจะมีข้อเท็จจริงครบเงื่อนไขตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕[5] และ โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑[6] จึงสรุปได้ว่า การเกิดในประเทศไทยของน้องบอสมีผลทำให้เขามีเพียงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด “แบบมีเงื่อนไข”

ขอให้ตระหนักว่า การรับรองสิทธิในสัญชาติไทยของคนในสถานการณ์ดังน้องบอส กล่าวคือ บุตรของชนกลุ่มน้อยที่เคยได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติประเภท “จีนฮ่ออพยพ” หรือ “จีนฮ่ออพยพพลเรือน” เพิ่งมีในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เท่านั้น ดังนั้น ก่อนวันที่ดังกล่าว น้องบอสก็ยังไม่ถูกถือเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ ซึ่งเงื่อนไขในการใช้สิทธิในสัญชาติไทยนี้ ได้รับการรับรองโดยคณะรัฐมนตรีแล้ว

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของน้องบอสในช่วงเวลานี้ เราอาจสรุปได้ว่า เขายังมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติโดยข้อกฎหมาย (De Jure Nationality – less Person) กล่าวคือ เป็นที่ชัดเจนว่า ปัญหาความไร้สัญชาติของเขานั้นเกิดขึ้น เพราะยังไม่มีการกระทำทางกฎหมายโดยรัฐเจ้าของสัญชาติเพื่อรับรองสิทธิใช้สัญชาติไทย ปัญหาอยู่ที่ความขาดไปของข้อกฎหมายหรือข้อนโยบาย

โดยสรุป ในช่วงเวลาที่สองนี้ น้องบอสจึงจัดเป็น “คนมีรัฐแต่ไร้สัญชาติ” ประเภทรอการกำหนดนโยบายรับรองสิทธิในสัญชาติไทย

ในช่วงเวลาที่สาม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้องบอสมีสถานะเป็นคนที่มีรัฐไทยเป็นเจ้าของตัวบุคคล และรัฐนี้ได้กำหนดเงื่อนไขการใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดแบบมีเงื่อนไขตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสองแล้วโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ แต่กระบวนการร้องขอใช้สิทธิในสัญชาติไทยยังไม่เกิดขึ้น น้องบอสจึงยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติต่อไป กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีของรัฐไทยรับรองสิทธิในสัญชาติไทยนี้แล้ว อันทำให้น้องบอสมีสิทธิในการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทย และมีสิทธิในบัตรประชาชนตาม พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ เพื่อแสดงตนเป็นคนสัญชาติไทย

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของน้องบอส เราอาจสรุปเป็นที่สุดได้ว่า ในปัจจุบัน เขายังมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง (De facto Nationality – less Person) กล่าวคือ เป็นที่ชัดเจนว่า ปัญหาความไร้สัญชาติของเขานั้นเกิดขึ้น เพราะข้อเท็จจริงอันก่อตั้งสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดนั้นยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐเจ้าของสัญชาติ ปัญหามิได้อยู่ที่ความขาดไปของข้อกฎหมายหรือข้อนโยบาย

ขอให้ตระหนักว่า เป็นที่ชัดเจนว่า น้องบอสเป็นบุคคลที่ได้รับการรับรองความมีสิทธิในสัญชาติไทยแล้วตามที่กำหนดในมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เพียงแต่กระบวนการเพื่อร้องขอใช้สิทธิตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติและกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรยังไม่ทำโดยบุพการีของน้องบอส อาจด้วยความไม่รู้และไม่เข้าใจในข้อกฎหมายและข้อนโยบายดังกล่าว จึงกล่าวชัดๆ ว่า เขามีสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติไทยในสถานะคนสัญชาติไทย “เรียบร้อยแล้ว” เพราะเขามีข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขที่มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ กำหนดครบถ้วนแล้ว

เมื่อกระบวนการขอพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยยังไม่เริ่มต้น น้องบอสจึงยังมิได้รับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย เขาจึงยังเข้าไม่ถึง (๑) สิทธิในเลขประจำตัวในสถานะคนสัญชาติไทยตามมาตรา ๑๖ วรรคแรก[7] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ (๒) สิทธิในการบันทึกในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวรในสถานะคนสัญชาติไทยตามมาตรา ๓๖ วรรคแรก[8] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

ขอให้ตระหนักว่า ในวันที่น้องบอสเข้าถึงสิทธิทั้งสองนี้อย่างครบถ้วนแล้ว เขาก็จะพ้นจากสถานะคนไร้สัญชาติ กลับเป็นคนมีสัญชาติ หรือกล่าวให้ชัดเจน ก็คือ เป็นคนที่รัฐไทยยอมรับเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติโดยหลักดินแดนโดยการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเอง เขาจึงมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนสัญชาติไทยโดยการเกิด อันทำให้มีสิทธิในเอกสารรับรองตัวบุคคลในสถานะดังกล่าว เพื่อการใช้สิทธิอื่นๆ อันพึงมีแก่คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ต่อไป

(๓.) การจัดการปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของน้องบอสต้องทำอย่างไร ? ด้วยข้อกฎหมายใด ?

การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อน้องบอสย่อมจะต้องทำใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ (๒) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไปเพื่อน้องบอส โดยกรมการปกครองไทย โดยกระบวนการตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและว่าด้วยบัตรประชาชน และ และ (๓) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์เฉพาะเรื่องเพื่อน้องบอส โดยส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๓.๑.) การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓

การพิสูจน์สิทธิดังกล่าวของน้องบอสจะต้องทำ ณ สำนักความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง เนื่องจากน้องบอสมีชื่อในทะเบียนราษฎร ณ กทม. ทั้งนี้ ตามแบบที่กำหนดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และจะต้องแนบเอกสารเพื่อแสดงว่า น้องบอสมีคุณสมบัติตามที่มติคณะรัฐมนตรีนี้กำหนด ใน ๒ ลักษณะที่สำคัญ

ในประการแรก น้องบอสเป็นบุตรของของบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศและอาศัยอยู่มานานที่มิได้มีเชื้อสายไทยและเกิดในประเทศไทย ซึ่งเป็น “คนในทะเบียนประวัติจีนฮ่ออพยพ” อันเป็นคนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ดังกำหนดในมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น

ในประการที่สอง น้องบอสมีคุณสมบัติ ๗ ประกาศดังต่อไปนี้ กล่าวคือ (๑.) ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น (๒.) เกิดและมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่อง โดยต้องมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร หรือมีเอกสารทางราชที่แสดงว่าเกิดในราชอาณาจักรไทย (๓.) สามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ ยกเว้นกรณีเด็กอายุต่ำกว่าเจ็ดปี (๔.) ต้องมีความจงรักภักดีต่อประเทศไทย และเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (๕.) มีความประพฤติดี ไม่เคยได้รับโทษคดีอาญา เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ กรณีได้รับโทษในคดีอาญาต้องพ้นโทษแล้วอย่างน้อยห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้อง (๖.) ประกอบอาชีพสุจริต ยกเว้นพระภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาอื่น ๆ ซึ่งต้องปฏิบัติกิจมาไม่น้อยกว่าห้าปี หรือผู้ยื่นคำร้องที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และไม่ได้ประกอบอาชีพ และ (๗.) ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

เมื่อคณะกรรมการพิจารณาสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณากรณีภายใน กทม. พิจารณาและรับรองสิทธิของน้องบอสแล้ว น้องบอสก็จะได้รับหนังสืออนุญาตให้ใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และน้องบอสจะต้องนำหนังสือนี้ไปให้เขตพระนครซึ่งมีหน้าที่ดูทะเบียนบ้านของน้องบอสในปัจจุบันเพื่อดำเนินการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไปเพื่อน้องบอสต่อไป

(๓.๒.) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไปเพื่อน้องบอสโดยกรมการปกครองไทย

โดยพิจารณาบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่เกี่ยวข้อง กระบวนการต่อไปเป็นหน้าที่ที่เคร่งครัดของกรมการปกครอง ซึ่งทำหน้าที่สำนักทะเบียนกลางในการบันทึกคนอยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ด้วยการสนับสนุนของอำเภอ/เขต/เทศบาลที่ดูแลทะเบียนบ้านของผู้ทรงสิทธิแต่ละคน เพื่อ ๓ ประการที่สำคัญดังต่อไปนี้

ในประการแรก การกำหนดเลขประจำตัวในสถานะคนสัญชาติไทยตามมาตรา ๑๖ วรรคแรก[9] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ให้แก่น้องบอส โดยไม่ล่าช้า และโดยไม่ผิดพลาด

ในประการที่สอง การบันทึกชื่อน้องบอสในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๓๖[10] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ โดยไม่ล่าช้า และโดยไม่ผิดพลาด

ในประการที่สาม การออกบัตรประชาชนเพื่อแสดงสถานะคนสัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๕ วรรคแรก[11] แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔

จะเห็นว่า ด้วยสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในทั้ง ๓ ลักษณะนี้ จะทำให้น้องบอสพ้นจากข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่าเป็นคนต่างด้าวตามมาตรา ๕๗ วรรคแรก[12] แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และข้อสมมติของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓[13] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

(๓.๓.) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์เฉพาะเรื่องเพื่อน้องบอสโดยส่วนราชการอื่นของรัฐไทย

โดยพิจารณาบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของคนที่มีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร เราพบว่า มีหลายส่วนราชการที่ต้องเข้ารับรองสิทธิและหน้าที่ให้แก่น้องบอส อาทิ (๑) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องเข้ารับรองสถานะของผู้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามมาตรา ๕ วรรคแรก[14] แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ หรือ (๒) กระทรวงการโหมจะต้องเข้ารับรองสถานะของผู้ทรงหน้าที่ของน้องบอสในการรับราชการทหารตามมาตรา ๗[15] แห่ง พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือ (๓) ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งจะต้องเข้ารับรองสถานะของผู้ทรงสิทธิในการเข้าร่วมทางการเลือกทางการเมืองให้แก่น้องบอส ทั้งนี้ ย่อมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยซึ่งไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นต้น

โดยสรุป สิ่งที่บางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะต้องทำเพื่อน้องบอส ก็คือ การสนับสนุนความรู้กฎหมายให้แก่ “คุณแม่นุช” หรือเภสัชกรปรียานุช มารดาบุญธรรมตามธรรมชาติ ที่จะเข้าจัดการปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่น้องบอสตามข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น

--------------------------------------------------------------

[1] เป็นเรื่องจริงที่ผู้บันทึกได้หารือเข้ามาที่โครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ต้น พ.ศ.๒๕๕๙ และกรณียังอยู่ในระหว่างการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และผู้บันทึก ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวนี้ประสงค์ที่จะให้เรื่องราวนี้ถูกศึกษาและเผยแพร่ผลการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายออกไปยังบุคคลในสถานการณ์เดียวกัน

[2] ซึ่งบัญญัติว่า “ให้มีทะเบียนบ้านสำหรับบุคคลที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่างหากจากทะเบียนบ้านตามมาตรา ๓๖ ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางมีอำนาจออกระเบียบกำหนดแบบพิมพ์ทะเบียนบ้านสำหรับบุคคลดังกล่าวและแบบพิมพ์อื่น ๆ”

[3] ซึ่งบัญญัติว่า

“เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่า มีคนเกิดในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ให้ดำเนินการตามข้อ ๕๒ วรรคหนึ่ง (๑) - (๖) เว้นแต่การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านให้ดำเนินการดังนี้

คนในท้องที่ ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) หรือทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๓) ของบิดามารดา หากบิดามารดาไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน

คนต่างท้องที่ ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร.๑๔) หรือทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร.๑๓) ของสำนักทะเบียนแล้วแต่กรณี แล้วให้แนะนำผู้แจ้งดำเนินการแจ้งการย้ายที่อยู่คนเกิดใหม่ไปยังภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยต่อไป”

[4] ซึ่งบัญญัติว่า

“ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

[5] ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด” บทบัญญัตินี้มีผลในขณะที่น้องบอสเกิด จนถึวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

[6] ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด” บทบัญญัตินี้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน

[7] ซึ่งบัญญัติว่า “ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรคนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน”

[8] ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร”

[9] ซึ่งบัญญัติว่า “ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรคนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน”

[10] ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร”

[11] ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้”

[12] ซึ่งบัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย”

[13] ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

[14] ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้” ประกอบกับบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง กำรเป็นหน่วยงานร่วมจัดระบบหลักประกันสุขภำพของคนต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยตามเรื่องเสร็จที่ ๑๔๔๙/๒๕๕๖ ซึ่งเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) อันได้แก่ (๑) นายสวัสดิ์ โชติพำนิช ประธานกรรมการ (๒) นายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ กรรมการ (๓) นายวิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ กรรมการ (๔) นายสุประดิษฐ์ หุตะสิงห์ กรรมการ (๕) นายสมชาย พงษธา กรรมการ (๖) นางจริยา เจียมวิจิตร กรรมการ (๗) พลเอกพิชิต ยูวะนิยม กรรมการ (๘) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการ และ (๙) นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ กรรมการ เพื่อพิจารณาเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ รายงานว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีความเห็นทางกฎหมายว่า “บุคคลที่มีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงหมายถึงบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น โดยไม่ได้หมายถึงบุคคลสัญชาติอื่นที่พำนักอยู่หรือพักอาศัยอยู่หรือเข้ามาในประเทศไทยด้วยแต่อย่างใด ซึ่งปัญหานี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) ได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในเรื่องเสร็จที่ ๒๒๔/๒๕๕๕”

http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2556&lawPath=c2_1449_2556

[15] ซึ่งบัญญัติว่า “ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน”



หมายเลขบันทึก: 620279เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2016 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2016 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท