​ชีวิตที่พอเพียง : 2815. สร้างวิธีสู้มรสุมสมอง



วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ มีการแถลงข่าวผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๙ ผู้ได้รับรางวัลสาขาสาธารณสุขคือ ศาสตราจารย์ Vladimir Hachinski แห่ง University of Western Ontario แคนาดา ผู้เป็นแพทย์โรคสมอง ที่ทำวิจัยปกป้องมนุษย์จากการตาย หรือพิการจากโรคสมองขาดเลือด เฉียบพลัน (stroke) ก่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติปีละหลายล้านคน และคุณประโยชน์จะยิ่งเพิ่มพูนในโลก ที่สังคมเคลื่อนสู่สภาพ “สังคมสูงอายุ” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


ท่านผู้นี้คิดคำว่า “brain attack” ขึ้นมาสื่อสารสังคมว่า ภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นสภาพที่สมอง ถูกคุกคาม หากมีการแก้ไขทันท่วงที จะปกป้องชีวิต และความพิการได้ ผมใช้คำไทยว่า มรสุมสมอง แทนคำว่า brain attack ในภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อว่ามรสุมเมื่อผ่านมา หากเราตั้งตัวได้ มันผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป โดยทำ อันตรายน้อยหรือไม่ทำอันตรายเลย


เป็นการบอกว่า โรค stroke หรือภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลันส่วนใหญ่รักษาหายขาด ไม่เกิดความ พิการ แต่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ภายใน ๘ ชั่วโมง ต้องไปโรงพยาบาลเร็ว และมีระบบบริการที่ดี เตรียมพร้อม ๒๔ ชั่วโมง ระบบบริการแบบนี้ในประเทศไทยมีแล้ว และกำลังขยายออกไปให้ครอบคลุม ทั่วประเทศ


สถิติบอกว่า แต่ละปีมีคนเป็นโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน กว่า ๑๕ ล้านคน หนึ่งในสาม (๖.๒ล้านคน) เสียชีวิต และมนุษย์ในยุคปัจจุบันแต่ละคนมีโอกาสหนึ่งในสามที่จะเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคหลงลืม (dementia) ที่มีโรคนี้เป็นสาเหตุ


ที่จริงศาสตราจารย์ Hachinski เป็นอายุรแพทย์โรคสมอง แต่ท่านแตกต่างจาก neurologist ทั่วๆ ไป ที่มักตั้งหน้าตั้งตาช่วยชีวิตและดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ท่านเห็นคนเป็นโรคนี้แล้วก็คิดค้นหาวิธี บำบัดให้หาย และป้องกันความพิการ และพัฒนาระบบบริการที่จะช่วยคนอย่างกว้างขวาง ที่เรียกว่า stroke unit รวมทั้งรวมพลังผู้คนดำเนินการเคลื่อนไหวสร้างระบบและมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกัน stroke ด้วยการมี World Stroke Day (29 ตุลาคม ของทุกปี), Stroke Agenda, World Brain Alliance, และอื่นๆ ผลงานที่สร้างคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติจึงเป็นด้านสาธารณสุข มากกว่าด้านการแพทย์


โปรดสังเกตว่า เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพดีของผู้คนจำนวนมากอย่างกว้างขวางนั้น เทคโนโลยีด้าน การแพทย์โดยตรงนั้นสำคัญมาก แต่ไม่เพียงพอ ยังต้องการเทคโนโลยีทางสังคมเพื่อสร้างความตระหนัก และเปลี่ยนพฤติกรรมหรือลีลาชีวิต รวมทั้งยังต้องการเทคโนโลยีด้านการจัดการ เพื่อจัดระบบบริการให้พร้อม รับมือได้รวดเร็ว รวมทั้งเพื่อรวมพลังคนจำนวนมาก เข้ามาร่วมกันเคลื่อนไหวเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของ ผู้คนทั้งโลก


วิจารณ์ พานิช

๑๖ พ.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 620275เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2016 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2016 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังเลยครับ

ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากๆ

Amazing post. Everyone should read this article. Keep it up. Feel free to visit ketodietcenter.in

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท