​ทำงานวิชาการเกินตัว?



วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ผมนั่งฟังการประชุมกลุ่มสามพราน เรื่อง ทิศทางและจังหวะก้าวของ สช. ในระยะ ๕ ปีข้างหน้า ที่เริ่มจากระเบิดลูกแรก คือ HIA (Health Impact Assessment) ที่ทางผู้นำรัฐบาลมอง ในแง่ลบ เดาว่าเพราะผู้ประกอบการ หรือผู้บริหารที่ต้องการสร้างโครงการขนาดใหญ่ไม่ชอบ มองว่า HIA เป็นเครื่องมือของฝ่ายค้าน ทำให้เดินโครงการขนาดใหญ่ไม่ออก


การอภิปรายในที่ประชุมมีเรื่องซับซ้อนมาก ผมได้เรียนรู้มาก ข้อเรียนรู้ของผมคือ สังคมต้องการ ความรู้และหลักฐาน (evidence) สำหรับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีการอ้างเป้าหมายเพื่อส่วนรวม


คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. ที่เพิ่งหมดวาระ พูดเรื่อง การเปลี่ยนผ่านระบบสุขภาพ ที่ถ้าไม่ทำอย่างมีปัญญา และสติ เราจะพลาดพลั้ง อย่างที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญ คือบริการไม่ครอบคลุม คนยากลำบากเข้าไม่ถึง ทั้งๆ ที่ใช้เงินมากมายมหาศาล ถึงร้อนละ ๑๗ - ๑๘ ของจีดีพี และที่ร้าย กระบวน การพัฒนา หรือการทำมาหากินของอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศนั้นเอง เป็นต้นเหตุของการทำลาย สุขภาพของพลเมือง


อ. หมอประเวศ ย้ำแล้วย้ำอีกในที่ต่างๆ ว่าระบบสุขภาพ ต้องเปลี่ยนผ่านจากระบบเก่า (conventional health systems) ที่เน้นบทบาทของวิชาชีพ ไปเป็นระบบสุขภาพใหม่ (new health systems) ที่เน้นบูรณาการ บทบาทของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อดำเนินมาตรการ “สร้างนำซ่อม

คุณหมออำพล เตรียม PowerPoint จำนวนเพียง ๗ แผ่น มาทบทวนเรื่องราวของการปฏิรูประบบสุขภาพ โลกและไทยในระยะเวลา ๕๐ ปี ชี้ให้เห็นความสำเร็จและความท้าทายที่ดำเนินการมาในประเทศไทย ซึ่งหาก มองในภาพใหญ่ วงการนโยบายสุขภาพโลกยกย่องประเทศไทยมาก ที่ดำเนินการถูกทาง และมียุทธศาสตร์ที่น่าทึ่ง แต่หากมองลงรายละเอียด เรายังมีความท้าทายมาก ที่ผมมองว่า เป็นเรื่องของการบริหารนโยบายเพื่อการ เปลี่ยนแปลง ที่จะต้องเข้าใจรายละเอียดของระบบที่ภาคส่วนต่างๆ คุ้นเคย หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวพัน และต้องบริหารแบบประสานประโยชน์ และเปลี่ยนฐานผลประโยชน์แบบที่ฝ่ายต่างๆ เตรียมตัว และตั้งตัวได้ คือต้องบริหารนโยบายสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก


ทั้งคุณหมอพลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ สช. ท่านปัจจุบัน และคุณหมออำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการผู้ก่อตั้ง สช. ต่างก็เป็นผู้มีปัญญาลุ่มลึก และมีทักษะด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ล้ำลึกและ เชื่อมโยงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความสามารถในการเชื่อมโยงกับระบบความเป็นจริงในสังคมไทย ในการนำเสนอนี้ ผมจึงได้เรียนรู้มากมาย


โดยเฉพาะการวางตำแหน่ง (positioning) ของหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารการเปลี่ยนแปลงของ ระบบนโยบาย อย่าง สช. ที่จะต้องแยก ๓ ส่วนออกจากกัน ให้ทำงานร่วมมือกัน และอาจเห็นต่างกันได้ คือ (๑) งานวิชาการด้านนโยบาย (๒) การพัฒนานโยบาย (๓ การตัดสินใจเชิงนโยบาย


ที่สำคัญที่สุดคือต้องนิยามคำว่า พัฒนานโยบาย” ให้ถูกต้อง ว่าหมายถึงการเสนอทางเลือกเชิง นโยบายหลายทาง พร้อมคำอธิบายวิธิการจัดการ และผลกระทบที่จะตามมา (ทั้งทางบวก และทางลบ) จากการเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง โดยเสนออย่างมีข้อมูลหลักฐานประกอบอย่างน่าเชื่อถือ (มาจากงานวิชาการ)


ที่ผ่านมา สช. อาจทำหน้าที่ทั้ง ๓ อย่างข้างบนปนๆ กันไป โดยที่จริงๆ แล้วไม่มีอำนาจทำข้อ ๓ แต่อาจมีภาคีของ สช. หาทางผลักดันการตัดสินใจบางเรื่อง ในลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า advocacy แต่ผู้บริหาร ประเทศมองว่า สช. มีส่วนรู้เห็น เท่ากับว่า สช. ทำงานล้ำเส้น ทำให้ สช. มีศัตรู มุมมองตามย่อหน้านี้ อาจมองต่างกันได้มากมายหลายมิติและหลายระดับความรุนแรง


เป็นที่มาของชื่อบันทึกนี้ ว่าการทำงานวิชาการควรมีการพุ่งเป้าไปที่บทบาทใดเป็นหลัก หรือต้องทำหลายบทบาท คือรวมทั้งการผลักดันเอาผลงานวิชาการไปสู่การใช้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ คำตอบตามสามัญสำนึกโดยทั่วไปคือ ควรทำด้วย แต่ก็มีคำถามต่อ ว่าในกรณีการวิจัยเชิงนโยบายล่ะ หน่วยงานวิชาการควรทำหน้าที่ ตัดสินว่าต้องเลือกทางเลือกที่ ๑ ไม่ใช่ทางเลือกที่ ๒ หรือ ๓ (หรือบางกรณีเสนอเพียงทางเลือกเดียว คือให้ยุติโครงการนั้น) แล้วเข้าขับเคลื่อนสังคมเพื่อบีบรัฐบาลให้ทำตาม หรือควรเสนอ ๓ ทางเลือก พร้อมคำอธิบายผลกระทบที่จะตามมา ของแต่ละทางเลือก พร้อมหลักฐานและเหตุผล ที่ครบถ้วน รวมทั้งแนวทางลดผลกระทบเชิงลบ


ผมมีความเห็นว่า ในกรณีของผลงานวิจัยทางเลือกเชิงนโยบายสาธารณะ หน่วยงานวิชาการควรจัดทำ เอกสาร public policy brief เผยแพร่แก่สาธารณชนด้วย ในลักษณะเผยแพร่ความรู้และข้อมูลหลักฐานอย่างเป็น กลาง หรือเป็นวิชาการ ไม่โน้มน้าว (advocate)


คำถามคือ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยจะมีการบริหารจัดการให้นักวิชาการหรือนักวิจัย ปฏิบัติอยู่ในกรอบคิดนี้ได้อย่างไร และจะพัฒนาทักษะการสื่อสารผลงานวิชาการในลักษณะสื่อสาร ข้อมูลหลักฐาน (evidence) ให้คนในสังคมทั่วไปเข้าใจง่าย ได้อย่างไร


วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ย. ๕๙

591214,

หมายเลขบันทึก: 620217เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2016 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2016 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท