พระราชกรณียกิจ สมเด็จย่า เกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์


เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อปี 2494 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังคงประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จะเสด็จกลับเมืองไทยเป็นครั้งคราวในระหว่างปี 2495-2506 เมื่อมีพระราชพิธีและเหตุการณ์สำคัญในพระราชวงศ์ หรือด้วยพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับบ้านเมือง เช่น เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระประสูติกาล สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าประชวรและสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ก็เสด็จฯ กลับมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน บางคราวก็ประทับอยู่นานถึง 11 เดือน เช่นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญพระราชไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป 14 ประเทศ เมื่อปี 2503 เป็นเวลา 6 เดือน สมเด็จพระบรมราชชนนีต้องเสด็จฯ จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาทรงปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นี้ ได้ทรงปฏิบัติอีกหลายคราวระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศระหว่างปี 2502-2510

พระราชกิจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น เสด็จออกรับทูตานุทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นและอักษรสาส์นตราตั้ง พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย บำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และลงพระนามาภิไธยในพระราชบัญญัติและประกาศสำคัญๆ เป็นต้น

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจต่างพระเนตรพระกรรณได้อย่างบริบูรณ์ ได้ทรงลงพระนามาภิไธยในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในกฎหมายและประกาศสำคัญหลายฉบับ คือพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ.2503 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 ประกาศเรื่องแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2504 – พ.ศ.2509 และประกาศเรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 เป็นต้น

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่เป็นสตรีพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลปัจจุบัน

ต้นปี 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีให้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จได้ประมาณปีเศษ ครั้งนั้นนับเป็นปีแรกที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเริ่มเสด็จประพาสหัวเมืองในประเทศไทยเพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกร

การเสด็จประทับแรมที่ภูพิงคราชนิเวศน์ครั้งนั้น นอกจากสมเด็จพระบรมราชชนนีจะได้ทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถด้วยการทรงพระดำเนินไปในป่าหลังพระตำหนัก ชมไม้ไร่นานาพรรณแล้ว ยังได้เสด็จเยี่ยมหมู่บ้านต่างๆ ตามรายทางด้วย ทำให้ทรงพบเห็นความทุกข์ยากของประชาชนในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ สภาพการขาดแคลนโรงเรียน ปัญหาด้านการอนามัย ไม่มีทั้งแพทย์และพยาบาล อีกทั้งยังได้ทรงพบเห็นความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น แม้แต่เหล่าตำรวจตระเวนชายแดนผู้ทำหน้าที่นำเสด็จฯ และถวายอารักขาอยู่ตลอดเวลา นอกจากเบี้ยเลี้ยงก็ไม่มีแล้ว เงินเดือนที่ได้รับก็น้อยมาก

ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ปรารถนาที่จะขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากของบุคคลอื่นเท่าที่จะทรงกระทำได้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงเริ่มเสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฎรและตำรวจตระเวนชายแดนในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2507 เป็นต้นมา ทั้งๆ ที่ขณะนั้นมีพระชนมายุ 64 พรรษาแล้ว ครั้นเมื่อเสด็จฯ ไปในท้องถิ่นชายแดน ทรงพบทหารปฏิบัติการอยู่ในท้องที่นั้น ก็ทรงเยี่ยมฐานปฏิบัติการของทหารด้วยทุกแห่ง

การเสด็จออกไปสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรและข้าราชการตามจังหวัดต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลายาวนาน ก่อให้เกิดพระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการศึกษา ด้านการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข ด้านการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและราษฎรอย่างมหาศาลตราบจนทุกวันนี้


สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์มาตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังมิได้มีพระราชอิสริยยศดังที่ปรากฏ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า สตรีไทยที่เป็นแม่บ้านก็สามารถจะให้ความช่วยเหลือในกิจการสังคมสงเคราะห์ได้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นในปี 2475 ขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนีประทับอยู่ ณ พระตำหนักใหม่ในวังสระปทุม เมื่อพระราชโอรสธิดาเจริญพระชนมายุมากขึ้น และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนทุกพระองค์แล้ว ทรงมีเวลาว่าง จึงทรงตั้งคณะเย็บผ้าตามแบบสตรีอเมริกันขึ้น มีสมาชิกประกอบด้วยผู้ที่ทรงคุ้นเคย คือหม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอ โสณกุล ท่านผู้หญิงประยงค์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คุณหญิงแฉล้ม บูรณศิริ คุณหญิงศรีวิสารวาจา คุณหญิงเพิ่ม ดำรงแพทยคุณ คุณหญิงอรุณ เมธาธิบดี คุณหญิงเชิด อุดมราชภักดี หม่อมราชวงศ์รสลิน คัคณางค์ คุณแพ ยุกตะนันทน์ ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร ท่านผู้หญิงฉลวย สุทธิอรรถนฤมล และสุภาพสตรีชาวต่างประเทศอีกหลายท่าน ซึ่งเป็นภริยาของนักการศึกษา สอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมิชชันนารี คณะเย็บผ้าเริ่มด้วยการเย็บเสื้อของตัวเอง ต่อมาได้เย็บเสื้อผ้าให้เด็กอนาถาตามโรงพยาบาล ดังที่ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร บันทึกไว้ว่า

“สมาชิกเหล่านี้มาประชุมกันนั่งตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่เด็กตามโรงพยาบาล รับรองได้ว่าไม่มีการนินทาว่าร้ายใคร สมาชิกเหล่านี้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการเลี้ยงน้ำชากันอาทิตย์ละครั้ง ตั้งแต่เวลา 16.00-18.00 น.”

ในปี 2503 สมเด็จพระบรมราชชนนีได้พระราชทานเงินจำนวนสองแสนบาท เพื่อสร้างหอพักธรรมนิวาสที่หลังวัดมกุฎกษัตริยาราม สำหรับเป็นที่พักนักศึกษาที่ขัดสนและไม่มีที่อยู่

ในปี 2510 ได้พระราชทานทุนริเริ่มเป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านบาท ตั้งมูลนิธิสงเคราะห์ตำรวจตระเวนชายแดนและครอบครัว และทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระอุปถัมภ์

ในปี 2511 ได้ทรงรับมูลนิธิชีวิตใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ไว้ในพระอุปถัมภ์ มูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์จะช่วยจัดตั้งหมู่บ้านตามชนบทของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ที่หายป่วยจากโรคเรื้อนและโรคจิต มีที่ดินบ้านเรือนของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมการประกอบอาชีพของบุคคลเหล่านี้ให้มีงานทำ มีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขตามควรแก่อัตภาพ

ทุกครั้งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จเยี่ยมพสกนิกรตามจังหวัดต่างๆ ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวของต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วนำไปพระราชทานแก่ประชาชนตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น พระราชทานเสื้อยืด ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า และเครื่องเขียนต่างๆ แก่คณะครูประจำโรงเรียน ส่วนนักเรียนนั้นจะได้รับพระราชทานเครื่องแบบนักเรียน สมุด ดินสอ ยางลบ และอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ส่วนชาวบ้านจะได้รับพระราชทานผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ผ้าถุง ด้ายดำ ด้ายขาว และเข็มเย็บผ้า ยาตำราหลวง อาหารกระป๋อง และอาหารแห้งต่างๆ สำหรับเด็กๆ จะได้รับพระราชทานของเล่นที่เหมาะกับเพศและวัย เช่น เครื่องเขย่ากรุ๋งกริ๋ง แตรรถเล็กๆ และตุ๊กตาสวมเสื้อกระโปรง เป็นต้น

พระราชทรัพย์ที่พระราชทานช่วยเหลือสมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานต่างๆ มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และจากการขายของฝีพระหัตถ์เพื่อการกุศล ทรงริเริ่มทำบัตรอวยพรความสุขในโอกาสต่างๆ แต่งด้วยดอกไม้ทับแห้งแปลกตา พระราชทานให้ขายเป็นรายได้แก่การกุศล โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าหลวงช่วยกันทำไม้กวาดป่านศรนารายณ์หรือแปลงศรนารายณ์ เพื่อขายนำเงินเข้าการกุศล เนื่องจากทรงใช้ป่านย้อมสีสวยๆ มีประโยชน์ทั้งในแง่ใช้สอยและการตกแต่ง จึงมีผู้สั่งจองกันมาก แปลงศรนารายณ์นี้ทำรายได้ดีมาก ได้พระราชทานเงินรายได้แก่มูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อน จังหวัดลำปาง

ในด้านการสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชูปถัมภ์และทรงจำหน่ายดอกป๊อบปี้ด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นรายได้สงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก

ในปี 2528 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนางานสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ให้กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ด้วยเหตุผลที่ว่า พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายและเวลา เพื่อประโยชน์ให้บังเกิดแก่ประชาชนตลอดมา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก สมควรเป็นปูชนียบุคคลที่นักสังคมสงเคราะห์ควรถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานของตนต่อไป ดังนั้นในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันจัดงานแสดงกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา

แหล่งอ้างอิง http://www.manager.co.th/

หมายเลขบันทึก: 620201เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2016 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2016 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท