​บริจาคโลหิต : กิจกรรมเพื่อสังคมอันง่ายงามในนิยาม มมส


ในทุกครั้งที่จัดกิจกรรมนี้ จะเป็นการดีอย่างยิ่งหากนิสิตจากคณะพยาบาลศาสตร์ แพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ หรือสาธารณสุขศาสตร์ หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านมาร่วมปฏิบัติการในเรื่องเหล่านี้ เพราะจะได้ฝึกวิชาชีพตนเองไปในตัว รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดโดยนำเอาแนวคิดการจัดกิจกรรมเรียนรู้บนฐานคิด “ฮีต 12 คองสังคม/ฮีต 12 คองนิสิต/ฮีต 12 ของมหา’ลัย” มาผนึกเข้าด้วยกัน

จำไม่ได้แล้วว่ากองกิจการนิสิตหวนกลับไปรับกิจกรรมบริจาคโลหิตมาจากงานกิจการพิเศษตั้งแต่เมื่อไหร่ คลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะอยู่ในช่วงต้นที่ ผศ.ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ มาดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต โดยประกาศให้ตลอดทั้งปีเป็นการทำความดีเพื่อในหลวงและบรรจุให้การบริจาคโลหิตเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ว่านั้น

การไปรับภารกิจคืนกลับมานั้นในระยะต้นกลุ่มงานกิจกรรมนิสิตขันอาสาเป็นเจ้าภาพเพื่อมิให้ปัญหาเก่าๆ หวนกลับมากรีดกรายอย่างมีตัวตนอีกรอบ พอผ่านไปสักระยะก็ส่งมอบงานข้ามกลุ่มงาน แต่ในที่สุดก็หวนกลับมายังกลุ่มงานกิจกรรมอีกรอบโดยมีคุณเยาวภา ปรีวาสนา เป็นกลไกหลักในการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง




-1-

สี่ถึงห้าปีให้หลังมหาวิทยาลัยมหาสารคามประกาศเอกลักษณ์อย่างชัดเจนว่า “เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน” เช่นเดียวกับประกาศอัตลักษณ์นิสิตว่า “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน” รวมถึงการประกาศวาทกรรมอันเป็นค่านิยมของนิสิตว่า MSU FOR ALL เรียกเป็นวลีไทยๆ ว่า “พึ่งได้” อันหมายถึงพึ่งพาตัวเองได้และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ ทั้งปวงนั้นได้ขับเคลื่อนผ่านภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย ทั้งการเรียน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม หรือกระทั่งกิจกรรมนอกหลักสูตร/กิจกรรมเสริมหลักสูตรของฝ่ายพัฒนานิสิต ซึ่งผมเรียกเก๋ๆ ในแบบฉบับของผมว่า 4 In 1 และ 5 In 1

ด้วยเหตุนี้กิจกรรมการบริจาคโลหิตที่จัดขึ้นโดยกองกิจการนิสิต จึงมีสถานะเป็นระบบและกลไกการพัฒนานิสิตในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตร เป็นกิจกรรม “มหาวิทยาลัยเพื่อนิสิต” หรือ “มหาวิทยาลัยเพื่อมหาวิทยาลัย” โดยเชื่อมประสานให้นิสิต คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ว่าด้วยเอกลักษณ์ อัตลักษณ์นิสิต ค่านิยมนิสิตและปรัชญามหาวิทยาลัยดังว่า “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”




ปัจจุบันกิจกรรมการบริจาคโลหิตถูกยกระดับการทำงานขึ้นมาเป็นรูปธรรมจากอดีตค่อนข้างมาก กล่าวคือกองกิจการนิสิตทำงานร่วมกับฝ่ายพัฒนานิสิตของทุกคณะ ภายในคณะจะขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิตหรือคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตของแต่ละคณะ จะมากจะน้อยก็อยู่ที่ระบบและกลไกของแต่ละคณะ โดยมีวาระที่แตกต่างกันไป สุดแท้แต่คณะจะกำหนดขึ้น ทั้งเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อพระราชินี หรือเชื้อพระวงศ์ และอื่นๆ

นอกจากนั้นก็จะเป็นการทำงานร่วมกับกองประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศที่เข้ามาหนุนเสริมเรื่องการประชาสัมพันธ์ทั้งก่อนและหลังการจัดกิจกรรม





-2-

ภาคีหลักในเรื่องการบริจาคโลหิตคือโรงพยาบาลมหาสารคาม และสภากาชาดจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งจะกำหนดปฏิบัติเป็นรายเดือน แต่ละเดือนมหาวิทยาลัยมหาสารคามจะรองรับการบริจาคโลหิตอย่างน้อย 1-2 ครั้ง บางเดือนไม่ใช่แค่คณะเท่านั้นที่เป็นเจ้าภาพ หากแต่มีหน่วยงานอื่นๆ รับเป็นเจ้าภาพโดยตรง เช่น กองทะเบียนและประมวลผล สำนักศึกษาทั่วไป โรงเรียนสาธิตฯ (ฝ่ายมัธยม) รวมถึงกองกิจการนิสิตด้วย


การรับบริจาคโลหิตกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามถือเป็นความร่วมมือระดับจังหวัดที่ผู้บริหารแต่ละรุ่นได้สร้างวัฒนธรรมที่ดีส่งต่อกันมาเป็นระยะๆ ทำให้จังหวัดมหาสารคามได้เปรียบกว่าจังหวัดอื่นที่อยู่ใกล้เคียง สามารถจัดทำแผนได้ตลอดทั้งปี มีโลหิตเพียงพอ ขณะเดียวกันการบริจาคโลหิตก็ช่วยให้นิสิตได้ตรวจสุขภาพไปในตัว รู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น และเป็นตัวอย่างที่ดีต่อเยาวชนในการทำความดี

นายณรงค์ ภูนาขาว
หัวหน้าคลังเลือดโรงพยาบาลมหาสารคาม



</span>

ปีการศึกษา 2558 ดูเหมือนจะเป็นปีที่กิจกรรมบริจาคโลหิตเบ่งบานเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากมี “องค์กรนิสิต” ขยับเข้ามาจัดกิจกรรมและกำหนดเป็นแผนงานประจำองค์กร โดยเฉพาะ “สภานิสิต” ได้ทำการบรรจุเป็นแผนงานต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่ “องค์การนิสิต” ที่บริหารโดย “พรรคพลังสังคม” เพิ่งริเริ่มที่จะเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ด้วยการชูประเด็น “น้องใหม่รับใช้สังคม” รวมถึงชมรมอื่นๆ ที่ถึงแม้จะไม่ใช่เจ้าภาพหลักแต่ก็อาสาเข้ามาหนุนการทำงานร่วมกับกองกิจการนิสิตและคณะต่างๆ อย่างน่าชื่นชม เช่น ชมรมอาสายุวกาชาด นิสิตจิตอาสาจากคณะศึกษาศาสตร์ นิสิตจิตอาสาจากวิชาภาวะผู้นำที่เข้ามาช่วยงานโดยไม่เกี่ยงงอนว่าจะมีคะแนนหรือไม่มีคะแนน

นี่คือกิจกรรม “เรียบง่ายแต่งดงาม” - งดงามเพราะได้สร้างพื้นที่ให้ผู้คนได้ทำความดีผ่านการบริจาคโลหิต ลดทอนเวลาการเดินทางของประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามในการที่จะเข้าเมืองไปบริจาคโลหิต เสริมสร้างการทำงานเชิงเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกอย่างเรียบง่ายแต่ลงตัว รวมถึงการมองว่ากิจกรรมง่ายงามเช่นนี้หากจัดขึ้นได้บ่อยๆ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนได้ทำความดีอย่างต่อเนื่อง ยิ่งจัดขึ้นบ่อยๆ ยิ่งจะช่วยบ่มเพาะและขัดเกลาจิตใจแห่งการเป็น “ผู้ให้” และ “จิตอาสา” ไปโดยปริยาย





แต่ละส่วนของเลือดมีหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ขนออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ เม็ดเลือดขาวต่อสู่และกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เกล็ดเลือดทำให้เลือดหยุดง่าย ส่วนน้ำเลือดทำหน้าที่ขนส่งอาหารไปเนื้อเยื่อของร่างกายรวมถึงยาที่ใช้รักษาโรค ดังนั้นการบริจาคเลือดจึงเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนต้องการองค์ประกอบของเลือดชนิดใด

รศ.ดร.อุไร จำปาวะดี
รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตคณะพยาบาลศาสตร์





</span>

ในทุกครั้งที่จัดกิจกรรมนี้ จะเป็นการดีอย่างยิ่งหากนิสิตจากคณะพยาบาลศาสตร์ แพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ หรือสาธารณสุขศาสตร์ หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านมาร่วมปฏิบัติการในเรื่องเหล่านี้ เพราะจะได้ฝึกวิชาชีพตนเองไปในตัว รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดโดยนำเอาแนวคิดการจัดกิจกรรมเรียนรู้บนฐานคิด “ฮีต 12 คองสังคม/ฮีต 12 คองนิสิต/ฮีต 12 ของมหา’ลัย” มาผนึกเข้าด้วยกัน

ยกตัวอย่างเช่นหากจัดขึ้นในเดือนอะไรก็ให้พิจารณาว่าเดือนๆ นั้นมีเหตุการณ์ หรือเรื่องราวใดพอที่จะผูกโยงเป็นการเรียนรู้ได้บ้าง หากมีก็เชื่อมร้อยเข้ามาเป็นหนึ่งในกิจกรรมเดียวกับการบริจาคโลหิต อาจมีเอกสารแจกเพิ่มเติม มีนิทรรศการเพิ่มเติม เปิดคลิปให้ชมเพิ่มเติม หรืออื่นๆ อีกจิปาถะ ขึ้นอยู่กับว่าการจัดแต่ละครั้งมีอะไรเป็น “ต้นทุน” หรือ “โจทย์” รวมถึงอาจต้องจัดทำของที่ระลึกเนื่องในวาระนั้นๆ มาแจกจ่ายด้วยก็ไม่ผิด จะเป็นเสื้อ พวงกุญแจ ที่คั่นหนังสือ หมวก สติ๊กเกอร์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถรังสรรค์ขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะยกระดับกิจกรรมนี้ขึ้นมาหรือไม่เท่านั้นเอง






-3-

ปีการศึกษา 2558 เป็นปีที่กิจกรรมบริจาคโลหิตดูคึกคักเป็นพิเศษ ทั้งในระบบการทำงานระหว่างกองกิจการนิสิตกับฝ่ายพัฒนานิสิตคณะ หรือกระทั่งกับองค์กรนิสิตและโรงพยาบาลมหาสารคามที่บางครั้งมีการพวกพาสปอนเซอร์จากภาคเอกชนมาช่วยสร้างสีสันแจกของที่ระลึก

เช่นเดียวกับอีกส่วนหนึ่งของความคึกคักน่าจะมาจากความตื่นตัวที่ต้องการทำประโยชน์ต่อสังคมด้วยตนเอง รวมถึงผลพวงของระบบการกู้ยืม กยศ. และ กรอ.ที่กำหนดให้นิสิตได้สะสมชั่วโมงกิจกรรมจิตอาสา ส่งผลให้กิจกรรมการบริจาคโลหิตกลายเป็นตัวเลือกหนึ่งในวิถีแห่งการเก็บสะสมชั่วโมงจิตอาสาที่ว่านั้นไปโดยปริยาย

กำหนดการ

หน่วยงาน/เจ้าภาพหลัก

จำนวน
(คน)

ปริมาณเลือด
(มิลลิลิตร
: ซี.ซี)

11 มกราคม 2559

คณะวิทยาศาสตร์

53

20,800

14 มกราคม 2559

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

249

99,600

20 มกราคม 2559

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

97

38,800

8 มกราคม 2559

คณะสาธารณสุขศาสตร์

118

47,200

26 มกราคม 2559

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

80

32,000

5 กุมภาพันธ์ 2559

คณะศึกษาศาสตร์

75

30,000

8 กุมภาพันธ์ 2559

คณะนิติศาสตร์

110

44,000

18 กุมภาพันธ์ 2559

คณะการบัญชีและการจัดการ

159

63,600

23 กุมภาพันธ์ 2559

คณะเทคโนโลยี

91

36,400

25 กุมภาพันธ์ 2559

คณะวิทยาศาสตร์

125

50,000

11 มีนาคม 2559

คณะวิศวกรรมศาสตร์

84

33,600

14 มีนาคม 2559

คณะเภสัชศาสตร์

76

30,400

15 มีนาคม 2559

กองกิจการนิสิต

67

26,800

4 เมษายน 2559

กองกิจการนิสิต

77

30,800

5 เมษายน 2559

คณะสาธารณสุขศาสตร์

194

77,600

8 เมษายน 2559

สำนักศึกษาทั่วไป

91

36,400

22 เมษายน 2559

คณะเทคโนโลยี

58

23,200

25 เมษายน 2559

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

289

115,600

27 เมษายน 2559

คณะวิทยาการสารสนเทศ

58

23,200

4 พฤษภาคม 2559

คณะศึกษาศาสตร์

98

39,200

11 กรกฎาคม 2559

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง

104

41,600

11 สิงหาคม

องค์การนิสิต / กองกิจการนิสิต

141

56,400

15 สิงหาคม 2559

คณะการบัญชีและการจัดการ

206

82,400

17 สิงหาคม 2559

คณะนิติศาสตร์

168

67,200

24 กันยายน 2559

คณะสาธารณสุขศาสตร์

135

54,000

29 กันยายน 2559

คณะวิทยาการสารสนเทศ

64

25,600

รวม


3,067

1,226,400




ท้ายสุดนี้ขอยืนยันอย่างหนักแน่นอีกครั้งว่าโครงการบริจาคโลหิตเป็นกิจกรรมเชิงรุกอัน "เรียบง่าย" แต่เต็มไปด้วย "พลังแห่งการแบ่งปันความรัก"ต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นการแสดงถึงจุดยืนของคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิตของมหาวิทยาลัยที่มีต่อการรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำว่าชุมชนไม่จำเป็นต้องผูกยึดไว้กับหมู่บ้าน ท้องถิ่นในงานค่ายอาสาพัฒนาและงานอันเป็นภารกิจทั้ง 4 ด้านของมหาวิทยาลัย เพียงแต่คำว่า "ชุมชน" ในนิยามการบริจาคโลหิตจะครอบคลุม"ความเป็นมนุษย์" หรือ "เพื่อนมนุษย์” หรือ "ชีวิตเพื่อชีวิต" เช่นเดียวกับการบ่งชี้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่ว่าด้วยความรักความเสียสละ จิตสาธารณะ (Public Mind) และ จิตสาธารณะ (Public Consciousness) อย่างเสร็จสรรพ




ฉะนี้แล้วกิจกรรมบริจาคโลหิตจึงถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ความเป็น"ตัวตน มมส"ได้อย่างสง่างาม เป็นกิจกรรมเรียบง่ายแต่มีพลัง สะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ ตอกย้ำจุดยืนความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ค่านิยมและปรัชญามหาวิทยาลัยได้อย่างไม่เขินอาย

มิหนำซ้ำยังเป็นการใช้เวลาราชการทำกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างมีคุณค่า ดีกว่าเอาเวลาราชการไปเตร็ดเตร่และกรีดกรายอยู่ตามร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า ขายหวยซื้อหวย-ลุ้นหวย หรือไม่ก็เอาแต่นั่งก้มๆ เงยๆ เล่นเฟชบุ๊คผ่านมือถือและคอมพิวเตอร์ในสำนักงานไปวันๆ





เนื่องจากผมอยากทำงานเกี่ยวกับอาสาสมัคร พอได้มาช่วยตรงนี้ก็รู้สึกดีใจมากที่ได้ช่วยเหลือพี่ๆ บุคลากรจากโรงพยาบาลมหาสารคาม และคุณแม่เหล่ากาชาด และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถึงแม้จะเป็นงานเล็กๆ แต่ก็ช่วยให้ผมรูสึกว่าตัวเองมีคุณค่า รู้สึกยินดีมากครับที่ได้ไปช่วยงานรับบริจาคโลหิตที่ผ่านมา เพราะได้ทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

ศุภฤกษ์ อนันท์
ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์
ประธานชมรมอาสายุวกาชาด




</span>


มีความสุขมากครับที่ได้มีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เพื่อนๆ มาบริจาคโลหิต ดีใจที่เห็นเพื่อนๆ ให้ความสนใจต่อการบริจาคโลหิตกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เช่นการวัดความดัน การปฐมพยาบาล และความรู้ในเรื่องการบริจาคโลหิต เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ผมเชื่อว่าจะส่งผลต่อการทำงานในอนาคตอย่างแน่นอน ขอขอบคุณ สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย และมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้มาเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพนิสิตให้มีความรู้ความชำนาญ ในด้านสุขภาพอนามัยอย่างรอบด้าน

รัฐศาสตร์ ชาแท่น
ชั้นปีที่ 1 สาขาสิทธิมนุษยชนศึกษา วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
ผู้ประสานงานชมรมอาสายุวกาชาด




หมายเหตุ
ภาพ : เยาวภา ปรีวาสนา
เขียน : วันที่ 13 ธันวาคม 2559

หมายเลขบันทึก: 620149เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2016 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2016 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาร่วมชื่นชมและอนุโมทนาสาธุค่ะ

สวัสดีครัย พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

เดือนมกราคม 2560 จะได้มีการปรับแต่งกระบวนการ วิธีการใหม่ให้สอดรับกับความเป็นไปของสังคม รวมถึงการปักหมุดอันหนักแน่นเพื่อให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรของ มมส (ฮีต 12 ของมหาวิทยาลัย" หรือกระทั่ง ฮีต 12 คองนิสิต....

ปีการศึกษา 2558 โชคดีมากครับ นิสิตรวมกลุ่มเป็นชมรมฯ กันเองเลย ไม่เกี่ยวกับคะแนน และไม่เกี่ยวกับระบบจิตอาสาของ กยศ.

ขอบพระคุณครับ


ได้เลือดเยอะมากๆเลยครับ

ขอชื่นชมนิสิตและทุกๆคน

ครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

ปีนี้กำลังยกร่างแผนงานเรื่องนี้กันใหม่ มมส ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะคือการบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา การเป็นผู้ให้อันง่ายงามโดยไม่ต้องเดือดร้อนทรัพยากรจากที่อื่น เนื่องจากใข้ทรัพยากรในตัวเรานั่นเอง ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท