ประวัติพระเอตทัคคะ (ตอนที่ ๒) : พระอุรุเวลกัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีบริวารมาก


"ประวัติพระเอตทัคคะ (ตอนที่ ๒) : พระอุรุเวลกัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีบริวารมาก"

ขอนอบน้อมด้วยเศียรเกล้าแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมะรับอรุณ ณ บ้านเย็นยิ้ม
วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2559

- - - - - - - - - - - - - - - - - -


"บุพกรรมในอดีตชาติ"

ในอดีตกาลพระอุรุเวลกัสสปะเถระ บังเกิดขึ้นในเรือนของผู้มีตระกูลในเมืองหงสาวดี พอเติบโตขึ้นแล้ว ได้ไปฟังพระธรรมเทศนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เห็นพระองค์ทรงตั้งพระเถระรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่งอันเลิศที่สุดกว่าพระสาวกทั้งหลายฝ่าย "มีบริวารมาก" จึงคิดว่าเราจะได้เป็นเช่นพระเถระนั้นบ้างในอนาคต

กุลบุตร (อุรุเวลกัสสปะ) เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงจัดการถวายมหาทานแด่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน การถวายมหาทานกระทำอยู่ทั้งหมด ๗ วัน และในวันสุดท้ายได้ถวายผ้าไตรจีวรแล้วตั้งความปารถนาว่า ขอให้ข้าพระองค์ได้รับตำแหน่งอันเลิศที่สุดด้านมีบริวารมาก ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ด้วยผลของบุญกุศลนี้ ในอนาคตกลาโน้นเถิด พระเจ้าข้า

พระปทุมมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพิจารณาเป็นถึงความเป็นไปในอนาคตกาลของกุลบุตรนั้น ไม่มีเหตุขัดข้องแต่ประการใด จึงทรงพยากรณ์ว่า เธอจะได้เป็นผู้เลิศฝ่ายมีบริวารมากสมตามความปารถนา ในศาสนาของพระสมณโคดมพุทธเจ้า โดยจะเสด็จขึ้นในหนึ่งแสนกัปข้างหน้าโน้น

กุลบุตรนั้น ฟังคำพุทธพยากรณ์แล้ว เกิดความยินดีเป็นอย่างยิ่งราวกับว่า ความปรารถนาจะสำเร็จในวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ แล้วสร้างกัลยาณกรรมต่อมาจนตลอดชีวิต เมื่อนับถอยหลังจากกัปนี้ไปอีก ๙๒ กัป ชาติหนึ่งท่านกลับมาเกิดเป็นพระอนุชาต่างพระมารดากับพระผู้มีภาคเจ้า ผู้ทรงพระนามว่า พระปุสสสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระราชบิดานามว่า พระมหินทราชา และมีพระอนุชาอีก ๒ พระองค์ รวมเป็น ๓ พระองค์ และแต่ละองค์มียศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ กัน

ครั้งหนึ่งที่ปลายเขตแดนของพระมหินทราชาเกิดมีข้าศึกศัตรูมารุกราน พระราชาจึงเรียกพระโอรสทั้ง ๓ พระองค์ไปปราบข้าศึก และทรงสามารถปราบข้าศึกศัตรูจนราบคาบ ระหว่างทางกลับจึงปรึกษาหารือกันว่าเราทำงานได้สำเร็จ เมื่อพระราชบิดาพระราชทานพรแก่ตนแล้ว จะเลือกรับพรอะไรดี แล้วมีดำริตรงกันว่า ไม่ว่าจะเป็นพระราชสมบัติใดๆ ก็ตาม ที่องค์สมเด็จพระราชบิดาจะพระประทาน ไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับ การได้ปฏิบัติบำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระเชฎฐาธิราชนั้นเลย เนื่องจากพระราชบิดานั้นคิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นของพระองค์คนเดียว จึงทรงถวายทานและไม่ให้ผู้อื่นร่วมทำบุญด้วย ครั้นเมื่อพระราชโอรสทั้งสามพระองค์มาถึงพระนคร ก็กราบทูลชัยชนะให้ทรงทราบ และขอพระราชทานพรดังที่ปรึกษากันอันนั้น เมื่อได้รับพรแล้ว ก็ทำการสมาทานศีล ๑๐ ประการ แต่งตั้งบุรุษ ๓ คนให้เป็นผู้ดูแลโรงทาน คอยตกแต่งไทยธรรมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยให้บุรุษผู้หนึ่งจัดหาธัญญาหาร บุรุษผู้หนึ่งเป็นพนักงานตรวจนับ และบุรุษอีกผู้หนึ่งเป็นพนักงานตกแต่งไทยธรรม พนักงานทั้งสามท่านนั้นใน ครั้นมาถึงในชาติปัจจุบัน ผู้เป็นพนักงานจัดหาธัญญาหาร กลับมาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นพนักงานตรวจนับ กลับมาเกิดเป็นนางวิสาขาอุบาสิกา และผู้เป็นพนักงานตกแต่งไทยธรรม กลับมาเกิดเป็นพระรัฐบาลเถระ

พระราชโอรสทั้งสามพระองค์เสด็จพากันไปทรงสมาทานศีล ๑๐ ประการ อยู่จนตลอดไตรมาส (๓ เดือน) เพื่อยึดหลักแห่งการบูชาสูงสุด ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอน แม้ว่าจะมีการปฏิบัติด้วยการบริจาคจตุปัจจัยบำรุงแล้วก็ตาม

พอออกพรรษาแล้วพระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์ทรงจัดการถวายไทยธรรมด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงกระทำบุญอยู่จนตลอดพระชนมชีพ ครั้นมาถึงชาติสุดท้ายนี้ พระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์ กลับมาเกิดในตระกูลพราหมณ์ กัสสปโคตร ก่อนพระพุทธเจ้า และมีชื่อเหมือนกันหมดทั้งสามคนคือ กัสสปะ แต่มีคำนำหน้าชื่อที่ต่างกันออกไปตามที่อยู่ เช่นองค์ที่อยู่ที่ ตำบลอุรุเวลา มีชื่อว่า อุรุเวลกัสสปะ องค์ที่อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำมหาคงคานที จึงถูกเรียกว่า นทีกัสสปะ และคนสุดท้องมีชื่อว่า คยากัสสปะ เพราะอาศัยอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

"กำเนิดในพุทธกาล"

พระอุรุเวลกัสสปเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร มีน้องชาย ๒ คน ชื่อว่า กัสสปะ ตามโคตรทั้งนั้น แต่ได้นำสถานที่พำนักอาศัยรวมเข้าข้างหน้าด้วย ว่า นทีกัสสปะ และ คยากัสสปะ เมื่อเจริญวัยขึ้นได้เรียนจบไตรเพท มีมาณพเป็นบริเวาร ๕๐๐ คน ต่อมาพิจารณาเห็นลัทธิที่ตนนับถือ ไม่เป็นแก่นสาร จึงได้พาน้องชาย ๒ คน พร้อมด้วยบริวารออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ ตั้งอาศรมอยู่เรียงกันไป ตามลำดับ ท่านอุรุเวลกัสสปะซึ่งเป็นพี่ชายคนโตตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสปะ เมื่อพระศาสดาพิจารณา เห็นอุปนิสัยที่แก่กล้าสมบูรณ์ และมีพระประสงค์จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้น ณ แคว้นมคธนั้น และมีพุทธดำริจะพาท่านอุรุเวลกัสสปะ ผู้มีอายุมาก ผู้เป็นที่เคารพนับถือของมหาชนตามเสด็จไปด้วย จึงได้เสด็จดำเนินไปลำพังพระองค์เดียว ระหว่างทางได้เทศนา โปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน และประทานอุปสมบทให้ แล้วส่งไปประกาศพระศาสนา เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แล้วตรัสขอที่พักกับท่านอุรุเวลกัสสปะ ชฎิลอุรุเวลกัสสปะไม่เต็มใจที่จะให้แต่ก็ขัดไม่ได้ พระพุทธองค์ได้ทรมานท่านอุรุเวลกัสสปะด้วยอภินิหารต่างๆ จนในที่สุดอุรุเวลกัสสปะเกิดความสลดใจว่า ลัทธิของตนเองไม่มีแก่นสาร ต่อมาได้พาบริวาร ๕๐๐ คน นำบริขารของชฎิลไปลอยทิ้งในแม่น้ำ แล้วทูลขออุปสมบท และได้รับการอุปสมบททั้งหมดด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมาน้องชาย ๒ คน ก็พาบริวารของตนเข้ามาอุปสมบทเหมือนพี่ชาย รวมแล้วพระพุทธเจ้าได้สวกเพิ่มขึ้นอี ๑,๐๐๓ รูป เมื่อท่านเหล่านั้นอินทรีย์แก่กล้าแล้วจึงตรัสเทศนาชื่อว่า อาทิตตปริยายสูตร โปรดเมื่อจบเทศนาแล้ว จิตของท่านเหล่านั้นก็หลุดพ้นจากอาสวะไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน คือ ได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระขีณาสพ

พระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ พอสมควรแก่เวลาแล้ว พระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๑,๐๐๓ รูป เสด็จจาริกไปตามลำดับถึง เมืองราชคฤห์ ประทับอยู่ที่สวนตาลหนุ่มชื่อว่า ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าวจึงพร้อมด้วยข้าราชบริพาร เสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร มีกิริยาอาการไม่อ่อนน้อม ไม่เรียบร้อย จึงตรัสสั่งพระอุรุเวลกัสสปะ ประกาศให้คนเหล่านั้นทราบว่า ลัทธิเก่านั้นหาแก่นสารมิได้ ท่านกระทำตามรับสั่งแล้วทำให้คนเหล่านั้นสิ้นความเคลือบแคลงสงสัย แล้วตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงแสดง อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ เวลาจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ นหุตได้ดวงตาเห็นธรรม อีกส่วนหนึ่งนหุตตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ ครั้งนี้จัดว่าท่านอุรุเวลกัสสปะได้ช่วยเป็นกำลังพระศาสนาในการประดิษฐาน พระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ

ผลจากการที่ท่าน ได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่กำลังความสามารถ ทำให้ได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก การที่ท่านมีบริวารมากเพราะรู้จักเอาใจบริษัท สงเคราะห์ด้วยอามิสบ้าง ด้วยธรรมบ้างตามที่ต้องการ ท่านดำรงชนมายุสังขาร อยู่พอสมควรแก่กาลก็ดับขันธปรินิพพาน

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

"อาทิตตปริยายสูตร"

อาทิตตปริยายสูตร เป็นชื่อพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ภิกษุ ๑,๐๐๓ รูป มีท่านอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น ผู้เคยเป็นชฎิลบูชาไฟมาก่อน ใจความแห่งพระสูตรมีว่า

ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวง คือ จักษุ คือนัยน์ตา โสตะ คือหู ฆานะ คือจมูก ชิวหา คือลิ้น กายโผฏฐัพพะ คืออารมณ์ที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย มโน คือใจ สิ่ง ๖ อย่างนี้เรียกว่า อายตนะภายใน ๖ สิ่งทั้ง ๖ นั้นร้อนเพราะอะไร อะไรมาเผาให้ร้อน เราตถาคตกล่าวว่า ร้อนเพราะไฟคือราคะความกำหนัดยินดี โทสะคือความโกรธ โมหะคือความหลง ร้อนเพราะ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศก พิไรรำพัน เจ็บกาย เสียใจ คับแค้นใจ ไฟกิเลส และไฟทุกข์เหล่านี้มาเผาให้เกิดความร้อน

ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ที่ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวง ตั้งแต่เบื่อหน่ายในจักษุไปจนถึงเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ มโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมปราศจากความกำหนัดรักใคร่ และเมื่อปราศจากความรักใคร่แล้ว จิตก็หลุดพ้น จากความถือมั่น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณรู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว ดังนี้ อริยสาวกนั้นทราบชัดว่าความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอย่างอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

"ได้รับยกย่องในทางผู้มีบริวารมาก"

พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม อันเป็นธรรมสำหรับผู้ใหญ่ ใช้ปกครองดูแลบริวาร (ที่เป็นพระอรหันต์ ๑,๐๐๒ องค์) ให้มีความสุข ซึ่งประกอบด้วย

๑. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข

๒. กรุณา ความสงสาร ปรารถนาจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

๓. มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

๔. อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจไม่เสียใจเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ

ด้วยคุณธรรมเหล่านี้ และอีกทั้งรู้จักบำรุงจิตใจบริวาร ด้วยการสงเคราะห์ ด้วยวัตถุสิ่งของและหลักธรรมะ จึงทำให้ท่านสามารถยึดเหนี่ยวจิตใจบริวารไว้ได้เป็นที่รักเคารพของบริวาร และก็เป็นพุทธสาวกรูปเดียวที่มีบริวารมากที่สุด พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าพระสาวกทั้งปวง ในฝ่ายผู้มีบริวารมาก ท่านดำรงอายุสังขารสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

อ้างอิง : หนังสือ "เอตทัคคะ ในพระพุทธศาสนา" โดยพระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์ (สมาน พรหมอยู่ / กัลยาณธัมโม)
เว็บไซต์ : Dhammathai; Wikipedia.
Cr. รูปภาพจากอินเทอร์เน็ต

แนะนำศึกษาเพิ่มเติม : อาทิตตปริยายสูตร

...

ธรรมะรักษา วิปัสสนาคุ้มครองค่ะ

อจ.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (ฉัตรนะรัชต์)

ขอน้อมอุทิศถวายบุญกุศลเป็นพระราชกุศลแด่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

หมายเลขบันทึก: 620046เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2016 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2016 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท