ประวัติพระเอตทัคคะ (ตอนที่ ๑) : พระอัญญาโกณฑัญญะ เอตทัคคะในทางฝ่ายรัตตัญญู-ผู้รู้ราตรีนาน


"ประวัติพระเอตทัคคะ (ตอนที่ ๑) : พระอัญญาโกณฑัญญะ เอตทัคคะในทางฝ่ายรัตตัญญู-ผู้รู้ราตรีนาน"

ขอนอบน้อมด้วยเศียรเกล้าแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมะรับอรุณ ณ บ้านเย็นยิ้ม
วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2559

- - - - - - - - - - - - - - - - - -

Image result for โกณฑัญญะ
"บุพกรรมในอดีตชาติ"

พระอัญญาโกณฑัญญะตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาลชาวหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู (แปลว่า ผู้รู้ราตรีนาน หมายถึง ได้บวชก่อนใครได้รู้ได้ฟังมาก) แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏ ด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้า และพระสาวกติดต่อกัน 7 วัน วันสุดท้ายได้สั่งให้เปิดเรือนคลังเก็บผ้า นำผ้าเนื้อดีเลิศมาวางถวายไว้แทบยุคลบาท ของพระพุทธเจ้าและถวายพระสาวก แล้วกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นเหมือนภิกษุ รูปที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เมื่อ 7 วันก่อนจากนี้ด้วยเถิด นั่นคือขอให้ได้บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า ในอนาคตแล้วได้รู้แจ้งธรรมก่อนใครหมด” พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า

"ในอีก 100,000 กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้รู้แจ้งธรรมก่อนใคร และจักได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู"
ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างกำแพง แก้วล้อมพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระองค์ ครั้นถึงวันประดิษฐานพระเจดีย์ ก็ได้สร้างเรือนแก้วไว้ภายในพระเจดีย์อีก จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิด ในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของ พระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรของกฎุมพีชาวเมืองพันโฌโฌฤฆฏธุมดี มีชื่อว่า “มหากาล” มหากาลมีน้องชายชื่อว่า “จูฬกาล” (ในชาติสุดท้ายคือสุภัททะปริพาชก) ทั้ง 2 มีอุปนิสัยแตกต่างกัน กล่าวคือ มหากาลเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าวิปัสสี แต่จูฬกาลกลับไม่เลื่อมใส ดังนั้น ทั้ง 2 จึงมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา เกี่ยวกับการทำบุญ

มหากาลได้แบ่งนาออกเป็น 2 ส่วน โดยให้ส่วนหนึ่งเป็นสมบัติของตน และอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นสมบัติของจูฬกาล แล้วได้นำเอาผลิตผลที่เกิดจากนาส่วนของตนนั้น มาทำบุญ จนจวบสิ้นอายุขัย จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภูมิต่างๆ
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
"การได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะฝ่ายรัตตัญญู-ผู้รู้ราตรีนาน"

เมื่อมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้า พระองค์ปัจจุบันท่านมาเกิดเป็น บุตรพราหมณ์มหาศาล ในหมู่บ้านพราหมณ์โทณวัตถุ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่ได้รู้แจ้งธรรมและบวชในพระพุทธศาสนาก่อนใคร พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู ดังกล่าวมาแล้ว ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ที่เหลือ คือ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ซึ่งมีอดีตชาติร่วมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ตรงที่ตั้งจิตปรารถนาให้ได้ฟังพระพุทธเจ้า แสดงธรรมก่อนใคร และปรารถนาจะบรรลุอรหัตผลพร้อมกัน ก็ได้สิ่งที่ปรารถนาไว้คือ ได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมก่อนใคร และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันในที่สุด

พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในบ้านพราหมณ์ ซึ่งไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ "โกณฑัญญะ" เมื่อเจริญวัยแล้วได้เข้าศึกษาเล่าเรียน จบไตรเพทและรู้ลักษณะมนต์ คือ ตำราทายลักษณะ ในคราวที่พระมหาบุรุษประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธี ทำนายพระลักษณะตามพระราชประเพณี ได้คัดเลือก พราหมณ์ ๘ คน ในจำนวนพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ให้เป็นผู้ทำนายลักษณะของพระมหาบุรุษ ในขณะนั้น โกณฑัญญะ พราหมณ์ยังเป็นหนุ่ม ได้รับเชิญมาในงาน และท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับเลือก โกณฑัญญะพราหมณ์เป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุด ในบรรดาที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งหมด พราหมณ์ทั้ง ๗ คน เมื่อตรวจดูลักษณะของพระมหาบุรุษ แล้วทำนายไว้เป็น ๒ ลักษณะ ดังนี้
๑. ถ้าอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
๒. ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลก

ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์นั้นมีความแน่ใจว่า พระองค์จักเสด็จออก ทรงผนวชแน่นอน จึงทำนายไว้เป็นลักษณะเดียวว่า พระองค์จักเสด็จออกทรงผนวช และจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลกแน่แท้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โกณฑัญญะพราหมณ์มีความตั้งใจว่า ถ้าพระองค์เสด็จออกทรงผนวชเมื่อไร ถ้าตนเองยังมีชีวิตอยู่จะออกบวชตามเมื่อนั้น ในเวลาต่อมา เมื่อพระองค์เสด็จออกทรงผนวชแล้ว และทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ (ทุกรกิริยา คือ การกระทำที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง หรือที่เรียกว่า การทรมานตนเอง เช่น อดอาหาร) โกณฑัญญะพราหมณ์ได้ทราบข่าวนั้น จึงชักชวนพราหมณ์ ๔ คน คือ ๑. วัปปะ ๒. ภัททิยะ ๓. มหานามะ ๔. อัสสชิ เรียกว่า "ปัญจวัคคีย์" พราหมณ์ทั้ง ๕ คน ได้ติดตามพระองค์เพื่อคอยปรนนิบัติทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่าถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมใดแล้ว จักได้เทศนาสั่งสอนตนเอง ให้บรรลุธรรมนั้นบ้าง

เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอย่างเต็มที่ ประมาณ ๖ ปีแล้ว พระองค์ทรงสันนิษฐานว่า มิใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ ทรงตั้งพระทัยว่า จะทำความเพียรทางใจ จึงทรงเลิกการกระทำทุกรกิริยานั้นเสีย ส่วนปัญจวัคคีย์ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า คิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมากเสียแล้วจึงหมดความเลื่อมใส เกิดความเบื่อหน่าย พากันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่า อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงดำริหาคนที่จะรับพระธรรมเทศนา เป็นคนแรก อันดับแรกพระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ ๒ ท่าน คือ
๑. อาฬารดาบส กาลามโคตร
๒. อุททกดาบส รามบุตร

ซึ่งพระองค์ได้อาศัยศึกษา ลัทธิของท่าน แต่ท่านทั้งสองได้เสียชีวิตไปก่อนแล้ว ลำดับต่อมาทรงระลึกถึงพวกปัญจวัคคีย์ ที่เคยเฝ้าปฏิบัติอุปัฏฐากพระองค์มา ครั้นทรงดำริอย่างนี้ก็เสด็จไปสู่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะเดียวกันพวกปัญจวัคคีย์ได้เห็น พระองค์เสด็จมาแต่ไกล คิดว่า พระองค์เสด็จมาแสวงหาคนอุปัฏฐาก จึงได้ตกลงกันว่าพระสมณโคดมนี้ คลายจากความเพียรมาเป็นผู้มักมากเสียแล้ว เสด็จมาที่นี่ พวกเราไม่พึงไหว้ ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ และอย่ารับบาตร จีวร ของพระองค์เลย จะปูอาสนะ ที่นั่งไว้เท่านั้น ถ้าพระองค์ทรงมี ความประสงค์ก็จะประทับนั่งเอง

ครั้นเมื่อ พระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้ว อาศัยความเคารพที่เคยมีต่อพระองค์มาก่อน ได้บรรดาลให้ลืมกติกานัดหมายที่ทำกันไว้ทั้งหมด พากันลุกขึ้นต้อนรับและทำสามีจิกรรม ดังที่เคยปฏิบัติมา แต่ก็ยังมีการแสดงกิริยา กระด้างกระเดื่อง สนทนากับพระองค์ ด้วยถ้อยคำไม่เคารพ พระองค์ตรัสบอกว่าเราได้ตรัสรู้ "อมฤตธรรม" ด้วยตัวของเราเอง (อมฤตธรรม หมายถึงธรรมที่ไม่สูญหาย อยู่คู่โลกตลอดไป) ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด เราจักแสดงให้ฟัง เมื่อท่านทั้งหลาย ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม ที่เราสั่งสอนแล้ว อีกไม่ช้าจักได้บรรลุอมฤตธรรมนั้น พวกปัญจวัคคีย์ได้กล่าวคัดค้านถึงสองสามครั้งว่า พระองค์คลายจากความเพียรเสียแล้ว จักบรรลุอมฤตธรรมได้อย่างไร พระองค์จึงตรัสให้ระลึกถึงกาลหนหลังว่า ก่อนนี้เธอทั้งหลายได้ยินได้ฟังวาจาที่เราพูดมา เช่นนี้บ้างหรือไม่? พวกปัญจวัคคีย์ระลึกขึ้นได้ว่า พระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อนเลย จึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา ที่พระองค์เทศนาสั่งสอนสืบต่อไป

พระองค์ ได้ตรัสปฐมเทศนา "ธัมมจักกัปปวัตนสูตร" ประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณแก่ปัญจวัคคีย์ ในเวลาจบลงแห่งพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุได้เกิดขึ้นแก่โกณฑัญญะ (ธรรมจักษุ หมายถึง โสดาปัตติมรรค) ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา" ท่านที่ได้บรรลุปัตติมรรคเรียกว่าพระโสดาบัน เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า โกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ เพราะอาศัยคำว่า อญฺญาสิ ที่แปลว่า ได้รู้แล้ว คำว่า อัญญา จึงนำหน้าท่านโกณฑัญญะว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เมื่อท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม จึงได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้อุปสมบท เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วยพระวาจาว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อถึงที่สุดทุกข์โดยชอบ" การอุปสมบทของอัญญาโกณฑัญญะก็สำเร็จ ด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ เรียกการ อุปสมบทแบบนี้ว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ซึ่งพระอัญญาโกณฑัญญะได้รับการอุปสมบท ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นองค์แรก

ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงเทศนาให้ปัญจวัคคีย์อีก ๔ คนได้ดวงตาเห็นธรรม และได้รับการอุปสมบท เป็นพระภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เช่นเดียวกัน ต่อจากนั้นพระองค์ได้เทศนาเกี่ยวกับ หนทางแห่งการอบรมวิปัสนาวิมุตติ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ชื่อว่า "อานัตตลักขณสูตร" ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปทานสำเร็จเป็น พระอรหันต์ (อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นในสิ่งต่าง ๆ ด้วยอำนาจกิเลส)

พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับการยกย่อง จากพระบรมศาสดาว่า "เป็นยอดกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รัตตัญญู" แปลว่าผู้รู้ราตรี หมายถึง ท่านเป็นผู้เก่าแก่ ได้รับการอุปสมบทก่อนภิกษุรูปอื่นทั้งหมด ในพระพุทธศาสนา เป็นผู้รอบรู้เหตุการณ์ต่างๆ มาแต่ต้น เป็นผู้มีประสบการณ์มาก

พระอัญญาโกณฑัญญะได้เป็นกำลังสำคัญ ในการประกาศศาสนา เมื่อถึงเวลาอันสมควร ท่านได้ดับขันธปรินิพพาน ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
อ้างอิง : หนังสือ "เอตทัคคะ ในพระพุทธศาสนา" โดยพระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์ (สมาน พรหมอยู่ / กัลยาณธัมโม)
เว็บไซต์ : Dhammathai; Wikipedia.
Cr. รูปภาพจากอินเทอร์เน็ต

แนะนำศึกษาเพิ่มเติม : อานัตตลักขณสูตร
...
ธรรมะรักษา วิปัสสนาคุ้มครองค่ะ
อจ.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (ฉัตรนะรัชต์)

ขอน้อมอุทิศถวายบุญกุศลเป็นพระราชกุศลแด่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

หมายเลขบันทึก: 620045เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2016 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2016 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท