ผลการสอบ PISA 2015 ในสายตาของฝรั่งเศส


หลังจากที่ได้เขียนการศึกษาฝรั่งเศสผ่านการสอบ Baccalauréat 2016 ไปนั้น ผ่านมาถึงปลายปี ข่าวชุดหนึ่งปรากฏขึ้นมาพร้อม ๆ กันจากสำนักข่าว Le Figaro และ Le Monde ของฝรั่งเศส รวมไปถึง El Pais ของสเปน นั่นคือผลการสอบ PISA ปี 2015 ที่มีการเผยแพร่ในวันที่ 6 ธันวาคม 2559

เมื่อผู้เขียนได้อ่านข่าวและบทความดังกล่าว โดยเฉพาะจากทางฝรั่งเศสแล้ว เห็นว่ามีมุมมองที่น่าสนใจที่น่านำมาแบ่งปัน นั่นคือมุมมองว่าประเทศฝรั่งเศส (ในฐานะประเทศตะวันตกที่ “พัฒนาแล้ว”) เขามองผลการสอบของประเทศเขาที่ออกมาอย่างไร

เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกนำเสนอมุมมองของฝรั่งเศส นอกเหนือจากประเด็นที่น่าสนใจในบทความแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะได้มุมมองความเห็นที่แตกต่างมากไปกว่าเอกสารบทความที่ใช้ภาษาอังกฤษ

รวมถึงได้ทราบด้วยว่า ไม่ได้มีแต่ประเทศไทยที่บ่นกับผลคะแนน PISA ของชาติตัวเอง


การสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) คือการสอบวัดระดับการศึกษานานาชาติ โดยวัดความสามารถ 3 ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ของนักเรียนอายุ 15 ปี การสอบนี้จัดโดยองค์กร OECD (Organization of Economic Co-operation and Development) ส่วนประเทศที่เข้าร่วมการวัดผลนี้คือ ประเทศที่เป็นสมาชิกของ OECD (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเป็นประเทศตะวันตก) และประเทศอื่น ๆ ที่สมัครใจเข้าร่วม (เช่นประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม)


ผลการสอบในปี 2015 ที่เพิ่งจะประกาศผลมานี้ มีความน่าสนใจที่ประเทศโมเดลการศึกษาอย่างฟินแลนด์อยู่ลำดับที่ 5 ขณะที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อนบ้านของเราก้าวขึ้นแท่นลำดับ 1 ทั้งคะแนนเฉลี่ยและคะแนนในแต่ละทักษะ

ผลการสอบครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประเทศเอเชียมาแรง ประเทศใน OECD มีเพียงโปรตุเกสและอิสราเอลที่ลำดับคะแนนดีขึ้น ประเทศอื่น ๆ ถ้าคะแนนไม่คงที่ก็แย่ลง (ซึ่งรวมถึงฟินแลนด์ที่แต่แรกก็เคยงงกับผลการสอบ PISA ของตัวเอง ว่าทำไมตัวเองถึงได้ที่หนึ่ง!?)

ขณะที่ฝรั่งเศสได้ผลออกมาอยู่ระดับค่าเฉลี่ย คือคะแนนเฉลี่ย 3 ทักษะอยู่ในอันดับที่ 27 จากประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมด 72 ประเทศ (ประเทศสเปนและสหรัฐอมริกาผลอยู่ในระดับเดียวกัน)

ซึ่งหนังสือพิมพ์ Le Figaro ได้พาดหัวข่าวว่า นักเรียนฝรั่งเศสก็ยังคง “งั้น ๆ” แหละ และระบุว่าผลที่ออกมาก็ไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง

ประเทศฝรั่งเศสเองก็ยังบ่นกับผลคะแนนของตัวเอง ไม่ต่างจากไทย (แต่คะแนนอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศไทยมาก)

แต่บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนไม่อยากให้ผู้อ่านหันไปสนใจเพียงแต่คะแนน เพราะสิ่งที่น่าสนใจกว่าคะแนน (ที่วัดได้เพียงบางแง่มุมของการศึกษาในบางวิชาเท่านั้น) ก็คือการตอบสนองอันแสดงถึงมุมมองต่อการศึกษา การวัดผลการศึกษา และการสอบ PISA ของฝรั่งเศสและสเปน


ก่อนอื่น หนังสือพิมพ์ทั้งของฝรั่งเศสและสเปนเน้นย้ำว่า การสอบ PISA เป็นเพียงการสอบวัดความสามารถของนักเรียนเพียงสามด้าน คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ซึ่งเป็นเพียงบางแง่มุมของการศึกษาเท่านั้น

สำหรับตัวผู้เขียนเองขอขยายความว่า การเลือกที่จะวัดเพียงสามด้านนี้ เน้นวิชาทางวิทยาศาสตร์มากกว่าสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แต่ในตัวข้อสอบเองก็สะท้อนว่า ข้อสอบที่จะสามารถวัดผลภาพรวมการศึกษานานาชาติ (โดยรักษามาตรฐานของเครื่องมือวัดผล) ได้นั้น ก็จำกัดในการวัดผลเพียงไม่กี่วิชา และวิชาเหล่านั้นก็คือวิชาอย่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือการอ่าน (ซึ่งเป็นเพียงทักษะหนึ่งทางภาษา)

วิชาอื่น ๆ ที่สำคัญอย่าง สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิชากลุ่มสุนทรียศาสตร์ (ศิลปะ ดนตรี) หรือภาษา (ในส่วนทักษะอื่น ๆ จนไปถึงการสร้างสรรค์งานทางอักษรศาสตร์) ไม่สามารถวัดผลได้ทั้งหมดด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “ข้อสอบ”

และการสอบ PISA ก็ไม่ได้วัดความสามารถที่มีความสำคัญต่ออารยธรรมความเจริญของมนุษย์เหล่านั้นด้วย


มีหนึ่งประเด็นที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตขณะอ่านข่าว นั่นคือในข่าวของ Le Figaro ได้ยกคำพูดของ Chief of Staff ของ OECD ว่า “ถึงแม้จะมีการลงทุนทางการศึกษาที่สำคัญรวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการศึกษา แต่ผลคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และค่อย ๆ ตกต่ำลงตั้งแต่ปี 2006”

เคยมีข่าวที่บอกว่าประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีการลงทุนในการศึกษาระดับประถมในภาพรวม (เฉลี่ยต่อนักเรียนรายคน) น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศใน OECD แต่เมื่อเป็นระดับมัธยมปลาย ตัวเลขดังกล่าวกลับกลับสูงกว่าค่าเฉลี่ย (สำหรับระดับประถมศึกษาเยอรมนีก็ลงทุนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่สูงกว่าฝรั่งเศส)

กระนั้น จำนวนงบประมาณที่รัฐลงทุนไปนั้น ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อคะแนนที่ออกมา

นั้นก็เพราะในหลายกรณี การลงทุนของภาครัฐโดยรวม เป็นการลงทุนที่ผิดจุด และไม่ได้แก้ไขหรือพัฒนาแก่นหลักการศึกษา ซึ่งคือกระบวนการศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในห้องเรียน

ในสื่อไทยบ่อยครั้งจะพบข้อเสนอจากนักการศึกษาให้เพิ่มงบประมาณทางการศึกษาหรือไม่ก็ปรับหลักสูตร ปรับแล้วปรับอีก แต่ผลกลับไม่ได้เปลี่ยนแปลง

นั่นก็เพราะการแก้ไขจากส่วนกลาง (หรือจากบนลงล่าง top-down) ไม่ได้เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ผู้เรียน ผู้สอน และเนื้อหา ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา

ประเด็นที่ผู้เขียนนึกขึ้นได้คือ ขณะที่ประเทศฝรั่งเศสกำลังบ่นพึมพำ (แม้ไม่มากนัก เช่นเดียวกับประเทศตะวันตกอื่น ๆ) เช่นเดียวกับไทยนั้น

ประเทศฝรั่งเศสก็เป็นประเทศที่ระบบราชการมีขนาดใหญ่

ไม่ต่างจากไทย(!?)


ในบทความของ Le Figaro ที่ชื่อว่า การเรียนซ้ำกุญแจแห่งความสำเร็จของเอเชีย ได้เสนอความเห็นแบบ “PISA skeptic” ที่น่าสนใจ ทั้งยังจี้จุดไว้ว่า...

“...การสอบคำนึงถึงนักเรียนอายุ 15 ปี สำหรับฝรั่งเศสหมายถึงชั้นปีการศึกษาที่แตกต่างกัน (...) (ผู้เขียน: นักเรียนมัธยมที่อายุ 15 ปี ในแต่ละสาย-หลักสูตรของการศึกษาฝรั่งเศส จะอยู่ในชั้นปีการศึกษาไม่เหมือนกัน)

อย่างนั้นแล้ว หรือว่า PISA กำลังวัดในสิ่งที่วัดไม่ได้? ประเทศของเราจะให้ทำตามอย่างสิงคโปร์ที่เป็นเกาะปลายคาบสมุทรมาเลย์ มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคนได้อย่างไร?

หรืออย่างเกาหลีใต้ ประเทศที่เด็ก ๆ แทบทุกคนสมัครเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาที่ไม่ใช่โรงเรียนเพื่อที่จะเรียนพิเศษแบบ high dose ประเทศที่อัตราการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นสูงที่สุดในโลก ซึ่งส่วนมากก็เป็นผลจากความเครียดในการเรียน

หรือเขตพิเศษของจีนที่ติดอันดับ เขตเหล่านั้นเป็นเขตชายฝั่งตะวันออกของจีน เป็นเขตอุตสาหกรรม การเงิน และเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ

ซึ่งไม่สามารถเป็นตัวแทนภาพรวมของการศึกษาจีนทั้งประเทศได้เลย...”


ทั้งนี้ บทความยังระบุว่า ประเทศเอเชียมีการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนซ้ำ (learning by repetition) นั่นคือ ทำโจทย์ซ้ำ ๆ ทั้งยังมีปัจจัยในเรื่องของการเรียนพิเศษ รวมถึงแรงกดดันจากครอบครัว ซึ่งต่างจากตะวันตกที่เป้าหมายของการเรียนการสอนดูจะเป็นการทำให้เด็กมีความสุขในการเรียน

ผู้เขียนจึงขอตั้งคำถามกลับว่า การศึกษานั้นมีเป้าหมายเพื่ออะไรกันแน่

สำหรับบางคน การศึกษาอาจจะเพื่อตำแหน่งการงานในอนาคต เพื่อการแข่งขัน เพื่อใส่ข้อมูลให้แก่เด็กให้มากที่สุด

แต่นั้นเป็นเป้าหมายที่แท้จริงหรือ

การศึกษาโดยจิตวิญญาณ คงไม่หนีไปจากการศึกษาเสรี (Liberal Education) ที่มีเป้าหมายเพื่อให้บุคคลสามารถมีชีวิตที่ดีที่สมบูรณ์โดยตนเองได้

หากการศึกษาเป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและนำไปสู่การมีชีวิตที่มีความสุขของปัจเจกและสังคมแล้ว เราจะตีความผลการวัดระดับการศึกษาอย่างไรและเพียงใด


ในส่วนการวัดผลของ PISA ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นที่พูดถึงมากนักในเมืองไทย

เช่น สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีการเก็บรวบรวมผลว่า นักเรียนมีความสุขกับการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพียงไร และมีความคิดที่จะทำงานในสาขาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากเพียงใด สำหรับกลุ่มประเทศ OECD นักเรียนหวังที่จะทำงานในสาขาวิทยาศาสตร์ประมาณ 25% ขณะที่ฝรั่งเศสอยู่ที่ 20% นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างความชอบและเป้าหมายในอนาคตกับวิชาที่เรียน

นอกจากนี้ อีกการตีความผลที่หนังสือพิมพ์ Le Figaro และ El Pais ให้ความสำคัญคือ ความเสมอภาคทางการศึกษา

เว็บของ PISA เองก็มีข้อมูลที่กล่าวถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศ ระหว่างพื้นฐานครอบครัวที่แตกต่าง และระหว่างพลเมืองกับผู้อพยพ

อย่าง El Pais ตั้งประเด็นว่า แคว้นทางตอนเหนือของประเทศได้คะแนนออกมาสูงกว่าแคว้นทางตอนใต้มาก อันจำเป็นต้องลดระยะห่างส่วนนี้ให้ลดลง


เช่นเดียวกับในประเทศฝรั่งเศส ที่โดยรวมมีทั้งกลุ่มนักเรียนที่เรียนดีและทำคะแนนได้สูง ขณะเดียวกัน ก็มีนักเรียนที่ทำคะแนนไม่สูงในสัดส่วนพอ ๆ กัน

สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจคือความเห็นที่แตกต่างจากเสียงที่คุ้นเคยในประเทศไทย เพราะในไทยก็คงมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการศึกษาใหม่ ปรับหลักสูตรใหม่ และก็ให้มีมาตรการในการทำให้โรงเรียนทั่วทั้งประเทศสอนเหมือนกัน ตั้งมาตรฐานเดียวกันจากส่วนกลาง

การรวมศูนย์อำนาจ (centralization) ในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะระบบการประเมิน ทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนถูกจำกัดกรอบ ครูไม่สามารถปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมสอดคล้องไปกับบริบทในห้องเรียน หรือเพิ่มเติมอย่างหลากหลายไปจากหลักสูตรแกนกลางได้ ทั้งยังไม่นับงานเอกสารที่สวนกระแสการลดการใช้กระดาษลดโลกร้อนและเพิ่มภาระให้แก่ครู

แต่ปฏิกิริยาในสื่อฝรั่งเศสกลับตรงกันข้ามกับการรวมศูนย์การจัดการศึกษา!?

รองครูใหญ่ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในปารีสให้สัมภาษณ์ใน Le Figaro ว่า...

“ตอนนี้ฝรั่งเศสมีนักเรียนที่เก่งในสัดส่วนเดียวกับนักเรียนที่ไม่เก่งนัก ทำให้การศึกษาฝรั่งเศสก้าวไปไม่พร้อมกัน

เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย มีความแตกต่างระหว่างสถาบัน...”

ครูอีกท่านได้กล่าวว่า

“เราจะต้องหาวิธีที่จะช่วยนักเรียนที่กำลังปรับตัวเข้ากับระบบ[การเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน-ผู้เขียน]

และเลิกการมีโรงเรียนแบบเดียวที่สอนสิ่งเดียวกันให้กับนักเรียนทุกคนด้วยวิธีเดียวกัน”


ประเด็นสุดท้ายที่มีความสำคัญ ปรากฏใน Le Figaro ส่วนที่ว่า นอกจากสิงคโปร์มีความกระตือรือร้นสูง เค้นให้นักเรียนทุกคนทำคะแนนให้ได้ดี และมีความเท่าเทียมในการศึกษาแม้แต่กับนักเรียนที่ไม่ได้เกิดที่สิงคโปร์เองแล้ว

“ครูและอาจารย์ในสิงคโปร์ยังได้รับเงินสนับสนุนพอ ๆ กับวิศวกรตั้งแต่การปฏิรูปในปี 1997 ที่ทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนกับครูที่คัดเลือกมาจากนักเรียนสายวิทย์ที่ดีที่สุด”

ประเด็นนี้สอดคล้องไปกับการศึกษาในฟินแลนด์ที่ครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องในสังคม

ทำให้ครูมีความภาคภูมิใจในอาชีพของตัวเอง มีอิสระ (autonomy) ในการจัดการเรียนการสอนของตัวเอง สามารถปรับการเรียนการสอนยืดหยุ่นจากส่วนกลางได้มาก รวมถึงได้เงินเดือนสูง

ซึ่งส่งผลให้เกิดผลสองอย่างคือ

1. ทัศนคติที่ดีที่นักเรียนและผู้ปกครองมีต่อครู อันทำให้ครูสามารถคัดสรรสิ่งที่เป็นประโยชน์มาสอนให้แก่นักเรียนตามที่ครูเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งในเมืองไทยปัจจุบันให้ทำเต็มที่ก็คงจะยาก เพราะบรรยากาศการศึกษามีแรงกดดันต่อครู ในกรณีของสังคมเมืองครูถูกกดดันโดยผู้ปกครองให้ทำตามสิ่งที่ผู้ปกครองเชื่อว่าดี ซึ่งน่าเศร้าว่าหลายกรณีคือให้ครูในโรงเรียนสอนสิ่งที่ครูสอนพิเศษสอน การเรียนในโรงเรียนจึงเป็นแค่ส่วนเสริมจากโรงเรียนกวดวิชา ในกรณีกันตรงข้าม การขาดโอกาสในเชิงเปรียบเทียบของคนนอกเขตสังคมเมืองนำไปสู่ความคาดหวังและหน้าที่ที่หนักในอีกลักษณะหนึ่ง แตกต่างจากครูในเมือง นอกจากนั้นทัศนคติที่ไม่ดียังสะท้อนจากการที่เด็กไทยมีความคิดอยากทำอาชีพทางการศึกษาน้อยลง

2. บุคคลากรที่มีคุณภาพหันมาทำอาชีพการศึกษามากขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่า “การศึกษาคือเสาหลักแห่งมนุษยชาติ” แต่ไม่ว่าคำกล่าวของผู้เขียนถูกต้องหรือไม่ บุคคลากรที่ทำงานการศึกษาก็ควรจะมีคุณภาพ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีพลัง (spirit) มีคุณธรรม เพราะเด็กนักเรียนจะซึมซับพฤติกรรม ความคิด การตัดสินใจ จากบุคคลที่เขาใกล้ชิด มีความรู้ความสามารถและคุณธรรม

และผู้เขียนก็หวังว่านักเรียนเหล่านั้นจะได้แรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่ตัวเองรัก


ผู้เขียนเคยได้ยินวงการศึกษาไทยพูดกันว่า เราควรจะให้ครูมีเงินเดือนเท่ากับแพทย์ (แท้จริงเงินเดือนครูในฟินแลนด์ไม่ได้เท่ากับแพทย์อย่างที่เคยมีกระแส) ผู้เขียนยังเคยได้ยินคำถามลักษณะเดียวกันนี้ ว่าควรจะเพิ่มเงินเดือนครูในสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในระดับสูงหรือไม่ ในรายการของ Fareed Zakaria’s GPS ทาง CNN ซักระยะหนึ่งมาแล้ว

โดยสรุป สำหรับเมืองไทย คงจะทำให้เงินเดือนครูสูงอย่างแพทย์ยาก

แต่เราสามารถ และควรที่จะทำให้อาชีพครูมีสถานะเชิดหน้าชูตาในสังคมได้

ซึ่งเป็นทัศนะและความคิดของสังคมโดยรวมที่มองว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ และอาชีพนี้เป็นอาชีพที่สำคัญ

ครูยังเป็นอาชีพที่มีความลำบากในตัวเองมาก อาจไม่ใช่เฉพาะทางการเงิน แต่ด้วยระบบที่ลดทอน (reduce) พลังการสร้างสรรค์ของอาชีพ


จุดเริ่มต้น อาจเป็นการกลับมาทบทวนคุณค่าของประเด็นต่าง ๆ ทางศึกษาใหม่

และอาจเป็นการกลับมาตั้งหลักใหม่ว่า เป้าหมายของการศึกษาคืออะไร



มุนินทร ว.

6/12/16



ข่าว

Le Figaro - Classement Pisa : les élèves français toujours médiocres

Le Figaro - L'apprentissage par la répétition, la clé du succès des pays asiatiques

Le Figaro - Classement Pisa : « Ils ne savent plus faire un calcul mental »

El Pais - Informe PISA | La educación española se estanca en ciencias y matemáticas y mejora levemente en lectura

เอกสารเกี่ยวกับ PISA

PISA 2015 Results in Focus

OECD - PISA

หมายเลขบันทึก: 619828เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2016 02:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2016 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สุดยอดครับ วิเคราะห์ได้ลึกซึ้งดีจริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท