การศึกษาฝรั่งเศสผ่าน Baccalauréat 2016 ข้อสอบจบม.6-เข้ามหาวิทยาลัย ตอนที่ 4


ตอนที่แล้วได้สัญญาไว้ว่าจะแปลข้อสอบวิชาภาษาฝรั่งเศส épreuve écrite (แปลตรงตัวว่า ข้อสอบเขียน) ซึ่งนักเรียนฝรั่งเศสได้สอบไปวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2016 อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบ Baccalauréat เป็นการสอบจบม.6 และสำหรับนำคะแนนไปใช้ในการสอบมหาวิทยาลัยด้วย

สามวิชาที่เพิ่งจัดการสอบเสร็จสิ้นไป เราได้เห็นมุมมองของการศึกษาฝรั่งเศส

วันแรกสอบวิชาปรัชญา ศาสตร์แห่งการ/ความคิด เขาต้องการให้นักเรียนคิดเป็น

วันที่สองสอบวิชาประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์ เขาต้องการให้นักเรียนเขาใจภาพรวมของประวัติศาสตร์ และความเชื่อมโยงระหว่างสภาพทางภูมิศาสตร์กับประวัติศาสตร์

วันที่สามสอบวิชาภาษาฝรั่งเศส เขาต้องการให้นักเรียนอ่านงานเขียนให้แตก เข้าใจความหมายและความคิด และทำนองจะให้นักเรียนสร้างงานของตัวเอง

แหม ฝรั่งเศสเขาจะให้คน ๆ หนึ่ง เป็นทั้ง นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ และนักเขียน เลยเหรอ นี้การสอบยังไม่จบเลยนะ เขาจะยัดให้นักเรียนทำได้ทุกอย่างเลยหรือยังไง ไม่ใช่หรอกครับ

จากที่บอกว่าฝรั่งเศสเขาให้ความสำคัญอย่างมากกับเสรีภาพทางความคิด เขาไม่ได้จะให้นักเรียนเป็นเลิศทุกอย่าง แต่เขาต้องการให้เด็กมีพื้นฐานที่ดี พื้นฐานสำหรับการคิดต่อไป เขาไม่ได้ให้นักเรียนจำข้อมูลยิบย่อยไปซะหมด หากแต่ข้อมูลที่จำเป็นและภาพรวม เขาต้องการให้เด็กมีมุมมองที่กว้าง ไม่ใช่มองมุมเดียว มีทัศนคติที่ดีและที่ถูกต้องสำหรับวิชาหนึ่ง ๆ (เช่น นักคณิตศาสตร์ต้องรอบคอบ นักประวัติศาสตร์ต้องมีข้อมูลรอบด้าน นักศิลปะต้องอาร์ต) เมื่อเขามีพื้นฐานที่ดีแล้ว 1. เขาจะเลือกสร้างอนาคตของเขาเอง โดยการตัดสินใจของเขาเอง 2. เขาจะมีเสรีภาพทางความคิด เพราะเขาคิดเป็น 3. เขาก็จะเข้าใจคนอาชีพอื่นสังคมอื่น เพราะเขาถูกฝึกมาให้มีมุมมองที่กว้างครับ ต่อไปจะบูรณาเชื่อมโยงความรู้ข้ามสาขาเขาก็สามารถทำได้ครับ

ในส่วนของภาษานั้น ทางตะวันตกให้ความสำคัญครับ เพราะภาษาในมุมมองตะวันตก ไม่ใช่แค่ภาษาเพื่อสื่อสารกับคนอื่นเท่านั้นครับ ภาษามีมิติที่หลากหลายกว่านั้น รากฐานมาจากปรัชญาการศึกษาในยุคกลางที่เรียกว่า Liberal Arts หรือ ศิลปศาสตร์นั้นเองครับ เป้าหมายของศิลปศาสตร์ก็ตามชื่อครับคือ liberal และ liberty เสรีภาพ (ละติน: liberalis แปลว่า worthy of a free person) นั้นคือเป็นการศึกษาของมนุษย์ที่อิสระ ไม่เป็นทาสครับ free man เขาเรียนวิชาอะไรกันบ้างนะ

Liberal Arts ยุคกลาง นอกจากศึกษาปรัชญาแล้ว เขามี septem artes liberales หรือ seven liberal arts แบบ 3+4 ครับ

3 แกนหลักได้แก่ grammar (ไวยากรณ์), logic (ตรรกะ-ตรรกะทางภาษา) และ rhetoric (โวหาร) รวมกับอีก 4 วิชาอันได้แก่ arithmetic (เลขคณิต), geometry (เรขาคณิต), music (ดนตรี) และ astronomy (ดาราศาสตร์) การศึกษาในปัจจุบันก็มีรากฐานมาจาก liberal arts ยุคกลาง และรากฐานปรัชญาการศึกษาแบบ liberal education นั้นเอง

แล้วข้อสอบวิชาภาษาฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศสเขาเป็นยังไง แล้วสะท้อนถึงเสรีภาพทางความคิดอย่างไรนั้นมาดูกันเลยครับ


ต่อไปนี้เป็นตัวข้อสอบ Baccalauréat 2016 l'épreuve écrite โดยแบ่งตามสายของข้อสอบ ที่ผู้เขียนได้แปลจากเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ Le Monde...

ข้อสอบวิชาภาษาฝรั่งเศส (17 มิถุนายน 2016)


Série S Scientifique (สายวิทยาศาสตร์) และ Série ES Economique-sociale (สายสังคม-ธุรกิจและพาณิชย์) เวลาสอบ 4 ชั่วโมง

Object of study: คำถามของมนุษย์ในสังคมการถกเถียงนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 ถึงปัจจุบัน

Texts:

Text A: Victor Hugo คำกล่าวในงานศพของ Balzac (29 สิงหาคม 1850)

Text B: Émile Zola คำกล่าวในงานศพของ Guy de Maupassant (7 กรกฎาคม 1893)

Text C: Anatole France คำสดุดีในงานศพของ Émile Zola (5 ตุลาคม 1902)

Text D: Paul Éluard คำกล่าวต่อทูตเชคโกสโลวาเกียเมื่อคราวนำอัฐิของ Robert Desnos กลับสู่ฝรั่งเศส (15 ตุลาคม 1945)

หัวข้อที่เขียนตอบ

1. ตอบคำถาม: นักเขียนที่ได้รับการสดุดีใน text ที่ให้มา มีคุณสมบัติอย่างไร (4 คะแนน)

2. เลือกเขียนหนึ่งหัวข้อ (16 คะแนน)

หัวข้อที่ 1 วิจารณ์: วิจารณ์คำกล่าวของ Anatole France (text C)

หัวข้อที่ 2 แสดงความคิดเห็น: จาก text ที่ให้มา เนื้อหาที่ได้เรียน รวมไปถึงหนังสือที่นักเรียนอ่านเองนอกเวลา ให้แสดงความคิดเห็นว่า นักเขียนมีหน้าที่ที่สำคัญคือการเชิดชูสิ่งที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และคุณค่าของความเป็นมนุษย์?

หัวข้อที่ 3 แต่งใหม่: ในโอกาสครบรอบ ให้นักเรียนร่างคำสดุดีนักเขียนที่ชื่นชอบ คำกล่าวนี้อาจพัฒนามาจากคำกล่าวอื่นได้ตามความเหมาะสม


Série L Littéraire (สายศิลป์) เวลาสอบ 4 ชั่วโมง

Object of Study: การแต่งซ้ำ ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 17 จนถึงปัจจุบัน

Texts:

Text A: Voltaire เรื่อง Oedipus องก์ที่ 1 ฉากที่ 1 (1718)

Text B: José Maria de Heredia กลอนเรื่อง Sphinx (สฟิงซ์) จาก Les Trophées (1893)

Text C: Albert Samain เรื่อง Le Sphinx (สฟิงซ์) จาก Symphonie héroïque (1900)

Text D: Jean Cocteau ส่วนหนึ่งจากบทละครเรื่อง La Machine infernale (เครื่องจักรนรก) องก์ที่ 2

(ผู้แปล: ทุกเรื่องพัฒนาจากวรรณคดีกรีกโบราณเรื่อง Oedipus ซึ่งสฟิงซ์ก็ปรากฎอยู่ในเรื่องด้วย)

หัวข้อที่เขียนตอบ

1. ตอบคำถาม: จาก text ที่ให้มา ตัวสฟิงซ์มีคุณสมบัติหลักอย่างไร (4 คะแนน)

2. เลือกเขียนหนึ่งหัวข้อ (16 คะแนน)

หัวข้อที่ 1 วิจารณ์: วิจารณ์ส่วนหนึ่งของบทละครเรื่อง La Machine infernale (text D)

หัวข้อที่ 2 แสดงความคิดเห็น: จาก text ที่ให้มา ผลงานศิลปะและงานเขียนที่ได้เรียน จนถึงผลงานศิลปะและงานเขียนที่นักเรียนได้ศึกษาด้วยตัวเอง ให้แสดงความคิดเห็นว่า นักเขียนยังจะทำให้ผู้อ่านทึ่งได้หรือไม่ เมื่อพวกเขานำตำนานโบราณกลับมาเล่าใหม่

หัวข้อที่ 3 แต่งใหม่: เลือกอนุสรณ์สถานหรืออนุเสาวรีย์ที่นักเรียนชื่นชอบ แล้วจินตนาการแต่งบทพูดกับตัวเอง ความคิด และความในใจของอนุสรณ์สถานหรืออนุเสารีย์นั้น – ตัวอย่างเช่น พูดกับตัวเองถึง raison d’être (เหตุแห่งการดำรงอยู่) พฤติกรรมของมนุษย์ ความเป็นไปของตนเอง ฯลฯ


Série Technologie (สายเทคโนโลยี) เวลาสอบ 4 ชั่วโมง

Object of study: คำถามของมนุษย์ในสังคมการถกเถียงนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 16 ถึงปัจจุบัน

Texts:

Text A: D’Alembert เรื่อง Preliminary Discourse ซึ่งอยู่ใน L’Encyclopédieou dictionnaire raisonné des sciences, des arts et des métiers (1751)

Text B: Jules Vernes เรื่องใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์ ตอนที่ 1 บทที่ 12 ()1871

Text C: Albert Robida เรื่อง Le Vingtième Siècle (ศตวรรษที่ 20) (1883)

Text D: Michel Serres เรื่อง Petite Poucette (Thumbelina) (2012)

หัวข้อที่เขียนตอบ

1. ตอบคำถาม (6 คะแนน)

คำถามที่ 1 ความคิดใหม่ที่ปรากฏในเอกสารที่ให้มา มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

คำถามที่ 2 เอกสารที่ให้มา แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ในการผสมผสานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กับจินตนาการอย่างไรบ้าง

2. เลือกเขียนหนึ่งหัวข้อ (14 คะแนน)

หัวข้อที่ 1 วิจารณ์: วิจารณ์ text B ของ Jules Vernes โดย 1. แสดงว่าผู้แต่งได้ให้คุณค่าตัวละครแก่ Nemo ผู้ประดิษฐ์ Nautilus อย่างไร 2. วิเคราะห์องค์ประกอบที่ทำให้ Nautilus ดูยิ่งใหญ่อลังการ

หัวข้อที่ 2 แสดงความคิดเห็น: จาก text ที่ให้มา เนื้อหาที่ได้เรียน รวมไปถึงความรู้ส่วนตัว ให้แสดงความคิดเห็นว่า งานวรรณกรรมและงานศิลปะสามารถรับแรงเสริมจากวัตถุทางเทคโนโลยีเพื่อทำให้งานดียิ่งขึ้นอย่างไรบ้าง

หัวข้อที่ 3 แต่งใหม่: สมมติว่าคุณได้พบงานประดิษฐ์ใหม่ที่ Concours Lépine (ซึ่งแต่ละปีจะมอบรางวัลให้แก่นักประดิษฐ์และผู้ผลิดชาวฝรั่งเศส) ซึ่งมีความแปลกใหม่ ประโยชน์ และความอัจฉริยะเป็นเลิศ ทำให้คุณมีความกระตือรือร้นและต้องการที่จะแบ่งปันการค้นพบนี้ ให้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น


น่าสนุกไหมครับ ท่านไหนว่าง ๆ อาจลองจับเวลาทำข้อสอบพวกนี้ดูก็ได้นะครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามนะครับ ส่วนตอนต่อไปจะเป็นอะไรโปรดติดตามครับ


มุนินทร ว.

18/6/16


ข้อสอบแปลจาก Le Monde Bac 2016 l'épreuve écrite

ข้อมูลเรื่อง Liberal Arts Wikipedia - Liberal Arts Education

หมายเลขบันทึก: 608607เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2016 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2016 08:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท