​คำนำหนังสือเลี้ยงลูกยิ่งใหญ่



คำนำ

หนังสือ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่

………….

หนังสือ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ เล่มนี้เสนอความรู้ความเข้าใจวิธีพัฒนาเด็กจากผลงานวิจัยสมัยใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงความเชื่อเดิมๆ หรือเสนอมุมมองใหม่ โดยรวบรวมจากบันทึกที่ลงใน บล็อก Gotoknow.org ระหว่างวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ โดยอ่านต้นฉบับในบล็อกได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ โดยที่ข้อเขียนส่วนใหญ่ได้จากการตีความหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่น จากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙


สาระสำคัญของหนังสือ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่คือมีความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย จากความก้าวหน้าของการวิจัยด้านการทำงานของสมอง และด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ทำให้เข้าใจว่าเด็กเกิดมาพร้อมกับศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนามากกว่าที่เราคิด หรือกล่าวได้ว่า มนุษย์เกิดมา พร้อมที่จะพัฒนาสู่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ได้ หากได้รับการดูแลเพื่อเสริมฐานการพัฒนาสมองอย่างถูกต้อง


ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานแต่กำเนิด ที่เกิดมาพร้อมกับสมองดีหรือหัวดีเท่านั้น ที่สำคัญหรือมีผลต่อความสำเร็จในชีวิตของแต่ละคนมากยิ่งกว่า คือการฝึกฝนเรียนรู้ในช่วงที่เป็นเด็ก หนังสือเล่มนี้เสนอนิยาม “สมองดี” ใหม่ ว่าเกิดจากสองปัจจัยประกอบกัน คือปัจจัยทางชีววิทยา ที่ได้รับพันธุกรรมสมองดีมาจากพ่อแม่ กับปัจจัยด้านการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง ตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้ ดังนั้นตามนิยามใหม่นี้ เด็กที่เกิดมาเกือบทุกคนสามารถบรรลุความเป็นคน “สมองดี” และประสบความสำเร็จ ยิ่งใหญ่ในชีวิตได้ คนที่พันธุกรรมด้านสมองธรรมดาๆ ก็สามารถเป็นคน “สมองดี” เป็นพิเศษในบางด้านได้ โดยผ่านการเลี้ยงดูปูพื้นฐานสมองอย่างถูกต้อง และการฝึกฝนเคี่ยวกรำอย่างเอาจริงเอาจังในด้านนั้นๆ ดังในบทที่ ๒๑ และ ๒๒


ช่วงชีวิตที่สมองมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่คือช่วงทารก ช่วงเด็กเล็กกับช่วงวัยรุ่น นี่คือหน้าต่างแห่ง โอกาสเลี้ยงลูก หรือดูแลเด็กสู่ชีวิตที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ หรือหลีกเลี่ยงความพลาดพลั้งสู่ทางเสื่อม ความรู้ทางชีววิทยาและจิตวิทยาสมัยใหม่ช่วยไขประตูสู่ แนวทางหรือวิธีการที่ชัดเจนตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้


ในเด็กที่เกิดมามีจุดอ่อนในสมอง ความรู้สมัยใหม่ก็เริ่มเปิดช่องทางการช่วยให้เด็กเหล่านี้เติบโตเป็น คนปกติ หรือเกือบปกติได้ ดังตัวอย่างในบทที่ ๓, ๑๑, ๑๒ และ ๑๓ และในทางตรงกันข้าม คนที่เกิดมาสมองดี แต่กำเนิด หรือสมองปกติ ก็อาจเผชิญสภาพแวดล้อมหลังเกิดที่ทำลายสมองอันสุดวิเศษนั้น ภยันตรายนี้มีมากมาย ดังตัวอย่างในบทที่ ๒, ๑๖ และ ๑๙ โดยที่เรื่องราวในบทที่ ๒ น่าจะเป็นข้อเตือนใจพ่อแม่และครู ว่าอย่าทำลายเด็กฉลาด โดยชมความฉลาดของเขา


เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แค่เป้าหมายความสำเร็จเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น คนยิ่งใหญ่ในที่นี้ คือคนที่ได้พัฒนามิติของความเป็นมนุษย์อย่างรอบด้าน ทั้งด้านจิตใจ ด้านทักษะต่างๆ และด้านความรู้ ให้เป็นคนที่เห็นแก่คนอื่นเป็น เห็นแก่ส่วนรวมเป็น เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น และมีความมั่นใจตนเอง ควบคู่ไปกับความอ่อนน้อมถ่อมตน มีทักษะชีวิตรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะในการควบคุมตนเอง ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ทักษะการทำมาหากิน หรือทักษะวิชาชีพ รวมทั้งทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต คนยิ่งใหญ่ในความหมายของหนังสือเล่มนี้ คือคนที่ เห็นแก่ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ มากกว่าประโยชน์ส่วนตน


ผมขอขอบคุณทีมงานของมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่เห็นคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ และดำเนินการจัดพิมพ์ เผยแพร่ เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างกว้างขวาง ขอผลบุญกุศลนี้ จงบันดาลให้ทุกท่านที่ช่วยกันจัดทำหนังสือ เล่มนี้ มีความอิ่มเอมใจ และมีความสุขชั่วกาลนาน



วิจารณ์ พานิช

๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 619480เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2016 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2016 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท