​สุญญตา และสุญญตสมาบัติภายใน


"สุญญตา และสุญญตสมาบัติภายใน"

ขอนอบน้อมด้วยเศียรเกล้า แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้

ธรรมะรับอรุณ ณ บ้านเย็นยิ้ม
วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559

Image result for สุญญตา

"สุญญตา" แปลว่า ความเป็นสภาพสูญ, ความว่าง
๑. ความเป็นสภาพที่ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา คือ ไร้ตัวมิใช่ตน ว่างจากความเป็นตน ตลอดจนว่างจากสาระต่างๆ เช่น สาระคือความเที่ยง สาระคือความสวยงาม สาระคือความสุข เป็นต้น, โดยปริยายหมายถึง หลักธรรมฝ่ายปรมัตถ์ ดังเช่นขันธ์ ธาตุ อายตนะ และปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท) ที่แสดงแต่ตัวสภาวะให้เห็น ความว่างเปล่าปราศจากสัตว์ บุคคล เป็นเพียงธรรมหรือกระบวนธรรมล้วนๆ
๒. ความว่างจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดี สภาวะที่ว่างจากสังขารทั้งหลายก็ดี หมายถึง นิพพาน
๓. โลกุตตรมรรค ได้ชื่อว่าเป็นสุญญตา ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ
๓.๑ เพราะลุด้วยปัญญาที่กำหนด พิจารณาความเป็นอนัตตา มองเห็นสภาวะที่สังขารเป็นสภาพว่าง (จากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน)
๓.๒ เพราะว่างจากกิเลสมีราคะ เป็นต้น
๓.๓ เพราะมีสุญญตา คือ นิพพาน เป็นอารมณ์
๔. ความว่างที่เกิดจาก ความกำหนดหมายในใจ หรือทำใจเพื่อให้เป็นอารมณ์ของจิต ในการเจริญสมาบัติ เช่น ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ กำหนดใจถึงภาวะว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย;
(บางครั้งก็เขียนว่า สุญตา)
---------------------------
"สุญญตสมาบัติภายใน"

"ดูกรอานนท์ ก็วิหารธรรมอันตถาคต ตรัสรู้ในที่นั้นๆ นี้แล คือ ตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่ ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์เข้าไปหาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้นๆ ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ มีภายในปราศจากธรรม เป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง จะเป็นผู้ทำการเจรจาแต่ที่ชักชวนให้ออกเท่านั้น ในบริษัทนั้นๆ โดยแท้"

"ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล ภิกษุถ้าแม้หวังว่าจะบรรลุ สุญญตสมาบัติภายในอยู่ เธอพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้
ตั้งจิตภายในให้มั่นเถิด ฯ"

"ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุจะดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่นได้อย่างไร ? ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
(๑) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ฯ
(๒) เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอก ผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ฯ
(๓) เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่ ฯ
(๔) เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯ

ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าย่อมดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่น ฯ"

Image result for สุญญตา
-------------------------
"ความว่างในชีวิตประจำวัน"

สุญญตา ที่แปลว่าความว่าง อันความว่างนั้นก็เป็นคำที่พูดกันอยู่ และก็พูดกันทั้งในด้านที่ดี และทั้งในด้านที่ไม่ดี ว่าถึงในด้านที่ไม่ดีก็ดังคำว่า ว่างการว่างงาน ไม่มีอะไรทำ อยู่ว่างๆ ก็ทำให้ขาดประโยชน์ที่จะพึงได้ และทำให้จิตใจกลัดกลุ้ม ดังเช่น เมื่อเคยทำการทำงานต่างๆ อยู่เป็นประจำ เมื่อมาว่างงาน ไม่ทำอะไร เป็นเหมือนอยู่เฉยๆ ก็ทำให้กลัดกลุ้ม และสำหรับผู้ที่ต้องการ ประโยชน์จากการงาน เมื่อว่างงานก็แปลว่าขาดประโยชน์ ก็ทำให้เกิดความขัดข้องต่างๆ ในการดำรงชีวิต เหล่านี้เป็นความว่าง ที่ใช้ในทางที่ว่าไม่ดี แต่อีกอย่างหนึ่งความว่าง ที่ใช้ในทางดี ก็คือความที่ว่างโดยที่ได้พักผ่อน เมื่อต้องการความพักผ่อน และเมื่อได้โอกาสซึ่งเป็นความว่าง ได้พักผ่อน ก็ทำให้บังเกิดความผาสุข ในทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้จัก สุญญตา คือความว่าง มุ่งถึงความว่างกิเลส และว่างทุกข์ซึ่งเกิดจากกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริต ก็เป็นการว่างจากความทุกข์ เพราะเกิดจากบาปอกุศลทุจริต
ในการปฏิบัติธรรมะนั้น ต้องการผลคือความว่างกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริต และว่างความทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลส และบาปอกุศลทุจริตต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจความว่าง ดังที่กล่าวมา
-------------------------
"ความว่างในการปฏิบัติธรรม"

การเข้ามาถือบวช ก็เป็นการเข้ามาปฏิบัติธรรมะ หรือแม้การไม่เข้ามาบวช แต่ว่าการที่มาสมาทานศีลฟังธรรม ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะ หรือแม้การที่ตั้งใจปฏิบัติด้วยตัวเอง ในศีลในสมาธิในปัญญา ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะ ก็มุ่งผลให้จิตนี้ว่างกิเลส และความทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย และว่างความทุกข์ อันเป็นผลของบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย ให้จิตนี้มีความว่างดังกล่าวนี้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็ให้กาย วาจา ใจนี้เอง ว่างจากบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย ความว่างดังกล่าวก็เป็นความสงบ และก็เป็นความพ้น สงบก็คือสงบกิเลส โลภ โกรธ หลง สงบบาปอกุศลทุจริตต่างๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ และก็เป็นความหลุดพ้น คือว่าหลุดพ้นจากบาปอกุศลทุจริตต่างๆ ตลอดจนถึงหลุดพ้นจากกิเลสต่างๆ กองโลภ กองโกรธ กองหลง จะเป็นความพ้นได้ชั่วคราว หรือว่าความพ้นได้นานๆ หรือตลอดไปก็ตาม ก็เป็นความหลุดพ้นทั้งนั้น เป็นความสงบ เป็นความว่าง

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
ธรรมเทศนาของสมเด็จพระญาณสังวร ฯ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์

...
ธรรมะรักษา วิปัสสนาคุ้มครองค่ะ
อจ.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (ฉัตรนะรัชต์)

ขอน้อมอุทิศถวายบุญกุศล เป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

หมายเลขบันทึก: 619466เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2016 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2016 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท