อิทธิพลของตะวันตกต่อการเริ่มสร้างรัฐชาติสยาม สมัยรัชกาลที่ 4


อิทธิพลของตะวันตกต่อการเริ่มสร้างรัฐชาติสยาม สมัยรัชกาลที่ 4


การเข้ามาของชาวตะวันตกยุคจักรวรรดินิยมมีผลต่อการพัฒนาสังคมของสยามเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.4) ซึ่งเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสยามเก่าพัฒนามากลายมาเป็นสยามใหม่อย่างรวดเร็ว ตามแบบความเจริญของชาวตะวันตกในการสร้างความเป็นรัฐชาติของสยาม บทความนี้จึงมุ่งเน้นอธิบายถึงอิทธิพลของชาวตะวันตกต่อการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นรัฐชาติของสยามขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยสิ่งที่น่าศึกษาประเด็นแรก คือ ทำไมอิทธิพลของชาติตะวันตกจึงเข้ามาในสยาม ชาติเหล่านั้นมีการเข้ามาอย่างไรและเกิดผลอย่างไร ส่วนประเด็นที่สอง คือ มีปัจจัยอะไรบ้างที่สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างรัฐชาติและท่านสร้างรัฐชาติอย่างไร โดยจะอธิบายเพื่อตอบคำถามในข้างต้น
ดังความต่อไปนี้
เนื่องจากความเข้าใจเหตุผลที่ว่า ทำไมชาติตะวันตกถึงเข้ามาสยามในช่วงนั้น จึงขออธิบายถึงเหตุการณ์ในยุโรป ณ ขณะนั้นว่า การเข้ามาของชาวตะวันตกในสยามสมัยรัชกาลที่3และช่วงรัชกาลที่4
นั้นมีนัยของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะก่อนการเข้ามาในสยามของชาวตะวันตกในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ทางยุโรปได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งสาเหตุหลักเกิดจาก การสำรวจดินแดนทางทะเลและการแสวงหาอาณานิคม ความก้าวหน้าทางวิทยาการ สภาพการเมืองของยุโรป…และความเจริญทางอุตสาหกรรม[1] เป็นต้น เมื่อมีอุตสาหกรรมมีการขยายตัวย่อมต้องการผลประโยชน์ทางการค้าที่มากขึ้น แล้วขณะเดียวกันนั้นปลายศตวรรษที่19 แนวคิดการค้าเสรีนิยมเริ่มแพร่หลายในยุโรป
ทั้งนี้การขยายตัวของอุตสาหกรรมและแนวคิดการค้าแบบเสรีนิยมจำเป็นต้องหาตลาดใหญ่ที่สามารถรับซื้อสินค้าได้ในปริมาณมาก[2] เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากนั่นเอง
ด้วยกำลังทางการผลิตที่พร้อมและมีอำนาจทางการทหาร จึงส่งผลทำให้ยุโรปหลายชาติในศตวรรษ
ที่19 เริ่มออกทำการค้าแบบเสรีและในขณะเดียวกันก็จะแผ่อาณานิคมไปทั่วโลก[3] ฉะนั้นแล้วยุโรปจึงกลายเป็นกลุ่มชาติที่มีอำนาจมากที่สุดในสังคมยุคนั้น โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ชาติตะวันตกเหล่านั้นเข้ามาทำสนธิสัญญาการค้ากับชาติต่างๆในเอเชียอุษาคเนย์และสยามเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ คือ ความต้องการซื้อขายสินค้าและเหตุผลทางการเมือง
คือ ความต้องการหาดินแดนอาณานิคม
การเข้ามาของชาติตะวันตกในเอเชียอุษาคเนย์จะเข้ามาใน 2 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะของการค้าระหว่างประเทศโดยเข้ามาทำสนธิสัญญาทางเศรษฐกิจ และจะเข้ามาในลักษณะของการใช้อำนาจทางทหารเพื่อหาดินแดนอาณานิคม ซึ่งในสยามในช่วงปลายรัชกาลที่3ถึงรัชกาลที่4 ชาติตะวันตกจะเข้ามาในลักษณะของการค้าระหว่างประเทศโดยเข้ามาทำสนธิสัญญาทางเศรษฐกิจ โดยชาติแรกๆที่เข้ามาในสยามในช่วงนั้น
คืออังกฤษในสนธิสัญญาเบอร์นี่สมัยรัชกาลที่3 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลง
พระนามทำสนธิสัญญากับชาติอื่นๆที่เข้ามาอีกหลายฉบับได้แก่ อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส ฮอลันดาและปรุสเซีย[4]


[1] เกียรติศักดิ์ วงศ์มุกดา. (2525). ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุโรป. หน้า 51.
[2] เกียรติศักดิ์ วงศ์มุกดา. (2525). ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจยุโรป. หน้า 46.
[3] สุปราณี มุขวิชิต. (2549). ประวัติศาสตร์อังกฤษและราชวงศ์. หน้า 512
[4]
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (2507). พงศาวดารรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4. หน้า 66-128.


แต่ทว่าฉบับที่เข้ามามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและการเมืองของสยามมากที่สุด คือ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง โดยเซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง(ประเทศอังกฤษ) ที่เข้ามา ค.ศ.1855 ซึ่งพระองค์ได้ทรงลงชื่อประทับตราหนังสือสัญญานั้น[1] ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจากสยามเก่ากลายมาเป็นสยามใหม่ในทันที ทั้งนี้จากการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่งผลที่เกิดขึ้นกับสยาม คือ ให้อังกฤษมีสิทธิภาพนอกอาณาเขต ให้มีการค้าเสรีข้าว ปลาและเกลือและให้มีภาษีขาเข้าออกในอัตราที่แน่นอน[2] จึงทำให้สยามเสียผลประโยชน์ทางการค้าอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับสนธิสัญญาฉบับอื่นๆ
แม้ในช่วงนั้นสยามจะไม่ถูกอิทธิพลของตะวันตกในลักษณะการล่าอาณานิคมโดยตรง แต่ทว่าอาณาจักรที่ติดต่อกับดินแดนของสยาม เช่น พม่า ได้ถูกอังกฤษเข้ามายึดเป็นอาณานิคมในที่สุด โดยฝ่ายอังกฤษมีหนังสือนัดสยามเข้ามาปักปันเขตแดนที่ด่านเจดีย์ 3 องค์[3] ในช่วง ค.ศ.1865 และหัวเมืองประเทศราช เช่น เขมรได้ตกเป็นของฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้เข้ามาทำหนังสือสัญญากับสยามให้ยกเขมรให้ฝรั่งเศสในช่วง ค.ศ.1867[4] ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพราะบริเวณดินแดนรอบสยามเท่านั้นแต่สถานการณ์ทั่วโลกกำลังเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการล่าอาณานิคมนั่นเอง
จากเหตุการณ์ในข้างต้นจะเห็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างความเป็นรัฐชาติของรัชกาลที่4 ซึ่งการเข้ามาของชาติตะวันตกที่ส่งผลต่อสยามทั้งภายในและภายนอก โดยภายในคือ การเข้ามาทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยาม และภายนอกคือ การเข้ามาปักปันเขตแดนอาณานิคมในอาณาจักรที่ติดต่อกับสยามและหัวเมืองประเทศราชของสยามในเวลานั้น ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่เกิดจากชาติตะวันตกเข้ามาเหล่านี้ อาจเป็นปัจจัยหลักที่เอื้อให้เกิดการสร้างแนวคิดรัฐชาติขึ้นครั้งแรกตามแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่4
เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นสภาวะการที่สยามอาจตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกชาติใดชาติหนึ่งโดยง่าย ฉะนั้นแล้วการพัฒนาสยามให้เจริญดั่งตะวันตกจึงเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้สยามเป็นที่ยอมรับและไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกนั่นเอง
แนวคิดที่สำคัญที่สุดเป็นเรื่องการสร้างความเป็นรัฐชาติตามแบบตะวันตก ได้แก่ มีประชากร
มีดินแดนแน่นอน มีรัฐบาลและมีอำนาจอธิปไตยแน่นอนเป็นของตนเอง[5] ซึ่งเป็นการยากที่สยามจะสร้างรัฐชาติตามแบบตะวันตกได้เลยในเสียทีเดียวเพราะสยามยังไม่มีวิทยาการถึงเพียงนั้น อีกทั้งความแตกต่างของโครงสร้างการปกครองและวัฒนธรรมทางการเมืองระหว่างชาติตะวันตกและสยามต่างกันมาก
ฉะนั้นสิ่งที่จะสามารถทำได้ง่าย คือ ให้ชาติเหล่านั้นได้เห็นถึงความเจริญของสยามและไม่ยึดเอาสยามเป็นอาณานิคม ให้เห็นว่าสยามมีตัวตนและเป็นชาติที่มีอารยะ การสร้างรัฐชาติของรัชกาลที่4 จึงมิได้สร้างให้เหมือนกับตะวันตกไปเสียทั้งหมด แต่ทรงพยายามสร้างรัฐชาติแบบไทยๆตามแบบตะวันตก ให้คล้ายตะวันตกเพียงเท่านั้น


[1] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (2507). พงศาวดารรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๔. หน้า 66-67.
[2] เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง. (2547). ราชอาณาจักรและราชษฎรสยาม1. หน้า (15)
[3] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (2507). พงศาวดารรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๔. หน้า 179.
[4] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (2507). พงศาวดารรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๔. หน้า 181.
[5]
เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์. (2516). หลักรัฐศาสตร์. หน้า 42-54.


โดยมีหลักฐานและเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า “รัชกาลที่ 4 ท่านทรงสร้างรัฐชาติตามวิธีการของพระองค์เอง” จึงจะอธิบายแนวความคิด เรื่อง การสร้างรัฐชาติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยแบ่งเป็น 2 แนวความคิดใหญ่ๆ ได้แก่ แนวคิดการสร้างตัวตนเชิงสัญลักษณ์และแนวคิดการสร้างตัวตนเชิงภูมิกายา ในความดังต่อไปนี้

๑.แนวคิดการสร้างตัวตนเชิงสัญลักษณ์
การสร้างตัวตนเชิงสัญลักษณ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของประเทศมหาอำนาจ เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของชาติ เป็นชาติที่มีอารยะ และมีความเจริญทางวิทยาการเหมือนชาติตะวันตก ซึ่งจะอธิบายถึงหลักฐานต่างๆที่สนับสนุนกับแนวคิดนี้ โดยมีความดังต่อไปนี้
ประการแรก สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ชาติที่มีความศิวิไลซ์เหมือนชาติตะวันตก มีหลักฐานเด่นชัดที่สุด คือ พระราชพงศวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานให้เซอร์จอห์น เบาว์ริ่งอ่าน โดยเบาว์ริ่งบันทึกว่า “พงศาวดารกรุงสยามแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมีชื่อว่าพงศาวดารเหนือเป็นเรื่องราวโบราณอันน่าเหลือเชื่อ เริ่มราวสมัยพระพุทธเจ้า…สำหรับพงศาวดารส่วนหลัง เริ่มสร้างอยุธยาและพรรณนาข้อความที่เป็นจริงมากพอ[1] จากบันทึกในความนี้แสดงให้เห็นว่าเบาว์ริ่งเข้าใจว่าชาวสยามมีมานานตั้งแต่ครั้งพุทธกาลและมีสืบเชื้อสายกันมาจนถึงปัจจุบัน(ณ เวลานั้น)
นอกจากพงศาวดารแล้วสิ่งที่ทรงส่งให้เซอร์จอห์น เบาริ่งได้อ่านอีก คือ ศิลาจารึกหลักที่1 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของต้นกำเนิดความเป็นไทยที่มีอิทธิพลที่สุด แสดงถึงประเทศสยามว่ามีอารยะเพราะมีภาษาของตนมานานกว่า 600 ปี และมีวีระบุรุษที่กล้าหาญและมีประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ดังจะเห็นตัวอักษรที่จารึกไว้บนแท่งศิลา “ณ เมืองหลวงอันเก่าแก่ของสยามทางตอนเหนือ”[2] รวมไปถึงประวัติศาสตร์หลายเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยนั้น เช่น ตำนานพระแก้วมรกต พระสยามเทวาธิราช การฟื้นฟูพิธีกรรมหลวงจำนวนมาก[3] แสดงให้เห็นถึงความพยายามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างเครื่องหมายว่าสยามเรามีประวัติศาสตร์มายาวนานและมีอารยะเหมือนบรรดาชาติตะวันตกเช่นเดียวกัน
ประการที่สอง สัญลักษณ์ของความเจริญทางสังคมและการพัฒนา โดยเน้นการพัฒนาเชิงโครงสร้างและริเริ่มส่งเสริมวิทยาการที่ทันสมัย ได้แก่ ทำเนียมข้าราชการเข้าเฝ้าให้สวมเสื้อ[4] ประกาศเรื่องถวายฎีกาให้ประชาชนสามารถร้องเรียนรัฐได้[5] ประกาศยกเลิกการยิงกระสุนและอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิน[6] การตรากฎเกณฑ์สำหรับผู้ปกครองหัวเมืองในเรื่องภาษีและหลักการปกครอง จากหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างเครื่องหมายว่าสยามนั้นมีความเจริญทางการเมือง ที่กำลังปฏิรูปตามแบบรัฐชาติเหมือนประเทศมหาอำนาจ


[1] เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง. (2547). ราชอาณาจักรและราชษฎรสยาม1. หน้า 68.
[2] เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง. (2547). ราชอาณาจักรและราชษฎรสยาม1. หน้า 14-15.
[3] คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. หน้า 92-93.
[4] ประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่4 พ.ศ.2394-2404. (2511). หน้า 3.
[5] ประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่4 พ.ศ.2394-2404. (2511). หน้า 47.
[6]
ประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่4 พ.ศ.2394-2404. (2511). หน้า 200.


ประการที่สาม สัญลักษณ์ทางความรู้และวิทยาการให้ประจักษ์แก่สายตาของชาวตะวันตก ในเรื่องนี้ที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือ การแสดงความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ในการทำนายสุริยุปราคา ณ ตำบลหว้ากอ[1]
ทำให้ชาวต่างชาติยอมรับในความรู้ของกษัตริย์สยาม ยังสะท้อนว่าประเทศสยามมีความรู้ที่ทันสมัยดั่งตะวันตกอีกด้วย นอกจากนี้ยังทรงพยายามส่งเสริมภูมิรู้ที่เป็นของชาวสยามตามแบบตะวันตก ได้แก่ การตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทย ประกาศเตือนผู้ใช้อักษรผิด[2] และประกาศการถือศาสนาแลผู้ถือผิด[3] ต่อมา ค.ศ.1857
ทรงตั้งตัวแทนจำนวน ๒๗ คนเดินทางไปอังกฤษ เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์การขนส่งและสถาบันการเมือง[4] จากหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในการสร้างเครื่องหมายว่าประเทศสยามนั้นมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มีภาษาและมีศาสนาของชาติ เช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้ว(ณ ขณะนั้น)
ประการที่สี่ สัญลักษณ์ของความเป็นมิตรกับประเทศตะวันตก โดยในช่วงสมัยรัชกาลที่๔นั้นมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกหลายชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสนธิสัญญาทางการค้ากับต่างชาติ ปรากฏพงศาวดารรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่4 ซึ่งชาติเหล่านั้น ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส ฮอลันดาและปรุสเซีย ที่เด่นชัดที่สุด คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ครั้งหนึ่งทรงมีพระดำริว่า “แผ่นดินอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นแผ่นดินอันยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังทรงราชทูตคุมของส่งมายินดีขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีด้วย ฝ่ายเราก็ควรส่งทูตออกไปคำนับบ้างจึงจะสมควร”[5] จากนั้นพระองค์ก็ส่งคณะทูตไปยังอังกฤษและฝรั่งเศส แล้วยังมีการให้ฝึกทหารสยามตามแบบอังกฤษอีกด้วย ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าประเทศสยามเป็นมิตรมิใช่ศัตรูของชาติมหาอำนาจแต่อย่างใด
ฉะนั้นแล้วตัวตนเชิงสัญลักษณ์นั้นเป็นเครื่องหมายที่สยามพยายามแสดงให้ประเทศตะวันตกได้เห็นถึงความเจริญทางด้านประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ สังคมและวิทยาศาสตร์ ให้เกิดการยอมรับของชาวต่างชาติ
ซึ่งต่างชาติจะหยิบยกเหตุผลของความไม่มีอารยะมายึดเอาดินแดนสยามไม่ได้ ซึ่งนอกจากตัวตนเชิงสัญลักษณ์แล้วยังมีตัวตนเชิงภูมิกายาที่ถูกริเริ่มสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกัน

๒.แนวคิดการสร้างตัวตนเชิงภูมิกายา
การสร้างตัวตนเชิงภูมิกายาหรือการสร้างแผนที่เขตแดน เป็นแนวคิดของชาติตะวันตก ซึ่งการที่สยามจะเป็นรัฐชาติตามแบบตะวันตกได้นั้นต้องมีเขตแดนของประเทศที่แน่นอน แนวคิดภูมิกายาในสมัยรัชกาลที่4 อาจไม่ชัดเจนเท่าสมัยรัชกาลที่5 แต่ทว่าสยามเราก็ใช้แผนที่แบบสยามเดิมอยู่ก่อนแล้วนั่นเอง เนื้อที่ของสยามก็เกิดจากการประมาณ คือ 12,330 ตารางไมล์ภูมิศาสตร์[6] ซึ่งเขตแดนก็มิได้ถูกกำหนดไว้ในส่วนกลางและไม่แน่นอน[7] ทั้งนี้แนวคิดเรื่องเขตแดนมีขึ้นเริ่มแรกในสมัยรัชกาลที่4 เพราะอิทธิพลการเข้ามาปักปันเขตแดนของอังกฤษในพม่า ค.ศ.1865 และการเข้ามายึดเอาเขมรของฝรั่งเศส ค.ศ.1867


[1] ประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่4 พ.ศ.2394-2404. (2511). หน้า 442.
[2] ประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่4 พ.ศ.2394-2404. (2511). หน้า 38.
[3] ประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่4 พ.ศ.2394-2404. (2511). หน้า 312.
[4] คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. หน้า 93.
[5] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (2507). พงศาวดารรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4. หน้า 90.
[6] มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์. (2552). เล่าเรื่องกรุงสยาม. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร
[7]
ธงชัย วินิจกุล. (2556). กำเนิดสยามจากแผนที่ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ. หน้า 105.


นอกจากนี้ผู้นำสยามยุครัชกาลที่4 พยายามช่วยขยายบทบาทของแผนที่เข้าไปในกิจการต่างๆของรัฐอย่างเอางานเอางานและสร้างสรรค์…ทางราชสำนักได้ออกกฎหมายและคำสั่งจำนวนมากเพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับชายแดนด้านพม่าและกัมพูชา[1] แสดงให้เห็นว่าเริ่มเกิดมโนภาพชุดใหม่ของการบริหารราชการได้เริ่มขึ้นในมิติของภูมิกายา
ในปี ค.ศ.1866 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่4 ทราบว่าคณะสำรวจของฝรั่งเศสกำลังจะสำรวจบริเวณตามลำน้ำโขง จึงทรงตระหนักว่าสยามต้องทำอย่างเดียวกัน ทรงดำริว่า “ลำน้ำโขงติดต่อกันกับเขมร ญวน เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสไปทำแผนที่สระเวย์ลำน้ำโขงแต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายเราจะไม่ทำไว้บ้างก็จะไม่ชอบ…จึงได้จ้างชาวอังกฤษไปทำแผนที่ตั้งแต่เมืองฝ่ายเหนือไปเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองเชียงของ เมืองหลวงพระบาง ลงมาตามลำน้ำถึงเมืองมุกดาหาร[2] แต่ทว่าจนมาถึงปัจจุบันเรายังไม่มีข้อมูลรายละเอียดการสำรวจครั้งนั้น[3] จากความข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัชกาลที่4 ในการสร้างแผนที่ภูมิกายาของชาติเพื่อจะได้มีหลักฐานยืนยันว่าเขตแดนนี้เป็นของสยาม แล้วยังสะท้อนว่า เรากำลังคิดว่าต้องการสร้างแผนที่ภูมิกายาขึ้นตามแบบฝรั่ง
แม้จะในช่วงนั้นสยามจะมีความเข้าใจเรื่องภูมิกายาไม่มากก็ตาม
ฉะนั้นแล้วการสร้างตัวตนเชิงภูมิกายา เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง”เขตแดนของสยามที่เป็นของสยาม”
ซึ่งชาติอื่นใดจะเข้ามายึดครองเอามิได้ ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัชกาลที่4 ในการสร้างภูมิกายาตามแบบตะวันตกครั้งแรกของสยามขึ้นมาอีกด้วย
ทั้งแนวคิดการสร้างตัวตนเชิงสัญลักษณ์และการสร้างตัวตนเชิงภูมิกายานั้น ล้วนเป็นแนวคิดในการสร้างความเป็นรัฐชาติตามแบบตะวันตกในแบบไทยๆทั้งสิ้น ซึ่งรัฐชาติสยามแต่ก่อนเก่าอาจไม่เหมือนกับรัฐชาติสยามในปัจจุบันเสียทีเดียวเพราะในช่วงนั้นอยู่ในลัทธิการล่าอาณานิคม ทำให้สยามต้องพยายามสร้างรัฐชาติเชิงสัญลักษณ์ขึ้นให้ชาติตะวันตกเห็นว่าสยามมีอารยะและความเจริญเช่นเดียวกัน
กล่าวโดยสรุป คือ อิทธิพลของตะวันตกที่เข้ามาสยามช่วงปลายรัชกาลที่3ถึงรัชกาลที่4 นั้นเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าแบบเสรีนิยมและเพื่อหาดินแดนอาณานิคมใหม่ ฉะนั้นวิธีการเข้ามาในสยามจึงอยู่ในรูปแบบของการทำสนธิสัญญาทางการค้าเสียส่วนใหญ่ เช่น สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และขณะเดียวกันก็จะแสวงหาดินแดนอาณานิคมไปด้วย เช่น พม่า เมืองเขมร ส่งผลทำให้สยามภายใต้รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องรีบเร่งพัฒนาสยามให้มีอารยะและมีความเจริญดังเหตุผลในข้างต้น ทั้งนี้การที่จะมีอารยะนั้นต้องมีประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ และมีความเจริญตามแบบตะวันตก จึงส่งผลให้พระองค์ต้องสร้างรัฐชาติตามแบบตะวันตกแบบวิธีการของพระองค์เอง ดังจะเห็นได้จากแนวคิดในบทความนี้ที่พยายามอธิบายว่า พระองค์ท่านสร้างรัฐชาติเชิงสัญลักษณ์เสียส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องภูมิกายาเป็นส่วนรอง ให้เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้ชาวยุโรปเห็นว่า สยามเรามีอารยะและความเจริญเพียงพอที่จะเป็นเหตุผลมิให้ตะวันตกหาข้ออ้างมายึดเราเป็นอาณานิคมได้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนให้สยามไม่ถูกรุกรานมากนักและไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกนั่นเอง
อิทธิของตะวันตกในช่วงรัชกาลที่4 ส่งผลต่อการสร้างรัฐชาติแบบสยามตามแบบของตะวันตก นับเป็นยุคแรกที่เริ่มเกิดแนวคิดรัฐชาติขึ้นในสยามและเป็นแม่แบบในการสร้างความเป็นรัฐชาติให้สมัยต่อมา จึงเกิดรัฐชาติสยามหรือรัฐชาติไทยที่เห็นในปัจจุบัน

ธีระวุฒิ ศรีมังคละ
29 พ.ย.2559


[1] ธงชัย วินิจกุล. (2556). กำเนิดสยามจากแผนที่ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ. หน้า 191.
[2] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (2507). พงศาวดารรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4. หน้า 184.
[3]
ธงชัย วินิจกุล. (2556). กำเนิดสยามจากแผนที่ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ. หน้า 192.

หมายเลขบันทึก: 619375เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2016 00:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2016 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท