ผัก-ดอกไม้...ปลอดบุหรี่ (สโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์)


จากภาพรวมข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมการปลูกดอกไม้และผักเช่นนั้น เป็นกิจกรรมบนฐานคิดของการใช้ “ดอกไม้” และ “ผัก” เป็น “สื่อสาธารณะ” ตีฆ้องร้องป่าวเพื่อรณรงค์ในเรื่องของการสูบบุหรี่และทิ้งบุหรี่ให้เป็นที่เป็นทาง โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลามาจัดเวทีป่าวประกาศทำความเข้าใจหรือขอความร่วมมือให้สูบและทิ้งก้นบุหรี่ตามพื้นที่ที่โซนนิ่งไว้ให้


จุดเด่นโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ มีหลายประการ แต่ที่เด่นชัดมากก็คือการฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาของตัวเองและปัญหาของสังคมใกล้ตัวเป็นอันดับแรก โดยเน้นการทำงานเป็นทีมและใช้หลักธรรมในการเข้าไปบูรณาการกับแนวคิดอื่นๆ

โครงการ “ผัก ดอกไม้ปลอดบุหรี่” ที่ดำเนินการโดยสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เพียรพยายามจะตอบโจทย์ในเรื่องข้างต้น

โครงการดังกล่าวไม่ใช่โครงการที่คิดริเริ่มขึ้นมาใหม่ ทว่าเป็นการต่อยอดจากแผนงานประจำที่สโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ขับเคลื่อนมาในแต่ละปีการศึกษา นิสิตชั้นปีที่ 1 เป็นกลไกหลักในการทำงานและทีมสโมสรนิสิตทำห้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” คอยกำกับดูแลและเชื่อมโยงสู่การมีส่วนกับชั้นปีต่างๆ





โครงการผัก ดอกไม้ปลอดบุหรี่ เกิดขึ้นจากการเฝ้ามองปัญหาใกล้ตัวของประชาคมศิลปกรรม โดยเฉพาะภาพเชิงประจักษ์ที่รับรู้ร่วมกันว่านิสิต อาจารย์และบุคลากรจำนวนไม่น้อยชอบสูบบุหรี่และจำนวนไม่น้อยที่มักทิ้งเศษบุหรี่อย่างไม่เป็นที่เป็นทาง บ้างทิ้งบนถนนหนทางรอบตึก บ้างทิ้งตามสนามหญ้าและสวนหย่อมรอบตึก หรือไม่ก็มุมนั่งพักผ่อนอันเป็นพื้นที่สาธารณะบริเวณรอบๆ ตึก –

ปัญหาดังกล่าวไม่ได้สะท้อนเพียงภาพลักษณ์ในทางด้านวินัยของการสูบหรี่เท่านั้น หากแต่เชื่อมโยงไปยังปัญหาอื่นๆ อย่างเสร็จสรรพ กลายเป็นว่าทั้งคนทั้งสิ่งแวดล้อมถูกคุกคามจากปัญหาดังกล่าว ประกอบกับวาระอันเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ประกาศตนเป็น “มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่” และยุทธศาสตร์ว่าด้วย “มหาวิทยาลัยสีเขียว” สโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์จึงไม่ลังเลที่จะนำเอาปัญหาดังกล่าวมาเป็นโจทย์ในการดำเนินงานโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างจริงจัง





ด้วยเหตุที่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากปีการศึกษาต่างๆ อย่างน้อยข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการก็ชี้ชัดว่าดำเนินการต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน กิจกรรมที่จัดขึ้นประกอบด้วยการปลูกดอกไม้และผักไว้ตามสวนหย่อมและระเบียงหน้าห้องของแต่ละชั้นในตึกศิลปกรรม มีทั้งที่เป็นดอกเข็มและไม้ประดับอื่นๆ รวมถึงผักบุ้งจีน ผักคะน้า ผักสลัด โดยมอบหมายให้นิสิตชั้นปีที่ 1 ดูแลในเรื่องของดอกไม้ ส่วนผักก็ดูแลร่วมระหว่างนิสิตกับแม่บ้านและแยกโซนการดูแลระหว่างสาขาศิลปะการแสดงกับสาขาทัศนศิลป์อย่างเป็นรูปธรรม ในแบบ “สายรหัส”




จากภาพรวมข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมการปลูกดอกไม้และผักเช่นนั้น เป็นกิจกรรมบนฐานคิดของการใช้ “ดอกไม้” และ “ผัก” เป็น “สื่อสาธารณะ” ตีฆ้องร้องป่าวเพื่อรณรงค์ในเรื่องของการสูบบุหรี่และทิ้งบุหรี่ให้เป็นที่เป็นทาง โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลามาจัดเวทีป่าวประกาศทำความเข้าใจหรือขอความร่วมมือให้สูบและทิ้งก้นบุหรี่ตามพื้นที่ที่โซนนิ่งไว้ให้ หรือไม่ต้องเสียเวลาจัดอบรมแกนนำ เพียงเพื่อ “ปักป้ายถ่ายรูป” เป็นรุ่นๆ เหมือนที่พบเห็นอยู่ดาษอื่นในแบบ “ตูมเดียวหาย....ตูมเดียวหาย” ซึ่งตรงกันข้ามกับโครงการนี้ที่ถึงแม้จะกำหนดเป็นมหกรรมเปิดตัวร่วมกันแค่วันที่ 1-2 มกราคม 2559 แต่ก็เพียรพยามขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดทั้งปีการศึกษา




อย่างไรก็ดีหากไม่ติดยึดกับการประเมินผลตามนโยบายที่หมายถึงมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่และมหาวิทยาลัยสีเขียว พบว่ามีนิสิต อาจารย์และเจ้าหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวกขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ การสูบบุหรี่และการทิ้งเศษบุหรี่บริเวณระเบียงและรายรอบพื้นที่ที่ปลูกดอกไม้และผักลดลงอย่างน่าชื่นใจ เช่นเดียวกับนิสิตใหม่และคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตฯ ต่างก็ให้ความสำคัญด้วยการรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองโดยการเฝ้าติดตามมรรคของดอกไม้และผักเป็นระยะๆ ยิ่งในกรณีดอกไม้แห้งตายก็ไม่รีรอที่จะนำมาต้นใหม่มาปลูกทดแทน ส่วนกรณีของผักที่เติบโตขึ้นนิสิตในสาขาศิลปะการแสดงก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการใช้ประโยชน์

นี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมเล็กๆ ที่สะท้อนถึงความเพียรพยายามที่จะสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นจากตัวเองหรือครอบครัวตัวเองเสียก่อน เป็นกิจกรรมที่ยึดโยงกับแผนยุทธศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยและกระแสหลักของสังคมไทยและสังคมโลก หรือแม้แต่หากจะเรียกว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้คืออีกหนึ่งในกระบวนการของการปรับแต่งภูมิทัศน์ในสังกัดคณะก็ไม่ผิด





โดยส่วนตัวผมมองว่านี่คือหัวใจหลักของการขับเคลื่อนโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เพราะมุ่งแก้ปัญหาของตัวเองหรือสังคมของตนเองเป็นอันดับแรก เน้นเรื่องจิตสำนึกสาธารณะและการมีส่วนร่วมโดยเริ่มต้นจากการสะกิดเตือนให้ตัวเองและคนรอบตัวได้กล้ายอมรับปัญหาของตนเองเพื่อนำไปสู่การคลี่คลายร่วมกัน

เช่นเดียวกับการมองว่าหากสามารถเติมเต็มกิจกรรมอื่นๆ เข้าไปอีกสักนิดก็น่าจะมีพลังกว่าที่เป็นมา ยกตัวอย่างเช่น สาขาทัศนศิลป์อาจออกแบบป้ายรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยสไตล์ของตัวเอง สาขาศิลปะการแสดงก็อาจทำละครเล็กๆ หรือการแสดงในแขนงใดแขนงหนึ่งที่ตนเองสันทัดมาช่วยรณรงค์เรื่องนี้อย่างค่อยเป็นค่อยและขยับให้ต่อเนื่องทั้งปีการศึกษา รวมถึงอาจมีเวทีทางวิชาการในแบบบันเทิงเริงปัญญาหนุนเสริมเป็นระยะๆ เพื่อตอกย้ำว่า “เอาจริงเอาจัง” กับเรื่องนี้



สุกัญญา แนวพิลา : ปี3 สาขาทัศนศิลป์ นายกสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์


เฉกเช่นกับการค้นหาต้นแบบในเรื่องเหล่านี้ทั้งที่เป็นนิสิต เจ้าหน้าที่และอาจารย์ หรือกระทั่งประสานความร่วมมือกับคณะในสายวิทยาศาสตร์-สุขภาพมาเป็นภาคีหนุนเสริมกิจกรรมดังกล่าว ดีไม่ดีคณะทำงานของสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์อาจได้ไอเดียใหม่ๆ ในการที่จะออกแบบกิจกรรมให้น่าสนใจและมีพลังเพิ่มมากขึ้น ส่วนภาคีข้างต้นก็อาจได้ข้อมูลที่หลากหลายเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือสถานการณ์ของการสูบบุหรี่ของผู้คนในคณะศิลปกรรมศาสตร์และนำไปสู่คลินิกเลิกบุหรี่ในมหาวิทยาลัยฯ ด้วยก็เป็นได้




เหนือสิ่งอื่นใด ผมมีความเชื่อเป็นการส่วนตัวว่าโครงการ “ผัก ดอกไม้ ปลอดบุหรี่” คงไม่ได้มีสถานะอย่างผิวเผินหรือตื้นเขินแค่เพียงฝากหวังให้ดอกไม้และผักช่วยทำหน้าที่สะกิดเตือนให้คนสูบบุหรี่ได้ตระหนักถึงเรื่องกาลเทศะของการสูบและทิ้งบุหรี่อย่างเป็นที่เป็นทางเท่านั้น ตรงกันข้ามอาจมีอะไรซุกซ่อนอยู่ในที เพียงแต่เรื่องพรรค์นี้จะพูดและบอกกันตรงๆ ก็กระไรอยู่ จึงต้องใช้ดอกไม้และผักเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารแทน ประหนึ่งหุ่นไล่กาที่อุทิศตนปกป้องพืชผลในท้องทุ่งข้าวยังไงยังนั้น




หมายเหตุ

  • ภาพ โดย สโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์
  • ต้นเรื่อง โดย นส.สุกัญญา แนวพิลา และสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์
  • เรียบเรียงโดย พนัส ปรีวาสนา (24/11/2559)

หมายเลขบันทึก: 619148เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2016 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2016 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับ

-ได้เห็นการปลูกผักบนตึกแล้วชอบใจครับ

-หากมีพื้นที่กว้าง ๆ ก็น่าจะดีไม่น้อย

-ขอชื่นชมกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ครับ

-ขอบคุณครับ


สวัสดีครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ผมดีใจนะครับที่นิสิตทำกิจกรรมในทำนองนี้ แม้จะเพิ่งเริ่มต้นผมก็ชื่นชม อย่างน้อยก็เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาของตนเองด้วยรูปแบบอันหลากหลาย และที่สำคัญคือ กิจกรรมในทำนองนี้ก็เป็นทางเลือกของการเรียนรู้ที่ไม่จมอยู่กับกิจกรรมประเพณีนิยมที่พบเกลื่อนๆ ในมหาวิทยาลัย ไม่รับน้องก็ประกวดความสวยความงาม แข่งกีฬา ประกวดเชียร์ ฯลฯ

อีกมิติก็เป็นการจัดการกับมลภาวะและภูมิทัศน์ด้วยตัวของนิสิตเอง ไม่ได้รอให้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแต่เพียงฝ่ายเดียว ----


สวัสดีครับ พี่แก้ว

ก้ดีใจและสุขใจไปกับนิสิตครับ ดอกไม้โตวันโตคืน ไม้ประดับในสวนหย่อมก็แตกใบหยั่งรากเติบกล้าขึ้นเป็นลำดับๆ ส่วนผักนั้นเก็บกินเกลี้ยง กำลังเตรียมปลูกใหม่แล้ว เพื่อให้สัมพันธ์กับฤดูกาลของผัก

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท