​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๒ : หลักสูตร palliative care ทำให้อ่อนน้อมถ่อมตน มุ่งมั่นชัดเจน อ่อนโยนและเมตตา


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๒ : หลักสูตร palliative care ทำให้อ่อนน้อมถ่อมตน มุ่งมั่นชัดเจน อ่อนโยนและเมตตา

วันที่ ๒๑ และ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย (Thai Palliative Care Society) จัดงานประชุมวิชาการ Exit-Conference สรุปผลงานสามปี โครงการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย ที่ได้รับการสนับสนุนโครงการจาก สสส. ขึ้นที่ห้องประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ข้าราชการ แจ้งวัฒนะ มีกัลยาณมิตรมาร่วมงานกันถึง ๘๐๐ กว่าท่าน คึกคักอบอุ่นใจดี

ชุดโครงการนี้มีหลายโครงการย่อย มีการฝึกอบรมด้านความรู้ทักษะและทัศนคติของแพทย์ พยาบาล เภสัช และอาสาสมัคร มีด้านการรวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการ วิชาชีพ และจากส่วนภาคประชาชน จากผู้ดูแลหลัก มีทั้งหลักสูตรระยะสั้น (๒-๓ วัน) ๘ อาทิตย์ ไปจนถึง ๔ เดือน หนึ่งในนั้นคือหลักสูตรประกาศนียบัตรการบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย (Basic Certificate Course in Palliative Medicine: BCCPM) สำหรับแพทย์ (๘ อาทิตย์) เป็น intensive lecture สองสัปดาห์ และเป็นการกลับไปปฏิบัติงานที่ต้นสังกัดอีก ๖ สัปดาห์ แล้วกลับมาสอบ ซึ่งเป็นโครงการหลักของด้านวิชาการ เรามีคนมาอบรมตลอดสามปีเป็นจำนวนหลายสิบคน ในงานนี้ได้เชิญตัวแทนจากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ จากโรงพยาบาลจังหวัด และจากโรงพยาบาลอำเภอ มาแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ อาจารย์แพทย์หญิงวัชราภรณ์ ตาบูรี จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร นายแพทย์ซี ศรีวะรมย์ โรงพยาบาลห้วยยอด (จังหวัดตรัง) และอาจารย์นายแพทย์เฉลียว สัตมัย จากโรงพยาบาลสุรินทร์

บริบทโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ (ผลิตบัณฑิต)

อาจารย์แพทย์หญิงวัชราภรณ์เล่าเรื่องราวตั้งแต่ดั้งเดิมก่อนหน้านี้ ที่เคยเจอคนไข้มะเร็งที่แผนกผู้ป่วยนอก คร่ำครวญโอดครวญด้วยอาการเจ็บปวดทรมาน ที่ในขณะนั้น เกิดความลังเลไม่แน่ใจว่าช่วยอะไรได้บ้าง จะทำอย่างไรดี จนกระทั่งได้ไปเรียนเวชศาสตร์ครอบครัว (family medicine) มีความรู้ ทักษะ และเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆที่จะช่วยวัด ช่วยประเมินความทุกข์ของคนไข้และครอบครัวได้มากขึ้น และในที่สุดก็ได้มาฝึกอบรมในหลักสูตร BCCPM นี้ อาจารย์ได้จัดระบบการประเมิน การมี case manager การดึงเอาบุคลากรภาคส่วนต่างๆและหลากวิชาชีพมาอยู่ในทีมการดูแล การ identify care-give (ผู้ดูแลผู้ป่วย) และการเสริมพลังผู้ดูแลเหล่านี้ให้ทำงานชิ้นนี้ให้ลุล่วงด้วยดี นักศึกษาแพทย์จะได้เห็นและรับทราบถึงบริบทที่ครบถ้วนว่า "การดูแลชีวิตชีวิตหนึ่งนั้น ต้องอาศัยคนจากหลากหลายสาขา ใช้ความชำนาญประเภทต่างๆ ร่วมงานกันอย่างมีระบบ" มุมมองนี้จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาความอ่อนน้อมถ่อมตน ตระหนักรู้ว่าตัวเราเป็นเฟืองต้วหนึ่งของระบบทั้งหมดที่จะทำงานด้วยการอาศัยเฟืองจำนวนมากมาช่วยกันทำงาน เพราะ Palliative care นั้น ไม่สามารถจะทำสำเร็จลุล่วงเพียงลำพัง เมื่อตัวเราเล็กลง จะเกิดพื้นที่รอบๆข้างมากขึ้น เชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาร่วมกิจกรรมได้มากยิ่งขึ้น อันเป็นหัวใจของการดูแลชีวิตแบบเป็นองค์รวม

บริบทโรงพยาบาลอำเภอ (ตำแหน่งหัวหมู่ทะลวงฟัน)

คุณหมอซี หัวหน้า "อโรคยาศาล" ของโรงพยาบาลห้วยยอด ตั้งทีม Happy-ending Team ขึ้นมา โดยอาศัยการสนับสนุน ๑๐๐ % จากท่านผู้นำคือผู้อำนวยการโรงพยาบาล คุณหมอประวิทย์ เอี่ยมวิถีวนิช (ปัจจุบันเกษียณอายุ) โรงพยาบาลห้วยยอดมีลักษณะพิเศษคือ ท่านผู้อำนวยการเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว และมีทีมหมอเวชศาสตร์ครอบครัวในโรงพยาบาลถึง ๖ ท่าน (น่าจะมากที่สุดแล้วในบรรดาโรงพยาบาลระดับเดียวกัน) ทำให้องค์ความรู้และทักษะด้านการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การลงชุมชน การออกเยี่ยมบ้าน ไม่เป็นปัญหาใดๆทั้งสิ้น นอกจากนี้บุคลากรด้านอื่นๆ มีแพทย์แผนไทยอีกเกือบสิบคน ทันตแพทย์ พยาบาล และทีมจิตอาสาครบครัน บริบทโรงพยาบาลอำเภอจะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างระบบบริการสุขภาพของรัฐกับระบบชุมชน เป็นจุดวิกฤติที่เกิดความทุกข์ได้มากหากรอยต่อตรงนี้เชื่อมไม่ดี คุณหมอซีเล่าเรื่องราวการตั้ง "อโรคยาศาล" หรือทีม Happy-ending team ได้อย่างสนุกสนาน คุณหมอซีมี "ความชัด" ที่เน้นเรื่อง "สมดุลของชีวิต" นั่นคือ ชีวิตการงาน ชีวิตส่วนตัว และชีวิตครอบครัว ต้องสมดุล ไม่ให้อันใดอันหนึ่งมาดึงอันอื่นๆลงไป และปรัชญาเช่นนี้เหมาะสมอย่างมากกับการทำ palliative care ที่ต้องอาศัย "ต้นทุนทุกอย่าง" ของคนไข้แต่ละคนมาใช้ในการดูแลให้มากที่สุด คุณหมอซีเล่าถึงการใช้หลักการดูแลอาการคนไข้ระยะท้ายจริงๆที่เจออย่างไรบ้าง ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจ หรือใช้คำว่า Amazing เวลาที่เราสามารถช่วยคนไข้ระยะท้ายๆที่โรคก็ไม่หายแล้วแน่ๆ กลับไปใช้ชีวิตที่โอเคต่อไปได้จากการควบคุมอาการ และยังมีเรื่องเล่าหลากหลาย อาทิ Pet-therapy (รักษาด้วยแมว สัตว์เลี้ยง) คุณยายเจ้าสำนักไทเก๊ก กายภาวนากายบริหารหลากหลายรูปแบบ เพราะ "ความชัด" นี้เอง ทำให้เกิดเป็นความมุ่งมั่น จินตนาการ และความสนุกในการทำงาน

บริบทโรงพยาบาลจังหวัด (ตำแหน่งขุนพล)

โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ มีขนาดใหญ่ มีบุคลากรมากมาย และสิ่งสำคัญคือ "มีศักยภาพสูง" โรคระยะท้ายหลายโรค อาทิ มะเร็ง โรคไตวาย ตับวาย หัวใจวาย จะต้องได้รับการวินิจฉัย บอกพยากรณ์โรค และวางแผนการรักษาจากที่นี่ อาจารย์หมอเฉลียว เป็นสูติแพทย์ที่มาสนใจใน Palliative care เล่าเรื่องราวในบริบทโรงพยาบาลขนาดใหญ่ให้เราฟังกัน จากตำแหน่งของงาน ทำให้อาจารย์มองเห็นภาพจากเบื้องบน เห็นบริบท เห็นความเป็นไปได้ของการโยงใยผู้คนที่หลากหลาย นำผู้คนเหล่านั้นมาเชื่อมต่อและสานเป็นระบบบริบาลที่ไร้รอยต่อ อาจารย์รับรุ้ได้ถึงพลังงานแห่งความรัก ความเมตตา และความมุ่งมั่นของทีมอาจารย์ทุกคน ที่มาทำงานให้กับการบรรเทาความทุกข์ของผู้ป่วย อาจารย์จึงชื่นชมวิชาชีพพยาบาล เภสัช โภชนากร นักสังคมฯลฯ อย่างจริงใจ แสดงถึงความกล้าหาญของอาจารย์ที่ยอมเปิดประตูอารมณ์ ประตูแห่งความอ่อนไหวเปราะบาง ทำให้หัวใจของอาจารย์อ่อนโยน และมอบความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขให้แก่ทีมของอาจารย์และแก่คนไข้และครอบครัว

จาก "หลักสูตร" ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรากลับจุดประกายการเติบโตของการเดินทางของ
@ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม
@ ความมุ่งมั่นชัดเจน ทำให้ความรู้ (knowledge) กลายเป็นปัญญา (wisdom)
@ ความอ่อนโยนของหัวใจ ทำให้เกิดความรักและเมตตา (compassion) ต่อตนเอง ต่อทีม และต่อองค์กร ต่อสังคม
Palliative Medicine จึงเป็นศาสตร์ที่เสริมพลังและปัญญาแห่งความมนุษย์ด้วยประการฉะนี้

น.พ.สกล สิงหะ
อุปนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย
วันพุธที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๓๗ นาที
วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 619049เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2016 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดี อาจารย์ หมอ สกล

พอเกษียณ ผมห่างหาย รพ ไปนาน ยังเสียดายสิ่งที่เคยเรียนรู้มา ยังคืนให้ รพ ไม่หมด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท