การตอบแทนสังคม (social Contribution)


จำนวนเงินที่มากหรือน้อยนั้นไม่สำคัญ แต่ความตั้งใจและความคิดที่จะช่วยเหลือสังคมต่างหากสำคัญกว่าสิ่งใด

          ในทุกวันนี้คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเกือบทุกคนที่มีชีวิตอยู่ต่างต้องการความร่ำรวย  ต้องการชีวิตที่สุขสบาย  ชีวิตในแต่ละวันหมดไปกับการทำมาหากินเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติ (สำหรับผู้ที่มีเหลือ) และเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดไปได้ในแต่ละวัน (สำหรับผู้ที่ยังมีไม่พอ)  อันที่จริงความร่ำรวยก็ไม่ใช่สิ่งผิดที่น่ารังเกียจแต่อย่างใดหากวิธีการที่หามาได้นั้นเป็นไปโดยสุจริต   แต่ทว่าในชีวิตของคนคนหนึ่งรวยเท่าไรจึงจะพอ?

                 เมื่อไม่นานมานี้ทั่วโลกตกตะลึงและชื่นชมไปกับการบริจาคทรัพย์สินจำนวนมหาศาลเป็นประวัติการณ์  ของนายวอร์เรน   บัฟเฟทท์   วัย 75 ปี   อัครมหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่รวยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก  เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2549 นายบัฟเฟทท์ ได้ประกาศบริจาคเงินสูงถึง  31,000 ล้านดอลลาร์ (ถ้าอยากรู้ว่าคิดเป็นเงินบาทเท่าไรคร่าวๆก็ลองเอา 40 บาทไปคูณ)   ซึ่งเป็นจำนวนประมาณ 85% ของทรัพย์สินมากกว่า 44,000 ล้านดอลลาร์ที่เขามีอยู่ในปัจจุบัน   ให้กับ 5 องค์กรการกุศล  และเลือกบริจาคเงินก้อนใหญ่ที่สุดให้กับมูลนิธิของบิลล์และเมลินดา เกตส์ (Bill  & Merinda  Gate  Foundation) เจ้าของไมโครซอฟท์ที่รวยที่สุดอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันมา 10 ปี   มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ มีทรัพย์สินอยู่แล้ว 30,000 ล้านดอลลาร์  เมื่อรวมกับเงินบริจาคของนายบัฟเฟท์อีก 30,710 ล้านดอลลาร์ จะเป็นมูลนิธิที่มีกองทุนมากที่สุดในโลก  มูลนิธินี้ให้ความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพและความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา และส่งเสริมการศึกษาในประเทศตะวันตก  (http://www.berkshirehathaway.com)

การบริจาคดังกล่าวถือเป็นประวัติศาสตร์ของการบริจาคที่มาจากคนเพียงคนเดียวที่มากที่สุดในอเมริกา  

                 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว นายบัฟเฟทท์ เคยให้สัมภาษณ์ลงในนิตยสารฟอร์จูน  ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2529 ไว้ตอนหนึ่งว่า                “…That  a  very  rich  person  should  leave  his  kids  enough  to  do  anything  but  not  enough  to  do  nothing”                ...มหาเศรษฐีควรมอบทรัพย์สมบัติไว้ให้แก่ลูกๆให้เพียงพอเท่าที่เขาจะทำอะไรได้  แต่จะไม่เพียงพอเลยหากงอมืองอเท้าโดยไม่ทำอะไรเลย               

                การตัดสินใจเปลี่ยนแผนการบริจาคของนายบัฟเฟทท์  ที่แต่เดิมเคยตั้งใจที่จะบริจาคทรัพย์สินหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว   เหตุผลหลักอาจเป็นเพราะการจากไปของภรรยาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว   แต่แนวคิดเรื่องการบริจาคเงินจำนวนมากมายมหาศาลขนาดนั้นจะเป็นสิ่งที่นายบัฟเฟทท์ ได้วางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มสะสมความร่ำรวยหรือหลังจากได้พบสัจธรรมบางอย่างจากการที่มีเงินมากมายมหาศาลนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด  

 

                ที่เขียนมานี้ไม่ใช่ว่าจะสนับสนุนให้ทุกคนเร่งสะสมความร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง    จนเผลอคิดไปว่า   ทำอย่างไร? ถึงจะรวยเหมือนนายบัฟเฟทท์ หรือบิลล์  เกตส์       ถ้าฉันรวยขนาดนั้นก็จะบริจาคเหมือนกันแต่ตอนนี้เงินเรายังไม่มีอย่าเพิ่งคิดไปเลย  

 

                การตอบแทนสังคม ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเงินเท่านั้น   หากแต่การให้ในชีวิตประจำวัน เช่น   น้ำใจ   การแบ่งปัน  ความเอื้ออาทรให้กับคนรอบข้าง   การให้ที่ใกล้หรือไกลตัวกับกลุ่มคนที่กำลังเดือดร้อน   การทำนุบำรุงศาสนา   การสละเวลาในช่วงวันหยุดจากการทำงานไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมในองค์กร/ชุมชนต่างๆที่ยังต้องการกำลังแรงกายและทุนทรัพย์อีกมาก   เหล่านี้คงเป็นคำตอบของการให้เพื่อตอบแทนสังคมที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ เงินหรือ วัตถุสิ่งของ 

 

                หลายคนคงกำลังคิดว่ายังไม่พร้อมในตอนนี้  ไหนจะมีภาระงานที่รับผิดชอบในหน้าที่การงาน   การเรียน  เรื่องครอบครัว   ยังไม่มีเวลาหรือด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม   หากเรามีการวางแผนเพื่อตอบแทนสังคมสำหรับแต่ละคนคงจะทำให้สิ่งที่คิดว่ายังทำไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำได้   อันดับแรกควรเริ่มคิดถึงการตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปีนี้จะทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมและการกุศลต่างๆไว้อย่างไรเช่น ปีแรกแค่ 1-2 ครั้งก่อน ปีต่อๆไปค่อยขยายผล   ซึ่งอาจแบ่งเป็น  ช่วยเหลือเด็ก   คนแก่   คนพิการ  บำรุงศาสนาหรืออื่นๆ     ส่วนคนที่ไม่มีเวลาจริงๆและจำเป็นต้องช่วยเหลือด้วยเงินนั้น  ก็น่าจะเริ่มคิดถึงการตั้งงบประมาณสำหรับเรื่องนี้  เช่น  จะใช้เงิน 5% ของรายได้ทั้งปี หรือ 5% ของเงินที่เหลือเก็บในแต่ละปีเพื่อกิจกรรมช่วยเหลือสังคม  อาจแบ่งเป็น  ช่วยเหลือเด็ก 2 %    ผู้สูงอายุ 1% ด้านการศึกษา 1 %     และทำบุญ 1%  เป็นต้น  

 

 กว่าที่จะฝ่าพ้นพันธะทางกายและใจของตนได้ นับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย    จำนวนเงินที่มากหรือน้อยนั้นไม่สำคัญ  แต่ความตั้งใจและความคิดที่จะช่วยเหลือสังคมต่างหากสำคัญกว่าสิ่งใด

 

..................................

 
หมายเลขบันทึก: 61880เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2006 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ ต้องร่วมสร้าง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท