จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๐ : "มารยาท" คือจริยธรรมประจำวัน


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๐ : "มารยาท" คือจริยธรรมประจำวัน

ความงามคือ "ฉัน" ความดีคือ "เธอ" และความจริงคือ "มัน" เป็นคำสรุปที่อาจจะเรียบไปสักนิด แต่ได้ใจความนัยยะสำคัญ

"ฉัน"เป็นคนรู้สึกถึงสุนทรียะทุกประเภท ความสวย ความงาม ความไพเราะ ความนุ่มนวล อ่อนโยน การตัดสินสุนทรียะเป็นสิ่งที่ทำแทนกันไม่ได้ และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ norm (เกี่ยวบ้างตรงอิทธิพล แต่ไม่ได้เกี่ยวในแง่กลไกความรู้สึกโดยตรง) หรือความเป็น "สากล"

"เธอ" เป็นบริบทพิเศษ เกิดจากฉันมีการรับรู้การคงอยู่ของเธอเป็นอันดับแรก ฉันรับรู้ความรู้สึกของเธอเป็นอันดับสอง และฉันรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของฉันที่จะดูแลเธอเป็นอันดับสาม เมื่อไรก็ตามที่เกิดอันดับสามนี้ จะเกิด "คุณงามความดี" ขึ้นมา เกือบจะกล่าวได้ว่า ถ้าโลกใบนี้ไม่มีเธอ ก็คงจะไม่มีคุณงามความดีอะไรเป็นนัยยะสำคัญ คำว่า "ไม่มีเธอ" ไม่ได้เน้นที่กายภาพ แต่เน้นที่ "การรับรู้ของฉันว่ามีเธอ"

"มัน" คือสิ่งที่เราสังเกต ทุกประเภทที่เราสังเกต เกิดเป็น pattern มีรูปแบบ และกลายเป็นศาสตร์ กลายเป็นความรู้ ในที่สุด

รากฐานที่มาของ "มารยาท"

ดูเผินๆ อาจจะมีคนคิดว่าเรื่องมารยาทเป็นเรื่องของชนชั้น การกดขี่ แต่รากฐานที่มาของมารยาทคือ "การดูแล" เพราะสิ่งแรกที่ต้องใช้ในการเกิดมารยาทก็คือ "การตระหนักถึงเธอ" และสิ่งเร้าที่ทำให้เราพิจารณาว่าต้องมีมารยาทคือ "การต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์" และจะเป็นปฏิสัมพันธ์แบบใดก็จะขึ้นกับดีกรีการอยากไปดูแลเธอ และดีกรีการไม่อยากจะดูแลเธอ แต่อยากจะดูแลประโยชน์ของตนเองมากกว่า ออกมาเป็นสมดุลของสองเรื่องนี้เป็นพฤติกรรม การแสดงออก

เมื่อคนสองคนมีปฏิสัมพันธ์กัน อาจจะอยู่ที่การแลกเปลี่ยนเนื้อหา ข้อมูล เป็นจุดเริ่มต้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ "การรับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่าย (empathy)" เกิดขึ้น สิ่งที่แลกเปลี่ยนไม่ได้อยู่เฉพาะเนื้อหา ข้อมูล อีกต่อไป จะเกิดขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนของความเป็นมนุษย์เกิดขึ้น นอกเหนือจาก robotic exchange of information เกิดการ "care" กัน

การเป็นแพทย์นั้น เป็นวิชาชีพที่เน้นเรื่อง "การ care" มากกว่าการ "cure" เสียอีก เพราะการ care เริ่มที่หัวใจ ในขณะที่เรื่องของ cure เป็นเรื่องของความรู้ ความสามารถ

การ care เป็นทักษะที่บูรณาการ function ของหัวใจเข้ากับของสมอง เข้ากับความ "ฉลาด" ถ้าหมอขาดทักษะที่จะแคร์คนอื่น (ไม่ได้เน้นที่คนอื่น "คิด"อะไร แต่เน้นที่คนอื่น "กำลังรู้สึกอะไร") ก็จะดูแลคนแบบวัตถุ สิ่งของ เหมือนซ่อมเครื่องจักรกล และมีความเสี่ยงแบบนี้เยอะ เพราะหมอมักจะคิดว่าตนเองฉลาด รู้เยอะ คือมี knowledge จนอาจจะละเลยความอ่อนโยน ความไวต่อความรู้สึก และในที่สุดก็คือ "ไม่แคร์"

การฝึกเรื่องนี้ง่ายนิดเดียว ก็คือ "การมีมารยาท" นั่นเอง เพราะมารยาทไม่ได้ต้องฝึกตอนประกอบอาชีพ แต่การมีมารยาทคือการฝึก awareness รับรู้การคงอยู่ของผู้อื่น รับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น และเกิดฉันทาคติที่จะดูแลความรู้สึกของคนอื่นด้วยพฤติกรรมของเรา นี่คือ "มารยาท" แพทย์ที่ขาดมารยาท ก็จะไม่แคร์คน แสงสว่างในตัวที่มีจากปัญญาก็จะเป็นแสงที่บาดตาผู้คน แทนที่จะให้ความอบอุ่น สบายใจ คำพูดที่มีแทนที่จะดูแลผู้คน ก็จะเชือดเฉือนจิตใจความรู้สึกของคน

"มารยาท" อาจจะไม่ได้บรรจุอยู่ในหลักสูตรแพทยศาสตร์ และไม่มีการสอบการประเมิน แต่น่าจะมีความสำคัญต่อการเรียนรู้การเป็นแพทย์ไม่น้อย

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๘ นาฬิกา ๕๕ นาที
วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 618686เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2016 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2016 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท