เสียงจากนิสิตวิชาภาวะผู้นำ : จิตอาสาคืนสนามสู่ชุมชน (วารีรีรักษ์ อ่อนเทศ)


ดิฉันได้ใช้ความรู้ในชั้นเรียนมาสู่การปฏิบัติจริงในบางเรื่อง เช่น การวางแผนอย่างเป็นระบบ การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี การเปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การปรึกษาหารือและวิธีการทำงานอย่างเป็นทีม ส่วนเมื่อลงมือทำแล้วงานก็สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เพราะมีปัจจัยสำคัญๆ เช่น ความสามัคคี การทำงานเป็นทีม การวางแผนงานอย่างเป็นระบบ การแบ่งหน้าที่ที่ชัดเจนของแต่ละคน


โครงการ “คืนสนามสู่ชุมชน” เป็นกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการในรายวิชาภาวะผู้นำที่ดิฉันและเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม 2/3 ได้จัดขึ้น ณ สนามกีฬาอเนกประสงค์บ้านดอนเวียงจันทน์หมู่ที่ 13 ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้การทำประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นทีม

กลุ่ม 2/3 มีสมาชิกทั้งหมด 28 คน มีมาจากคณะต่างๆ คือ คณะการบัญชีและการจัดการ คณะวิทยาการสารสนเทศ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์






ใกล้ มมส ...


กิจกรรมครั้งนี้ใช้งบดำเนินการจำนวน 3,900 บาท เป็นกิจกรรมด้านประเภทบำเพ็ญประโยชน์ มีกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้น คือ กิจกรรมการตีเส้นลานกีฬาอเนกประสงค์ในหมู่บ้าน 3 สนาม คือ ฟุตซอล ตะกร้อ และวอลเลย์บอล รวมถึงการเปลี่ยนตาข่ายประตูฟุตซอลเพื่อให้สามารถใช้งานได้ดีกว่าเดิม

ทั้งนี้ก่อนที่ดิฉันและเพื่อนๆ จะเลือกจัดกิจกรรมที่หมู่บ้านแห่งนี้ พวกเราได้ลงพื้นที่สำรวจในหลายที่โดยเพื่อนๆ น้องๆ สมาชิกในกลุ่มได้เสนอสถานที่ต่างๆ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าขอนยาง วัดป่ากู่เเก้ว และบ้านดอนเวียงจันทน์ พอสำรวจเสร็จก็นำข้อมูลที่เป็นปัญหาหรือความต้องการของชุมชนมาคุยกันในกลุ่มว่ามีกิจกรรมใดพอจะจัดได้บ้าง






การประชุมวันนั้นตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม 2559 สมาชิกในกลุ่มมีมติเห็นชอบที่จะจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการที่บ้านดอนเวียงจันทน์ เพราะเห็นว่าเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยฯ สามารถเดินทางไปมาได้สะดวก รวมถึงเหตุผลอื่นๆ เช่น เป็นชุมชนที่ยังไม่มีนิสิตเข้าไปพัฒนามากนัก รวมถึงจากการสอบถามผู้ใหญ่บ้านและคนในชุมชนบางส่วน พบว่ามีความจำเป็นและความต้องการที่จะให้ทางเราเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสนามกีฬาอเนกประสงค์ เพราะเป็นศูนย์กลางการใช้งานของเด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่ โดยสนามมีการใช้งานทุกวัน แต่มีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม






การมีส่วนร่วมของนิสิตกับชุมชน

เบื้องต้นเราได้หารือเรื่องแผนการทำงานร่วมกับชุมชน กำหนดจัดกิจกรรม 2 วันคือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 และวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 วันแรกจะเน้นการทำงานทั้งหมดให้เรียบร้อย จากนั้นก็จะลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อประเมินผลการทำงาน หรือการไปทาสีทับอีกรอบ เพื่อให้มั่นใจว่าสีจะคงทนใช้งานได้นานๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ก็ลงมาประสานชุมชนเป็นเวลาล่วงหน้า 3 วัน คือวันที่ 25 ตุลาคม 2559 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2559

การจัดกิจกรรมครั้งนี้สมาชิกในกลุ่มพอจะมีความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่บ้าง บางคนมีประสบการณ์เพราะมีคุณพ่อเป็นช่างอยู่แล้ว บางคนเคยเป็นนักกีฬาโรงเรียนมาก่อน จึงพอจะมีประสบการณ์ในเรื่องของการทาสีตีเส้นมาบ้าง เพื่อนที่มีประสบการณ์ก็จะทำหน้าที่สอนหรือบอกเล่าให้เพื่อนฟังว่าต้องทำอย่างไร ที่เหลือก็ช่วยกันค้นคว้าเพิ่มเติมผ่านระบบต่างๆ ในเรื่องของระยะขอบมาตรฐานของสนามและรูปแบบของสนามเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อน





พอถึงวันที่ต้องจัดกิจกรรมในชุมชน การทำงานก็ไม่ได้ทำแต่เฉพาะดิฉันและเพื่อนในกลุ่ม พวกเราเน้นการมีส่วนร่วมจากชุมชน เช่น เด็กอายุระหว่าง 11-15 ปีเข้ามาร่วมกิจกรรมทาสีและมีผู้ใหญ่ประมาณ 5 คนเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิการและการอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับนิสิตเช่น การบริการอาหารเครื่องดื่ม การจัดหาอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรม รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการทาสีแก่นิสิต ซึ่งเดิมในกลุ่มก็มีนิสิตที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว จำนวน 2 คน





การจัดกิจกรรมครั้งนี้ทำให้รู้ว่าสนามกีฬาอเนกประสงค์ของหมู่บ้านไม่มีข้อมูลการก่อตั้งที่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้ในสมุดบันทึกประวัติของหมู่บ้าน ทราบเพียงว่า บ้านดอนเวียงจันทน์หมู่ 13 ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคามได้แบ่งการปกครองมาจากบ้านดอนเวียงจันทน์หมู่ที่ 8 เมื่อปี พ.ศ.2538 เพราะมีประชาชนเพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลาและเพื่อง่ายต่อการปกครอง โดยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1392 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร 1293 ไร่ พื้นที่สาธารณประโยชน์ 95 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 94 ไร่

การสร้างสนามได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลที่มอบให้กับทางหมู่บ้าน โดยสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์สำคัญๆ คือ เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมและสนับสนุนให้คนในชุมชนได้เล่นกีฬาและออกกำลังกาย ซึ่งในเรื่องของการดูแลบริเวณพื้นที่สนามไม่มีหน่วยงานดูแลแบบเฉพาะ การดูแลจะเป็นลักษณะการช่วยกันรักษาของคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันสนามแห่งนี้มีการนำมาใช้งานในรูปแบบของลานอเนกประสงค์ เพราะมีทั้งการใช้เป็นตลาดนัด ตากข้าวและเป็นสนามกีฬา





ปัญหา ...และความสำเร็จ

ในด้านของปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญๆ คือระยะแรกสมาชิกในกลุ่มว่างไม่ตรงกัน แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการให้สมาชิกทุกคนเขียนเวลาว่างของทุกคนลงในตารางที่ได้จัดทำขึ้น โดยจะเลือกวันเวลาที่สมาชิกทุกคนว่างตรงกันมากที่สุดเพื่อออกสำรวจพื้นที่และการทำกิจกรรม นอกจากนั้นก็เป็นปัญหาเรื่องสภาพทางอากาศ เนื่องจากมีฝนตก ทำให้สนามมีความชื้นลงสีลำบาก อีกทั้งเป็นช่วงที่อากาศแปรปรวนมีทั้งแดดที่ร้อนและฝนที่ตก ทำให้สมาชิกบางคนเป็นไข้ไม่สบาย กระทบต่อการทำงานกลุ่มและการใช้ชีวิตทั่วๆ ไป




กิจกรรมครั้งนี้ดิฉันได้ใช้ความรู้ในชั้นเรียนมาสู่การปฏิบัติจริงในบางเรื่อง เช่น การวางแผนอย่างเป็นระบบ การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี การเปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การปรึกษาหารือและวิธีการทำงานอย่างเป็นทีม ส่วนเมื่อลงมือทำแล้วงานก็สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เพราะมีปัจจัยสำคัญๆ เช่น ความสามัคคี การทำงานเป็นทีม การวางแผนงานอย่างเป็นระบบ การแบ่งหน้าที่ที่ชัดเจนของแต่ละคน

ในทำนองเดียวกันเมื่อทำแล้วก็ได้เรียนรู้ในหลายๆ เรื่อง ทำให้ตัวเองเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในเรื่องเหล่านี้ เช่น ได้ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่แปลกใหม่ผ่านการทำงานร่วมกับเพื่อนนิสิตและชาวบ้าน รู้สึกว่าตัวดิฉันกล้าที่จะซักถาม กล้าที่จะแบ่งหน้าที่และติดตามงาน รวมถึงการตรงต่อเวลามากขึ้น มีความรับผิดชอบในหลายๆ เรื่องมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดิฉันรู้สึกว่าได้เรียนรู้ภาวะผู้นำจากงานที่ทำและจากชุมชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มของพวกเรา






เรียนรู้กลับสู่ตัวเอง... และหมุดหมายใหม่


ท้ายที่สุดนี้ดิฉันคิดว่ากิจกรรมที่ทำสามารถตอบโจทย์ปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ว่า "พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว" :: ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” ได้ค่อนข้างชัดเจน เพราะทำให้รู้หลักการเข้าร่วมทำกิจกรรมกับคนในชุมชน การแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะการดำรงชีวิตระหว่างนิสิตกับชาวบ้านในชุมชน ทำให้นิสิตสามารถนำความรู้ที่ได้มาจากการเรียนไปประยุกต์ใช้กับการใช้ชีวิตจริง

ส่วนหากได้มีโอกาสทำกิจกรรมในหมู่บ้านแห่งนี้ หรือหากต้องแนะนำคนอื่นให้มาทำกิจกรรมในหมู่บ้านนี้ ดิฉันและเพื่อนๆ จะแนะนำให้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมในเรื่องของการทำความสะอาดบริเวณถนนและการทำศาลาบริเวณตรงศาลดอนปู่ตา เนื่องจากเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน ซึ่งชาวบ้านก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มที่





เรื่อง : วารีรีรักษ์ อ่อนเทศ ชั้นปีที่ 2 สาขาบริหารการเงิน คณะการบัญชีและการจัดการ
ภาพ : นิสิตวิชาภาวะผู้นำ

หมายเลขบันทึก: 618629เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2016 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-ตามมาเยี่ยมกิจกรรมของน้องๆ ครับ

-เป็นกำลังใจให้น้องๆ ครับ


ขอบพระคุณมากๆ ครับคุณเพชรน้ำหนึ่ง

กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมเล็กๆ ครับ ฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้บริการสังคมบนความต้องการของสังคม และบนการมีส่วนร่วม และสร้างทักษะการทำงานเป็นทีมแก่นิสิต

กิจกรรมนี้ไม่ได้ตูมเดียวแล้วจบ อย่างน้อยก็สอนให้นิสิตได้ลงสู่การคัดเลือกพื้นที่ พัฒนาโจทย์ เตรียมงาน ไปสู่การลงมือทำจริง แล้วทิ้งช่วงจากนันก็กลับไปประเมินซ้ำ ทังเนื้องานและการใช้ประโยชน์

หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้ว่าสถานที่ตรงนั้น มีบทบาทและสานะใดบ้างต่อผู้คนในชุมชนนั้นๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท