ประโคมย่ำยาม


การประโคมย่ำยาม

“ย่ำ”เป็นคำกิริยา ท่านอาจคุ้นหูกับคำว่า ย่ำเท้า ซึ่งคือการเหยียบหนัก ๆ ซํ้า ๆกัน อยู่กับที่

อีกกรณีหนึ่ง ถ้าเป็นการตีกลองหรือตีฆ้องถี่ ๆ หลายครั้งเพื่อบอกเวลาสําหรับเปลี่ยนยาม เรียกว่า ยํ่ากลอง ยํ่าฆ้อง ยํ่ายาม ก็เรียก ถ้ากระทําในเวลาเช้า เรียกว่า ยํ่ารุ่ง (ราว ๖ น.) ถ้ากระทําในเวลาคํ่า เรียกว่า ยํ่าคํ่า (ราว ๑๘ น.)

“ยาม” เป็นการแบ่งช่วงเวลาในแต่ละวัน ยามละ 3 ชั่วโมง วันหนึ่งจะมี 8 ยาม

“ประโคม” เป็นการบรรเลงดนตรีเพื่อเป็นสัญญาณในพิธีใดๆ เพื่อสักการะ บูชา หรือยกย่อง เป็นต้น

ดังนั้น“การประโคมย่ำยาม”

จึงเป็นการบรรเลงดนตรีเพื่อสักการบูชา และบอกเวลาปฏิบัติงาน โดยมีระยะห่างกัน 3 ชั่วโมง เริ่ม 06.00 น. จนถึง 03.00 น. เป็น 8 ครั้งในแต่ละวัน (มติชนออนไลน์ 11 พ.ย.2559)

ในงานพระราชพิธีสวดพระอภิธรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรนำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ เข้าประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวัง จนครบ ๑๐๐ วัน เริ่มวันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ โดยกำหนดให้ประโคมวันละ ๖ ครั้ง ดังนี้

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๑ เวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๒ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๓ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๔ เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๕ เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๖ เวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา

การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนการประโคมดังนี้

วงประโคมลำดับที่ ๑ วงสังข์แตรกับวงปี่ไฉนกลองชนะ(ประโคมสลับต่อเนื่องกัน)

เริ่มด้วย ประโคมมโหระทึก (ตีประโคมตลอดเวลาจนกระทั่งจบการประโคมลำดับที่ ๑ ) วงสังข์แตร ประโคมเพลงสำหรับบท จบแล้ว วงปี่ไฉนกลองชนะ ประโคมเพลงพญาโศกลอยลมเมื่อจบกระบวนเพลงแล้ว วงสังข์แตร ประโคมเพลงสำหรับบท อีกครั้ง ต่อด้วยวงปี่ไฉนกลองชนะ ประโคมเพลงพญาโศกลอยลมอีกครั้งหนึ่งจบกระบวนเพลง และวงสังข์แตร ประโคมเพลงสำหรับบทครั้งสุดท้าย เป็นการจบการประโคมลำดับที่ ๑

วงประโคมสำดับที่ ๒ วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ ประโคมเพลงเรื่องนางหงส์ประกอบด้วยเพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน เพลงสาวสอดแหวน เพลงกระบอกทอง เพลงคู่แมลงวันทอง และเพลงแมลงวันทอง เป็นเพลงสุดท้าย เมื่อประโคมจบ เป็นการเสร็จการประโคมย่ำยาม ๑ ครั้ง

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบจาก :พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เว็บไซต์ มติชนออนไลน์

หมายเลขบันทึก: 618520เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท