การประกันภัย (Insurance)


เรื่องของการประกันภัย คนส่วนใหญ่มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเข้าใจยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความที่อยู่ใน กรมธรรม์ประกันภัย (Insurance policy) ซึ่งภาษาที่เขียนเป็นภาษาที่ค่อนข้างเป็นมุมเชิงกฎหมาย และคำศัพท์บางคำเป็นคำศัพท์ทางเทคนิค ที่คนส่วนใหญ่อ่านแล้วมักไม่ค่อยเข้าใจ และที่สำคัญผมมั่นใจว่าเกินกว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่ซื้อประกันภัยไป เมื่อได้รับกรมธรรม์ไปแล้วไม่เคยเปิดอ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาของข้อความที่เป็นเงื่อนไขต่างๆในนั้น ทั้งๆที่เนื้อหาข้างในจะมีเงื่อนไขต่างๆที่สำคัญที่ผู้ซื้อประกันไปแล้วจำเป็นต้องรู้ เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะเสียประโยชน์หรือมีปัญหาตามมาได้ ปัญหามักตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าสินไหม หรือจ่ายผลประโยชน์ไม่ตรงตามที่ผู้ซื้อประกันเข้าใจหรือคาดหวัง ก็มักจะเกิดการร้องเรียนหรือฟ้องร้องกันระหว่างผู้ซื้อประกันกับบริษัทประกันภัยตามมา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนที่จะซื้อประกันภัยต่างๆจะต้องศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย และเงื่อนไขต่างๆของสัญญาประกันภัย ที่ระบุอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าการทำประกันมีเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และถ้าอยากทำประกันต้องทำอย่างไร

ดังนั้นผมจึงอยากเขียนบทความเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย โดยหวังว่าบทความนี้จะสามารถช่วยให้ผู้อ่านหลายๆท่านได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันมากขึ้น ซึ่งผมได้ใส่คำศัพท์ภาษาอังกฤษไว้ในวงเล็บหลังคำศัพท์ไทยบางคำที่เป็นคำศัพท์ทางเทคนิค เผื่อว่าเวลาที่ผู้อ่านได้ยินคำศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษจากที่อื่นแล้วจะได้เข้าใจว่าหมายถึงอะไร

เริ่มต้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยกันก่อน

คำว่า ประกันภัย (Insurance หรือ Assurance) นั้น ประกอบไปด้วยคำ 2 คำ คือคำว่า ประกัน (Assure) กับคำว่า ภัย (Peril)

คำว่า ประกัน (Assure) หมายถึง รับรองว่าจะรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น, รับรองว่าจะมีหรือ ไม่มีเหตุการณ์นั้น ๆ[1]

ส่วนคำว่า ภัย (Peril) นั้นเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ภย หมายถึง สิ่งที่น่ากลัว หรือ อันตราย[2]

ดังนั้นเมื่อคำทั้งสองรวมกันเป็นคำว่า ประกันภัย จึงหมายถึง รับรองว่าจะรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอันตราย

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคำว่าประกันภัยนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไปรับรองว่าไม่มีภัยเกิดขึ้น เพราะภัยนั้นแม้จะจัดหาการป้องกันไว้ดีแค่ไหน ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ พูดง่ายๆคือ ไม่มีภัยใดเลยที่โอกาสในการเกิดเป็นศูนย์ ทุกภัยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นภัยอะไร จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะเกิดกับใคร และจะเกิดกับอะไร ที่ว่าจะเกิดกับอะไรนั้นก็หนีไม่พ้นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราทุกๆคนและเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่อยากให้เกิดภัยขึ้น นั่นคือ ชีวิต (Life) และ ทรัพย์สิน (Property) นั่นเอง ถึงแม้คนเราจะพยายามป้องกันให้มีโอกาสเกิดภัยน้อยที่สุด แต่ภัยบางประเภทนั้นเกิดขึ้นกับเราทุกคนแน่นอน อยู่ที่ว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเท่านั้น อย่างเช่น การเสียชีวิต เป็นต้น เพราะไม่มีใครที่หลีกหนีการตายได้ เมื่อเกิดภัยขึ้นแล้วสิ่งที่ตามมาคือ ความเสียหาย (Damage)[3] ที่เกิดจากภัย โดยภัยนั้นเกิดขึ้นได้กับทั้ง ชีวิต (Life)[4] และ ทรัพย์สิน (Property)[5], [6] ถ้าภัยเกิดขึ้นกับทรัพย์สินก็ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กัยว่าภัยนั้นเป็นภัยอะไร และมีความรุนแรงเพียงไร ภัยที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินนั้น สามารถสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของทรัพย์สินได้ 3 ประการคือ

  • ความเสียหายต่อทรัพย์สินโดยตรง (Damage to property) ถ้าทรัพย์สินเสียหายไม่มากก็ต้องมีการซ่อมแซมทรัพย์สิน หรือถ้าทรัพย์สินนั้นเสียหายมากจนไม่สามารถใช้การได้อีกก็ต้องหาทรัพย์สินใหม่มาทดแทนทรัพย์สินที่เสียหาย
  • ความเสียหายที่เกิดจากการขาดโอกาสในการใช้สอยประโยชน์ในทรัพย์สิน (Damage to utility of property) คือแทนที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินได้ตามปกติ เมื่อทรัพย์สินเสียหายก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ หรือใช้ปรโยชน์ได้ไม่เท่าเดิม
  • ความเสียที่หายต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้อื่น (Damage to liability or Damage to third party) ถ้าหากภัยนั้นไปเกิดขึ้นเพราะตนเองเป็นต้นเหตุและไปสร้างความเสียหายให้แก่บุคคลอื่นด้วย

นอกจากภัยจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินแล้ว ภัยนั้นยังสามารถเกิดขึ้นกับชีวิตคนเราด้วย ภัยที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนเราโดยตรง ก็ได้แก่ อุบัติเหตุ (Accident) การบาดเจ็บ (Injury) การเจ็บไข้ได้ป่วย (Illness) ถ้าไม่รุนแรงมากก็อาจแค่เจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆน้อยๆ ซึ่งเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็อาจต้องเสียทรัพย์ไปเป็นค่ารักษาพยาบาลในบางครั้ง ถ้าป่วยมากถึงขนาดต้องหยุดพักรักษา ก็ย่อมเสียโอกาสในการทำมาหากิน ยิ่งคนที่หารายได้รายวันจากการรับจ้างรายวันหรือขายของ ย่อมเสียโอกาสจากการขาดรายได้หากต้องหยุดพักรักษาตัวมากกว่าคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไป หรือที่หนักสุดก็อาจเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บไข้ได้ป่วยจนพิการ (Disability) ซึ่งทำให้สูญเสียความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันตามปกติ (Activities of Daily Life) หรืออาจรุนแรงจนจนถึงขั้นเสียชีวิต (Death) ได้ ซึ่งภัยที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนเราเราสามารถสร้างความเสียหายที่แบ่งได้เป็น 3 ประการคือ

  • ความเสียหายต่อทรัพย์ที่ต้องนำไปใช้จ่ายเป็นค่าดูแลรักษาชีวิต (Damage to property) เมื่อคนเราเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บ บางครั้งอาจต้องไปหาหมอเพื่อรักษา หรือบางทีก็ซื้อยาทานเอง
  • ความเสียหายเกิดจากการขาดโอกาสในการทำมาหากินตามปกติ (Damage to ability of earning) ซึ่งบางครั้งเป็นการขาดโอกาสเพียงแค่ชั่วคราวคือเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด บางครั้งอาจทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ เพราะเมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยย่อมอ่อนแอกว่าตอนที่แข็งแรง ดังนั้นจึงไม่สามารถทำงานได้ตามเดิม ซึ่งหากเพียงแค่ทำงานได้น้อยลง ก็อาจเพียงแค่รายได้ลดลงบ้าง แต่ถ้าหนักหน่อยก็ต้องหยุดทำงานเพื่อพักรักษาชั่วคราว การอาจทำให้ขาดรายได้ไปบางช่วง หรือถ้าร้ายแรงก็อาจขาดโอกาสในการทำมาหากินตามปกติแบบถาวร เช่น ถ้าเจ็บป่วยหนักจนถึงขั้นเป็นอัมพาต หรือประสบอุบัติเหตุจนตาบอด เป็นต้น เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพทำมาหากินได้ตามปกติ ก็ทำให้ขาดรายได้ตามไปด้วย นอกจากนี้ความเสียหายจากการขาดโอกาสในการมาหากินตามปกติ ยังรวมถึง การไม่สามารถประกอบอาชีพการงานได้ตอนแก่ชราอีกด้วย เพราะตอนแก่ชรา คนเรามักเรี่ยวแรงลดน้อยลง ไปทำงานหนักๆเหมือนตอนสมัยยังหนุ่มยังสาวไม่ได้ เมื่อไม่สามารถทำงานได้ก็ไม่มีรายได้เข้ามา จำเป็นต้องนำเงินที่เก็บออมมาใช้จ่ายหรือไม่ก็พึ่งพาเงินจากคนอื่น ซึ่งถ้าไม่มีเงินเก็บหรือไม่มีคนอื่นให้เงินใช้ก็ย่อมลำบากแน่นอน
  • ความเสียหายต่อบุคคลที่พึงพาดูแล (Damage to dependent)[7] เป็นความเสียหายที่ทำให้บุคคลอื่นเสียทรัพย์หรือขาดโอกาสในการใช้ชีวิตตามปกติ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเจ็บป่วยก็อาจต้องมีคนมาคอยดูแลหรือบางครั้งต้องหยุดงานมาดูแลกัน เช่น พ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆเกิดเจ็บป่วย คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องหยุดงานพาลูกไปหาหมอ นอกจากจะเสียเงินค่ารักษาแล้วยังขาดรายได้อีกด้วย หรือถ้าคนที่พ่อหรือแม่เกิดเจ็บป่วย คนเป็นลูกก็ต้องคอยดูแลรักษา จ่ายค่ายาค่าหมอ ถ้าพ่อแม่เกิดเสียชีวิต คนเป็นลูกก็ต้องหาเงินมาเป็นค่าจัดงานศพตามประเพณี รวมทั้งบางคนหากพ่อแม่คือผู้ที่เป็นเสาหลักในการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เมื่อพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้วอาจทำให้ไม่มีคนหารายได้มาให้ใช้จ่าย จนขาดโอกาสในการเรียน ทำให้ขาดโอกาสในอนาคตได้ เป็นต้น

เมื่อกล่าวถึงความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนนั้น เราไม่ได้พูดถึงการตีค่าชีวิต (ทั้งร่างกายและจิตใจ) คนเราออกมาเป็นราคาค่าเสียหายได้ แต่ความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนนั้น เราหมายถึง ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่จะต้องสูญเสียไปเพื่อใช้ในการดูแลรักษาความเป็นอยู่ของชีวิตคนทั้งต่อชีวิตตนเอง เช่น ค่ารักษาพยาบาลของตนเอง และต่อชีวิตของผู้ที่เราต้องดูแลหรือพึ่งพาอาศัยเรา เช่น ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาลของลูก รวมทั้งทรัพย์สินที่ต้องสูญเสียไปเพราะขาดโอกาสในการดำรงชีวิตตามปกติยามเมื่อภัยเกิดขึ้น

จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า ภัยนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับชีวิตและทรัพย์สินของเราทุกคน และเมื่อภัยเกิดขึ้นก็อาจสร้างความเสียหายตามมา ซึ่งการประกันภัยนั้นไม่สามารถป้องกันภัยไม่ให้เกิดขึ้น แต่การประกันภัยนั้นเป็นการประกันให้ว่าถ้าเกิดภัยเกิดขึ้นแล้ว จะมีผู้ที่ช่วยรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ ซึ่งจะชดใช้ให้มากน้อยก็ขึ้นกับจำนวนเงินที่ได้ทำประกันภัยไว้ จะเห็นได้ว่า การประกันภัยนั้น จะต้องมีบุคคล 2 ฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจากภัย และฝ่ายที่จะรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น

ผมขอนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ว่าด้วยการประกันภัยมาใช้ในการอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจกับความหมายของคำว่า การประกันภัย อาจจะเป็นภาษาทางกฎหมายที่เข้าใจยากหน่อย แต่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเนื่องจาก การประกันภัย เป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่มีกฎหมายควบคุมอยู่ ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่เราต้องทำความเข้าใจว่า การประกันภัย นั้นกฎหมายว่าไว้ว่าอย่างไร

ปพพ. มาตรา 861 ระบุว่า อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย ผู้อ่านลองอ่านข้อความดังกล่าวอีกสักสองสามรอบนะครับ จากข้อความดังกล่าวผมได้ทำเป็นอักษรตัวหนาไว้ เพื่อแยกอธิบายดังนี้ครับ

1. การประกันภัยนั้นต้องจัดทำเป็นสัญญา[8] เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็น สัญญาประกันภัย (Insurance contract)[9]

2. การทำสัญญาประกันภัยมี 2 ฝ่าย[10] คือ

  • ฝ่ายที่จะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่ง ในที่นี้หมายถึง ผู้รับประกันภัย (Insurer) (บางทีมักเรียกกันสั้นๆว่าผู้รับประกัน) ซึ่งโดยทั่วไปก็คือ บริษัทประกันภัย (Insurance company) (บางทีมักเรียกกันสั้นๆว่าบริษัทประกัน) นั่นเอง
  • ฝ่ายที่ส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย (Insurance Premium) ในที่นี้หมายถึง ผู้เอาประกันภัย (Insured) (บางทีมักเรียกกันสั้นๆว่าผู้เอาประกัน)

3. บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็น ค่าสินไหมทดแทน (Indemnity)[11] หรือ เงินจำนวนหนึ่ง[12], [13]

4. บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินให้เมื่อเกิดเหตุดังต่อไปนี้

  • กรณีเกิดวินาศภัยขึ้น[14]
  • เหตุอย่างอื่นในอนาคตตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญา[15]

จากที่ผมกล่าวมาข้างต้นผู้อ่านพอจะเข้าใจแล้วใช่ไหมครับ ว่าการประกันภัยหมายถึงอะไร ผมขอสรุปให้ผู้อ่านเข้าใจอีกทีละกันนะครับ การประกันภัย ก็คือ การที่ฝ่ายสองฝ่ายคือฝ่ายผู้รับประกันภัยซึ่งตกลงจะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินค่าสินไหมหรือเงินจำนวนหนึ่งหากมีความเสียหายที่เกิดจากภัยหรือหากเกิดเหตุการณ์ที่ระบุไว้ให้กับอีกฝ่ายหนึ่งคือผู้เอาประกันภัยซึ่งตกลงจะส่งเงินเป็นเบี้ยประกันภัยเป็นการตอบแทนแก่ผู้รับประกันภัย

จะเห็นได้ว่าการประกันภัยนั้นมีบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้เอาประกันภัย (Insured) และผู้รับประกันภัย (Insurer) และเนื่องจากการประกันภัยนั้นต้องทำในรูปแบบของสัญญา (Contract) ซึ่งการทำสัญญานั้นต้องมีบุคคลที่เป็นคู่สัญญา 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอ (Offeror) กับฝ่ายสนอง (Offeree) ตามหลักของการเสนอและสนอง (Offer and Acceptance) ของการทำสัญญาที่ผูกมัดทั้งสองฝ่ายตามกฎหมาย (Legally Binding Contract) ซึ่งคู่สัญญาต่างฝ่ายต่างก็ต้องมีการแสดงเจตนาในการทำสัญญา และสิ่งหนึ่งที่เป็นการแสดงเจตนาได้แก่การให้สิ่งตอบแทนซึ่งกันและกันเพื่อเป็นการจูงใจให้คู่สัญญาตกลงทำสัญญา

สิ่งตอบแทน (Consideration) ในที่นี้หมายถึงอะไรก็แล้วที่ใช้เป็นมูลเหตุจูงใจให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายตกลงทำสัญญาต่อกัน ซึ่งสิ่งตอบแทนอาจเป็นเงิน สิ่งของ คำมั่น คำรับรองใดๆก็ได้ ทั้งนี้ในสัญญาประกันภัยนั้น ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายเสนอขอเอาประกันภัยจากผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นฝ่ายสนอง โดยสิ่งตอบแทนที่ทางฝ่ายผู้เอาประกันภัยเสนอเพื่อจูงใจให้ผู้รับประกันภัยสนองตอบตกลงทำสัญญาด้วยก็คือเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยส่งให้แก่ผู้รับประกันภัยเพื่อแสดงเจตนาในการขอทำสัญญาประกันภัยด้วย ส่วนสิ่งตอบแทนที่ทางฝ่ายผู้รับประกันภัยใช้เพื่อจูงใจให้ผู้เอาประกันภัยตกลงทำสัญญาก็คือการรับรองที่จะรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจากภัยที่เกิดขึ้นในอนาคตให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยการตอบรับคำเสนอด้วยการตกลงรับประกันภัยนั่นเอง

ผู้อ่านทราบจากที่อ่านมาแล้วว่าสัญญาประกันภัยนั้นประกอบไปด้วยผู้ทำสัญญา 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายผู้รับประกันภัย กับ ฝ่ายผู้เอาประกันภัย ท่านผู้อ่านสงสัยไหมครับว่านอกจาก 2 ฝ่ายนี้แล้ว ยังมีใครอีกที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ใน ปพพ. มาตรา 862 ระบุว่า ตามข้อความในลักษณะนี้

คำว่า "ผู้รับประกันภัย" ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลง จะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้

คำว่า "ผู้เอาประกันภัย" ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลง จะส่งเบี้ยประกันภัย

คำว่า "ผู้รับประโยชน์" ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้

อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่ง คนเดียวกันก็ได้

ผมขอให้ผู้อ่านลองอ่านทวนมาตรา 862 สักสองสามรอบ แล้วเรามาทำความเข้าใจไปพร้อมกันนะครับ โดยผมได้เน้นเป็นตัวหนาในสิ่งที่ผมต้องการให้ผู้อ่านสังเกต ผู้อ่านเห็นใช่ไหมครับว่า ปพพ. มาตรา 862 กล่าวถึงบุคคลอยู่ 3 ฝ่าย คือ ผู้รับประกันภัย (Insurer) ผู้เอาประกันภัย (Insured) และ ผู้รับประโยชน์ (Beneficiary) (สังเกตนะครับว่าใช้คำว่า ผู้รับประโยชน์ หลายท่านมักใช้ผิดเป็นผู้รับผลประโยชน์) เรามาทำความเข้าใจกับทั้ง 3 ฝ่ายไปพร้อมๆกันเลยครับ แยกอธิบายตามบุคคลได้ดังนี้ครับ

  • ผู้รับประกันภัย (Insurer) คือ ฝ่ายที่ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้
  • ผู้เอาประกันภัย (Insured) คือ ฝ่ายซึ่งตกลง จะส่งเบี้ยประกันภัย
  • ผู้รับประโยชน์ (Beneficiary) คือ ผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้

สำหรับคำว่าผู้รับประกันภัยนั้นคิดว่าผู้อ่านคงจะเข้าใจดีแล้วว่าหมายถึงใคร แต่คำว่าผู้เอาประกันภัยนั้น มีคนจำนวนมากที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้องว่าที่จริงแล้วผู้เอาประกันภัยหมายถึงใครกันแน่ หลายคนเข้าใจว่า ผู้เอาประกันภัยก็คือบุคคลที่ลงลายมือชื่อใน ใบคำขอเอาประกันภัย (Application) [16] ผู้อ่านลองกลับไปดูในใบคำขอเอาประกันภัยของบริษัทประกันภัยทุกบริษัทดูได้ครับ ในใบคำขอจะระบุไว้เลยว่าคนที่ลงลายมือชื่อขอเอาประกันภัยนั้นคือ ผู้ขอเอาประกันภัย (Applicant หรือ Proposed insured) ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ผู้ขอเอาประกันภัย กับ ผู้เอาประกันภัยนั้น โดยทั่วไปมักเป็นคนๆเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องคนๆเดียวกันเสมอไป และหลายคนค่อนข้างเข้าใจคลาดเคลื่อนคิดว่าผู้เอาประกันภัยกับผู้ขอเอาประกันภัยนั้นเป็นบุคคลๆเดียวกันเสมอ พอผมพูดอย่างนี้ ผู้อ่านหลายท่านคงมีคำถามว่าแล้วผู้เอาประกันภัย หมายถึงใครกันแน่ ผู้อ่านลองอ่านความหมายของผู้เอาประกันภัยตาม ปพพ. มาตรา 862 ดูอีกทีครับ

"ผู้เอาประกันภัย" ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลง จะส่งเบี้ยประกันภัย

เห็นไหมครับว่า ความหมายของ ผู้เอาประกันภัย นั้น ระบุว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลง จะส่งเบี้ยประกันภัย ดังนั้นถ้าแปลกันตรงตัวก็คือใครที่เป็นคนส่งเบี้ยประกันภัยหรือจ่ายเบี้ยประกันภัย คนนั้นนั่นแหละคือ ผู้เอาประกันภัยที่แท้จริง แต่โดยทั่วไปคนมักเข้าใจว่าคนที่ลงลายมือชื่อในใบคำขอเอาประกันภัยหรือผู้ขอเอาประกันภัยคือผู้เอาประกันภัย ซึ่งที่จริงไม่ใช่เสมอไป ผู้อ่านอาจสงสัยต่อใช่ไหมครับว่า ไม่ถูกต้องยังไง ก่อนที่ผมจะอธิบายว่าไม่ถูกต้องยังไง ผมขอเชิญผู้อ่านมาทำความเข้าใจกับ ปพพ. มาตรา 863 กันสักนิดก่อนครับ หลังอ่านมาตรานี้กันแล้ว ผมจะยกตัวอย่างให้ผู้อ่านเข้าใจกันมากขึ้นว่า “ใคร” คือผู้เอาประกันภัยที่แท้จริงกันแน่

ปพพ. มาตรา 863 ระบุว่า อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่ อย่างหนึ่งอย่างใด

เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมกันระหว่างคำว่า ผู้ขอเอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัย และผู้(วัตถุ)ที่ถูกเอาประกันภัย ส่วนที่ผมทำตัวหนาไว้นั้นเพื่อเน้นให้ผู้อ่านเห็นให้ชัดๆว่า กฎหมายกำหนดว่า ผู้เอาประกันภัยจะต้องมี “ส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย (Insurable Interest)” ส่วนได้เสียในที่นี้หมายความว่า การได้รับผลกระทบใดๆโดย มีส่วนที่จะได้รับความเสียหายมากกว่าจะได้รับประโยชน์หากมีภัยเกิดขึ้น หรือ มีส่วนที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าได้รับความเสียหายหากไม่มีภัยเกิดขึ้น เช่น กรณีชีวิตตนเอง คนทุกคนย่อมได้รับประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของตนเองและย่อมรักในชีวิตของตนเองทุกคน เพราะตนเองคือที่พึ่งแห่งตนดังนั้นทุกคนย่อมอยากมีชีวิตอยู่ไปนานๆเพื่ออยู่กับคนที่เรารัก และย่อมไม่มีใครพึงปราถนาที่จะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต เพื่อจะได้ใช้ชีวิตในการดำเนินกิจกรรมในชีวิตทุกๆอย่าง อย่างมีความสุข รวมถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพของตนเองด้วย (เข้าเงื่อนไขมีส่วนที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าได้รับความเสียหายหากไม่มีภัยเกิดขึ้น) ถ้าตนเองเจ็บป่วย ก็ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติรวมทั้งอาจไม่สามารถประกอบอาชีพจนต้องขาดรายได้ หรือเสียทรัพย์สินเป็นค่ารักษาพยาบาลเพื่อดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง (เข้าเงื่อนไขมีส่วนที่จะได้รับความเสียหายมากกว่าจะได้รับประโยชน์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น) ดังนั้น เราจึงถือได้ว่ามีส่วนได้เสียในชีวิตของตนเองแน่นอน กรณีลูกกับพ่อแม่ ลูกย่อมมีหน้าที่คอยดูแลพ่อแม่ ถ้าลูกเสียชีวิตไป คนเป็นพ่อแม่ย่อมเสียใจและขาดคนที่จะดูแลในยามแก่ชรา (เข้าเงื่อนไขมีส่วนที่จะได้รับความเสียหายมากกว่าจะได้รับประโยชน์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น) แต่ถ้าลูกมีชีวิตอยู่ พ่อแม่ก็จะมีคนคอยดูแลเลี้ยงดูตอบแทนบุญคุณในอนาคต (เข้าเงื่อนไขมีส่วนที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าได้รับความเสียหายหากไม่มีภัยเกิดขึ้น) เช่นเดียวกัน พ่อแม่คือผู้มีบุญคุณและมีหน้าที่เลี้ยงดู อบรมลูก ถ้าพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่เป็นปกติ คนเป็นลูกย่อมมีพ่อแม่คอยเลี้ยงดูให้ความห่วงใย ปกป้องดูแล (เข้าเงื่อนไขมีส่วนที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าได้รับความเสียหายหากไม่มีภัยเกิดขึ้น) หากพ่อแม่เสียชีวิตไป นอกจากคนเป็นลูกจะเสียใจแล้วยังขาดคนคอยเลี้ยงดู อบรมดูแล และขาดคนที่หารายได้ส่งเสียให้ตัวเองได้เล่าเรียน (เข้าเงื่อนไขมีส่วนที่จะได้รับความเสียหายมากกว่าจะได้รับประโยชน์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น) ดังนั้นความเป็นพ่อแม่ลูกจึงมีส่วนได้เสียซึ่งกันและกัน

กรณีเจ้าของทรัพย์สินกับทรัพย์สิน ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของรถกับรถยนต์ เจ้าของรถยนต์ย่อมได้ใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์ถ้ารถยนต์อยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีความเสียหาย (เข้าเงื่อนไขมีส่วนที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าได้รับความเสียหายหากไม่มีภัยเกิดขึ้น) แต่ถ้ารถยนต์นั้นเสีย เช่น ไปชนมา เจ้าของรถยนต์ต้องเสียเงินค่าซ่อมและอาจไม่มีรถยนต์ไว้ใช้งาน (เข้าเงื่อนไขมีส่วนที่จะได้รับความเสียหายมากกว่าจะได้รับประโยชน์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น) ดังนั้นเจ้าของรถยนต์จึงมีส่วนได้เสียในรถยนต์ของตน เป็นต้น

ผู้อ่านสังเกตดูนะครับว่าการประกันภัยนั้นสิ่งที่เรามีส่วนได้เสียมีอยู่ 2 อย่างคือ ชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้การเอาประกันภัยในทรัพย์สินนั้น ทรัพย์สินที่เราเอาประกันภัยนั้นเรียกว่า วัตถุที่เอาประกันภัย (Insured Object)[17] แต่ถ้าเป็นกรณีประกันภัยในชีวิตบุคคล ปพพ. มาตรา 865 จะเรียกบุคคลที่ถูกเอาประกันภัยว่า บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของเขา[18] หรือเรียกว่า ผู้ที่ถูกเอาประกันภัย (Insured Person) ดังนั้นในการประกันภัย จะต้องมีทั้งผู้เอาประกันภัยและวัตถุที่เอาประกันภัย (ในกรณีประกันภัยเกี่ยวกับทรัพย์สิน) หรือผู้ที่ถูกเอาประกันภัย (ในกรณีประกันภัยเกี่ยวกับชีวิต) ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยคือฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยซึ่งต้องมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัยหรือผู้ที่ถูกเอาประกันภัย จะสังเกตได้ว่าในการประกันชีวิตนั้นเราอาจมีส่วนได้เสียทั้งในชีวิตของตนเอง (Self-life) กับ ชีวิตผู้อื่น (Other-life) แต่ถ้าเป็นการประกันภัยที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน เราจะมีส่วนได้เสียแค่เพียงในทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินของบุคคลอื่น

ส่วนได้เสียแบ่งพิจารณาเป็น 2 กรณี คือ

1. ส่วนได้เสียในทรัพย์สิน โดยเราทุกคนย่อมมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินเฉพาะของตนเองเท่านั้น แต่ย่อมไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินของผู้อื่น กล่าวคือ เราย่อมได้ประโยชน์จากประโยชน์หรือการใช้สอยจากทรัพย์สินของเรา ถ้าทรัพย์ของเราเสียหาย เราก็อาจใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของเราได้ไม่เต็มที่ หรือต้องเสียเงินในการซ่อมแซมให้ทรัพย์สินกลับมามีสภาพที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม แต่ถ้าทรัพยืคนอื่นเสียหาย เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เช่น เรามีบ้านอยู่หนึ่งหลังที่เอาไว้พักอาศัย หากบ้านเราถูกไฟไหม้ เราก็อาจไม่มีที่อยู่และต้องเสียเงินมาเป็นค่าซ่อมบ้าน ซึ่งถ้าบ้านของคนอื่นถูกไปไหม้ เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะบ้านเรายังอยู่ไม่ได้เสียหาย ดังนั้น เราจึงมีส่วนได้เสียในบ้านของเรา แต่ไม่มีส่วนได้เสียในบ้านของคนอื่น

2. ส่วนได้เสียในชีวิต

2.1 ส่วนได้เสียในชีวิตตนเอง ตามที่ได้กล่าวมาข้างตน เราทุกคนย่อมมีส่วนได้เสียในชีวิตของตนเอง

2.2 ส่วนได้เสียในชีวิตผู้อื่น เราไม่ได้มีส่วนได้เสียกับชีวิตผู้อื่นทุกคน มีเพียงบางคนที่นั้นที่เราอาจมีส่วนได้เสีย หากยึดตามหลักส่วนได้เสียในการประกันภัย (Principle of Insurable Interest) ที่กล่าวมาแล้ว คือ เราจะต้องมีส่วนที่จะได้รับความเสียหายมากกว่าจะได้รับประโยชน์หากเกิดภัยกับบุคคลนั้น หรือเรามีส่วนที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าได้รับความเสียหายหากไม่มีภัยเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น

โดยทั่วไปสามารถพิจารณาบุคคลที่มีส่วนได้เสียซึ่งกันและกันดังนี้

  • ความสัมพันธ์ทางสายเลือด (Consanguinity)
    • พ่อแม่ลูก
    • พี่น้อง
    • ญาติ (ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา)
  • ความสัมพันธ์ที่มิใช่สายเลือด (Affinity)
    • คู่สมรส
    • นายจ้างลูกจ้าง
    • เจ้าของธุรกิจร่วม
    • เจ้าหนี้ลูกหนี้

ส่วนได้เสียในชีวิตดังกล่าวมาข้างต้นนอกจากมองที่ระดับความสัมพันธ์ (Relation) แล้ว ยังต้องนึกถึงภาวะพึ่งพาระหว่างกัน (Interdependency) ด้วย เนื่องจากในบางกรณีถึงจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน แต่เมื่อมองถึงภาวะพึ่งพาแล้วมีน้อยมาก จนอาจไม่มีส่วนได้เสียในการเอาประกันภัยได้ เช่น คนที่เป็นพ่อ แต่ได้ทอดทิ้งลูกไปตั้งแต่เกิด ไม่เคยมาสนใจใยดี ไม่เคยเลี้ยงดูเลย จนกระทั่งลูกเติบโตมีครอบครัว แล้วอยู่ดีๆพ่อจะมาเอาประกันภัยในชีวิตลูกก็ดูน่าเคลือบแคลงสงสัย ว่าเหตุใดถึงได้จะมาเอาประกันชีวิตลูกในตอนนี้ทั้งๆที่ผ่านมาไม่น่าจะมีความผูกพันกัน เป็นต้น

ในการประกันภัยเกี่ยวกับทรัพย์สิน คนที่เป็นเจ้าของทรัพย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้เอาประกันภัยได้ เพราะเจ้าของทรัพย์เท่านั้นที่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินของตน ดังนั้นในกรณีประกันภัยเกี่ยวกับทรัพย์สิน ผู้เอาประกันภัย (Insured) เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ขอเอาประกันภัย (Applicant) เสมอ ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน (วัตถุที่เอาประกันภัย) เสมอ

แต่ในการประกันภัยที่เกี่ยวกับชีวิตบุคคล เราสามารถเอาประกันภัยในชีวิตตนเอง และชีวิตผู้อื่นที่เรามีส่วนได้เสีย

การเอาประกันภัยในชีวิตตนเอง (Self-Life Insurance) นั้น ตัวผู้เอาประกันภัย (Insured) กับตัวผู้ขอเอาประกันภัย (Applicant) หรือผู้ที่ถูกเอาประกันภัย (Insured person) คือคนเดียวกันเสมอ ทั้งนี้ผู้ขอเอาประกันภัยจะเป็นผู้ชำระเบี้ยในการขอเอาประกันภัยเอง โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องระบุผู้อื่นเป็นผู้รับประโยชน์ ดังนั้นในกรณีการเอาประกันภัยในชีวิตตนเอง ผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประโยชน์เป็นคนละคนกัน ถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดไว้ว่า ผู้รับประโยชน์จะต้องมีส่วนได้เสียกับบุคคลที่ถูกเอาประกันภัย แต่บริษัทประกันภัยส่วนมากมักกำหนดให้สามารถระบุผู้รับประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีส่วนได้เสียกับผู้ที่ถูกเอาประกันเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอันตรายทางจริยธรรม (Moral hazard) คือการแสวงหาผลประโยชน์จากการทำประกันภัย เช่น หากผู้รับประโยชน์ไม่มีส่วนได้เสียกับผู้ถูกเอาประกันภัย อาจจะทำให้ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้ถูกเอาประกันภัยเพื่อหวังเอาเงินค่าประกันได้

ส่วนการประกันภัยในชีวิตคนอื่นหรือการประกันภัยในชีวิตบุคคลที่สาม (Third Party-Life Insurance) นั้น ผู้เอาประกันภัย (Insured) และผู้ขอเอาประกันภัย (Applicant) หรือผู้ที่ถูกเอาประกันภัย (Insured person) เป็นบุคคลคนละคนกัน เช่น พ่อเอาประกันภัยในชีวิตของลูก โดยพ่อเป็นผู้ที่ชำระเบี้ยประกันภัย ดังนั้นชื่อของผู้ขอเอาประกันภัยคือชื่อของลูก ในกรณีนี้พ่อคือผู้เอาประกันภัยและลูกคือผู้ที่ถูกเอาประกันภัย หากพ่อระบุให้ตัวเองเป็นผู้รับประโยชน์ ทั้งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์จะเป็นคนๆเดียวกันคือพ่อ อีกตัวอย่างหนึ่งคือสามีเอาประกันภัยในชีวิตของภรรยา โดยสามีเป็นผู้ที่ชำระเบี้ยประกันภัย ดังนั้นชื่อของผู้ขอเอาประกันภัยในใบคำขอเอาประกันภัยคือชื่อภรรยา ในกรณีนี้ถือว่าสามีคือผู้เอาประกันภัยและภรรยาคือผู้ที่ถูกเอาประกันภัย หากสามีระบุให้ลูกเป็นผู้รับประโยชน์ กรณีนี้ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์เป็นคนละคนกัน เพราะสามีเป็นผู้เอาประกันภัย และลูกเป็นผู้รับประโยชน์

ทั้งนี้ในกรณีการประกันภัยที่เกี่ยวกับชีวิตบุคคล ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียในผู้ที่ถูกเอาประกันภัยเสมอ (ซึ่งผู้ที่ถูกเอาประกันภัยเป็นคนเดียวกับผู้ขอเอาประกันภัยเสมอ)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในการประกันภัยในชีวิตบุคคลนั้น ผู้เอาประกันภัยและผู้ที่ถูกเอาประกันภัยนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเดียวกันเสมอไป เพราะในกรณีการเอาประกันภัยชีวิตบุคคลที่สาม ผู้เอาประกันภัยและผู้ที่ถูกเอาประกันภัยจะเป็นคนละคน

แต่ในบ้านเรา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ผู้เอาประกันภัยคือผู้ขอเอาประกันภัย ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่เสมอไปตามที่ได้อธิบายข้างต้น

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านเริ่มเข้าใจแล้วหรือยังครับว่าผู้เอาประกันภัยคือใครกันแน่ ต่อไปผู้อ่านคงระบุได้ว่าสรุปใครกันแน่คือผู้เอาประกันภัย ใครคือผู้ขอเอาประกันภัยและใครคือผู้ที่ถูกเอาประกันภัย

และสุดท้ายคือผู้รับประโยชน์ (ทั้งนี้ในทางธุรกิจเราเรียกเงินที่จะจ่ายให้ผู้รับประโยชน์ว่า ผลประโยชน์ (Benefit) ซึ่งเงินผลประโยชน์นั้นรวมถึงเงินทุกประเภทที่บริษัทประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์) ที่จะได้รับเงินผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุหรือความเสียหายจากภัยตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขการจ่ายเงินนั่นเองครับ ทีนี้มีข้อความต่อมาอีกว่า ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนคนเดียวกันก็ได้ ก็หมายความว่าผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้นสามารถเป็นคนๆเดียวกันหรือจะเป็นคนละคนก็ได้ ทั้งนี้กฎหมายระบุว่า ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียกับเหตุที่เอาประกันภัย[19] แต่ไม่ได้ระบุว่าผู้รับประโยชน์ต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยด้วย แต่ในทางธุรกิจ บริษัทประกันภัยมักจะให้ผู้เอาประกันภัยระบุผู้รับประโยชน์ที่มีส่วนได้เสียกับผู้ที่ถูกเอาประกันภัยด้วย

คำว่าประกันภัยเป็นคำที่ใช้เรียกรวมๆโดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงการประกันภัยประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งนี้การประกันภัยนั้นมีอยู่ 2 ประเภทคือ

  • การประกันวินาศภัย ภาษาอังกฤษเรียกได้หลากหลาย เช่น General insurance, Non-life insurance บริษัทที่ทำธุรกิจประกันวินาศภัย มักเรียกกันว่า บริษัทประกันวินาศภัย (General insurance company หรือ Non-life insurance company) หรือบางครั้งเรียกกันสั้นๆว่าบริษัทประกันวินาศภัย
  • การประกันชีวิต ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Life insurance บริษัทที่ทำธุรกิจประกันชีวิตนั้นเรียกว่า บริษัทประกันชีวิต (Life insurance company)

ทั้งนี้ถ้าเรียกโดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิต คนทั่วไปมักเรียกกันย่อๆว่า บริษัทประกันภัย หรือ บริษัทประกัน (Insurance company) และมักพูดถึงการซื้อประกันของตัวเองไม่ว่าจะซื้อประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัยอย่างไม่เฉพาะเจาะจงว่า ทำประกัน หรือ ซื้อประกัน อันหมายถึง การซื้อความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัยไว้นั่นเอง ทั้งนี้ภัยที่บริษัทประกันภัยรับประกันนั้นก็คือความคุ้มครอง (Coverage) ที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับ

เมื่อก่อนบริษัทประกันภัยสามารถดำเนินธุรกิจได้ทั้งการประกันวินาศภัยและการประกันชีวิตภายใต้บริษัทเดียวกันได้ แต่พระราชบัญญัติการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 กำหนดให้บริษัทประกันภัย ซึ่งประกอบกิจการทั้งด้านการประกันวินาศภัยและการประกันชีวิตต้องแยกกิจการออกจากกันโดยเด็ดขาดภายในกำหนด เดือนเมษายน 2543 ดังนั้นหลังจากเดือนเมษายน 2543 เป็นต้นมาการประกันวินาศภัยและการประกันชีวิตจึงต้องแยกทำธุรกิจคนละบริษัท ทั้งนี้บริษัทประกันวินาศภัยก็สามารถขายเฉพาะความคุ้มครองทางด้านวินาศภัย ส่วนบริษัทประกันชีวิตก็สามารถขายความคุ้มครองที่เกี่ยวข้องกับการประกันชีวิตเท่านั้น

เรารู้จากข้างบนแล้วว่าการประกันวินาศภัยและการประกันชีวิตนั้น ต่างก็เป็นการประกันภัยด้วยกันทั้งคู่ เมื่อเราซื้อประกันวินาศภัยหรือประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยหรือประกันชีวิตได้ตกลงรับประกันแล้ว ถือได้ว่ามีการทำ สัญญา ทั้งสองธุรกิจนั้นจะรับประกันแตกต่างกัน และไม่สามารถรับประกันที่ไม่ใช่ธุรกิจของตนได้ กล่าวคือ บริษัทที่ทำธุรกิจประกันวินาศภัยจะไม่สามารถรับประกันชีวิตได้ และบริษัทที่ทำธุรกิจประกันชีวิตจะไม่สามารถรับประกันวินาศภัยได้ มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจมีคำถามว่าแล้วประกันวินาศภัยกับประกันชีวิตมันต่างกันอย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าประกันที่จะซื้อนั้นเป็นประกันวินาศภัยหรือประกันชีวิต และจะรู้ได้อย่างไรว่าประกันอันไหนที่บริษัทประกันวินาศภัยไม่สามารถขายได้ หรือบริษัทประกันชีวิตขายไม่ได้ เพื่อตอบคำถามนี้ ผมจะขอยกเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาใช้ในการอธิบายเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจกัน

อย่างแรกมาทำความเข้าใจกับคำว่าวินาศภัยกันก่อน โดย ปพพ. มาตรา 869 ระบุว่า อันคำว่า "วินาศภัย" ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหาย อย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ เมื่อพิจารณาตามความหมายของคำว่า วินาศภัย ในปพพ. มาตรา 869 จะเห็นได้ว่าความหมายกว้างมาก เพราะหากอ่านตามคำนิยามแล้ว จะเห็นได้ว่าอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นความความเสียหายที่ประมาณเป็นตัวเงินได้แล้วถือว่าเข้าข่ายวินาศภัยได้หมด ผู้อ่านลองนึกดูสิครับว่าอะไรบ้างที่มีความเสียหายเกิดขึ้นได้ แล้วสามารถคำนวณมูลค่าความเสียหายได้ มีมากมายไปหมดใช้ไหมครับ แต่ที่แน่ๆคงไม่มีใครสามารถตีราคาชีวิตของคนๆหนึ่งได้ไม่ว่าคนๆนั้นจะรวยหรือจนแค่ไหนก็ตามใช่หรือไม่ครับ ทีนี้ก่อนจะคิดอะไรต่อเรามาทำความเข้าใจกับการประกันชีวิตกันก่อน โดย ปพพ.มาตรา 889 ระบุว่า ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง นั่นหมายความว่าการประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงิน หรือการที่บริษัทประกันภัยเงื่อนไขการจ่ายเงินมีสองอย่างเท่านั้นคือ

เงื่อนไขที่หนึ่ง ความทรงชีพ หมายความว่าการใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตของบริษัทโดยมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายก็ต่อเมื่อยังมีชีวิตอยู่ (หมายถึงถ้าผู้เอาประกันภัยยังมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาที่กำหนดไว้ เช่น มีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้ตามสัญญา)

เงื่อนไขที่สอง มรณะ หมายความว่าการใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตของบริษัทโดยมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายก็ต่อเมื่อเสียชีวิต (หมายถึงถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในเวลาที่กำหนด คือเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตให้ความคุ้มครอง บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้ตามสัญญา)

เนื่องจากสัญญาประกันชีวิตชีวิตนั้น กฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตรับประกันได้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าบริษัทประกันชีวิตจะสามารถจ่ายเงินโดยอาศัยการมีชีวิตอยู่หรือการเสียชีวิตของบุคคลเท่านั้น ผู้อ่านที่เคยทำประกันชีวิตไว้ลองกลับไปอ่านดูเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันชีวิตดูนะครับว่าได้ระบุเงื่อนไขการจ่ายเงินสองข้อไว้ตรงตามที่ผมอธิบายหรือไม่ เมื่อการประกันชีวิตรับประกันได้ภายใต้เงื่อนไขการจ่ายเงินโดยอาศัยการมีชีวิตอยู่หรือการเสียชีวิตของบุคคล ดังนั้นการรับประกันภัยอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ได้ยึดเกณฑ์การจ่ายเงินโดยอาศัยการมีชีวิตอยู่หรือการเสียชีวิตของบุคคลนั้นจัดเป็นประกันวินาศภัยทั้งหมด ดังนั้นการประกันวินาศภัยจึงเป็นการรับประกันภัยอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของบุคคลและสามารถคำนวณมูลค่าความเสียหายได้ เช่น รับประกันภัยบ้าน รถ พืชผลการเกษตร ประกันภัยทางเรือและการขนส่ง เป็นต้น แต่ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่า เอ...แล้วทำไมเห็นบริษัทประกันวินาศภัยถึงรับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลได้ ทั้งๆที่การจ่ายเงินตามเงื่อนไขของการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลนั้น บริษัทประกันวินาศภัยจะจ่ายเงินโดยอาศัยเงื่อนไขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ผู้อ่านลองคิดดูสิครับว่าในความเป็นจริงการความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุนั้นมีทั้งเสียชีวิต หรือแค่บาดเจ็บหรือสูญเสียอวัยวะ ขาขาด แขนขาด หรือพิการทุพพลภาพ แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต กันตามเงื่อนไขจะเห็นว่าเงื่อนไขการจ่ายเงินที่บริษัทประกันวินาศภัยทำได้โดยไม่เข้าข่ายการประกันชีวิตก็คือสามารถจ่ายเงินให้ในกรณีบาดเจ็บ หรือสูญเสียอวัยวะ หรือพิการจากอุบัติเหตุ เท่านั้น แต่ห้ามจ่ายเงินในกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพราะการจ่ายเงินเนื่องจากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะเข้าข่ายเงื่อนไขการจ่ายเงินโดยอาศัยการเสียชีวิตของบุคคล ซึ่งจะเข้าข่ายการประกันชีวิต แต่การจะไปกำหนดว่าให้บริษัทประกันวินาศภัยรับประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลโดยให้ความคุ้มครองได้เฉพาะการบาดเจ็บ หรือสูญเสียอวัยวะ หรือพิการจากอุบัติเหตุเท่านั้น โดยห้ามให้คุ้มครองกรณีเสียชีวิต ย่อมสร้างความยุ่งยากในทางปฏิบัติและไม่จูงใจให้คนทั่วไปอยากทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลกับบริษัทประกันวินาศภัยแน่ๆ ดังนั้นจึงอนุโลมให้บริษัทประกันวินาศภัยรับประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลโดยสามารถให้คุ้มครองกรณีเสียชีวิตได้ด้วย แต่ไม่รวมถึงการเสียชีวิตในกรณีอื่นๆที่นอกเหนือไปจากนี้ ทั้งนี้การเสียชีวิตของคนเรา นั้นมีสาเหตุมาจากทั้งอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งความชราด้วย แต่การเสียชีวิตเนื่องมาความชราและจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น บริษัทประกันวินาศภัยไม่สามารถรับประกันได้ ดังนั้นการประกันวินาศภัยจึงสามารถรับประกันภัยบางอย่างที่เข้าข่ายเงื่อนไขการประกันชีวิตได้คือใช้เงื่อนไขเฉพาะการประกันภัยที่จ่ายเงินกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเท่านั้น ผู้อาจอาจสงสัยว่าแล้วประกันชีวิตล่ะ มีอะไรบ้างที่ถือเป็นการประกันวินาศภัยแต่บริษัทประกันชีวิตขายได้ คำตอบคือมีแน่นอนครับ ผู้อ่านลองนึกดูครับว่ามีความคุ้มครองอะไรบ้างที่บริษัทประกันชีวิตนำมาขายให้ท่าน แต่ดูแล้วความคุ้มครองพวกนี้ไม่ได้มีเงื่อนไขการจ่ายเงินโดยใช้การมีชีวิตอยู่หรือการเสียชีวิตเป็นเหตุในการจ่าย ถ้าดูจากสิ่งที่ผมไปก่อนหน้านี้ ผู้อ่านจะนึกออกว่าเงื่อนไขการจ่ายจากสาเหตุการบาดเจ็บ หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพลภาพ ไม่เข้าเงื่อนไขการมีชีวิตอยู่หรือการเสียชีวิต ดังนั้นความคุ้มครองการบาดเจ็บ หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพลภาพ จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของความคุ้มครองที่ไม่เข้าเงื่อนไขการประกันชีวิต แต่บริษัทประกันชีวิตขายความคุ้มครองดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีความคุ้มครองเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน โรคร้ายแรง ซึ่งความคุ้มครองเหล่านี้ไม่เข้าเงื่อนไขการจ่ายเงินโดยอาศัยการมีชีวิตอยู่หรือการเสียชีวิตเช่นกัน เพราะความคุ้มครองกับค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน โรคร้ายแรงนั้น เงื่อนไขการจ่ายคือถ้ามีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น และผู้เอาประกันภัยได้เข้ารับการรักษาหรือได้รับการวินิจฉัยที่เข้าเงื่อนไขการจ่ายเงิน บริษัทประกันภัยจึงจะจ่ายเงินให้

สรุปแล้ว การประกันชีวิตนั้นอาศัยเงื่อนไขการจ่ายเงินอยู่สองเงื่อนไข คือ 1.จ่ายเงินเมื่อมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา และ 2. จ่ายเงินเมื่อเสียชีวิต โดยมีข้อยกเว้นบางอย่างที่ประกันชีวิตสามารถขายได้โดยอยู่นอกเหนือเงื่อนไขสองอย่างนั้น แต่อาศัยเงื่อนไขการเกิดเหตุอย่างอื่นที่ระบุไว้ ได้แก่ การบาดเจ็บและการสูญเสียอวัยวะ การเจ็บป่วยและการเสียโอกาสในการหารายได้ในระหว่างบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ทั้งนี้ในการตกลงทุนเอาประกันภัยนั้น อาศัยความสามารถในการหารายได้ (Ability of earning) และความสามารถในการชำระเบี้ย (Ability to pay) เป็นหลัก ไม่ได้ตีมูลค่าชีวิตคน

ส่วนการประกันวินาศภัยนั้นต้องไม่ใช่การอาศัยเงื่อนไขการจ่ายเงินตาม 2 ข้อข้างต้น และต้องมีการประเมินความเสียหายก่อนจ่ายเงิน โดยต้องจ่ายเงินตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและไม่เกินมูลค่าที่แท้จริงของวัตถุที่เอาประกันเพื่อป้องกันการหากำไรหรือผลประโยชน์เกินมูลค่าความเสียหาย การประกันวินาศภัยบางอย่างไม่จำเป็นต้องประเมินความเสียหายก่อนหากมีการกำหนดจำนวนเงินที่จะจ่ายไว้แน่นอน เช่น การประกันภัยโรคร้ายแรง ซึ่งจะกำหนดทุนเอาประกันภัย (Sum Insure) ไว้ตั้งแต่เริ่มต้น และสามารถจ่ายตามทุนเอาประกันภัยได้ หากมีความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงตามเงื่อนไข นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้นบางอย่างที่ประกันวินาศภัยสามารถขายได้โดยที่เข้าเงื่อนไขของการประกันชีวิตคือ การเสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุเท่านั้น

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านทุกท่านเริ่มเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่าประกันชีวิตกับประกันวินาศภัยนั้นแตกต่างกันอย่างไร หวังว่าบทความนี้จะช่วยผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยมากขึ้นครับ



[1] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

[2] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

[3] เสียหาย มาจากสองคำ คือคำว่า เสีย หมายถึง เสื่อมลงไป, ทำให้เลวลงไป กับคำว่า หาย หมายถึง สูญ, หาไม่พบ, ไม่ปรากฏ, หมด, สิ้น ดังนั้นความเสียหายจึงหมายถึง ความเสื่อมลงไปหรือความหมดสิ้นไป (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

[4] ชีวิต (Life) หมายถึง ความเป็นอยู่ การดำรงชีวิต (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

[5] ทรัพย์สิน (Property) หมายความถึง วัตถุทั้งที่มีรูปร่าง (Thing) เช่น บ้าน ที่ดิน รถ เงิน และวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง (Abstract) เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สิทธิเรียกร้อง เป็นต้น ซึ่งอาจมีราคา (Valuable) และอาจถือเอาได้ (Appropriated) (https://th.wikipedia.org/wiki/ทรัพย์สิน)

[6] ถึงแม้ว่า ชีวิต หมายถึง ความเป็นอยู่ ซึ่งหมายรวมถึงร่างกาย อวัยวะทุกส่วน และจิตใจความรู้สึกนึกคิด ซึ่งมีทั้งส่วนที่มีรูปร่างจับต้องได้ และไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้เหมือนกับทรัพย์สิน กล่าวคือร่างกายและอวัยวะคนเรามีรูปร่างจับต้องได้ ส่วนจิตใจความรู้สึกนึกคิด ของเราไม่มีรูปร่างจับต้องไม่ได้ แต่ร่างกาย อวัยวะและจิตใจนั้นไม่อาจตีราคาหรือให้ใครสามารถมาถือเอาชีวิตหรือความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นเป็นของตนเองได้ ดังนั้น ชีวิตจึงไม่ถือเป็นทรัพย์สินเพราะไม่อาจซื้อขายกันได้

[7] บุคคลที่พึ่งพา มี 2 ประเภท คือ บุคคลที่พึ่งพาคนอื่น กับ บุคคลที่คนอื่นพึ่งพา

บุคคลที่พึ่งพาคนอื่น หมายถึง บุคคลที่เป็นภาระที่ต้องให้ผู้อื่นช่วยเหลือ เลี้ยงดู

บุคคลที่คนอื่นพึ่งพา หมายถึง บุคคลที่มีภาระต้องให้ช่วยเหลือ เลี้ยงดูผู้อื่น

[8] สัญญา (Contract) เป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งประเภทนิติกรรมหลายฝ่าย ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ประกอบ ด้วยบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ได้แสดงเจตนาถูกต้องตรงกันและก่อให้เกิดผลผูกพันตามกฎหมาย กล่าวคือ ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญา โดยฝ่ายหนึ่งคือผู้แสดงเจตนาโดยเสนอที่จะทำสัญญา เรียกว่า “ผู้เสนอ” (Offeror) และอีกฝ่ายหนึ่งคือผู้ที่ตอบรับคำเสนอของผู้เสนอ เรียกว่า “ผู้สนอง” (Offeree)

[9] สังเกตว่ากฎหมายไม่ได้ระบุว่าสัญญาประกันภัยต้องเป็นแบบใด ดังนั้นการทำสัญญาประกันภัยจึงไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ไม่จำเป็นต้องทำสัญญาเป็นหนังสือก็ได้ การที่สองฝ่ายตกลงกันด้วยวาจาก็ถือได้ว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้ว

[10] สังเกตว่าใน ปพพ. ใช้คำว่า บุคคล ทั้งนี้ฝ่ายที่เข้าทำสัญญาประกันภัยนั้นสามารถเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ ทั้งนี้ตาม พรบ.ประกันชีวิตและ พรบ.ประกันวินาศภัยกำหนดว่าผู้รับประกันภัยคือบริษัทประกันภัยนั้นต้องอยู่ในรูปแบบนิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็น บริษัทมหาชน เท่านั้น ส่วนฝ่ายผู้เอาประกันภัยนั้นเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

[11] ค่าสินไหมทดแทน (Indemnity) หมายถึง เงินที่ต้องชดใช้เพื่อทดแทนความเสียหาย ที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือแก่บุคคล

[12] สังเกตว่ากฎหมายเขียนกว้างๆว่า “ใช้เงินจำนวนหนึ่งให้” ซึ่งเงินจำนวนหนึ่งนี้ไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าอะไรและเป็นมูลค่าเท่าใด ทั้งนี้เงินจำนวนที่จะใช้ให้นั้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ และจะจ่ายเป็นค่าอะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าในสัญญาประกันภัยนั้นระบุไว้ว่าจะจ่ายเงินเท่าใดและจ่ายเมื่อมีเหตุการณ์ (หรือภัย) อะไรเกิดขึ้น เช่น จ่ายเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ส่วนมูลค่านั้นขึ้นกับจำนวนเงินเอาประกันภัยซึ่งมีการตกลงกันไว้ล่วงหน้าและเงื่อนไขในการจ่ายเงินนั่นเอง

[13] ค่าสินไหมทดแทน กับ การใช้เงินจำนวนหนึ่ง มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ค่าสินไหมทดแทน นั้นไม่มีการระบุจำนวนเงินที่จะจ่ายไว้ล่วงหน้า และจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นเมื่อมีภัยเกิดขึ้นการจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนนั้น ต้องมีการประเมินความเสียหายก่อนว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร โดยประเมินความเสียหายออกมาเป็นมูลค่าเงิน ซึ่งมูลค่าความเสียหายที่ประเมิน ก็คือจำนวนค่าสินไหมที่จะต้องจ่ายนั่นเอง แต่ต้องไม่เกินทุนประกันภัยตามที่ตกลงกันและไม่เกินมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการหวังเอากำไรจากการทำประกันภัยนั่นเอง เช่น เงื่อนไขในสัญญาระบุไว้ว่าหากรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้เกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าซ่อมแซมที่เกิดขึ้นตามจริงแต่ไม่เกินห้าแสนบาท (เงื่อนไขไม่ได้ระบุว่าจำนวนเงินเท่าไร แต่ค่าซ่อมเกิดขึ้นเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น แต่ไม่เกินทุนประกันคือห้าแสน ซึ่งการกำหนดทุนนี้ต้องไม่เกินมูลค่าที่แท้จริงของรถในขณะนั้น) ส่วนการใช้เงินจำนวนหนึ่งนั้น เงินจำนวนหนึ่งดังกล่าวมักมีการตกลงจำนวนกันไว้ล่วงหน้า ดังนั้นเมื่อมีภัยเกิดขึ้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการประเมินมูลค่าความเสียหายก่อน ถ้าภัยนั้นเป็นภัยที่ระบุไว้ในเงื่อนไขการจ่ายก็สามารถจ่ายเงินตามจำนวนเงินที่มีการตกลงกันไว้ล่วงหน้า เช่น ระบุว่า หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะจ่าย 500,000 บาทตามทุนประกันที่ตกลงกันไว้ ข้อสังเกตคือ ค่าสินไหมทดแทนนั้นใช้กับความเสียหายที่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้ แต่ในกรณีการเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะไปนั้น เราไม่สามารถตีค่าชีวิตของคนๆหนึ่ง หรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งของคนเราออกมาเป็นตัวเงินได้ ดังนั้น ในกรณีการเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะจนกลายเป็นคนพิการหรือทุพภาพ จึงมักมีการตกลงจำนวนเงินที่จะชดใช้ไว้ล่วงหน้า แทนการประเมินมูลค่าความเสียหาย กล่าวคือ ตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตบริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินตามทุนที่เอาประกันภัยไว้เลย แต่จะไม่มีการมีตีราคาความเสียหายว่า ชีวิตของคนๆนี้จะจ่ายเท่าไหร่ หรือ ตกลงกันไว้ว่าถ้าผู้เอาประกันภัยตาบอดสองข้างบริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินตามทุนที่เอาประกันภัยแต่จะไม่มีการมีตีราคาความเสียหายว่า ตาหนึ่งข้างของคนๆนี้มีค่าเท่าไหร่ ดังนั้นกรณีประกันชีวิตจึงเป็นการใช้เงินจำนวนหนึ่งที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่การใช้ค่าสินไหมทดแทน

[14] คำว่า “วินาศภัย (Loss)” นั้นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาที่ พึงประมาณเป็นเงินได้ และหมายความรวมถึงความเสียหายในสิทธิในการกระทำหรือครอบครอง การหาผลประโยชน์หรือรายได้ด้วย

[15] สังเกตคำว่า “เหตุอย่างอื่นในอนาคตตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญา” ประโยคนี้สามารถทำความเข้าใจได้ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ ต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นจึงไม่รวมถึงเหตุที่เกิดขึ้นในอดีตก่อนทำสัญญาประกันภัย เพราะการประกันภัยนั้น มีเงื่อนไขเกี่ยวกับสภาพที่เป็นมาก่อนทำประกันภัย (Pre-existing condition) กล่าวคือ การประกันภัยทุกประเภทนั้นมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยที่เกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยที่เกิดก่อนการทำสัญญาประกันภัยนั้น ประกันภัยจะไม่ให้ความคุ้มครอง เช่น ถ้าเจ็บป่วยมาก่อนทำสัญญาประกันภัย บริษัทประกันภัยก็จะไม่คุ้มครองความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นก่อนการทำสัญญา หรือถ้ารถยนต์มีความเสียหายบางส่วนมาจากการชนที่เกิดขึ้นก่อนการทำสัญญาประกันภัย บริษัทประกันภัยก็จะไม่คุ้มครองค่าซ่อมแซมที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายจากการชนก่อนสัญญา เป็นต้น ประเด็นที่สอง เหตุอย่างอื่นในอนาคต ไม่ได้หมายถึงเหตุที่เป็นภัยอย่างเดียวเท่านั้นแต่รวมถึงเหตุที่ไม่ใช่ภัยก็ได้ เพราะคำว่า เหตุ (Cause) เป็นคำกว้างๆอันหมายถึงเหตุการณ์อะไรก็ได้ แต่เหตุการณ์นั้นต้องระบุไว้เป็นเงื่อนไขในสัญญาประกันภัย ทั้งนี้เพราะการประกันภัยนั้นมุ่งเน้นการรับผิดชอบการใช้เงินให้ตามเงื่อนไข ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าในสัญญาประกันภัยนั้นระบุเงื่อนไขที่เป็นเหตุในการจ่ายเงินไว้ว่าอย่างไร เช่น จ่ายเมื่อเสียชีวิต หรือจ่ายเมื่ออยู่จนครบกำหนดสัญญา ส่วนสิ่งที่สิ่งที่อยู่นอกเหนือเงื่อนไขหรือไม่เข้าเงื่อนไขนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ

[16] ใบคำขอเอาประกันภัย (Application) เป็นเอกสารสำคัญที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความประสงค์ว่า ผู้สมัครเอาประกันภัย (Applicant) หรือเรียกอีกอย่างว่า ผู้ขอเอาประกันภัย (Offeror) แสดงเจตนาในการเสนอขอเอาประกันภัย (Offer) อย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้รับประกันภัยซึ่งเป็น ผู้รับข้อเสนอ (Acceptor) หรือ ผู้สนองตอบรับคำเสนอขอเอาประกัน หรือผู้สนอง (Offeree) โดยในใบคำขอเอาประกันภัยจะมีข้อมูลที่ผู้ขอเอาประกันภัยต้องกรอกรายละเอียดเพื่อแถลง (Representation) และเปิดเผยข้อมูลตามความจริง (Disclosure) (สังเกตว่าในการสมัครขอเอาประกันภัยนั้น ผู้ที่ลงชื่อในใบคำขอเอาประกันคือผู้สมัครเอาประกันภัย ซึ่งในกรณีการประกันชีวิตนั้นผู้สมัครเอาประกันภัยจะเป็นคนเดียวกับผู้ที่ถูกเอาประกันภัย)

[17] ตาม ปพพ. มาตรา 867 ระบุว่า อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทน ของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย อันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้น แก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง

กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือของผู้รับประกันภัยและมีรายการ ดั่งต่อไปนี้

(1) วัตถุที่เอาประกันภัย

(2) ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง

(3) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้

(4) จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย

(5) จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย

(6) ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้น และเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย

(7) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย

(8) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย

(9) ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี

(10) วันทำสัญญาประกันภัย

(11) สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย

นอกจากนี้ ปพพ. มาตรา 875 ถ้าวัตถุอันได้ประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้ เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือโดยบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่า สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย

ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอน วัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่ง ถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ

สังเกตุว่า ปพพ. ทั้งสองมาตราระบุถึงคำว่า วัตถุที่เอาประกันภัย และ ผู้เอาประกันภัย ดังนั้นในการประกันภัยนั้น จะต้องมีสองสิ่งเสมอ คือ วัตถุที่เอาประกันภัย กับผู้เอาประกันภัย ซึ่งแยกกันโดย วัตถุที่เอาประกันภัย (Insured object) หมายถึงสิ่งที่ได้ถูกเอาประกันภัยไว้ โดยในการประกันวินาศภัย วัตถุที่เอาประกันภัยหมายความถึงทรัพย์สิน ส่วนการประกันชีวิตวัตถุที่เอาประกันภัยหมายถึง ผู้ที่ถูกเอาประกันภัย (Insured person) ส่วนผู้เอาประกันภัยคือฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยที่จะต้องมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย หรือผู้ที่ถูกเอาประกันภัย ในกรณีที่วัตถุที่เอาประกันภัยเป็นทรัพย์สิน ผู้เอาประกันภัยต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นๆ แต่ถ้าในกรณีที่วัตถุที่เอาประกันภัยหมายถึงชีวิตของบุคคล ผู้เอาประกันภัยอาจบุคคลเดียวกันกับผู้ที่ถูกเอาประกันภัยหากเป็นการเอาประกันชีวิตตนเอง (Self-life insurance) หรืออาจเป็นคนละคนกันหากเป็นการเอาประกันชีวิตบุคคลที่สาม (Third party-life insurance) โดยในกรณีการเอาประกันชีวิตบุคคลที่สาม ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียในบุคคลที่สามนั้นด้วย

[18] มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือ ให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็น ความเท็จไซร้ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับ ประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายใน กำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

[19] มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วน ได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่ อย่างหนึ่งอย่างใด

หมายเลขบันทึก: 618214เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2016 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2017 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท