ชีวิตที่พอเพียง : 2787. ไปอเมริกา ๒๕๕๙ : ๔. เที่ยว วอชิงตัน ดีซี



๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ วันพักผ่อน

วันอังคารที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ เราเดินทางถึงสนามบินดัลเลส ของนครวอชิงตัน เวลา ๑๐.๔๕ น. ผ่านการตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร และนั่งแท็กซี่เข้าเมือง ถึงอาคารที่พักเที่ยงตรง บอกเวลาไว้เพื่อจะบอกว่าช่วงเวลาดังกล่าวรถจากสนามบินเข้าเมืองฉลุยมาก


เวลาเที่ยงครึ่ง เราก็ได้พักผ่อนที่ห้องพัก ที่เราจองผ่าน Air BnB สามคืนในราคา ๑๑,๔๔๒ บาท และเนื่องจากเราเข้าที่พักก่อนเวลา เขาคิดเพิ่มอีก ๑๕ เหรียญ

พอถึงที่พัก สาวน้อยก็หมดแรง กินอาหารเที่ยงเสร็จก็นอนสลบไสล ชวนออกไปเดินเล่น ให้หายเพลียก็ไม่ไป ผมจึงนอนบ้าง เพราะบนเครื่องบินจากโตเกียวมาวอชิงตันดีซีได้หลับไม่ถึง ๓ ชั่วโมง


ตกลงวันนี้เราหมกอยู่ในห้องพัก ออกไปอุ่นอาหารในห้องครัวในตอนเที่ยงและตอนเย็น โดยสาวน้อยซื้ออาหารสำเร็จรูปมาจากเมืองไทย ทำให้สะดวกมาก


ห้องพักของเรากว้างขวาง สะอาด พื้นปูพรม เตียงสองเตียงแต่ละเตียงนอนสองคนได้ มีห้องน้ำ ในตัว ที่อาบน้ำฝักบัว มีตู้เสื้อผ้าใหญ่เต็มผนังด้านหนึ่ง ไม่มีเก้าอี้หรือโซฟาสำหรับนั่ง ไม่มีโต๊ะ ยกเว้นโต๊ะกลางเตี้ยๆ สำหรับวางของ ผมพิจารณาว่า หากจัดพื้นที่ให้ดีกว่านี้ ทำหน้าต่างกระจกออกด้านนอก วางโซฟา และวางโต๊ะเล็กๆ พร้อมเก้าอี้ จะกลายเป็นดั่งห้องในโรงแรมทันที


ผมอ่านแผนที่นำเที่ยวที่หยิบมาจากสนามบิน และเข้าเว็บตรวจสอบเรื่องการเดินทางเที่ยว และสรุปว่าในวอชิงตัน ดีซี ใช้บริการแท็กซี่ Uber สะดวกและประหยัดที่สุดเนื่องจากเรามากันสองคน หากใช้ Metro ราคาคูณสอง ตรงตามคำแนะนำของคุณ Lynnie เจ้าของที่พัก ผมจึงดาวน์โหลด App Uber Taxi ลงไอโฟน และเข้าไปลงทะเบียนเป็นลูกค้า แต่อนิจจา การลงทะเบียนขั้นสุดท้ายไม่สำเร็จ เพราะเขาส่งโค้ดมาให้ทาง เอสเอ็มเอส แต่โทรศัพท์ผมไม่มีโรมมิ่ง รับไม่ได้


ลองเข้าเว็บเอไอเอส หาทางรับบริการโรมมิ่ง พบว่าต้องทำมาก่อนที่เมืองไทย อัตรา ๑๐ วัน ๑,๙๙๐ บาท ลงท้ายเปิดโรมมิ่งโทรศัพท์ไม่ได้ เปิดใช้ Uber ไม่ได้ จึงต้องเดินหรือใช้รถ Metro หรือใช้รถแท็กซี่ปกติ ไม่มีปัญหา

วันนี้แดดดี อุณหภูมิตอนเที่ยง ๒๒ องศาเซลเซียส



วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ วันตะลุยเที่ยวพิพิธภัณฑ์

สาวน้อนตื่นตีสี่ เหมือนที่เมืองไทย (แต่ตื่นตามเวลาท้องถิ่น) ผมจึงต้องตื่นด้วย ตามมาด้วยบริการกาแฟ ชาเขียว ชงด้วยน้ำร้อนจากกาน้ำร้อนที่พกมาจากเมืองไทย


ผมรอให้ฟ้าสาง จนถึง ๗ น. ก็ลงไปวิ่งดูลาดเลาพื้นที่ พบว่าตรงข้ามถนนกับอพาร์ทเม้นท์ Waterside Towers เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ มีสระน้ำ เรียกว่า Duck Pond ถัดไปเป็นโบสถ์ ก็ถึงถนน ๔ เลี้ยวขวาไปหน่อยเดียว ถึงสถานีรถใต้ดิน Waterfront มีรถสายเขียวและสายเหลืองผ่าน ใกล้ๆ มีร้านยา CVS และร้านสะดวกซื้อ Safeway ร้านใหญ่มาก


เวลาแปดนาฬิกาเศษๆ เราก็ออกไปเดินชมสถานที่ ซ้ำรอยกับที่ผมไปลาดตระเวณตอนเช้ามืด แล้วเดินไปทาง The Mall ไปเจอ Hirshhorn Museum and Sculpture Garden ก็เข้าไปชมสวนประติมากรรม จนได้เวลาพิพิธภัณฑ์เปิด ๑๐.๐๐ น. ก็เข้าไปเข้าห้องน้ำ และชมนิทรรศการภายใน ที่เป็นศิลปะสร้างสรรค์ แบบที่คนชั้นผมดูไม่รู้เรื่อง แต่สาวน้อยบอกว่าสวยดี


จากนั้นเดินไป Botanic Gardens ที่ผมเล่าการไปชมปีที่แล้ว ที่นี่ คราวนั้นไปคนเดียว เดินเสียทั่ว คราวนี้โชคดี เข้าไปก่อนเที่ยงสองสามนาที เขาประกาศว่าเวลาเที่ยงจะมี guided tour เราจึงเดินตามไปฟัง ได้ความรู้มากมาย โดยเขาเลือกเรื่องของต้นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เล่าเกร็ดที่มาว่าเดิมอยู่ในทวีปใด แพร่ไปปลูกมากที่ใด เช่นต้นโกโก้ เดิมอยู่ในอเมริกาใต้ ชาวอินคากินเป็นอาหารปรุงรสด้วยเครื่องเทศ คนสเปนเอาเมล็ดมาหมัก คั่ว บด และปรุงรสด้วยน้ำตาล กลายเป็นช็อกโกเลตที่ขายดิบขายดี และราคาแพงในปัจจุบัน เวลานี้ชื่อ Theobroma cacao (Theobroma แปลว่า food of the God) มีคนถามว่า ต้นที่อยู่ในเรือนกระจกออกลูกทั้งปีหรือ เขาจึงเล่าว่า ต้นโกโก้ออกดอกทั้งปี แต่ถ้าจะให้ติดผลต้องช่วย ผสมเกสร ต้นนี้ใช้คนผสม จึงมีผลตลอดปี


อีกต้นหนึ่งชื่อ Allspice พื้นถิ่นอเมริกาใต้ West Indies โคลัมบัสไปพบเข้า และเข้าใจว่าเป็นต้นพริกไทย จึงตั้งชื่อเป็นภาษาสเปนว่า Pimenta ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า pepper เวลานี้พืชนี้ชื่อ Pimenta dioica


อีกต้นหนึ่งที่เล่ายาวคือ Wollemi Pine ไม้ดึกดำบรรพ์สมัยไดโนเสาร์ที่เดิมคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ต่อมามีคนไปพบเข้าที่ Blue Mountains ของออสเตรเลีย ที่ผมเคยไปเที่ยวและเล่าไว้ ที่นี่ มีการประกาศเป็น ไม้ใกล้สูญพันธุ์ และปกปิดแหล่งตามธรรมชาติ และมีหน่วยงาน Botanic Gardens Trust ในซิดนีย์ ร่วมกับ หน่วยงานอื่นๆ ดำเนินการแพร่ขยายพันธุ์ คนทั่วไปสามารถซื้อต้นกล้าไปปลูกได้ ทำให้ไม้โบราณนี้มีปลูก ทั่วโลก เป็นวิธีปกป้องไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ด้วยวิธีที่แปลก ผมคิดในใจว่า ต้องเป็นต้นไม้ที่ไม่เลือกที่ขึ้น และเจริญเติบโต


ออกจาก Botanic Gardens เราไปหาอาหารเที่ยงกินที่ National Museum of American Indians แล้วเดินไปไกล เพื่อไปเข้าชม National Museum of African American History and Cultureซึ่งเมื่อไปถึงพบว่าเขาจัดให้เข้าเฉพาะคนที่มีบัตร เรียกว่า timed pass โดยมีคำอธิบาย ที่นี่เราเสียท่าที่ไม่ได้ตรวจสอบ เว็บไซต์ก่อน ทำให้เดินเหนื่อยเปล่า


เราเดินกลับ และแวะชม The National Museum of American Historyดูการแบ่งยุคในประวัติศาสตร์อเมริกัน ที่ยุคแรกคือ The Merchant Era 1770 – 1850 ต่อมา The Corporate Era 1860 – 1930 แต่ละยุคมีเหตุการณ์และการโต้แย้งทางการเมืองมากมาย ผมหมายตาไว้ว่าวันหลังจะมาดู ลงรายละเอียดที่นี่ ตอนนี้สาวน้อยหมดแรงแล้ว ต้องกลับ เดินไปขึ้น Metro กลับที่พักผมมาคิดทีหลังว่า การแบ่งยุคประวัติศาสตร์ตามในพิพิธภัณฑ์นี้ แบ่งตามกระบวนทัศน์หนึ่ง หลังไปชม The National Civil War Museum ที่ Harrisburg แล้ว ผมคิดว่ามียุค The Agriculture Era อยู่ด้วย และความขัดแย้งเรื่องการมีทาส ระหว่างสังคมเกษตร กับสังคมอุตสาหกรรม นำไปสู่สงครามกลางเมือง


เรากลับรถ Metro ตอน ๑๖ น. เศษ คนแน่นมาก


วันนี้เราเดินประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ของผม ๑๑ เพราะวิ่งตอนเช้านิดหน่อยด้วย กลางคืนนอนเมื่อยขบไปทั้งตัว



วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๙

วันนี้เปลี่ยนแผนเป็นเดินทางด้วยแท็กซี่ กะไปที่เดียวคือ National Arboretumแต่ได้เแถมคือไปชมตลาดปลา (Municipal Fish Market) ที่อยู่ใกล้ๆ ที่พัก


Arboretum เปิดตั้งแต่ ๘ น. แต่เราออกสาย กว่าจะไปถึงก็กว่า ๑๐ น. เดินไปเรียกแท็กซี่ที่บริเวณสถานี Metro Waterfront คนขับแท็กซี่เป็นคนดำ มาจากประเทศ Eritreaได้ ๖ ปีแล้ว ต้องใช้ GPS นำทาง เพื่อเลี่ยงไฟแดงและรถติด แกบอกว่าเคยพาผู้โดยสารไปส่งหลายครั้ง แถมยังแนะนำว่าขากลับ ให้เดินออกไปเรียกแท็กซี่ที่ถนนใหญ่


เราตรงไปชมการแสดงบอนไซ ที่ National Bonsai & Penjing Museumได้ความรู้ว่าต้นกำเนิดไม้แคระมาจากจีน (Penjing) แต่ญี่ปุ่นเอามาพัฒนาขึ้นไปอีก เป็น bonsai เราได้ชมต้นสนขาว (Japanese White Pine) บอนไซ อายุเกือบสี่ร้อยปี (เริ่มทำให้เป็นบอนไซปี ค.ศ. 1625) และบอนไซสวยๆ มากมาย สวนนี้มีทั้งส่วนที่เป็นของญี่ปุ่น กับส่วนที่เป็นของจีน ของญี่ปุ่นสวยกว่ามาก ผมถามเจ้าหน้าที่ผู้หญิงวัยราวๆ ๕๐ ที่กำลังดูแลต้นบอนไซว่าต้องดูแลกี่วันครั้ง ได้คำตอบว่าทุกวัน เขามีน้ำใส่โอ่งไว้ใช้รด บางต้นรดน้ำโดยเอาถุงคล้ายถุงชาซับน้ำเอาวางที่โคนต้น เห็นชัดว่าการเลี้ยงบอนไซ ต้องประณีต และมีเทคนิคมาก


สวนสมุนไพร (Herb Garden) มีสมุนไพรหลากชนิด ที่น่าตื่นตาคือพริกหลากชนิด หลากสี หลากรูปร่าง สมุนไพรนี้ ให้ทั้งรส กลิ่น สี และเป็นยา รวมทั้งยาฆ่าหรือไล่แมลง กลิ่นที่สำคัญคือเป็นสารหอมระเหย ใช้เป็นน้ำหอมราคาแพง


ไปเห็น Herb Garden แล้ว ได้ความคิดการจัดทำสวนสิรีรุกขชาติ ของมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหาเงิน โดยปลูกพริกสวยๆ หลากชนิดเช่นนี้ กับสมุนไพรอื่นๆ ที่ดึงดูดความสนใจได้ง่าย นั่นหมายความว่าต้อง คิดเรื่องเส้นทางเดินรถและที่จอดรถไว้ก่อนด้ว ดีที่สุดคือให้จอดด้านนอก นั่งรถของมหาวิทยาลัยเข้าไป อาจให้จอง รับวันละไม่เกินจำนวนที่กำหนด


ตอนไปนั่งกิน snack (ไม่มีอาหารแบบจริงจังขาย คงเพราะคนที่มาที่นี่เขาเตรียมอาหารมากินกันเอง ทีหลังไปเที่ยวสวนพฤษศาสตร์ใหญ่อย่างนี้ ต้องเตรียมปิกนิกไปเอง) หลังร้าน Arbor House ที่มีทุ่งหญ้า และต้นไม้ใหญ่ ได้มีโอกาสนั่งดูและถ่ายรูปนกที่ร้องเสียงไพเราะมาก และมีอยู่ทั่วไปในสวน ผมเดาว่า เป็นนกไนติงเกลจากเสียงร้อง แต่ดูจากรูปที่ถ่ายได้ไม่แน่ใจ


National Arboretum นี้กว้างใหญ่มาก เที่ยวได้หลายวัน เราเองก็ยังเที่ยวต่อได้ถึงเวลาปิด (๑๗ น.) แต่ฝนทำท่าจะตก สาวน้อยกลัวฝน เพราะเธอเพิ่งหายหวัด จึงชวนกลับ เดินไปตามถนน R ออกไปหาแท็กซี่ที่ถนนใหญ่ (Bladensburg Road) พอออกไปก็ได้แท็กซี่ คนขับเป็นคนดำอีก มาจากไนจีเรีย ๒๐ ปีแล้ว มาเรียนมหาวิทยาลัยที่นี่ เรียนจบ ป. โท ทางธุรกิจจากมหาวิทยาลัย Howard บอกว่าต้องหาเงินเพิ่ม เพราะมีครอบครัว จึงขับแท็กซี่มา ๖ ปีแล้ว ผมถามว่าการมี Uber Taxi กระทบธุรกิจแท็กซี่ธรรมดาไหม แกตอบว่ากระทบ แต่สำหรับแกไม่กระทบ เพราะแกใช้วิธีวิ่งรอก ว่าแล้วก็เล่าข้อไม่ดีของ Uber ที่คนขับไม่รู้ทาง ไปได้ตามที่ GPS บอกซึ่งบางครั้ง GPS พาหลงทาง ไปลอดอุโมงค์ หาทางออกไม่พบ


ใกล้จะถึงที่พัก ผมถามสาวน้อยว่า ไปเที่ยว Fish Market กันไหม แล้วก็บอกโชเฟอร์ให้พาไป แกบอกว่า แกเองก็แวะซื้อบ่อยๆ


ค่าแท็กซี่ขาไป ๒๒ เหรียญ ขากลับ ๒๐ รวมทิปแล้ว


ตลาดปลานี้ จริงๆ แล้วเป็นตลาดอาหารทะเลมากกว่า ปูน่าจะเป็นดารา มีปูม้าเป็นๆ สีฟ้าสวยด้วย คุณลุง (ที่จริงน่าจะเรียกว่าน้อง) คนหนึ่งขอจับปูเป็น ผมจึงขอถ่ายรูป แต่ส่วนใหญ่เป็นปูต้ม ปลาสดมีหลากชนิด หอยนางรมตัวโต หอยสองฝา และมีอาหารสำเร็จให้ซื้อกินที่นั่น หรือเอาไปกินที่บ้านด้วย


ที่พักแบบ BnB แห่งนี้ บอกว่าราคารวม full breakfast และมีครัวให้แขกทั้ง ๓ ห้องพักใช้รวมกัน เมื่อวานตอนอธิบายเรื่องที่พักและบริเวณใกล้เคียง คุณ Lynn (36) ซึ่งเป็น Chinese American บอกอย่างอายๆ เมื่อผมถามเรื่องอาหารเช้า ว่ามีนมให้ในขวดแกลลอน มีไข่อยู่ในกล่อง ให้ลวก ต้ม หรือทอดเอาเอง มีขนมปัง แยม เนย และมี baby carrot ในถุงแช่เย็นในตู้เย็นไว้ให้ มีซองชา กาแฟ อาหารเช้าจึงจัดไว้ให้ช่วยตัวเอง ต่างจากอาหารเช้าของ B&B ที่สก็อตแลนด์ ที่เราไปเที่ยวเมื่อปีครึ่งที่ผ่านมา และเล่าไว้ ที่นี่


แต่เราเป็นคนง่ายอยู่แล้ว กินอยู่ได้สบาย และถือว่าที่พักนี้สะดวกมาก


วันนี้แดดจัด อากาศตอนบ่าย ๒๒ องศา เหมือนเมื่อวาน


ผมเคยเขียนบันทึกเล่าการไปเที่ยวกรุงวอชิงตัน ดีซี ไว้ ที่นี่



๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ เดินทางไปฟิลาเดลเฟีย

เราตื่นตีสาม เพราะสาวน้อยตื่น ก่อนเวลาปลุกที่ตั้งไว้ตีสี่ เตรียมตัวเดินทาง ที่มีช่วงเสี่ยงคือ Uber มารับเวลา ๕.๑๕ - ๕.๓๐ น. พาไป Union Station ผมต้องเตรียมแผนสองไว้ว่าหาก ไม่มาจะทำอย่างไร แต่ทุกอย่างเรียบร้อยดี คนขับเป็นคนดำตัวโตท่าทางดี เราบอกว่าจะไปขึ้น Megabus ไปฟิลาเดลเฟีย ขอให้ไปส่ง ณ จุดที่เดินไปง่าย เพราะมีกระเป๋าใบโต ๒ ใบ และภรรยาไม่แข็งแรง เขาบอกว่า ถ้าเช่นนั้น จะไปส่งด้านหน้า ให้ลากกระเป๋าขึ้น escalator ไป สะดวกกว่าไปส่งด้านหลัง ด้านสถานีรถบัส ซึ่งต้องเดินขึ้นเนิน


เข้าไปในสถานี Union เวลาตีห้าครึ่ง ไม่มีคน สถานที่ใหญ่โตสวยงาม จึงถ่ายรูปเป็นที่ระลึกให้ดารา แล้วถามทางไปสถานี Megabus จนได้ เราเป็นคู่แรกที่ไปถึง จึงยืนคิวแรก รถแล่นระหว่างวอชิงตัน ดีซี ไปสิ้นสุดที่ฟิลาเดลเฟีย


ระหว่างรอที่สถานีรถบัส ผมสังเกตว่านี่คือสังคมคนจน โชคดีที่หัวหน้าทัวร์ของผมกำหนดให้เดินทางแบบนี้ผมจึงมีโอกาสนั่งสังเกตพฤติกรรมคนจนในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่หน้าตาท่าทาง การพูดจาความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ รวมทั้งลักษณะรถบัส ที่เน้นแข่งตัดราคากัน ดูข้างนอกดูดีมาก แต่ที่นั่งธรรมดาๆ มีไวไฟ และปลั๊กเสียบไฟให้ อย่างไรก็ตาม นั่งสบายพอสมควร และมีห้องน้ำให้ใช้ เป็นห้องน้ำที่สะอาดมาก และไวไฟแรงดีมาก


ผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งคัน ชั้นบนซึ่งมีที่นั่งเกือบ ๕๐ มีผู้โดยสาร ๑๓ คน รถไปจอดรับผู้โดยสารเพิ่มอีก ๕ - ๖ คน ที่บัลติมอร์ แล้วแล่นต่อไปยังฟิลาเดลเฟีย ถึงตรงเวลา คือ ๙.๓๐ น.


วิจารณ์ พานิช

๗ ต.ค. ๕๙ ปรับปรุง ๑๒ ต.ค. ๕๙ ที่แฮริสเบิร์ก

ห้องพัก ๒๐๒ โรงแรม Penn’s View Hotel, Philadelphia



1 อพาร์ทเม้นท์ที่เราไปพัก


2 ด้านหน้า Hirshhorn Museum.jpg


3 Sculpture Garden


4 ชิ้นงานของ Linn Meyers ที่ออกแบบให้เข้ากับลายวงกลมรอบชั้นสองของอาคาร


5 ต้นโกโก้ ใน Botanic Garden


6 เรือนกระจกมีระบบควบคุมและบันทึกอุณหภูมิ ความชื้น


7 Allspice



8 Wollemi Pine พืชสมัย ๒๐๐ ล้านปี



9 ใน Meseum of American History



10 รอ Metro กลับที่พัก



11 หน้าอาคารบริการผู้เข้าชม Arboretum



12 ทางเข้า National Bonsai & Penjing Museum



13 Japanese White Pine อายุ 390 ปี



14 ต้นซ้ายมือ Japanese Black Pine อายุ 110 ปี



15 ภายในพิพิธภัณฑ์บอนไซ



16 ใน Chinese Pavilion



17 Rock Penjing ชื่อ Dancing Dragon



18 Sedum 'Autumn Joy'



19 นกร้องเพลงบนยอดไท้



20 ตอนลงมาที่สนามหญ้า



21 พริกหลากสีหลากรูปร่างใน Herb Garden



22 ตลาดปลา



23 ปูเป็นสินค้าเด่น



24 ปูเป็น


หมายเลขบันทึก: 618196เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2016 06:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2016 07:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สีต่างครับ ตัวนี้สีเทาเขียว

วิจารณ์

ขนาดก็โตกว่านกกางเขนนิดหน่อย

ส่งภาพไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกแล้วค่ะอาจารย์ น่าจะได้คำตอบ

อาจารย์วิจารณ์คะ ถามอาจารย์แพทย์ที่ รพ.รามาธิบดี ที่ชอบดูนกและเคยอยู่ที่อเมริกา บอกว่าน่าจะเป็น Northem Mockingbird ค่ะ (ค้นจากแอป Merlin bird ID)

เอารูปภาพมาเทียบกันแล้ว ก็เหมือนนะคะ

ใช่เลยครับ พอได้ชื่อ ก็ค้นเสียงร้องได้ ตรงกันเลย ที่

เสียงของเขาใสดีนะคะ ขอโทษด้วยค่ะอาจารย์ที่เขียนชื่อเขาผิดไป ต้องเป็น Northern Mockingbird ไม่ใช่ Northem Mockingbird คงจะได้เวลาที่ต้องเปลี่ยนแว่นตาอีกแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท