ชีวิตที่พอเพียง : ๒๕๕๖. เที่ยวกรุงวอชิงตัน ดีซี ๓. วันที่ ๘ พ.ย. ๕๘



วันนี้ผมมุ่งไปชม US Botanic Gardenโดยเตรียมเปิดเว็บไซต์อ่านไปก่อน และเตรียมตัวจดไว้อย่างดีว่าขึ้นรถใต้ดินที่ Foggy Bottom / GWU ไปลงที่ Federal Center SW แล้วเดินขึ้นเหนือไปทาง 3rd Street เดินไป ๒ บล็อก ก็ข้ามถนน Independence และตรงไป ไปพบถนน Maryland ก็ข้ามไป ทางเข้า Botanic Garden อยู่บนถนน Maryland สวนพฤกษศาสตร์เปิด ๑๐.๐๐ น. ผมไปถึง ๑๐ น. เศษๆ มีคนไปบ้างแล้ว อากาศเย็นแต่แดดจ้า

เข้าไปหน่อยก็พบ Rose Garden ใน Rose Garden มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ให้ชื่นใจ และมีดอกไม้อื่นๆ ที่เด่นคือ Crysanthemum หลากสี หลากพันธุ์มาเข้าใจทีหลังว่า ผมเดินเข้าทาง National Garden ไม่ใช่ทาง ทางเข้าใหญ่ด้านหน้าเรือนกระจก หรือ Conservatory เดินถ่ายรูปบ้าง นั่งพักบ้าง จนในที่สุดก็ไปเข้าเรือนกระจก ที่มีไม้เขตอบอุ่น และเขตร้อนชื้น ในส่วนที่เป็นเขตร้อนชื้นเดินกันเหงื่อตกทีเดียว

ที่นี่ขยันบอกชื่อต้นไม้ดีมาก แต่ก็มีที่ดอกสวย แต่หาชื่อไม่พบ

ที่จริงเมื่อ ๘ ปีก่อน ผมกับสาวน้อยและลูกสาวนคนโต เคยเดินเที่ยวที่นี่แบบรีบเดินผ่านๆ ครั้งหนึ่งแล้ว ดังเล่า ที่นี่ ซึ่งผมลืมไปแล้วว่าเคยไป

เมื่อเปรียบเทียบกับ Kew Gardens ที่ลอนดอน ที่นี่น่าจะเล็กกว่าสักสิบเท่า และความหลากหลายก็ไม่มากเท่า ที่ไม่เห็นเลยคือทิวลิป น่าจะเป็นเพราะหมดฤดูไปแล้ว

ผมหยิบเอกสาร Carlendar of Events, September – November 2015 กลับมา ได้เวลาอ่านบนเครื่องบิน จึงพบว่าสวนพฤกษศาสตร์นี้ทำหน้าที่หลายอย่างมาก ไม่ใช่มีแค่งานจัดแสดงให้คนมาชมอย่างเดียว แต่ยังมีกิจกรรมให้ความรู้มากมายหลากหลายแบบ เช่นที่เป็นนวัตกรรมครั้งแรกคือร่วมกับ The Kennedy Center for Performance Arts จัดแสดงละคร เรื่อง The Cerulean Time Capsule เป็นเรื่องของ Mr. Benjamin Peale นักพฤกษศาสตร์ ผู้เดินทางมาจากอนาคต คือ ปี ค.ศ. 2041 แสดงในวันหยุดสุดสัปดาห์ในเดือนกันยายน - ตุลาคม คือจบไปแล้ว

ร่วมกับ Kennedy Center เช่นกัน จัดละครเพลง Flowers Stinkจบไปแล้วเช่นกัน

นอกจากนั้นมีโปรแกรมต่างๆ มากมาย เช่น Luncheon Tour, Afternoon Tour, Exploring Root Tour, Parent & Child Program, Lecture Programs, Childern’s Program, Teacher Training, Cooking Demonstration, โครงการ Junior Botanist, เป็นต้น แสดงว่า เขาใช้ USBG เป็นสถานศึกษาจริงๆ ผมตีความว่า หน่วยงานแบบสวนพฤกษศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ คือหน่วยทำหน้าที่ ปรุงความรู้ (Knowledge Translation) และถ่ายทอด (Knowledge Transfer) ให้แก่สังคม พนักงานของหน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่เป็น Knowledge Broker ให้แก่สังคม นั่นเอง

ออกจาก Botanic Garden เกือบบ่ายโมง ผมเดินไปที่อาคารทรงแปลกๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ไปพบว่าเป็น National Museum of American Indianตรงไปกินอาหารเที่ยง จำได้ว่าร้านอาหารที่ผมไปกินเมื่อ ๘ ปีก่อนมีความหลากหลายกว่านี้มาก และเป็นอาหารร้อน ตามที่เล่าไว้ ที่นี่ แต่เวลานี้ร้านอาหารมีแต่อาหารสำเร็จรูป ไม่มีอาหารร้อน

เมื่อ ๘ ปีที่แล้ว ดูลวกๆ ๔๕ นาที คราวนี้ดูเสียละเอียด กว่า ๓ ชั่วโมง ที่ติดใจที่สุดคือห้อง Nation to Nation : Treaties between the United States and the American Indian Nations ที่เปิดโปงความชั่วร้ายของคนอเมริกันในอดีต ที่กระทำต่อคนท้องถิ่นเดิม ใช้วิธีทำข้อตกลงพันธสัญญา (Treaty) เพื่อให้คนอินเดียนยอมบางเรื่อง โดยอเมริกันสัญญาว่าจะยอมบางเรื่อง แล้วอเมริกันก็ละเมิดสัญญา สัญญาแล้วสัญญาเล่า ในฐานะผู้รุกรานที่มีอำนาจอาวุธสูงกว่า ที่ชัดเจนมากคือหนัง ที่เขาฉายให้ดู และผมมาค้นพบ ที่โรงแรม ที่ Nation to Nation : Introductionและ Nation to Nation : Indian Problemsที่จริงตอนฉายมีตอนที่ 3 Sovereign Rights, Sovereign Leaders ด้วย แต่ไม่มีให้ดูใน YouTube

บาปกรรม ที่ภาพยนตร์เปรียบเทียบกับ Genocide คือการออกกฎหมาย Indian Removal Act ในปี ค.ศ. 1830 อนุญาตให้ ปธน. Andrew Jackson “เจรจา” (ในทางปฏิบัติคือบังคับ) ให้คนอินเดียนอพยพไปอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี เกิดการรบ และคนอินเดียนสู้ไม่ได้ก็ต้องยอมอพยพ แบบบ้านแตกสาแหรกขาด มีเรื่องราวการอพยพของชนเผ่านาวาโฮ หญิงคนหนึ่งเล่าว่าตอนนั้นตนอายุ ๘ ขวบ น้องชายอายุ ๔ ขวบ เดินไม่ค่อยไหว ตนต้องช่วยแบกน้องเป็นระยะๆ ด้วยความกลัวว่าน้องจะถูกฆ่าทิ้ง ไม่ให้เป็นภาระ เพราะเห็นเด็กทารกถูกฆ่ากับตา ตอนก่อนคนตะวันตกเข้าไป มีคนอินเดียน ๘ ล้านคน เหลือ ๒ แสนห้าหมื่นคนเท่านั้น

ในนิทรรศการบอกว่า การเจรจาและทำข้อตกลง (Treaty) เริ่มตั้งแต่ The Lenape Treaty 1682 ที่เจรจากันระหว่าเผ่า Lenni Lenape (เวลานี้เรียกว่าเผ่า Delaware) ที่ถือครองพื้นที่บริเวณที่ปัจจุบันเป็นรัฐ นิวเจิอร์ซี่ และเพนซิลเวเนีย กับผู้ได้รับพระราชทานที่ดินจากพระเจ้า ชาร์ลสฺ ที่ ๒ ของราชอาณาจักรอังกฤษ (เพราะยกหนี้ให้พระราชา) คือวิลเลียม เพ็นน์ ทางอังกฤษอ้างว่าเป็นเจ้าของแผ่นดินเพราะรบชนะดัทช์ในปี 1664 ส่วนเผ่า อ้างว่าแผ่นดินนี้เกิดจากเต่ายักษ์โผล่จากใต้สมุทร เกิดต้นไม้ และเกิดชนเผ่า Lenni Lenape

แต่ใน เอกสารนี้ มีเผ่า Cherokee โผล่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผมไม่ได้ค้นรายละเอียด จึงไม่ทราบว่า The Lenape Treaty ตกลงกันว่าอย่างไร รู้แต่ว่า William Penn ผู้พ่อเป็นผู้ตกลง โดยยอมรับว่าแผ่นดินเป็นของชนเผ่า Lenni Lenapeหากคนขาวต้องการก็ให้ใช้วิธีซื้อ โดยตนเองซื้อเป็นตัวอย่าง แล้วต่อมา William Penn ผู้ลูกเป็นผู้ฉีกสัญญาทิ้งหรือละเมิดสัญญา คือใช้วิธีขับไล่ชนเผ่า Lenni Lenape ออกไปนอกดินแดนที่ตนต้องการ

พันธสัญญา (Treaty) แบบนี้มีการเจรจาและตกลงกันครั้งแล้วครั้งแล่า และฝ่ายคนขาวก็เป็นผู้ละเมิดค่อยๆ รุกและริบคนพื้นเมืองมากขึ้นๆ เรื่องข้ออ้างของสองฝ่ายนี้ อ่านจากนิทรรศการได้ความรู้มาก ว่าเจรจากับบนคนละฐานความเชื่อ

แม้จะถูกรุกแบบกลืนชาติ กลืนเผ่าพันธุ์ แต่ก็มีคนเชื้อสายอินเเดียนที่มีการศึกษา (ข้อดีของสังคมอเมริกัน) ทำงาน เป็น activist เรียกร้องสิทธิของคนพื้นเมือง เริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เป้าหมายคือ คืนความเป็นเอกราชให้แก่ชนพื้นเมือง ให้เป็น “รัฐภายในรัฐ” ยกเลิกระบบ Reservationและดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมา จนมีคนขาวและนักการเมืองเห็นด้วยกับหลักการสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นๆ

ทำให้ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ศาลมีคำสั่งให้ตีความพันธสัญญาต่างๆ ตามที่คนพื้นเมืองเข้าใจหรือตีความ รวมทั้งมีการออกกฎหมายให้สิทธิต่างแก่ชนพื้นเมืองมากขึ้น ได้แก่ Indian Self-determination and Education assistance Act (1975), Indian Child Welfare Act (1978), American Indian Religious Freedom Act (1978), Indian Gaming Regulatory Act (1988), Native American Graves Protection and Repatriation Act (1990), เป็นต้น เขาบอกว่าการต่อสู้ของชนเผ่าจะดำเนินการต่อไป

นิทรรศการ Our Universe : Traditional Knowledge Shapes Our World ให้ความรู้มาก บอกความเชื่อของแต่ละชนเผ่าพื้นเมืองในอเมริกา สาระที่สื่อและปลุกความเข้าใจของผมคือ วัฒนธรรมอเมริกันอินเดียนไม่ได้สูญหายไปไหน ยังฝังแฝงอยู่ในสังคมอเมริกัน และในโลก ผมดูผ่านๆ (เพราะหมดแรง) เก็บเอกสารแผ่นพับกลับมาดูและค้นต่อที่บ้าน เอกสาร Always Becoming นำผมไปสู่ เว็บไซต์นี้ ที่แสดงศิลปะพื้นเมืองร่วมสมัย เป็นการให้ความรู้ และสื่อสารคุณค่าลึกๆ ของชนเผ่าพื้นเมือง ผ่านชิ้นงานศิลปะ ที่สร้างร่วมสมัย

ผมเขียนบันทึกแบบตัดสินถูกผิด แต่ในหนังและในการจัดแสดงเขาเอาเหตุการณ์และคำพูดของคนมาให้รับทราบ ให้เราคิดเอง ว่าคำพูดและเหตุการแบบไหนถูกต้องเหมาะสมในมาตรฐานคุณธรรมปัจจุบัน เป็นการนำเรื่องที่ในบ้านเราเก็บกดไว้ในที่มืด แต่สังคมอเมริกันเอาออกมาเปิดเผยให้คนรับรู้ได้ทางพิพิธภัณฑ์ ผมเห็นคนขาวมาดู และนั่งชมภาพยนตร์อย่างสนใจ

ทำให้ผมนึกออกว่า พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวในอดีตที่สำคัญต่อความเป็นอยู่ของสังคมปัจจุบันมาให้คนรับรู้และตีความ ผ่านทั้งวัตถุ เอกสาร เรื่องเล่า ศิลปะ ทำให้ผู้คนได้ตระหนักในการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้ความสำเร็จและความผิดพลาดในอดีต ที่ทุกเรื่องในสังคมเป็นดาบสองคมเสมอ คือมีทั้งคุณและโทษ เรื่องมันเกิดไปแล้ว แก้ไขไม่ได้แล้ว แต่สังคมดีขึ้นได้เพราะคนในสังคมเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้สิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนเช่นนี้

ผมอยากให้สังคมไทยเป็นวัฒนธรรมความรู้ มีแหล่งความรู้แบบนี้ ให้คนได้เรียนรู้จากเรื่องราวในอดีต ผ่านหลักฐานต่างๆ แบบนี้บ้าง

นิทรรศการที่ผมชอบมากอีกชุดหนึ่งคือชุด Engineering an Empire : The Great Inka Roadเป็นนิทรรศการทำทำให้ผมเข้าใจว่า อาณาจักรอินคา มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาณาจักรโรมันมาก โดยมีปัจจัยสำคัญคือการสร้างถนนติดต่อกันภายในอาณาจักร วิศวกรรมการสร้างถนนและสะพานแขวนก้าวหน้าอย่างยิ่ง แต่ใช้วัสดุที่ไม่คงทนมาก คือเชือก ความแตกต่างอยู่ที่จารึกประวัติศาสตร์ของโรมันดีกว่ามาก รวมทั้งโรมันประดิษฐ์ล้อได้ ถนนของอินคาจึงเป็นถนนคนและสัตว์ต่างเดิน แต่ของโรมันเป็นถนนรถม้าเดินด้วย

วีดิทัศน์เรื่องราวของการสร้างสะพานเชือกข้ามเหวดูได้ ที่นี่ น่าสนใจมากว่าเชือกนี้ฟั่นจากหญ้าคล้ายๆ แฝก และสร้างใหม่ทุกปี ใช้เวลาสร้าง ๓ วัน โดยคนทั้งหมู่บ้านมาลงมือลงแรง เป็นการสร้างจากความเข้มแข็งของชุมชน และทำกันเป็นประเพณีมาหลายศตวรรษ

เรื่องราวของ Inca Empire ในวิกิพีเดีย ให้อายุของความเป็นอาณาจักรสั้นมาก เพียงปี ค.ศ. 1438 จนตกเป็นของสเปนในปี 1572 เท่านั้น แต่ในนิทรรศการระบุการก่อกำเนิดแบบซับซ้อนยาวเป็นพันปี ซึ่งตรงกับในหัวข้อ Andean Civilizations ของวิกิพีเดีย แตะพัฒนาการกลับไปถึง ๕,๕๐๐ ปีก่อน

วันนี้ผมถ่ายรูปเกือบพันรูป เลือกมาอวดเพียง ๒๐ รูป



เห็นเรือนกระจกของ USBG แต่ไกล


ใกล้ๆ กันเป็นอาคารทรงประหลาด คือ NMAI ที่ไปชมตอนบ่าย


ภายในสวนกุหลาบอันหอมกรุ่น


Rosa 'Pink Emely'


Crysanthemun 'Cambodian Queen'


Begonia 'Escargot'


Rosa 'Green Ice'


ภายใน Green House


ในเรือนกระจกเขตร้อนชื้น


รองเท้านารี Phragmipedium cardinale


ขึ้นไปเดินชมยอดไม้เขตร้อนชื้น ร้อนจนเหงื่อไหล


ทางเข้านิทรรศการวิวัฒนาการของ ประเทศ อินเดียนในอดีตจนเป็น ประเทศ ของอินเดียนในปัจจุบัน


ตัวอย่าง The Muscogee Treaty


สาระของ Treaty


สองปีต่อมา


การต่อสู้เกิดผลในทศวรรษที่ 1970 ศาลตัดสินว่า ในสรอ. มีรัฐ ๓ แบบ Federal, State, Indian Tribes


ศาลตัดสินการตีความ Treaty ใหม่


The Great Inka Road


เส้นสีแดงคือ Inka Roads ยาว 24,000 ไมล์


สะพานแขวนข้ามหุบเขาใน Inka Road Systems


วิจารณ์ พานิช

๙ พ.ย. ๕๘

ห้อง ๘๑๔, โรงแรม The Concordia, กรุงวอชิงตัน ดีซี


หมายเลขบันทึก: 598322เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2015 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Foggy Bottom / GWU ถิ่นเก่าค่ะอาจารย์ นักเรียนไทยเยอะมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท