ชีวิตที่พอเพียง : ๒๕๕๔. เที่ยวกรุงวอชิงตัน ดีซี ๒. วันที่ ๗ พ.ย. ๕๘



เช้าวันเสาร์ที่ ๗ พ.ย. ๕๘ คณะที่มาประชุมเตรียมการณ์ PMAC กลับกันตอน ๗ โมงเช้า เหลือผมที่โรงแรมคนเดียว ผมออกจากโรงแรมเดินไปตามถนน New Hampshire ข้าม Washington Circle ไปยังถนน ๒๓ เดินไปหน่อยเดียวก็ถึงสถานีรถใต้ดิน Foggy Bottom / GWU ลงบันไดเลื่อนสูงลิบลงไปเติมเงินลงในบัตรเติมเงิน SmartTrip ด้วยเครื่องซื้อบัตร/เติมเงิน ที่ตอนนี้ผมทำคล่องแล้ว

นั่นรถสายสีใดก็ได้เพราะช่วงสั้นๆ นี้ทุกสายเส้นทางทับกันหมด แต่ต้องดูให้ดีว่าไปถูกทิศ

นั่งรถไป ๕ ป้ายก็ถึง Smithsonian เดินข้ามถนน เดินตามเส้นทางที่คนเดินกันมากมายต่อไป พอเลี้ยวขวาก็พบ Freer Art Gallery ผมเข้าไปชมทันที แล้วทั้งวันผมก็วนเวียนอยู่ใน ๔ หน่วยของ Smithsonian Institute คือ Freer Art Gallery, Sackler Gallery, Museum of African Art, และ Castle โดยที่อาคารเหล่านี้มันติดต่อกันหมดทางใต้ดิน ที่ชั้นดินนอกอาคารเป็นสวน เขาบอกว่าเป็น roof-top garden

Freer Art Gallery ตั้งชื่อตาม Charles Lang Freerที่ชีวิตวัยเด็กยากจน เริ่มจากเป็นคนงานในโรงงานซีเมนต์ และต่อมากลายเป็นมหาเศรษฐีผู้คลั่งใคล้งานศิลปะ มี Art Gallery ส่วนตัว ซึ่งต่อมามอบให้แก่ Smithsonian พร้อมเงิน ๑ ล้านเหรียญ เป็นค่าก่อสร้างอาคาร เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว

ที่หน้าอาคารมีป้ายโฆษณาการจัดแสดง Sotatsu : Making Waves ผมเข้าไปชมด้วยความขัดใจ เพราะเขาห้ามถ่ายภาพ ผมอ่านตัวหนังสือเล็กๆ ที่เขาอธิบายไม่ออก ตาไม่ดี แต่กลับมาค้น อินเทอร์เน็ต ที่ห้อง พบ VDO และคำอธิบายการจัดแสดงนี้ ที่นี่Sawaraya Sotatsu เป็นศิลปินด้านทัศนศิลป์ของญี่ปุ่นเมื่อ ๔๐๐ ปีมาแล้ว เริ่มชีวิตจากเป็นคนวาดและขายพัด พอจะจับจากการจัดแสดงได้ว่าท่านผู้นี้มีอิทธิพลต่อศิลปินยุคต่อมามาก

ผมดูพิพิธภัณฑ์แบบคนแก่ ตาไม่ดี และกำลังก็น้อย โดยดูผ่านๆ เพื่อประหยัดเวลาและแรง แต่ถ่ายรูปชิ้นศิลปะและคำอธิบาย เอาไปดูละเอียดที่โรงแรม แต่ตอนนี้ Smithsonian มีเว็บไซต์ให้เข้าไปชม collection ของเขาได้ทาง http://collections.si.edu/search/

อีกนิทรรศการที่สวยงามมากคือ Peacock Roomในนิทรรศการ Filthy Lucre ที่เขาห้ามถ่ายภาพเช่นกัน แต่ก็มีภาพให้ดูในเว็บไซต์ ที่นี่ เป็นนิทรรศการประวัติศาสตร์ศิลปะ ให้คนเห็นอีกด้านหนึ่งของศิลปะที่แฝงความชั่วร้ายไว้ด้วย โดยเฉพาะเศรษฐีหรือพระราชาที่รักศิลปะ แต่ไม่รัก ไม่เห็นใจ เพื่อนมนุษย์

ในเอกสารประกอบนิทรรศการที่ผมเก็บมา บอกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างเศรษฐีชาวอังกฤษ Frederick Richards Leyland ที่ในปี 1876 ต้องการตกแต่งห้องรับประทานอาหารในบ้านที่ลอนดอน ได้ว่าจ้างศิลปินอเมริกันคู่ใจคือ James McNeill Whistler ให้ออกแบบสีเสียใหม่ แล้วเศรษฐีก็พาครอบครัวไปพักผ่อนฤดูร้อน ศิลปินก็บรรเลงเต็มที่โดยเปลี่ยนสีห้องเป็นสีฟ้า ประดับด้วยภาพวาดขนนกยูงสีทอง

เมื่อเศรษฐีกลับมาและเห็นห้องเปลี่ยนไปไม่ตรงกับที่ต้องการก็โกรธ ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญา ศิลปินขอกลับมาวาดภาพต่อ เป็นนกยูงสองตัวตีกัน เป็นสัญลักษณ์ว่าตัวหนึ่งคือเศรษฐีหวงเงิน อีกตัวหนึ่งคือตัวศิลปิน แล้วสัมพันธภาพก็ขาดผึง

อีก ๑๕๐ ปีให้หลัง นักประวัติศาสตร์ศิลป์ Darren Waterston จึงจัดนิทรรศการนี้ โดยนำห้องนกยูงมาจากลอนดอน จึงเป็นที่ตื่นเต้นกันมาก และจัดแสดงในชื่อ Filthy Lucre ดังกล่าวแล้ว

Freer Art Gallery มันกลืนกับ Arthur M. Sackler Gallery จนแยกกันไม่ออก และงานบางอย่างเขาก็ร่วมมือกัน จิตแพทย์ Arthur M. Sackler (1913 – 1987) เป็นคนที่แสดงความสนใจงานศิลปะตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ และกล่าวว่างานศิลปะเป็น “ข้อมูล” เพื่อเข้าใจโลกและชีวิต เขารณรงค์หาเงินบริจาคสร้างหอศิลป์นี้ และบริจาคชิ้นงานศิลปะเอเซียกว่า ๑ พันชิ้นให้ก่อนเขาตายไม่นาน

ที่มุมหนึ่งของห้องจัดแสดง มีรูปสลักหินของหญิงสาวลูกเศรษฐีแห่งเมือง Palmyra (แปลว่าเมืองแห่งต้นปาล์ม) เป็นหินประดับหลุมฝังศพ และมีภาพทรากเมือง Palmyra เมืองโรมันโบราณที่เวลานี้อยู่ในประเทศซีเรีย และคำอธิบาย ใกล้ๆ มีโซฟาให้นั่งพัก มีหนังสือวางไว้ ๓ เล่ม เล่มหนึ่งชื่อ Roman Palmyra : Identity, Community, and State Formation, อีกเล่มหนึ่งชื่อ Ancient Syria : A Three Thousand Year History ทำให้ผมนึกขึ้นได้ทันทีว่า มีวิธีทำให้ผู้มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ความรู้เรื่องที่จัดแสดงลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเอาหนังสือดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จัดแสดง มาตั้งไว้ให้พลิกดู และกลับไปหาอ่านเอาเองทีหลัง การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มีลู่ทางพัฒนาขึ้นได้มากมาย

จากนั้นผมเข้าชมห้อง Ceramics ของเวียดนาม แสดงความก้าวหน้าเป็นขั้นๆ ของอุตสาหกรรมเครื่องดินเผาในลุ่มแม่น้ำแดง เวียดนามเหนือ

ในที่สุดผมก็หลุดเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ National Museum of African Artยังดีที่เขามีป้ายบอก เป็นการออกจากตึกหนึ่งไปยีงอีกตึกหนึ่งในชั้นใต้ดินลึกลงไป ๓ ชั้น มีนิทรรศการการจัดทำหนังสือในรูปแบบต่างๆ ดูรายละเอียดได้ ที่นี่ หรือ ที่นี่ ไปสู่ห้องจัดแสดงงานศิลปะของประเทศอัฟริกัน ที่ดาวเด่นคือนิทรรศการ African and African American Artworks in Dialogue : From the Collection of the Smithsonian National Museum of African Art and Camille O. and Willaim H. Cosby, Jr. ที่เขาห้ามถ่ายรูป พวกนิทรรศการชั่วคราวเหล่านี้เขามักห้ามถ่ายรูป

ระหว่างชม ผมพบว่าเขามีหนังสือเรื่องดังกล่าวขาย อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ห้ามถ่ายรูปนิทรรศการ ผมจึงเลือกถ่ายจากหนังสือแทน โดยเขามีหนังสือวางไว้ให้อ่านในนิทรรศการนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เอกสารแจกเป็นคู่มือเข้าชมนิทรรศการนี้ก็เล่มโต มีคำอธิบายแนะนำวิธีชมงานศิลปะ ว่าให้สังเกต form, style, material, และ technique เขาแนะให้มองอย่างสังเกตใกล้ชิด จินตนาการ และแลกเปลี่ยนกับคนอื่น โดยให้สังเกตทั้งสิ่งของ สถานที่ และบุคคล ในป้ายประกอบการจัดแสดง จะมีคำถามให้ผู้ชม ในงานศิลปะนั้นๆ เป็นการจัดแสดงที่แตกต่างจากอันอื่นๆ ตรงที่มีการช่วยเหลือผู้เข้าชมให้ได้รับประโยชน์

มีนิทรรศการผลงานของนักถ่ายภาพราชสำนักในอัฟริกา ที่ทำงานมากว่า ๕๐ ปี เพิ่งถึงแก่กรรม ชื่อ Chief S.O. Alongeฝีมือดีจริงๆ

ผมออกไปซื้อแซนด์วิชกินที่ Castle เวลาบ่ายสองโมงเศษ แล้วออกไปเดินชมสวนระหว่างตึกที่สวยงามมาก เป็น rooftop garden ทั้งสิ้น แล้ววนกลับเข้า Freer Art Gallery อีก ไปชมห้อง Ancient Chinese Bronz ตามด้วยห้องพระพุทธรูปจากถ้ำเซียงถังชาน ที่จังหวัดหูไป่ สมัย ค.ศ. 550 – 577 ต่อไปห้อง Chinese Ceramics 13th – 14th Century ไปออก Ceramics ของเกาหลี ต่อด้วยห้องภาพวาดญี่ปุ่น ก็หมดแรง เวลาสี่โมงเย็นเศษ เดินกลับสถานีรถใต้ดินกลับโรงแรม กินแซนด์วิชอีกครึ่งหนึ่งที่ซื้อตอนเที่ยง กับเนยแข็งและผลไม้ม้ที่ซื้อจาก Traders Joe เมื่อคืนวันที่ ๕ และเขียนบันทึกได้นิดหน่อยก็หลับไปตอนหนึ่งทุ่ม

บันทึกเสียหน่อยว่า วันที่ ๖ และ ๗ ผมรู้สึกตะครั่นตะครอ และท้องเดินเล็กน้อย คล้ายอาหารเป็นพิษ ไม่ได้เอ่ยปากบอกใคร ยังทำกิจวัตรได้ตามปกติ รวมทั้งออกไปวิ่งออกกำลัง



1 ด้านหน้า Freer Gallery of Art

2 ภาพ etching ชีวิตในนครเวนิศ ชื่อ The Balcony 1879-1880 โดย James MaNeil Whistler

3 เหยือกทองพันปี อิหร่าน

4 ห้องนกยูง ถ่ายก่อนเขามาห้าม

5 ศิลปะจีนอายุสองพันปี กระจกส่องหน้าทำด้วย บรอนซ์

6 นิทรรศการ Sotatsu

7 ภาพวาดของ Sotatsu เขาอธิบายเทคนิควิธีวาดที่ผมไม่เข้าใจ

8 นางอัปสรในห้อง Asian Arts ของ Sackler Gallery

9 พระพุทธรูปทิเบต ศตวรรษที่ ๑๔ หัตถ์ขวาแต่พื้นดินหมายถึงการตรัสรู้

10 ภาพเมืองโรมันโบราณ Palmyra

11 ชิ้นงานศิลปะอัฟริกัน ต้นศตวรรษที่ ๒๐

12 งาช้างสลักของกษัตริย์เบนิน อายุ ๑๕๐ ปี

13 ราชบัลลังก์แทนซาเนีย ศตวรรษที่ ๑๙

14 เครื่องบรอนซ์จีนโบราณอายุราวสามพันปี ภาชนะอุ่นเหล้าในพิธีและงานเลี้ยง

15 ชุมนุมพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ภาพแกะสลักหินปูนในถ้ำเซียงถังซาน

16 หน้าบันของเจดีย์แสดงแดนสุขาวดีของพระพุทธอมิตตาภะ

17 ถ้วยไวน์ สินค้าฟุ่มเฟือยจากเส้นทางการค้าสายไหม คริสตศตวรรษที่ ๘

18 ศิลาดนจีน ศตวรรษที่ 13-14

19 เครื่องลายคราม Blue ans White ราวๆ ค.ศ.๑๓๕๐

20 Ceramic แบบ inlay ของเกาหลี

21 กุหลาบงามบน rooftop garden



วิจารณ์ พานิช

๙ พ.ย. ๕๘

บนเครื่องบิน ANA จาก วอชิงตัน ดีซี ไปโตเกียว


หมายเลขบันทึก: 598320เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2015 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท