ชีวิตที่พอเพียง : 411. วอชิงตัน ดีซี วันที่ 3 (25 ต.ค. 50 วันสุดท้าย) National Museum of American Indian


วันนี้เราแยกกันไปในช่วงเช้า หมออมรากับแต้วไปชม ไวท์เฮ้าส์ ผมไปดูหนัง IMAX ที่ National Air and Space Museum เรื่อง Space Station แล้วนัดไปพบกันที่ National Museum of the American Indian เวลา 12 น. เรานัดแท็กซี่มารับที่ Guesthouse เวลาบ่ายสามโมง เพื่อไป Dulles International Airport สำหรับขึ้น JetBlue กลับนิวยอร์ค

ผมเป็นลูกทัวร์จนชิน ไม่เอาใจใส่เรื่องทิศทางเลย วันนี้ต้องช่วยตัวเอง จึงต้องเตรียมจดว่าต่อรถใต้ดินและขึ้นจากสถานีที่ถนนอะไร ปรากฎว่าสะดวกดาย โดยที่ฝนพรำและอากาศเย็นลงไปที่ 54 องศาฟาเรนไฮต์

ไปที่ National Air and Space Museum ตรงเข้าไปซื้อตั๋วดูหนัง IMAX เรื่อง Space Station ที่เป็นโครงการร่วมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย ได้เรียนรู้สภาพในอวกาศ เห็นการออกไปเดินอวกาศเพื่อซ่อมสถานี ได้เห็นภายในสถานีที่รกไปด้วยสายไฟ และการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อดูผลของสภาพไร้แรงโน้มถ่วง และการที่นักบินอวกาศต้องออกกำลังเพื่อป้องกันร่างกายเสื่อม และป้องกัน Nitrogen bubble ในเลือด

ออกจากโรงหนัง ไปตระเวณถ่ายรูป และซึมซับพัฒนาการด้านการบิน และด้านอวกาศ ทีละน้อยๆ ได้ซื้อดีวีดีหนึ่งแผ่น เรื่อง Hubble : 15 Years of discovery แล้วก็ออกไป National Museum of American Indian ตามนัด ไปกินอาหารเที่ยงของภัตตาคารที่บริการอาหารอินเดียน ผมกินเนื้อกวาง Elk ยัดไส้ หมออมรากิน Pastelito กับ wild rice แต้วกิน Tacos ข้าวป่าอินเดียนสีดำสนิทเมล็ดยาว 1 ซ.ม. ผมไม่เคยเห็นข้าวเมล็ดยาวเรียวขนาดนี้เลย อาหารอร่อยใช้ได้ ผมลองดื่มน้ำอะโวคาโดผสมนมด้วย อร่อยดี แต่ถ้าไม่บอกว่าเป็นน้ำอะโวคาโดก็จะเดาไม่ออก

แล้วผมขึ้นไปชมพิพิธภัณฑ์อินเดียน มีเวลาเพียง 45 นาที ดูได้ไม่ทั่ว ที่ชั้น 4 มีนิทรรศการ Our Universe แสดงความเชื่อของคนพื้นเมือง และนิทรรศการ Our Peoples แสดงประวัติศาสตร์ของคนอินเดียนแต่ละเผ่า ที่ชั้น 3 มีนิทรรศการ Our Lives แสดงชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ดูแล้วผมตีความว่าวัฒนธรรมอินเดียนเป็นวัฒนธรรมที่ปรับตามธรรมชาติ เคารพธรรมชาติ เน้นการดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อันได้แก่ พืช สัตว์ วิญญาณ และเพื่อนมนุษย์ มองสรรพสิ่งรอบตัวเหมือนมีชีวิต และเชื่อมโยงถึงกันหมด (Everything is interconnected.)


เน้นคุณธรรม 7 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ (honesty) ความรัก (love) ความกล้าหาญ (courage) ความจริง (truth) ความมีปัญญา (wisdom) ความถ่อมตน (humility) และความเคารพ (respect) จึงต่อสู้กับคนขาวไม่ได้ เพราะคนขาวยึดแนวทางเอาชนะธรรมชาติ และใช้เล่ห์กลได้ทุกอย่างเพื่อเอาชนะศัตรู

เมื่อกลับมาทบทวนต่อที่บ้านผมคิดว่าคนอินเดียนมีคุณธรรมประการที่ 8 คือความกตัญญูรู้คุณ (thankfulness) ต่อธรรมชาติรอบตัว ขอบคุณก้อนเมฆ ขอบคุณฝน ขอบคุณหิมะ ที่ทำให้เกิดลำธาร แม่น้ำ และคนอินเดียน ไม่มีน้ำก็ไม่มีคนอินเดียน

ในขณะที่ทางเอเซียเป็นวัฒนธรรมข้าว วัฒนธรรมอเมริกันอินเดียนเป็นวัฒนธรรมข้าวโพด

สิ่งที่เป็น value add ต่อสังคมอเมริกันคือความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ที่คนอินเดียนมี ถ้าเอาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เติมลงไป ก็อาจเกิดคุณค่าและมูลค่ามหาศาล และการที่รัฐบาลอเมริกันแสดงความยอมรับและเคารพวัฒนธรรมของคนอินเดียนก็เป็นเรื่องน่ายกย่องมาก

เรากลับมาที่ Embassy Circle Guest House เพื่อรอรถแท็กซี่มารับ ซึ่งเขาก็มาตรงเวลา และพาเราหลบถนนที่รถติดเพราะฝนตก เข้าใจว่าเขาใช้ระบบ GPS ตรวจสอบสภาพถนนตลอดเวลา หลัง check in เราทราบว่าเครื่องบิน delay 1 ช.ม. และมาพบมหกรรมคิวยาว เพื่อเข้าตรวจ security check คิวที่ยาวขดไปมานี้น่าจะยาวเป็นกิโลเมตร เราใช้เวลา 50 นาทีจึงผ่านมาได้

ระบบตรวจรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้จะขึ้นเครื่องบินที่ JFK และ Dulles Airport เหมือนกัน คือห้ามเอาของเหลว เจล หรือ aerosol ขึ้นเครื่อง ยกเว้นขนาดเล็กมากๆ ก็ให้เอาใส่ถุงใสถือไว้ ตอนตรวจก็ตรวจ 2 ส่วน คือ ตรวจของกับตรวจคน ของที่ต้องแยกวางราบกับถาดปลาสติกคือ laptop, เครื่องเล่น ดีวีดี, รองเท้า, เสื้อแจ๊กเก็ตหรือเสื้อโค้ท, กระเป๋าถือ ส่วนกระเป๋าเสื้อผ้าสิ่งของที่ถือขึ้นเครื่องก็เอาขึ้นสายพานผ่านเครื่องตรวจได้เลย รวมแล้วผู้โดยสารแต่ละคนต้องใช้ถาดใส่ของผ่านเครื่อง 2-3 ถาด แล้วตัวคนเดินผ่านช่องตรวจคน แต่ละคนใช้เวลา 2-3 นาที เครื่องตรวจเขามีไม่ถึง 10 ชุด แต่ผู้โดยสารมากมายเพราะเป็น International Airport จึงเกิดสภาพโกลาหล พวกฝรั่งที่เดินทางบ่อยบอกว่าไม่เคยพบคิวยาว รอนาน และโกลาหลอย่างนี้

จากสนามบิน JFK ของนิวยอร์ค เรานั่งแท็กซี่ซึ่งคิดค่าโดยสาร flat rate $45 + toll รวมเป็น $49 กลับถึงบ้านเกือบสามทุ่ม พบว่าเจ้าของบ้านทั้งสองยังไม่กลับ เราจึงกินข้าวและเข้านอน ตอนนี้อากาศเย็นลงมาก

ผมพัฒนาวิธีชมพิพิธภัณฑ์สไตล์คนขี้ลืมอย่างผม โดยดูภาพรวมคร่าวๆ ว่าเขาจัดแสดงอะไร ถ่ายรูปป้ายหน้าห้องไว้ แล้วเข้าไปดูรายละเอียดโดยเน้นดูรูปหรือนิทรรศการ ถ่ายรูปไว้ ตามด้วยถ่ายคำอธิบาย เอาไว้มาอ่านรายละเอียดที่บ้าน โดยวิธีนี้เราก็ใช้เวลาที่พิพิธภัณฑ์น้อย กลับมาทบทวนที่บ้านได้ ต้องอย่าลืมเก็บแผ่นพับมาเป็น reference ด้วย

ดูจากเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ National Museum of American Indian มีกิจกรรมหลายอย่างที่พยายามเชื่อมโยงคนอเมริกันอินเดียนทั่วทวีปอเมริกา เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม (ซึ่งรวมความคิด ความเชื่อ พิธีกรรม ภาษา ศิลปะ กระบวนการทางจิตวิญญาณ และชีวิตประจำวัน) ของคนอเมริกันอินเดียนไว้ โดยเขารวมเผ่า Inuit ที่อยู่ที่ขั้วโลกด้วย เป็นการให้เกียรติ และเคารพความแตกต่างหลากหลายของอเมริกันอินเดียน เวลาเราไปชมพิพิธภัณฑ์ เราต้องไปด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง เปิดรับ ไม่ตัดสินถูกผิด แต่ทำความเข้าใจเหตุผลทางสภาพแวดล้อมที่อยู่เบื้องหลังหรือเป็นปัจจัยหนุนนำให้เกิดวัฒนธรรมนั้น

การไปดูศิลปวัตถุของชนเผ่า ถ้าเราดูแบบใช้กระบวนทัศน์แบบหยุดนิ่งก็จะคิดว่าวัฒนธรรมเหล่านี้ล้าหลัง แต่ NMAI เขามีคำอธิบายให้เห็นพลวัตของวัฒนธรรมอินเดียนหลังจากมีการติดต่อค้าขายกับภายนอก ศิลปะเครื่องแต่งกายมีการพัฒนาปรับตัว ใช้วัสดุจากภายนอกมากขึ้น แต่ใส่ศิลปะและฝีมือของอินเดียนเข้าไป ทำให้มีความงดงามมากขึ้น และมีความสะดวกต่อการใช้สอยมากขึ้น

สรุปว่า ไปเที่ยวกรุงวอชิงตัน ดีซี คราวนี้เราตัดสินใจถูกที่ไม่บอกเพื่อน ไม่ไปพักบ้านเพื่อน เพื่อจะได้มีเวลาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ได้เต็มที่ คนบ้าพิพิธภัณฑ์แบบผมมาอเมริกา เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ได้เต็มอิ่มดีจริงๆ ยิ่งเขาใจกว้างให้ถ่ายรูปได้ไม่อั้นเช่นนี้ ยิ่งดู (และถ่ายรูป) สนุก การไปวอชิงตัน ดีซี 3 วันนี้จึงจัดได้ว่าเป็น Museum Tour

ผมเกิดแนวคิดว่าการไปชมพิพิธภัณฑ์ก็คือการไป “เรียนรู้แบบย่นเวลา” เรื่องราวของพัฒนาการด้านหนึ่งๆ เป็นพัน ร้อย หรือหลายสิบปี นักจัดพิพิธภัณฑ์เขาเอามาจัดนิทรรศการให้เราทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาไม่กี่นาที หรือมองอีกมุมหนึ่ง พิพิธภัณฑ์คือกลไกเปลี่ยนวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อีกแนวหนึ่ง ผมค่อยๆตีความสิ่งที่ไปเห็น ทำให้ผมมีจินตนาการเรื่องการเรียนรู้ในสังคมสมัยใหม่ และเกิดแนวคิดวิธีการเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนทรัพยากรสาธารณะเพื่อการเรียนรู้แบบที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง โดยแบบหนึ่งคือ Museum-based Learning

ผมเริ่มเห็นชัดขึ้นว่าการใช้งบประมาณของชาติด้านการเรียนรู้ของเรา ต้องการการเปลี่ยนแบบเปลี่ยนกระบวนทัศน์ มิฉะนั้นเราก็จะอยู่ในสภาพที่ลงทุนมากได้ผลน้อยเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ระบบ School-based Learning กำลังถูกท้าทายอย่างหนักทั่วโลก

อาหารอินเดียนพื้นเมือง ซ้ายเนื้อกวาง Elk ยัดไส้ ขวา Tacos ขวาบนข้าวป่า

ข้าวป่าอินเดียนเมล็ดยาวมาก สีดำสนิท ปรุงปนกับธัญญพืชอื่น

เรือทำจากตันกก ของอินเดียนในอเมริกาใต้


ตำนานอินเดียนว่านก raven ขโมยพระอาทิตย์ทำให้เกิดกลางวันกลางคืน

ภาพถ่ายพิธีฉลองต้อนรับฤดูใบไม้ผลิของเผ่า Pueblo รัฐนิวเม็กซิโก

หน้ากากสวมเต้นในพิธีกรรมของเผ่าในประเทศโบลิเวีย อเมริกาใต้

ชุดแต่งกายอันวิจิตร ลืมจดมาว่าเป็นของเผ่าไหน


วิจารณ์ พานิช
26 ต.ค. 50
นิวยอร์ค

หมายเลขบันทึก: 148333เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2007 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2016 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท