ทำอย่างไรให้ในหลวงอยู่กับเราไปนานๆ (๒)


เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวที่น่ายินดีว่าองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เทิดพระเกียรติในหลวง และจะขออัญเชิญหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเตรียมบรรจุไว้ในแผนพัฒนาโลกอย่างยั่งยืนปี 2573 ตามกรอบของสหประชาชาติ (UN) ด้วย ผมจึงเสนอว่าเมื่อเสร็จงานพระราชพิธีพระบรมศพแล้ว รัฐบาลน่าจะเสนอต่อองค์การยูเนสโก ให้เทิดพระเกียรติและยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วย

หลังจากเขียนเรื่องนี้ไว้ในตอนที่ 1 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 แล้ว ผมยังครุ่นคิดถึงเรื่องนี้อยู่ จึงอยากจะเขียนเรื่องนี้ขึ้นอีก เป็นตอนที่ 2

คงจะขอเรียนท่านผู้อ่านไว้ก่อน เหมือนกับที่เคยเขียนบอกไว้เมื่อตอนที่แล้ว ว่าผมขอเขียนด้วยภาษาธรรมดา แบบชาวบ้าน อาจจะใช้คำราชาศัพท์บ้างเท่าที่รู้ แต่ไม่ได้มีความรู้มากพอจะเขียนโดยใช้คำราชาศัพท์ทั้งหมด และผมยังคงขอยืนยันว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะเทิดพระเกียรติ มิได้มีเจตนาจะลดหรือทำลายพระเกียรติ แต่ประการใด

บางคนอาจจะบอกว่า ถ้าจะทำให้ในหลวงอยู่กับเราไปนานๆ ควรจะสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้น สร้างอาคาร สร้างอนุสรณ์สถาน สร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างสวนสาธารณะ ฯลฯ ในพระนามของพระองค์ ผมมิได้คัดค้าน และขอสนับสนุนให้สร้างทุกอย่าง ทั้งที่กล่าวและไม่ได้กล่าวมาตามความเหมาะสม เพื่อเทิดพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์แด่พระองค์

แต่กระนั้นก็ยังอาจจะไม่ยั่งยืน เพียงพอที่จะให้พระองค์ทรงอยู่กับเราไปอีกหลายร้อยหรือหลายพันปีได้ เพราะแม้ว่าจะสร้างสิ่งที่เป็นวัตถุต่างๆ ไว้ ชั่วไม่กี่รุ่นคน ก็คงจะมีคนจะรู้จักแต่พระนาม และเมื่อเวลาผ่านไป วัตถุก็คงจะเสื่อมสลายไปและพระนามก็อาจจะถูกลืมได้

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวที่น่ายินดีว่าองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เทิดพระเกียรติในหลวง และจะขออัญเชิญหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเตรียมบรรจุไว้ในแผนพัฒนาโลกอย่างยั่งยืนปี 2573 ตามกรอบของสหประชาชาติ (UN) ด้วย ผมจึงเสนอว่าเมื่อเสร็จงานพระราชพิธีพระบรมศพแล้ว รัฐบาลน่าจะเสนอต่อองค์การยูเนสโก ให้เทิดพระเกียรติและยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วย

หากเป็นจริงตามข่าวข้างต้น ก็อาจจะทำให้พระนาม พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชปณิธาน ปรัชญา คำสอน แนวทางปฏิบัติ ฯลฯ ของพระองค์ ยั่งยืนยาวนานขึ้น แต่จะยั่งยืนถึงหลายร้อยหรือหลายพันปีหรือไม่ คงจะไม่มีใครทราบ เพราะคงจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง

ในรายการ 'ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน' เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และวางแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ระยะ 5 ปี (2559-2564) บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง และได้กล่าวถึงการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง และรัฐบาลจะสืบสานพระราชปณิธานผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีมากกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ ให้ยังคงอยู่และขยายศักยภาพ และจะใช้ประโยชน์จากการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ของกระทรวงต่างๆ เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรทฤษฎีใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 7,000 แห่ง และศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 2,000 แห่ง โดยจะใช้เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ฯลฯ ด้วย

การดำเนินการในเรื่องที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นสิ่งที่ดีและจะช่วยทำให้ในหลวงอยู่กับเราได้นานขึ้น และน่าจะถูกทางแล้ว แต่ยังอาจจะต้องการอะไรบางอย่างเพิ่มเติมอีก

หลังจากที่ผมครุ่นคิดในเรื่องนี้มาหลายวัน และได้อ่านข้อคิดและบทความจากหลายๆ ท่าน จากที่ผมไม่มีคำตอบ ผมก็เริ่มจะมีความคิดเห็นมากขึ้น ที่อยากจะขอเสนอเพิ่มเติมไว้ให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจดำเนินการ เพราะผมคงจะคิดและเสนอไว้ได้ แต่คงจะไม่มีสติปัญาและความสามารถดำเนินการเองได้ เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินความสามารถของผม

ผมมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไรที่จะให้ในหลวงอยู่กับเรานานๆ จะขอนำมาเสนอในตอนต่อไปครับ

23 ต.ค. 2559

หมายเลขบันทึก: 618026เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2016 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2016 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท