​จะทำอย่างไร เมื่อมีคำตรัสว่า “อย่ารักใครๆ”


การศึกษาพระธรรมอันเป็นพุทธพจน์เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต มีเรื่องที่ควรทราบและควรทำความเข้าใจก่อนหลายๆประการแล้วจึงนำธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ควรทราบธรรมในคำตรัสอันเป็นสุภาษิตนั้นก่อนว่า ตรัสกับใคร มีเพศ ฐานะ ความรู้ในคำสอนอย่างไร อีกทั้งยังควรทราบว่าคำตรัสในบางที่ตรัสบอกสภาวะ บางที่ตรัสบอกเหตุ บางที่ตรัสบอกผล บางที่ตรัสบอกวิธีการปฏิบัติ บางที่ตรัสบอกแทบทั้งหมดนี้ในการตรัสเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ ยังควรทำความเข้าใจเนื้อความในคำตรัสให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความ ลังเลสงสัย จนไม่แน่ใจในการปฏิบัติ เพราะหากนำธรรมไปปฏิบัติแบบทำตามๆกันไป เหตุแห่งสมุทัยอาจกลับยิ่งเพิ่มพูน

ดังเช่นการเกิดความเห็นหนึ่งในหมู่ชนผู้ศึกษาธรรมที่มีคู่ว่าคู่ยิ่งดี ยิ่งไม่ดี เพราะทำให้ลำบากใจในการตัดใจจากไป อันเป็นการโยนความผิดในการที่ตนไม่สามารถบรรลุธรรมให้เป็นของอีกคนหนึ่ง กลายเป็นว่าความเป็นคนดีของเขาผู้นั้นกลับเป็นความผิดเพราะมาเป็นอุปสรรคในการบรรลุธรรมของเรา มาทำให้เรายึดมั่นในตัวเขาจนยากที่จะตัดใจปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นไปได้ จนอาจทำให้ใจเราไม่สามารถอนุโมทนากับความดีงามที่เขามีอยู่ ที่เขาทำให้เจริญขึ้นได้

เพราะในความเป็นจริงก็คือ ตัวเรานั่นเองยังมีความยึดถือมั่นจนอยู่เป็นสุขกับความเป็นจริงในปัจจุบันไม่ได้ ยังมีความไม่รู้ และ รู้หลง รู้ไม่ถ้วนทั่ว ที่รวมเรียกว่า อวิชชา อยู่

ซึ่งอวิชชาในที่นี้อาจเป็นสิ่งต่างๆเหล่านี้ก็เป็นได้ เป็นต้นว่า

-ความรู้หลง หลงเห็นกุศลคือความดีงาม ว่าเป็นอกุศล

-ความไม่มักน้อยในผลของการปฏิบัติ ความที่กำลังศีล สมาธิ ปัญญา ยังอยู่ในระดับหนึ่ง แต่กลับหวังผลการปฏิบัติในอีกระดับหนึ่งซึ่งสูงกว่ากำลังของตนเป็นอย่างมาก มีความอยากที่จะบรรลุธรรมไวๆจนเกิดปรารถนาที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงในปัจจุบัน

-ความประมาท ยึดมั่นในสิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้รับรู้ ว่าเป็นตนถาวร

-ความไม่มีสัมปชัญญะ ไม่รู้ชัดว่าตนยังมีกิเลสกามอยู่จึงได้มีการเสพความรื่นรมย์ ความสุข จากวัตถุกาม

ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคแก่ตนมากกว่าความดีงามของคู่ครองตน

ทั้งนี้เนื่องจากกามมีประกอบสองส่วนคือ กิเลสกาม หรือ กิเลสเป็นเหตุใคร่ กิเลสเป็นเหตุอยากให้ได้เสพ และวัตถุกาม หรือวัตถุที่ใคร่ วัตถุที่ทำให้ได้เสพ เมื่อเรายังมีกิเลสกาม ก็เป็นธรรมดาที่จะแสวงหา ที่จะหวงแหน ที่จะรักษาสภาพของวัตถุกามไว้เพื่อการเสพสุข ดังนั้นเมื่อเรายังมีความอยากที่จะเสพ ก็ไม่ควรไปโทษสิ่งที่เราเสพ ว่าเป็นเพราะสิ่งนั้นงดงามเกินไป จนเราห้ามการเสพไว้ได้ยาก ทำให้เราตัดใจไม่เสพได้ยาก เมื่อยังมีกิเลสก็ให้รู้ว่าตนยังมีกิเลส ควรทำแต่เหตุคือการปฏิบัติเพื่อให้เห็นโทษ ให้แจ้งสภาวะไปตามกำลังตนโดยไม่หวังผลของการปฏิบัติ จนเห็นถ้วนทั่วทั้งคุณและโทษ กระทั่งค่อยๆปล่อยวางไปทีละนิดๆตามกำลังของการเห็นเอง


การศึกษาธรรมในพุทธศาสนาควรทำตามที่ตรัสคือ ฟังและทรงจำไว้ นำไปไตร่ตรองจนเข้าใจ จากนั้นจึงตั้งตนไว้ในธรรมนั้น หรือก็คือนำมาปฏิบัติให้เกิด ให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน หากเราไม่เข้าใจคำสอนอย่างแท้จริงแล้วนำไปปฏิบัติในชีวิต ก็อาจเกิดการเข้าใจผิด จนสร้างเหตุแห่งทุกข์ใหม่ขึ้นมา

ตัวอย่างเช่นคำตรัสเป็นพระคาถาหนึ่ง (คาถา หมายถึงคำตรัสที่ถูกร้อยเรียงในรูปของฉันท์ หนึ่งคาถาจะมี ๔ บาท อาจสังเกตง่ายๆคือมี ๔ บรรทัด) ซึ่งตรัสถึงเหตุและผลของภาวะ ว่าอย่ารักใครๆ ความรักที่ตรัสในคาถานี้คือความรักที่ได้ชื่อว่า “ปิยะ” คาถานี้หากผู้ศึกษาไม่สามารถพิจารณาคำที่ได้ชื่อว่า “ความรัก” ในภาษาไทย ว่าความรักในรูปแบบใดที่ตรัสว่าไม่ควรมี ก็อาจทำให้เกิดผลคือการปฏิบัติผิดจนเกิดวิภวตัณหา หรือ ความอยากในการสูญ อยากให้ไม่มี แทนที่จะเกิดปัญญารู้เห็นด้วยความเป็นกลาง

ซึ่งพระคาถานี้คือคาถาในขุททกนิกาย ธรรมบท อยู่ในวรรคชื่อ ปิยวรรค อันมีใจความว่า

ตสฺมา ปิยํ น กยิราถ

ปิยาปาโย หิ ปาปโก

คนฺถา เตสํ น วิชฺชนฺติ

เยสํ นตฺถิ ปิยาปิยํ ฯ

เหตุนั้น จึงไม่ควรทำสัตว์หรือสังขารไรๆให้เป็นที่รัก

เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นสภาพเป็นโทษ

บุคคลผู้ไม่มีสิ่งอันเป็นที่รักหรือที่ไม่รัก

ย่อมไม่ถูกเสียดแทงด้วยเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย.

หากเราไม่พิจารณาคำแปลว่า “รัก” ในคาถานี้อย่างถี่ถ้วน ก็อาจเกิดความลังเลสงสัยในพระธรรมอันเป็นคำสั่งสอน เพราะก็ในเมื่อความรักมีข้อดีคือทำให้เราอยากทำความดีๆเพื่อสิ่งหรือบุคคลอันเป็นที่รักแล้วทำไมเราจึงไม่ควรมีความรักให้ใครๆ ชีวิตในโลกจะเป็นไปอย่างไรถ้าใครๆไม่มีความรักให้แก่กันและกันเลย เมื่อไม่รักแล้วเราจะมีแก่ใจ มีกำลังใจในปฏิบัติหน้าที่ต่อสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้อย่างไร บุคคลหรือสิ่งต่างๆที่เรารักอยู่แล้ว เราควรปฏิบัติต่อเขาอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะไม่รักต่อไปได้ เมื่อมีความลังเลสงสัย นอกจากจิตจะไม่สามารถเป็นสมาธิได้แล้ว ยังก่อให้เกิดความทุกข์ใจตามมา จนอาจกลายเป็นว่า ยิ่งปฏิบัติธรรม กลับยิ่งทุกข์ใจ จนอาจตกหล่นจากการปฏิบัติธรรมเพื่อรู้ธรรมในพุทธศาสนาไปเลยก็ได้

ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ธรรมทั้งมวลเริ่มต้นจากความรัก และเราก็ควรเข้าใจว่า คำว่า “รัก” นั้นแยกได้เป็นสองลักษณะ คือรักเพื่อการได้เสพกามของตนอันเป็นความคับแคบของจิตหรือความรักที่ได้ชื่อว่า ปิยะ กับ รักบุคคลอื่นสิ่งอื่นเพื่อความงดงามของสิ่งนั้นบุคคลนั้น อันเป็นไปในทางตรงข้าม หรือ เมตตา


ความรักที่ตรัสว่า เราไม่พึงทำอะไรๆให้เป็นที่รัก ในพระคาถานี้ คือความรักที่ได้ชื่อว่า ปิยะ อันมีความหมายเดียวกับ เสน่หา นั้นเป็นผลของการที่เรายังมีกิเลส เป็นความรักสิ่งอื่น บุคคลอื่น เพื่อความรื่นรมย์ เพื่อความสุขของตน จึงมีการกระทำที่เป็นการสร้าง หรือ สนับสนุนสิ่งหรือบุคคลนั้นๆให้พบกับความดีงาม เพื่อตนจะได้ร่วมรับผลคือความดีงามที่เกิดจากการกระทำหรือการสนับสนุนนั้นด้วย เมื่อสิ่งนั้นๆบุคคลนั้นๆงดงามขึ้น ความงามนั้นเองทำให้เราได้รับความรื่นรมย์มากยิ่งขึ้น และเพราะสิ่งนั้นบุคคลนั้นให้ความรื่นรมย์แก่เรา เราจึงยึดสิ่งนั้นบุคคลนั้นไว้เป็นของเรา หวงแหน ไม่อยากให้ตกไปเป็นของใคร อยากรักษาสิ่งนั้นๆไว้เพื่อการเสพของเราตลอดไป อีกทั้งอยากให้สิ่งนั้นบุคคลนั้นดูดี งดงามในทางที่เราอยากให้เป็น อยากให้มีการดำรงสภาพ ไม่อยากให้มีการแปรปรวนไป หรือ เกิดความโลภ หมายปองในของรัก หรือสิ่งอันเป็นสิทธิของผู้อื่น จนต้องข่มกลั้น จนทุกข์เพราะการข่มกลั้นนั้นอันเป็นการเบียดเบียนตน หรือแสดงออกมาเป็นการแย่งชิง อันเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น

สิ่งอันเป็นที่รักไม่ได้มีความหมายเพียงสิ่งของ บุคคล เช่น พ่อแม่ บุตรหลาน คนรักของเราเท่านั้น แต่ยังรวมความถึงภาวะต่างๆอันเป็นนามธรรมที่เราจับยึดไว้เพราะทำให้เกิดการติดใจยินดีด้วย เช่น การมีอำนาจบังคับบัญชาผู้อื่น การมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย การมีทรัพย์สิน การได้รับคำสรรเสริญ ธรรมชาติอันงดงาม เสียงหัวเราะด้วยความเบิกบาน รอยยิ้มที่สดใส การได้ความคิดรวบยอดที่เกิดจากการพิจารณาหาเหตุผล การได้ความเห็นคล้อยตามตน เหล่านี้เป็นต้น

แม้ปิยะจะให้คุณคือทำให้อยากสร้างสิ่งดีๆเพื่อสิ่งหรือบุคคลที่เรารัก แต่ก็ให้โทษคือเป็นเหตุนำใจเราไปสู่ความตกต่ำ ทำเครื่องร้อยรัดทั้งสองคืออภิชฌาและพยาบาทให้รัดรึงเรามากยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้กิเลสทั้งสามประเภท คือราคะ โทสะ โมหะ งอกงาม ทำให้ใจถูกเสียดแทงด้วยทุกข์นานาประการ

เหตุที่ปิยะทำให้อภิชฉาและพยาบาทรัดรึงใจก็เพราะ ความแปรปรวนเป็นเรื่องธรรมดาของโลก เมื่อมีรักเพื่อตนจึงมีความหวงแหนเพราะกังวลว่าสิ่งที่รักจะแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา จึงมีอภิชฌาหรือการเพ่งเฉพาะด้วยความระแวงว่าจะมีการแปรปรวนไป หรือเมื่อสิ่งนั้นแปรปรวนไปก็โทมนัสว่าสิ่งนั้นได้แปรไปแล้ว อันนำไปสู่ความน้อยใจ ขัดเคืองใจ โกรธ ผูกโกรธ ละห้อยอาลัยหา ริษยา ขาดเมตตา ไม่สามารถอนุโมทนาหรือริษยาในความดีงามของผู้ที่เห็นว่าอาจมาแย่งชิงได้ อยากให้ผู้ที่ตนริษยาตกต่ำ ไม่มีความสุข หรือ หาทางทำลายความดีงามหรือความสุขหรือทรัพย์สินของเขา เป็นต้น


ส่วน เมตตา เป็นความรัก ความปรารถนาอยากให้สรรพสัตว์มีสุขอย่างบริสุทธิ์ใจ เป็นความเยื่อใยฉันท์มิตร ด้วยเป็นความปรารถนาสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นแก่สิ่งหรือบุคคลอื่นโดยไม่มีความเป็นตน เป็นของตนเข้าไปร่วมรับผลของความดีงามนั้นด้วยแต่อย่างใด เป็นธรรมที่ทุกคนควรฝึกให้มี ให้เจริญ ดังที่เมตตาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีแก่สัตว์โลก เมตตาที่เพื่อนมนุษย์มีต่อกัน

เพราะเมตตาเขาปรารถนาให้เขาเป็นสุข จึงมีการข่มกลั้นการกระทำใดๆที่จะทำให้เขาได้รับความกระทบกระเทือนใจ อันเป็นการนำไปสู่การมีศีล และเพราะการข่มกลั้นทำให้เราอึดอัด ขัดข้องเสียเอง จึงต้องเมตตาตนด้วยการพิจารณาเพื่อให้ใจผ่องใสขึ้น จึงเป็นการนำไปสู่การได้ปัญญารู้พ้น การมีสัมปชัญญะ และเพราะชีวิตเราต้องติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นตลอดเวลา เพื่อจะรักษาใจให้ผ่องใส ไม่เป็นการพาใจเราให้ไหลลงสู่ที่ต่ำ ไม่เป็นอุปสรรคในการคบหา ด้วยความเพียรรักษาใจตนด้วยสติอย่างสม่ำเสมอ จึงนำไปสู่การเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของบุคคลในสังคม เมื่อได้เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีแก่บุคคลในสังคม จึงเท่ากับเป็นการให้ธรรมทาน อันเป็นการให้ที่ตรัสว่าเลิศที่สุด เพราะเกิดจากการนำธรรมมาปฏิบัติจนธรรมเป็นเนื้อตัว เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต จนผู้อื่นเห็นความสุข ความงาม ที่เกิดจากการปฏิบัติตามธรรม กระทั่งเขาอยากน้อมธรรมเข้ามาปฏิบัติในชีวิตตามไปด้วย จึงเป็นเหตุให้สังคมค่อยๆหมุนไปสู่การเป็นสังคมที่ดีงาม อีกทั้งเมื่อมีการพิจารณาเพื่อที่จะอบรมเมตตา การให้อภัยก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะเมตตาเป็นธรรมที่เป็นคู่ปรับกับพยาบาท

และเพราะเหตุปัจจัยเหล่านี้ สัทธรรมจึงได้รับการจรรโลงให้ดำรง

ส่วนเหตุที่เราทั้งหลายในโลกยังต้องมีความรัก ก็เพราะกายและใจนี้จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยอาหาร โดยที่กายได้อาหารคือสิ่งต่างๆที่เรารับประทาน ส่วนใจหรือจิต ได้อาหารคือปีติ สุข และสุขที่เราหาได้ง่ายที่สุดก็คือสุขที่ได้เสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันเรียกว่า กามสุข เราทั้งหลายจึงอยากได้ความรื่นรมย์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายอันเป็นกามสุขมาเป็นอาหารให้แก่ใจ มาทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ จึงเป็นธรรมดาที่ชาวโลกจะมีรัก ดังนั้นเราจึงควรเข้าใจความหมายของคำว่ารักในภาษาไทย ว่าสุขจากความรักแบบใดปราศจากโทษ เป็นความรักที่ควรทำให้เกิด ให้เจริญ และสุขจากความรักแบบใดมีทุกข์หรือโทษเจือ ควรน้อมนำธรรมเข้ามาสู่การปฏิบัติเพื่อให้ค่อยๆกลับกลายเป็นความรักที่ไม่มีโทษ

หรือ ในขณะที่ยังต้องอาศัยความรักที่มีโทษเจือเป็นอาหารจิตอยู่ ก็ต้องมีรู้จักการควบคุม สมดังที่สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ตรัสสอนว่า “วิสัยโลกต้องมีรัก แต่ต้องมีติคอยควบคุมใจ อย่าให้รักมีอำนาจเหนือสติ”

นั่นคือ เมื่อทราบว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา ความรักด้วยปิยะหรือเสน่หาอันเป็นไปตามคติธรรมดาของโลกก็เช่นกัน เมื่อทราบแล้วว่าความแปรปรวนเป็นเรื่องธรรมดาของโลก หากไม่ปรารถนาความแปรปรวน ก็ควรสร้างหรือรักษาเหตุปัจจัยที่จะทำให้มีการคงสภาพเดิมไว้ หรือหากเผลอไผลขาดสติคอยควบคุมใจไปจนสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดการแปรปรวนขึ้นแล้ว ก็ควรมีความเพียรในการละทิ้ง ไถ่ถอน


แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำใจให้ยอมรับว่าความแปรปรวนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ รักด้วยปิยะหรือเสน่หาอย่างไรก็มีโทษ เพราะอย่างน้อยก็ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการคอยควบคุมใจ ไม่ให้โทษจากรักปรากฏตลอดเส้นทางรัก ความสุขจากรักในลักษณะนี้จึงมีทุกข์เจืออยู่เสมอ หากไม่อยากรับโทษจากรักแบบนี้ ก็ต้องค่อยๆคลี่คลายความคับแคบไปสู่ความกว้างขวาง ไม่เป็นประมาณ โดยการนำตนเข้าเปรียบ เป็นต้นว่า ตนรักชีวิต ทรัพย์สิน คนในครอบครัว ไม่อยากให้ผู้อื่นมาล่วงเกินอย่างไร คนอื่นก็อยากได้อย่างนั้น ตนอยากได้ความดีงาม อยากได้ความช่วยเหลือในยามทุกข์ยาก อยากได้ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ฯลฯ อย่างไร คนอื่นก็อยากได้อย่างนั้น หมั่นพิจารณาโทษของกาม ฝึกสติให้คอยระลึกรู้สภาพเกิดดับเกี่ยวกับกายและใจตนเพื่อค่อยๆน้อมจิตให้เห็นถึงความว่างจากความเห็นว่าเป็นตน ความเป็นสิ่งที่ยึดถือไว้ไม่ได้

การยอมรับความเป็นจริงจะช่วยให้ไม่ตัดสินการกระทำ ตัดสินผู้อื่น ด้วยความเห็นหรือความต้องการของตน อันเป็นการค่อยๆคลายความยึดถือมั่น อภิชฌาและพยาบาทจึงค่อยๆลดลง จึงจะเป็นการมีความรักตามวิสัยโลกอย่างไม่ประมาทและมีสติ

ด้วยความเข้าใจในธรรม ไม่ประมาทในธรรม นอกจากจะเป็นการป้องกันใจไม่ให้ไหลสู่ที่ต่ำด้วยอกุศลธรรมต่างๆ เป็นการฝึกตนไม่ให้หลงใหลในสุขของบุคคลแล้ว การฝึกการคลายความเห็นว่าเป็นตน น้อมลงสู่ความว่าง ยังเป็นการฝึกเพื่อให้พบสุขอันเลิศยิ่งขึ้น นั่นคือสุขจากความดับความต้องการที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงในปัจจุบันบ้าง ความดับจากความต้องการผลของเหตุที่แม้จะเป็นเหตุอันชอบธรรมบ้าง ความดับจากความต้องการนำตนไปเปรียบกับผู้อื่นบ้าง ฯลฯ อันเป็นการนำธรรมมาสู่การปฏิบัติในชีวิตอย่างแท้จริง

การปฏิบัติที่ทำให้เมตตาเจริญขึ้นและน้อมลงสู่ความว่างนี้เอง จึงได้ชื่อว่า เป็นอยู่ชอบ และเป็นเหตุที่จะช่วยรักษาพระสัทธรรมไว้ ไม่ให้เสื่อมสูญ

หมายเลขบันทึก: 617851เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2016 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2016 05:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

"...การเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของบุคคลในสังคม..." ชอบจังค่ะ เหมือนทฤษฎีเซลล์กระจกเงา

คนใกล้รอบ ๆ ตัวเรานี่แหละ ส่องกระจกซึ่งกันและกัน อนุโมทนายินดีด้วยที่เขามีสุข

ฝึกใจไม่ต้องเปรียบกับตัวเอง พยายามค่ะ ยังพยายามไม่ยึดมั่นแต่ตัวตนเอง

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณธิ

ขอบพระคุณสำหรับการแวะมาเยี่ยมกันและความเห็นมากเลยค่ะ

สำหรับการนำธรรมในพุทธศาสนามาปฏิบัตินั้น ตรัสให้เราทำเป็นขั้นๆไปค่ะ โดยในขั้นแรก เรายังมีความยึดมั่นในตน ในความเห็นว่าเป็นตนอยู่ เมื่อยังมีความเห็นว่าเป็นตน บุคคลที่เรารักมากที่สุดก็คือตัวเอง (ดังที่ตรัสตอบพระเจ้าปเสนทิโกศล) ครั้นรักตน รู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ให้ทำตนทำตนให้เป็นอันรักษาดีแล้ว ซึ่งก็คือการฝึกในด้านต่างๆ โดยในเบื้องต้น ก็ให้ "ไม่ทำบาปทั้งปวง" ก่อน เมตตาจึงเป็นอุบายฝึกที่ดีค่ะ จึงตรัสให้เอาตนเข้าเปรียบ ว่าเราต้องการสุข รักชีวิต ฯลฯ อย่างไร คนอื่นก็อย่างนั้น จะได้ไม่ทำการเบียดเบียนใคร อันเป็นเจตนาละเว้นจนกระทั่งละเว้นได้โดยไม่ต้องมีเจตนาเพราะละเป็นปกติ ชีวิตจึงมี "ศีล"

แล้วจึงให้ "ยังกุศลให้ถึงพร้อม" คือจากที่ละเพื่อตนจะได้ไม่เดือดร้อน เช่น มีทางไปต่ำ ทำทางสู่อบายแก่ตน จึงละไม่เบียดเบียนเขา เมื่ออบรมเมตตามากขึ้นเรื่อยๆ ก็ค่อยๆกลายเป็นละเพื่อความสุขของเขา เมื่อเขาสุข สุขนั้นก็ทำให้เราอิ่มใจว่าไดทำสิ่งดีอย่างบริสุทธิ์ใจ ใจจึงราบเรียบ สม่ำเสมอ ในชีวิตประจำวัน ไม่วูบวาบหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่มากระทบ อันเป็นส่วนของ "สมาธิ"

แล้วจึง "ทำจิตให้ขาวรอบ" หรือ ผ่องแผ้ว มีการพิจารณาให้คลายความเห็นว่าเป็นตนลงไปเรื่อยๆ

มีสูตรหนึ่งค่ะ พระองค์เปรียบใจเหมือนผ้า ใจที่ยังไม่คลายกิเลสเปรียบเหมือนผ้าสกปรกที่ยังไม่มีการซักล้างให้สะอาดเสียก่อน หากนำไปย้อมด้วยน้ำสี ผ้าสีที่ได้ก็มีสีไม่สดใส จึงต้องมีการชำระใจจากกิเลสเสียก่อน

ตรัสว่าเมื่ออบรมเมตตาขึ้นมาได้แล้ว เมื่อแผ่ขยายเมตตาออกไปไม่เป็นประมาณ ก็จะได้เห็นภาวะต่างๆ จนรู้ว่า ธรรมที่ยิ่งกว่าพรหมวิหารนี้ก็มีอยู่ นิพพานมีจริง ซึ่งตรงนี้ เข้าใจว่าคงเพราะเมื่อมีเมตตาอย่างถึงที่สุดแล้ว จะไม่มีใครไม่ดีในสายตาเราเลย จะเข้าใจเขา อภัยเขาได้ในทุกเรื่อง (ดังที่ทรงอภัยได้แม้แต่พระเทวทัต) จึงอยู่เป็นสุข จิตสงบ ไม่มีภัยไม่มีเวรกับใครๆ จนแจ้งธรรมค่ะ ดังนั้นจึงเป็นการปฏิบัติเพื่อ "ปัญญา"

สมเด็จพระสังฆราช ทรงเน้นการอบรมตนในเรื่องของเมตตามากค่ะ เคยรวบรวมคำสอนของพระองค์เกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ อานิสงส์ วิธีการอบรมเมตตาไว้ที่นี่ อยากเชิญไปแวะด้วยค่ะ

https://www.gotoknow.org/posts/580165

สาธุ.. เจริญในพระสัทธรรม อีกครั้ง ...และรักษาพระสัทธรรม ให้ยังคงดำรงอยู่

" เรารักษาพระธรรม... พระธรรมรักษาเรา"

อุชุปฏิปันโน... วิญญูหิติ

ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ น้อมเข้ามาใส่ตัว...ผลย่อมรู้ได้โดยตนเอง

ขอบคุณพี่นงนาทมากค่ะ มาเยี่ยมกัน

ภาพและคำตรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พี่รวบรวมไว้ในบันทึก ทำให้เห็นพระกรุณาคุณมากยิ่งขึ้นค่ะ

ขอบคุณ อาจารย์หมอประวิทย์มากค่ะสำหรับความเห็น

ตรัสว่าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่พึงน้อมมาใส่ตน ก็คือน้อมเอาคำสอนเข้ามาทรงจำไว้ น้อมเอาสิ่งที่ทรงจำไว้ มาไตร่ตรองจนเข้าใจทั้งธรรมและอรรถ น้อมเอาเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันขึ้นมาเทียบคียงทั้งเหตุ ผล ที่เราได้ทำลงไป ผลของใจที่เกิดขึ้นหากไม่ปฏิบัติตามธรรม หรือที่ได้เกิดขึ้นในยามที่สติระลึกได้แล้วนำธรรมมาใช้ได้ทันท่วงที ก็จะพบว่าไม่ต่างจากคำตรัสเลย จึงเชื่อในกฎแห่งความเป็นธรรมดามากขึ้น

ก็จะมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นเกาะ มากขึ้นเรื่อยๆนะคะ

มีความคิดดีๆมาฝากเจ้าค่ะ.."เมตตา ต่อกัน"..วัดคำประมง..พระประพนภัชชระ...

ขอบคุณคุณยายธีมากค่ะ

สำหรับสิ่งดีๆที่นำมาฝากกันค่ะ

เป็นข้อความที่เข้าถึงแก่นธรรมโดยแท้ มีความชื่นชมและยินดีครับ อ่านแล้วเกิดปิติขึ้นมาเลย แต่จะไม่ขอยึดติดครับ จะขอรับรู้ไว้ว่านี่คือความสุขที่ได้รับ เป็นปรมัตถ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท