ตำนานการสื่อสารรัชกาลที่ ๙ ตอนที่ ๑ When the Genius was born


วิทยุแร่

King of Communication Engineer (part I)

: When the Genius was born.
 


 

เรียบเรียงโดย ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

วุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร ลำดับที่ 88


 

ในอดีต ปราชญ์ผู้หนึ่งคือท่าน หรีด เรืองฤทธิ์ ได้กล่าวไว้ว่า กษัตริย์ต้องมีความรู้ในศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นต่างๆ 18 ประการ เพื่อที่จะนำเอาความรู้เหล่านั้นมาปกครองบ้านเมือง ได้แก่ ยุทธศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ วาณิชยศาสตร์ อักษรศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ คณิตศาสตร์ โชติยศาสตร์ (วิชาดูดวงดาวต่างๆ) ภูมิศาสตร์ โหราศาสตร์ เวชศาสตร์ สัตวศาสตร์ เหตุศาสตร์ (วิชารู้เหตุเป็นแดนเกิดแห่งผลว่าร้ายหรือดี) โยคศาสตร์ (วิชารู้จักความเป็นช่างกล) ศาสนศาสตร์ คันธัพพศาสตร์ และฉันทศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นมหาปราชญ์ผู้หนึ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่า นอกจากศาสตร์ทั้ง 18 ประการพึงมี พระองค์ท่านยังมีความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ในหลายสาขา โดยเฉพาะความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารในระดับที่สูงมาก กล่าวได้ว่าทรงเป็น “วิศวกร” ผู้หนึ่งที่มองหาหนทางนำศิลปวิทยาการมาประยุกต์ใช้งานและแก้ปัญหาในยุคที่เมืองไทยล้าหลังประชาชนยากไร้ได้อย่างดี เหตุที่พระองค์ทรงมีทักษะและวิสัยทัศน์ด้านวิศวกรรมที่ก้าวไกลในการมองปัญหาในสังคม นั่นอาจจะเป็นเพราะทรงถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

ชาวไทยมักจะได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ถ่ายภาพร่วมกับของเล่นที่สมเด็จย่าเห็นว่าเล่นแล้วเป็นประโยชน์หลายชิ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วล้วนเป็นของเล่นที่ก่อให้เกิดทักษะทางวิศวกรรมทั้งสิ้น เช่น รถไม้ที่ต่อประกอบเอง เรือไม้ของเล่น รถไฟของเล่นที่ต้องทรงต่อประกอบเอง หรือแม้แต่แผนที่ประเทศไทยที่สมเด็จย่าให้คนทำเป็นไม้แล้วเลื่อยฉลุทำเป็นจิ๊กซอว์ให้บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ต่อเป็นของเล่น พอนึกแล้วข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งมาก เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่พระองค์ทรงนำมาทำคุณให้แก่ชาวไทยในกาลต่อมา


 


 


 


 


 


 


 

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับค่าขนมอาทิตย์ละครั้ง และยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม ทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก “การให้” โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสิน เรียกว่า "กระป๋องคนจน" เอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูกเก็บภาษีหยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนคนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ มีพระประสงค์สิ่งใด สมเด็จย่าก็สอนให้หยอดกระปุกอดออม เมื่อยอดครบแล้วค่อยนำไปซื้อสิ่งของเหล่านั้น เช่น จักรยาน ของเล่น หรือซื้อชิ้นส่วนของเล่นมาประดิษฐ์เพิ่มเติมเอง ไปจนถึงซื้อกล้องถ่ายรูปครั้งแรก ตั้งแต่มีพระชนมายุ 8 พรรษา


 

กำเนิดวิศวกรไฟฟ้าสื่อสารผู้ยิ่งใหญ่
 

ครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ราว 8-9 พรรษา ในงานโรงเรียนทรงจับสลากได้ลวดหนวดแมว ภาษาฝรั่งเรียกว่า Cat’s whisker เป็นชิ้นส่วนสำหรับภาครับเครื่องวิทยุแร่ (Crystal radio)…..

วิทยุแร่นั้นเป็นเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงระบบ AM ในสมัยก่อนที่มีหลักการทำงานง่ายที่สุด และไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ก็รับฟังได้

 


 

หลักการทำงานวิทยุแร่ (Crystal Radio)


 

หลักการทำงานนั้นเมื่อขวดลวด L1 ที่ต่อขนานกับตัวเก็บประจุไฟฟ้าแบบปรับค่าได้ C1 ได้รับสัญญาณจากสายอากาศ (Antenna) จะส่งสัญญาณต่อไปยัง D1 หรือไดโอดที่จะปล่อยให้สัญญาณด้านบวก (ครึ่งคลื่น) จะสามารถผ่านไปได้เท่านั้น และเมื่อถึงวงจรกรองสัญญาณที่มีเพียงตัวเก็บประจุ C2 ตัวเดียว ก็จะช่วยทำให้สัญญาณเรียบขึ้น ซึ่งนั่นก็คือสัญญาณเสียงที่เมื่อต่อกับหูฟังก็จะได้ยินเสียงรายการวิทยุ AM ทันที

เจ้าตัวไอโอดหรือ D1 ในผังดังกล่าวนั่นเองคือส่วนสำคัญที่สุดในการรับสัญญาณวิทยุแบบ AM ได้ ที่เรียกว่า Cat’s whisker หรือลวดหนวดแมวตามรอยประวัติศาสตร์ที่เราได้รับทราบจากพระราชประวัติในหลวงเมื่อทรงพระเยาว์จับสลากได้ ข้าพเจ้าก็ค้นคว้าว่า Cat’s whisker ประมาณปี ค.ศ. 1925-1940 จะมีหน้าตาเช่นนี้ครับ


 


 

ภาพตัวอย่าง Cat’s whisker ในยุคปี ค.ศ. 1925-1940


 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ในวัยพระเยาว์ 8-9 พรรษา ทรงได้รับเฉพาะตัวรับสัญญาณลวดหนวดแมว Cat’s whisker พระองค์จะทรงรู้สึกสงสัยประการใดบ้าง คงต้องทรงสงสัยถามพระเชษฐา และคนรอบข้างมากมายว่า Cat’s whisker คืออะไร? ทำงานอย่างไร? Crystal radio ไม่ใช้ไฟฟ้าทำไมทำงานได้? ข้าพเจ้านึกตามแล้วอมยิ้ม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ และพระเชษฐา หาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มาอ่านจนทราบแล้วว่า Crystal radio ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง จากนั้นทรงแคะกระปุกนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปซื้ออุปกรณ์โดยไม่รบกวนขอสมเด็จย่า ดังที่ปรากฏใน บันทึกความทรงจำ เรื่อง ในหลวงกับการสื่อสาร ของท่าน พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ 2542 บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงแคะกระปุก นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปซื้ออุปกรณ์ส่วนประกอบวิทยุอื่นๆ ซึ่งเขาเอามาใส่กระจาดขายชิ้นส่วนเลหลังในเมืองโลซานน์ แล้วทรงนำมาประกอบเป็นวิทยุแร่

“....แร่หนวดแมว (Cat’s Whisker) และกรอบขดลวดที่มีหกเหลี่ยม เมื่อทรงประกอบเสร็จ จึงต่อเข้ากับสายลวดไฟฟ้าที่ได้ขึงไว้ใช้เป็นสายอากาศ แล้วทรงปรับที่ตัวแร่ จนสามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงบางแห่งในยุโรปได้ทรงพอพระทัยและภูมิพระทัยมาก”

 


 


 

ภาพที่ข้าพเจ้าเชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงต่อวงจรวิทยุแร่อยู่
 


 

ลักษณะวิทยุแร่อย่างง่ายในราว ค.ศ. 1940s ที่ผู้เขียนคาดว่าจะคล้ายอย่างพระองค์สร้างขึ้นมา ต่างเพียงขดลวดเป็นแบบ 6 เหลี่ยม


 

เมื่อข้าพเจ้าวิเคราะห์ และลำดับเรื่องราว ตั้งแต่ทรงจับสลากได้ Cat’s Whisker และเกิดเป็นแรงผลักดันให้พระองค์ค้นคว้าต่อไปอีกหลายกระบวนการ จนสร้างเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงแบบแร่ขึ้นมาได้ตั้งแต่วัยเพียง 9 พรรษานั้น ไม่ใช่เรื่องที่คนธรรมดาทั่วไปจะทำได้ง่ายนัก สิ่งนี้ประการหนึ่งชี้ให้เห็นว่าพระองค์มีความเก่งอยู่ในพระองค์เอง ดังที่ในปัจจุบันมักมีคนพูดว่า จะผลักดันให้คนเก่ง ต้องมีสิ่งที่ยากท้าทายความสามารถคนๆ นั้น

และข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ท่านไม่ใช่แค่เพียงค้นคว้าว่า วิทยุแร่ทำงานอย่างไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แต่พระองค์ทรงหาหนทางพัฒนาคุณภาพที่ดีที่สุดด้วยแน่นอน สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าคิดเช่นนั้น ก็คือขดลวด (Coil) 6 เหลี่ยม ในยุคนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าใช้เพียงขดลวดทรงกระบอก และน่าจะมีขายในราคาที่ถูกกว่าก็น่าจะเพียงพอ แต่ต้องมีเหตุผลที่ทรงค้นคว้าแล้วดีกว่าแน่นอนจึงได้ทรงเลือกใช้ อีกทั้งการปรับแต่งจนได้ยินสถานีวิทยุบางแห่งในยุโรปได้นั้น คงมิใช่แค่เพียงการปรับแต่งที่ตัวแร่เท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นควรจะได้ยินตั้งแต่แรก ไม่น่าจะเป็นที่ประทับใจจนกลายมาเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ท่าน อาจจะทรงมีความรู้ไปถึงการพัฒนาวงจร Tuning ของภาครับ และการ Matching Impedance ของสายอากาศกับขดลวดวงจรภาครับด้วยซ้ำ แต่นั่นย่อมต้องมีเครื่องมือวัดเฉพาะทางของมืออาชีพ ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าอาจะเป็นไปไม่ได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยพระองค์ท่านจะต้องมีความรู้เทคนิคพิเศษที่สูงกว่าแค่การต่อวงจรและประกอบเครื่องธรรมดาแน่นอน จึงเกิดความรู้สึกว่าพระองค์เป็นอัจฉริยะจริงๆ

 

ข้าพเจ้าเชื่อว่าครั้งนั้นคงเป็นแรงบันดาลพระทัยที่สำคัญของพระองค์ต่อเทคโนโลยีการสื่อสาร และทรงค้นคว้าอย่างต่อเนื่องแน่นอน ซึ่งในกาลต่อมาภาครับวิทยุ AM จากเป็นการใช้แร่กลายมาเป็นแบบหลอด พระองค์ได้รับเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง ยี่ห้อ Centrum จากประเทศสวีเดน พระองค์ทรงเอื้อเฟื้อต่อภาคขยายเสียง และเดินสายลำโพงต่อไปยังห้องพระเชษฐาเพื่อให้บริการเสียงตามสายอีกด้วยในกาลต่อมา


 

อ้างอิง

- ดำรงวิชาการ ฉันท์อัษฎาพานร : ความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ มัทนียา มาลาทอง (http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/80_7.pdf )

- บันทึกความทรงจำ เรื่อง ในหลวงกับการสื่อสาร พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ 2542

- ในหลวงกับการสื่อสาร พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ วันสื่อสารแห่งชาติ : 2530

- ปฐมวัยของในหลวง ศิลปะ-วัฒนธรรม : 13 ธ.ค. 2553 (http://www.komchadluek.net/news/socail/82520 )


 


 


 


 


 


 


 


 


 

หมายเลขบันทึก: 617843เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2016 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2021 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท