(บางประเด็น) จากงานวิชาการเพื่อสังคมในมิติ ๔ IN ๑ (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน)


กระบวนการดังกล่าวนี้ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (อาจารย์/ผู้สอน-นิสิต-ชาวบ้าน-ภาคี) มีสถานะเป็นทั้ง “ผู้สอน” และ “ผู้เรียน” หรือเป็นทั้ง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” สลับกันไปตามครรลองของโจทย์ หรือวิธีการของการออกแบบการเรียนรู้ ซึ่งหนุนเสริมให้ตระหนักว่า “ไม่มีที่ใด (หรือใคร) ปราศจากความรู้” และเน้นย้ำถึงแนวคิดการเรียนรู้บนความจริงของสังคม มิใช่การเรียนรู้ผ่านทฤษฎีแต่ปราศจากการลงมือทำ

</span></span></span>

งานวิชาการเพื่อสังคม หรืองานวิชาการเพื่อรับใช้สังคม ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในที่นี้มีหมายความเฉพาะเจาะจงอันเป็นโครงการเชิงรุกที่ขับเคลื่อนในมิติการ “เรียนรู้คู่บริการ” (Service Learning) คือ โครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน (งานบริการวิชาการแก่สังคม) โครงการ ๑ คณะ ๑ ศิลปวัฒนธรรม (งานทำนุศิลปะและวัฒนธรรม) โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นและโครงการวิจัย มมส เพื่อชุมชน (งานวิจัย) ซึ่งทั้ง ๓ โครงการ คือ ๓ ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยฯ ที่บูรณาการร่วมกับภารกิจด้านการผลิตบัณฑิต หรือการเรียนการสอน หากแต่ในที่นี้จะเน้นการนำเสนอข้อมูลของโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน เป็นประเด็นหลัก





มีความหมายใดในหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน


หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
คืองานบริการวิชาการแก่สังคม ที่มุ่งให้แต่ละหลักสูตรได้นำองค์ความรู้อันเป็นความเชี่ยวชาญของตนเองไปบริการ หรือไปพัฒนาชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ตลอดจนภาคีภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในมิติของการบริการ คือการเรียนรู้คู่บริการ กล่าวคือ เน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ผสมสานระหว่างเทคโนโลยีหรือวิทยาการใหม่ๆ จากมหาวิทยาลัยกับภูมิปัญญาที่มีในชุมชน

การบูรณาการระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน คือระบบคิดที่มองไปยังความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน ผ่านการหนุนเสริมเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชน (Participatory Learning) เพื่อให้ชุมชนตระหนักในศักยภาพของตนเอง มิใช่กระบวนการที่บริการวิชาการในแบบดั้งเดิมที่เน้นการถ่ายทอดทางเดียวโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่มีในชุมชน หรือการไม่ได้สร้างให้ชุมชนได้หยัดยืนด้วยตัวเอง อาศัย หรือรอการช่วยเหลือจากภายนอกเสียทั้งหมด

และที่สำคัญก็คือหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ปฏิบัติการร่วมกัน มิใช่การทำงานในแบบ “ตูมเดียว” หากแต่ทำกันแบบต่อเนื่อง หรือ “ทำไปเรียนรู้ไป” เป็นระยะๆ นั่นเอง






หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : การสนธิโจทย์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน


หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน เป็นการบริการวิชาการบนฐานคิดของการสนธิโจทย์ร่วมของมหาวิทยาลัยกับชุมชน กล่าวคือเป็นการเรียนรู้คู่บริการบนฐานความต้องการของชุมชน โจทย์หรือประเด็นการขับเคลื่อนต้องมาจากชุมชน (เกาให้ถูกที่คัน) และสัมพันธ์กับศักยภาพ หรือความเชี่ยวชาญของหลักสูตรนั้นๆ มิใช่หลักสูตรไปหยิบยืมศักยภาพ หรือองค์ความรู้จากที่อื่นมาบริการสังคม โดยที่หลักสูตรไม่ได้บริการวิชาการต่อสังคมด้วยตนเอง

ดังนั้นหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน จึงเริ่มต้นจากการมุ่งมุ่นที่จะแก้ปัญหาชุมชนโดยใช้ศักยภาพของตนเองเป็นอันดับแรก และบูรณาการศาสตร์ความรู้อื่นๆ มาหนุนเสริมให้เกิดพลังมากยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนงานในมหาวิทยาลัยและส่วนงานจากภายนอก และที่สำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนรู้คู่บริการอย่างมีตัวตน มิใช่การ “ใช้งานนิสิต” ในแบบดั้งเดิมคือมอบหมายภารกิจให้นิสิตดูแลระบบบริการที่หลีกไม่พ้นการลงทะเบียน แจกเอกสาร ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน จึงเป็นการวางมุดหมายให้เกิดการพัฒนาคู่กันไปทั้งในมิติมหาวิทยาลัย (ผู้สอน-ผู้เรียน) และชุมชน (ชาวบ้าน-ภาคีอื่นๆ)





หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ปฏิรูปการเรียนรู้จากห้องเรียนสู่นอกห้องเรียน


หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
เป็นงานบริการวิชาการที่ยึดโยงเป็นหนึ่งเดียวกับระบบการเรียนการสอนในหลักสูตรนั้นๆ โดยกำหนดให้แต่ละหนักสูตรมีรายวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือมากกว่านั้นเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนรู้คู่บริการกับชุมชน ดังจะเห็นได้จากการระบุ “มคอ.” ไว้ในแต่ละโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน กลายเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ หรือการเรียนการสอนจากห้องเรียนในมหาวิทยาลัยไปสู่ห้องเรียนในชุมชน เป็นการเรียนรู้โดยนำวิชาชีพไปสู่การปฏิบัติการจริงร่วมกับชุมชนตามกรอบแนวคิดสำคัญๆ คือ

  • ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered learning)
  • ชุมชนเป็นห้องเรียน (Community Based Learning)
  • เรียนผ่านการลงมือทำจริง/เรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Project-Based Learning & Problem – based Learning) โดยมีชุมชน หรือภาคีอื่นๆ เข้ามาทำหน้าที่ร่วมสอน หรือถ่ายทอดความรู้




กระบวนการดังกล่าวนี้ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (อาจารย์/ผู้สอน-นิสิต-ชาวบ้าน-ภาคี) มีสถานะเป็นทั้ง “ผู้สอน” และ “ผู้เรียน” หรือเป็นทั้ง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” สลับกันไปตามครรลองของโจทย์ หรือวิธีการของการออกแบบการเรียนรู้ ซึ่งหนุนเสริมให้ตระหนักว่า “ไม่มีที่ใด (หรือใคร) ปราศจากความรู้” และเน้นย้ำถึงแนวคิดการเรียนรู้บนความจริงของสังคม มิใช่การเรียนรู้ผ่านทฤษฎีแต่ปราศจากการลงมือทำ

ในทำนองเดียวกันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนรู้คู่บริการเช่นนี้ คืออีกหนึ่งช่องทางของการบ่มเพาะเรื่องจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดไปโดยปริยาย เป็นการบ่มเพาะทั้งต่อตัวของอาจารย์ ต่อนิสิต และชุมชนอย่างไม่ผิดเพี้ยน แถมยังเป็นการเรียนรู้ในแบบทีม มิใช่เรียนรู้ในแบบปัจเจกบุคคล ทั้งปวงนั้นล้วนยึดโยงกับการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดทักษะสำคัญๆ ที่เป็นทั้ง Hard skills และ Soft skills ในศตวรรษที่ 21 แทบทั้งสิ้น

หรือกระทั่งอย่างน้อยที่สุด การเรียนรู้เช่นนี้ก็คือการสร้างโอกาสให้นิสิตได้นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติการจริงร่วมกับชุมชน การเรียนผ่านการลงมือทำย่อมก่อให้เกิดความแจ่มชัดในทางทฤษฎี ครั้นกลับเข้ามายังชั้นเรียนก็เรียนรู้เพิ่มเติมและง่ายต่อการตกผลึกเป็น “ปัญญาปฏิบัติ” ต่อเมื่อต้องวัดผลการเรียนรู้จึงง่ายต่อการที่จะทะลุซึ่งการรู้ในศาสตร์ของตนเอง (Hard skills) และได้ผลพวงความเก่งในเชิงจิตวิญญาณ (Soft skills) เพิ่มเข้ามา เพราะนั่นคือการเรียนรู้จริงอย่างเป็นทีมบนบริบทจริงของสังคม และนั่นคือการเตรียมความพร้อมให้นิสิตได้ “รู้เท่าทันต่อชีวิตและสังคม” ด้วยเช่นกัน






หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : กระบวนการเรียนรู้ครบมิติจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ


ในทางการขับเคลื่อนกระบวนการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับโหนดวิชาการจังหวัดมหาสารคาม (ศูนย์ประสานงานนักวิชาการเพื่องานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดมหาสารคาม) ได้ออกแบบกระบวนการไว้ ๓ ระยะ เพื่อก่อให้เกิดวงจรแห่งการเรียนรู้ที่มีชีวิตและมีพลังต่อทุกภาคส่วน ดังเช่นตัวอย่างโดยสังเขป คือ

  • ต้นน้ำ : มีกระบวนการพัฒนาโจทย์ร่วมกันระหว่างกรรมการกลางกับผู้แทนหลักสูตร มีเวทีอบรมหนุนเสริมความรู้และทักษะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานบริการวิชาการแก่ชุมชนในประเด็นสำคัญ เช่น การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน การจัดการเรียนรู้ชุมชน การจัดการความรู้ การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง
  • กลางน้ำ : จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งที่เป็นอาจารย์ นิสิตและชุมชน เพื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการจัดกิจกรรม รวมถึงการมีทีมงานจากส่วนกลางออกหนุนเสริมการขับเคลื่อนในพื้นที่ของแต่ละหลักสูตร ตลอดจนการจัดการความรู้เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง
  • ปลายน้ำ : จัดเวทีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้หลังเสร็จสิ้นการทำงาน มีเวทีสะท้อนผลการดำเนินงานในรูปของการเสวนา นิทรรศการ คลิป เรื่องเล่า ภาพถ่าย การเชิดชูหลักสูตรต้นแบบและชุมชนต้นแบบ รวมถึงการยกระดับโครงการสู่การเป็น “งานวิจัย”






นอกจากนี้ยังรวมถึงการสังเคราะห์ข้อมูลทั้งปวงเข้าสู่ระบบ “สารสนเทศ” เพื่อนำไปสู่การเผยแพร่ชุดความรู้ หรือการใช้เป็นเวทีสื่อสารต่อสาธารณะ ตลอดจนการใช้เป็นฐานข้อมูลในการที่จะต่อยอดในปีถัดไป โดยอยู่ในรูปของเว็บไซต์ Facebook หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ คลิป ฯลฯ

รวมถึงการอบรมและสัมมนาเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการเขียนบทความเพื่อสังคม หรืองานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่อง อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับสถาบันคลังสมองของชาติ สู่การเผยแพร่ และเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาชีพของนักวิชาการที่ทำงานสายการรับใช้สังคม






หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : การยกระดับสู่การวิจัย กิจกรรมนอกหลักสูตรและ GE

จากปี พ.ศ.๒๕๕๕ สืบมาจนถึงปัจจุบัน โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนอันเป็นงานบริการวิชาการแก่สังคม ถูกยกระดับขึ้นเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นในหลายประเด็น ซึ่งหมายถึงการขับเคลื่อนต่อเนื่องในพื้นที่เดิมที่เคยทำงานบริการวิชาการ เพื่อก่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในชุมชน รวมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ต่อระบบการผลิตบัณฑิต เช่น

  • หลักสูตรในคณะเทคโนโลยี (การเพาะพันธุ์ปลาและแปลงเพศปลานิล)
  • หลักสูตรในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (อัตลักษณ์เมืองมหาสารคาม)
  • หลักสูตรในคณะการบัญชีและการจัดการ (ธนาคารข้าว)
  • หลักสูตรในคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ (ดินโพน,การลดต้นทุนการผลิตและจำหน่ายผักพื้นบ้าน)
  • หลักสูตรในคณะสาธารณสุขศาสตร์ (อาหารและโภชนาการในชุมชน)

ขณะที่หน่วยงานสนับสนุนการเรียนการสอนก็มีงานวิจัยที่ต่อยอดจากการบริการสังคมด้วยเช่นกัน เช่น กองกิจการนิสิต (การจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน) สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน (การแก้ปัญหาความขัดแย้งของเยาวชนในชุมชน)

เช่นเดียวกับการยกระดับสู่การเป็นงานวิจัยเพื่อชุมชน (งบประมาณของมหาวิทยาลัย) ในหลายประเด็น เช่น การย้อมครามและการย้อมผ้าจากผงสีธรรมชาติ การทำนาแบบโยนกล้า พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำชี การผลิตข้าวฮางแบบปลอดสาร การจัดการแหล่งเรียนรู้ในชุมชน

หรือแม้กระทั่งการต่อยอดสู่การเรียนการสอนในหมวดศึกษาทั่วไป (บังคับเลือก) ในชื่อวิชา “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” โดยเปิดทำการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2558






หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : การยกระดับสู่งานบริการมุ่งเป้า

ช่วงระยะปี พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๕๙ มหาวิทยาลัยมหาสารคามขับเคลื่อนเชิงรุกงานบริการวิชาการในอีกมิติหนึ่งที่ฉีกออกมาจากการขับเคลื่อนในมิติทั่วไปและงานวิจัย กล่าวคือ มีการขับเคลื่อนในลักษณะของงานบริการวิชาการประเภท “มุ่งเป้า” ที่หมายถึงงานที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์หลักและยุทธศาสตร์ของท้องถิ่นและชุมชน เช่น

  • เสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุในการดูแลตนเองโดยใช้บ้านและชุมชนเป็นฐาน (พยาบาลศาสตร์)
  • การส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ขยะอินทรีย์ และของเสียในชุมชน (สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์)
  • ของดีเมืองมหาสารคามในวาระ ๑๕๐ ปี (สถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ)
  • พิธีกรรมการบวชควาย (สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน)

ทั้งนี้รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้คณะต้นแบบได้ทำงานวิจัยอย่างน้อย ๑ เรื่อง เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบและกลไกการขับเคลื่อนงานวิชาการเพื่อชุมชนในระดับคณะ โดยให้อิสระต่อทางคณะว่าจะทำการศึกษาวิจัยในประเด็นอะไร ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งที่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติภายในคณะ หรือไม่ก็เป็นประเด็นเชิงรุก หรือโครงการที่มีในคณะ หรือไม่ก็เป็นการทบทวนชุดความรู้ที่ว่าด้วยงานวิชาการเพื่อสังคมของคณะนั้นๆ และอื่นๆ ตามที่คณะสนใจ






หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : 5 กลไกของการขับเคลื่อน

ปัจจุบันงานวิชาการเพื่อสังคมในชื่อหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน มีระบบและกลไกการขับเคลื่อนสำคัญๆ 5 ประเด็น ดังนี้

๑.กลไกการกลั่นกรองโครงการ : เน้นการแลกเปลี่ยน (จัดการความรู้) ร่วมกันระหว่างกรรมการกับผู้รับผิดชอบโครงการของแต่ละหลักสูตร โดยกรรมการประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญๆ เช่น มีความรู้และประสบการณ์ด้านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น การประกันคุณภาพการศึกษา การจัดการความรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

๒.กลไกการติดตามหนุนเสริม : มีคณะทำงาน (พี่เลี้ยง) ติดตามหนุนเสริมสร้างพลังการเรียนรู้ร่วมกับแต่ละหลักสูตร ทั้งในพื้นที่ของชุมชนและในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยคณะทำงาน ๓ กลุ่มคือกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ และกลุ่มมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์




๓.กลไกการจัดการความรู้ : มีกระบวนการจัดการความรู้ร่วมกันในทุกระยะของการขับเคลื่อน (ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ) นับตั้งแต่การจัดเวทีกลั่นกรองเพื่อพัฒนาโจทย์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้รายหลักสูตร รายคณะ การถอดบทเรียนในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างเวทีสรุปผลการดำเนินงานในเชิงมหกรรมการเรียนรู้ในระยะกลางน้ำและปลายน้ำ ครอบคลุมไปจนถึงการเชิดชูหลักสูตรต้นแบบและชุมชนต้นแบบบนฐานคิดของการแบ่งปันความสำเร็จ (Success Story) ร่วมกัน

๔.กลไกการสื่อสารสร้างพลัง : สร้างระบบและกลไกของการเผยแพร่กระบวนการเรียนรู้คู่บริการต่อสาธารณะอย่างหลากหลายรูปแบบ เช่น ฐานข้อมูล (ระบบบริหารการจัดการข้อมูล) ) วีดีทัศน์ โปสเตอร์ นิทรรศการ หนังสือ คู่มือ เรื่องเล่าเร้าพลัง (blog) ภาพถ่าย เว็บไซด์ จดหมายข่าว วีดีทัศน์ e-book

๕.กลไกการบริหารโครงการและงบประมาณ : สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงาน โดยแต่ละคณะสมทบงบประมาณร่วมกับส่วนกลางที่มหาวิทยาลัยจัดให้ (๘๐: ๒๐) รวมถึงการกระตุ้นให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการและงบประมาณ ตลอดจนการสร้างระบบและกลไกในระดับหลักสูตรให้เกิดการทำงานอย่างเป็นทีม ทั้งในระดับอาจารย์กับอาจารย์ และนิสิตกับนิสิต หรืออาจารย์กับนิสิต






บทส่งท้าย (ในบางประเด็น)

หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.๒๕๕๕ โดยก่อนหน้านั้นเป็นงานบริการวิชาการแก่สังคมในแบบเดิมๆ กระจัดกระจายไปตามความสนใจของอาจารย์ หรือนักวิชาการ ซึ่งไม่ยึดโยงกับรายวิชาใดวิชาหนึ่งโดยตรง นิสิตไม่ได้มีส่วนร่วมกับการทำงาน และไม่ค่อยอิงบนฐานความต้องการของชุมชน (โจทย์ของชุมชน) ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ขับเคลื่อนในชื่อโครงการ ๑ คณะ ๑ ชุมชน

อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ.๒๕๕๕ มิได้ขับเคลื่อนแต่เฉพาะโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนเท่านั้น ทว่าขับเคลื่อนคู่กับโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน รวมถึงกิจกรรมนอกหลักสูตรของฝ่ายพัฒนานิสิต (องค์กรนิสิต) คือโครงการ ๑ ชมรม ๑ ชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่ขยายผลมาจากโครงการ “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน” ของกองกิจการนิสิ ที่ริเริ่มในชุมชนขามเรียงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ ก่อนจะมาเป็นที่รู้จักแพร่หลายในปี พ.ศ.๒๕๕๓ และเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการในหมู่นิสิตว่า “๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน”




หมายเหตุ

เรื่อง : ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา / พนัส ปรีวาสนา
เอกสารประกอบการบรรยาย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ณ มรภ. เทพสตรี ลพบุรี

หมายเลขบันทึก: 617719เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2016 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2016 00:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this informative article.


In figure 3 the caption of 'student centre' can be misleading (its common meaning is 'a place for student activities or functions). I think 'student centred' is more appropriate.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท