​ร่วมสร้างคุณค่าแก่ SP ไทยพาณิชย์



วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙ ผมไปร่วมเวที Workshop School Partner SCB ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีเป้าหมายใช้เวลา ๑ วัน ให้ SP (School Partner) จำนวน ๓๐ คน ที่เป็นพนักงานของธนาคารที่สมัครเข้ามาทำหน้าที่นี้เสริมจากงานประจำ โดยจะไปทำหน้าที่ SP กับโรงเรียน ๑ - ๒ โรงเรียนในโครงการโรงเรียนประชารัฐ ที่ผมเคยเขียนบันทึกไปแล้วว่า ผมอ่อนใจ ต่อการหลงทางของระบบการศึกษาไทย


ผมไปทำหน้าที่ “ป่วน” ให้ SP คิดต่างไปจากเอกสารโครงการตามเว็บไซต์ข้างบน ซึ่งก็ตรงกับที่ทีม มูลนิธิสยามกัมมาจลเตรียมไว้ เพราะจากการตอบคำถามในวงเสวนารอบแรก “ท่านคิดว่าการจัดการศึกษา ควรจะผลิตคนรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติอย่างไร” ผลก็ออกมาชัดเจนว่า SP 30 ท่านให้ความสำคัญต่อ ASK (A = Attitude, S = Skills, K = Knowledge) เรียงน้ำหนักความสำคัญ ในลักษณะที่ K ได้น้ำหนักต่ำมาก และ A ได้น้ำหนักสูงมาก แต่วิถีปฏิบัติในระบบการศึกษา และในสังคมไทยกลับให้น้ำหนักตรงกันข้าม คือบ้าคลั่ง K กันสุดสุด


ทีมงานของ SCB และ SCBF หลายคนได้ไปร่วมเวทีครูแท้แพ้ไม่เป็น ที่จัดโดย สสค. ร่วมกับ SCBF เมื่อวาน (๒๐ ก.ย.) จึงเอาวิธี “สอนศิษย์” ของครูเรฟมาเล่า ชี้ว่าการสอนที่ถูกต้อง เน้นสร้าง A ที่ดีให้แก่นักเรียน ที่เรียกว่า มนุษย์ระดับ ๖ แล้วกระบวนการมันจะทำให้เด็กๆ ได้ส่วน S และ K ไปเอง ไม่ต้องกังวล วิธีการที่ ถูกต้องคือให้นักเรียนเรียนจากการปฏิบัติ เด็กๆ เข้าใจแจ่มชัดว่าที่ครูชวนตนฝึกปฏิบัตินั้น เพื่อชีวิตที่ดี ในอนาคตของตนเอง


ยิ่งสุดยอด ที่ทีม SCBF เชิญ อดีต ผอ. รร. จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เพชรบุรี กัญพิมา เชื่อมชิต และครู ตรีนุช เพชรแสนงาม แห่งโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา จังหวัดลำปาง มา ลปรร. กับทีม SP ทำให้ได้รับทราบบรรยากาศจริงหลากหลายแบบที่ SP จะไปพบที่โรงเรียน และได้เห็นตัวอย่างการสอนของครูไทย ที่ศิษย์ได้เรียนรู้ ASK ไปด้วยกัน


ทีม SP มีข้อสงสัยว่าทาง SCB หวังอะไรจากตนในการไปทำโครงการนี้ ทีม HR ของธนาคาร นำโดยคุณมิ้มบอกว่า ต้องการให้ไปฝึก leadership ผมฟังแล้วตระหนักในความลึกซึ้งของบิ๊กบอสของ SCB ที่ผมตีความต่อว่า SP ของ SCB มีหน้าที่/โอกาส ไปใช้/ฝึก ทักษะภาวะผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ในระบบการศึกษา และในสังคมไทย ให้หลุดพ้นจากมายาคติ “บ้า K” หันมาให้น้ำหนัก ASK ลดหลั่นลงไป และไปร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียน/ครูแกนนำ เพื่อสถาปนาระบบการเรียนรู้ที่บูรณาการการเรียน ASK ไว้ด้วยกัน


มองในมุมหนึ่ง SCB ใช้การเข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ ในการสร้างภาวะผู้นำให้แก่พนักงานของตน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจของธนาคารในทางอ้อม และเป็น CSR สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับ เปลี่ยนคุณค่าให้แก่สังคมไทย


สิ่งที่แฝงอยู่คือ ไปทำให้โรงเรียน และครู ในโรงการโรงเรียนประชารัฐ เน้นทำงานเพื่อยกระดับ ผลลัพธ์การเรียนรู้ ของศิษย์ เปลี่ยนผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาจาก “ทำเพื่อกู” เป็น “ทำเพื่อศิษย์”


วิจารณ์ พานิช

๒๒ กันยายน ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 617458เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2016 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2016 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากให้มีกิจกรรมที่ทำเพื่อศิษย์ออกมามากๆครับ

ดีใจที่ได้อ่านเรื่องการศึกษาดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท