​ชีวิตที่พอเพียง : 2777. แล้งแล้วท่วม



ต้นปี ๒๕๕๙ เราบ่นกันเรื่องฝนแล้ง ตกปลายปีเราบ่นกันเรื่องฝนมาก น้ำท่วม วิตกว่าน้ำจะท่วมใหญ่ อย่างปี ๒๕๕๔ อีก

ในยุคระบบการสื่อสารมากเกินพอดี (ผลจากระบบทุนนิยม ทำมาหากินกับข่าว) มีการประโคมข่าว จนไม่ว่าเรื่องอะไรก็เป็นความทุกข์ของสังคม ที่ผู้รับผิดชอบต้องสนองตอบรวดเร็ว


แต่สนองตอบแบบแยกส่วน ทำพอให้เกิดข่าวว่าทำแล้ว สนใจแล้ว สนองตอบแล้ว ไม่ได้มีเวลาคิดอย่างเป็นระบบ ไม่ได้คิด/ทำในมิติระยะยาว เพื่อการแก้ปัญหา/พัฒนาอย่างเป็นระบบ นี่คือปัญหาแท้จริง ของสังคมไทย


แล้งแล้วท่วม ท่วมแล้วแล้ง น่าจะสอนเราว่า เราต้องเตรียมการเชิงระบบ มองภาพใหญ่ที่จะสร้างระบบ ของบ้านเมือง ให้รับมือได้ทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม คำหลักคือ มองเชิงระบบ มองภาพรวม มองระยะยาว


ยุคนี้เป็นยุคไอซีที แต่เราเอามาใช้ผิดทาง คือเอามาใช้เพื่อผลระยะสั้น ใช้ความรวดเร็วทันควันของมัน เราไม่ได้เอามาใช้เพื่อสร้างความสามารถในการมองภาพรวม ภาพใหญ่ ภาพระยะยาว ซึ่งใช้ยากกว่า ต้องมีวิธีใช้ที่ต้องคิดเชิงระบบ คิดระยะยาว หรือกล่าวว่า ต้องใช้กระบวนทัศน์เชิงระบบ กระบวนทัศน์ มองผลระยะยาว


เราขาดกระบวนทัศน์ “มองไกล ใจกว้าง ใฝ่สูง” (คำของท่านพระธรรมปิฎก ประยุทธ ปยุตโต) เราถูกชักจูงให้หมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ตรงหน้า ไม่มีระบบหรือกลไกชักจูงให้สังคมมีกระบวนทัศน์ “มองไกล ใจกว้าง ใฝ่สูง” ที่เป็นกระบวนทัศน์เชิงสังคม ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่กระบวนทัศน์เชิงศาสนาหรือคุณธรรมจริยธรรม


ผมมองว่า ระบบการศึกษา และระบบศาสนา มีหน้าที่วางรากฐานกระบวนทัศน์ให้แก่ผู้คนในสังคม โปรดสังเกตว่า ผมใช้คำว่า “วางรากฐาน” ซึ่งแปลว่า ต้องทำงานเชิงรุก เชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำงานแก้ปัญหาหรือเชิงรับ แต่น่าเสียดายว่า ทั้งสองระบบนั้นมีปัญหายุ่งยากอยู่ในตัวเอง ในลักษณะ “ตัวเองก็เอาตัวไม่รอด” ซึ่งผมตีความว่า ถูกพิษกิเลสตัณหา ที่มากับลัทธิทุนนิยม กัดกร่อน


ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ที่เป็น ยุควูค่า มายาท่วมท้น สังคมจะดีได้ ต้องมีการจัดการเชิงระบบก้าวข้าม rapid response สู่ systems approach ก้าวข้าม reactive systems สู่ proactive systems อยู่ได้ทั้งในช่วงฝนแล้ง และน้ำมาก มีระบบให้ผู้คนอยู่ได้อย่างมีสติในวัฏฏจักรธรรมชาติ และวัฏจักรทำเทียม (เช่นวัฏฏจักรเศรษฐกิจ)


วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 617457เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2016 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2016 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Draughts, floods, fires, typhoons, ... are like mishaps, sicknesses and deaths - they are facts of life and they are recurring. We react to them like a house on fire. But should we work out how to ensure our 'survival' despite these events?

It is down to individual strength and fitness - not just the official rescue and management.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท