พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับความเป็นครู





พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับความเป็นครู

เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.


“การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้นจะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะ ทำได้ จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้ มั่นคง ไม่บกพร่อง พร้อมๆกันได้”

ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ที่ได้อัญเชิญมาข้างต้นนั้น สะท้อนให้เห็นหลักสำคัญของการทรงงานพัฒนาที่ยั่งยืน พระองค์ท่านมีแนวพระราชดำริว่า ความก้าวหน้านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดซึ่งปัจจัยพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนจะต้องมีอย่างพร้อมบริบูรณ์ หรืออยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะก้าวไปสู่ศักยภาพในระดับที่สูงขึ้นก่อน ดังนั้นโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ ของพระองค์ท่าน จึงมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการศึกษา ซึ่งทรงให้ความสำคัญและถือเป็น
พระราชกรณียกิจที่ทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญมาตลอดรัชสมัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์นักพัฒนา ทรงดำเนินพระบรมราโชบายหลายประการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา ทรงให้ความสำคัญต่อครูในฐานะผู้อบรมและพัฒนาเยาวชนของชาติ โดยหลักการแห่งความเป็นครูนั้น มีพระราชดำริว่า ครูจะต้องเป็นผู้รู้จักวางตนให้เหมาะสม และยึดมั่นในหลักธรรม เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เด็ก ซึ่งจะเรียนรู้คุณลักษณะในด้านคุณธรรมและจริยธรรมจากครู ดังที่ได้มีพระบรมราโชวาทความตอนหนึ่ง แก่คณะครูโรงเรียนราษฎร์ เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ไว้ว่า

“ครูจะต้องตังใจในความดีอยู่ตลอดเวลา แม้จะเหน็ดเหนื่อยเท่าไรก็จะต้องอดทน

เพื่อพิสูจน์ว่าครูนี้เป็นที่่เคารพสักการะได้ แต่ถ้าครูไม่ตั้งตัวในศีลธรรม ถ้าครูไม่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ เด็กจะเคารพได้อย่างไร...”

ระยะเวลาว่า ๗๐ ปีในการครองสิริราชสมบัติ เป็นห้วงเวลาที่การพัฒนาด้านการศึกษาของไทยมีความก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก ได้พระราชทานแนวทางตลอดจนโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการศึกษา ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยเฉพาะในส่วนของครู ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้การศึกษาประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะทรงมุ่งหวังให้ผู้เป็นครูครองตัวโดยใช้หลักคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว ยังทรงมีพระราชประสงค์ให้ครู ฝึกฝนและพัฒนาตนเอง ให้มีความรู้พร้อมในสองด้าน คือ ด้านความรู้ในศาสตร์ของตนเอง และด้านวิธีวิทยาในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งต้องพัฒนาให้ตนเองมีความชำนาญ เพื่อที่จะถ่ายทอดและส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เมื่อครูถือครองตนและกระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์แล้ว ศิษย์ก็ย่อมเกิดความเชื่อถือหรือศรัทธา และพยายามที่จะนำมาเป็นแบบอย่างและปฏิบัติบ้าง โดยนัยดังกล่าวนี้ ครูจึงถือได้ว่า เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ในการเป็นพลเมืองที่ดีของเยาวชนทุกคนในชาติ ดังความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท ที่ได้พระราชทานแก่คณะครูเมื่อวัน ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๒ ว่า

“ส่วนครูนั้น ควรจะได้ฝึกฝนตนเองให้แตกฉานและแม่นยำ ชำนาญทั้งในวิชาความรู้

และวิธีสอน เพื่อสามารถสอนวิชาทั้งปวงได้อย่างถูกต้อง กระจ่างแจ้งและสมบูรณ์ครบถ้วน

อีกข้อหนึ่ง จะต้องมีความสุจริตซื่อตรง สุภาพเรียบร้อย อยู่ในระเบียบวินัย ขยันอดทนและ

เมตตากรุณา จะต้องนำมาปฏิบัติให้เห็นชัดในหน้าที่โดยสม่ำเสมอ ศิษย์จะได้เห็นได้เข้าใจ

แจ่มแจ้ง ลึกซึ้งถึงความรู้และความดีของครู แล้วมีศรัทธา ยึดถือเชื่อฟังด้วยเต็มใจ”

เมื่อได้ประมวลสรุปสาระสำคัญในพระบรมราโชวาทข้างต้นแล้ว สามารถที่จะอธิบายแนวพระราชดำริในการพัฒนาครูใน ๓ ประการด้วยกัน กล่าวคือ แนวทางในการพัฒนาครูให้เป็นผู้เป็นแบบอย่างแก่นักเรียนในด้านคุณธรรมจริยธรรม การพัฒนาในด้านวิชาการ หรือความรู้ในสิ่งที่ตนเองสอน และการพัฒนาในด้านกลวิธีการจัดการเรียนการสอน ด้วยเหตุนี้ สถาบันที่เกี่ยวข้องในการสร้างและพัฒนาครู หรือสถาบันครุศึกษา จึงจะต้องจัดการศึกษาให้ครบองค์ ๓ ประการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยถือหลักคุณธรรมและความเป็นแบบอย่าง (role model) มาพัฒนานิสิตนักศึกษาครู สำหรับครูประจำการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอนอยู่ในสถานศึกษาระดับต่าง ๆ อยู่แล้วนั้น ก็สามารถนำหลักการทั้งสามประการดังกล่าวมาเป็นแนวทางการพัฒนาตนเอง โดยหมั่นศึกษาความรู้ในศาสตร์ของตนเอง และรู้จักที่จะเชื่อมโยงศาสตร์ของตนเองไปสู่สังคมให้มากขึ้น พัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด และประพฤติตนให้เหมาะสม เป็นแบบอย่างที่น่าศรัทธาให้แก่ศิษย์ รู้จักการปรับตัวให้และวางตนที่จะกระตุ้นให้นักเรียนได้แสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองไปตามศักยภาพที่แท้จริงของพวกเขา การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราโชวาทและแนวพระราชดำริเกี่ยวกับครู แสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้ครูทุกคน พัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศิษย์ การเรียนรู้จึงต้องเกิดขึ้นทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียน เรียกว่ามีความรู้และเพิ่มพูนทักษะด้วยกันทั้งสองฝ่าย อันจะนำมาซึ่งผลของการเรียนรู้ที่บรรลุไปตามวัตถุประสงค์ทั้งในระดับชั้นเรียนและระดับชาติ

ผู้ประกอบวิชาชีพครูควรภาคภูมิใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 องค์พระประมุขของชาติ
ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของผู้ที่จะมาสั่งสอนเยาวชน ซึ่งเป็นพสกนิกรของพระองค์ท่าน ว่าจะต้องเป็นผู้มีความรู้พร้อมคุณธรรม และควรที่จะน้อมนำสาระสำคัญแห่งพระบรมราโชวาท รวมถึงแนวพระราชดำริ
ด้านการพัฒนาที่ได้พระราชทานไว้ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ณ สถานที่
ต่าง ๆ มาเป็นแนวทางในการที่จะพัฒนาการเรียนการสอน รวมถึงปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่เยาวชน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสืบสานพระราชปณิธานแห่งการพัฒนา ทั้งยังเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จ
พระมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้ได้เสด็จสู่สวรรคาลัย เหลือไว้แต่ปรัชญาและพระราชกรณียกิจอันได้แก่โครงการด้านการพัฒนาต่าง ๆ ที่จะต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณธรรมและความสามารถมาศึกษาเรียนรู้และขยายผล เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งเกิดได้จากครูทุกคนนั่นเอง

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยความจงรักภักดี และอาลัยรักไม่มีเสื่อมคลาย


_____________________________________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 617353เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2016 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2016 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับ

ผมเคยจับความพระบรมราโชวาทด้านการศึกษาไว้ ๕ ตอน เช่นที่นี่ครับ https://www.gotoknow.org/posts/556447

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท