แนวพระราชดำริด้านการศึกษา ในหลวงรัชกาลที่ ๙ (๓) : วิธีการจัดการเรียนรู้


 ผม "ตัด" แล้ว "วาง" ไม่ได้ "ตัดต่อ" และไม่ได้ "คิดต่อ" หรือ "เขียนเติม" แต่อย่างใด อีกทั้งยังระวังไม่ให้ผิดความหมายเดิมของพระราชดำริอย่างที่สุด เพื่อให้ท่านมั่นใจในการน้อมนำไปปฏิบัติครับ

วิธีการจัดการเรียนรู้ สำหรับครูไทย จากในหลวง รัชกาลที่ ๙

  • ...ไม่ควรลืมว่า วิชาการทั้งปวงนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงกัน และต่างส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่ จะต้องนำมาใช้ผสมผสานกันให้ถูกต้องพอเหมาะพอดีอยู่เสมอ เพราะอาจพูดได้ว่า วิชาการใดๆ ก็ตาม จะใช้ให้เป็นประโยชน์แต่เพียงลำพังอย่างเดียวมิได้...
  • ...เบื้องต้นต้องเลิกคิดว่า เรียนวิชาไว้เพื่อสอบไล่ เพราะในชีวิตของเรา เราไม่ได้อยู่กับการกาผิดกาถูกในข้อสอบ หากแต่อยู่กับการทำงานและการวินิจฉัยปัญหาสารพัด ทางที่ถูก เราจะต้องขวนขวายเปิดตาเปิดใจให้เรียนรู้อยู่เสมอ ทั้งโดยทางกว้างและทางลึก...
  • ...เมื่อจะศึกษาเรื่องใดก็ให้พยายามจับเค้าโครงของเรื่องนั้นให้ได้ก่อน แล้วจึงพยายามมองลงไปในส่วนละเอียดทีละส่วน ให้เห็นชัดโดยถ้วนถี่ เมื่อรู้แล้วก็นำมาคิดพิจารณาให้เห็นประเด็น ให้เห็นส่วนที่เป็นเหตุส่วนที่เป็นผล ให้เห็นลำดับความเกาะเกี่ยวต่อเนื่องแห่งเหตุและผลนั้นๆ ไปจนตลอดให้เข้าใจโดยชัดเจนแน่นอน เพื่อให้สามารถสำเหนียกกำหนดและจดจำไว้ได้ ทั้งส่วนที่เป็นหลักเป็นทฤษฎี ทั้งส่วนเรื่องราวและรายละเอียด...
  • ...ควรจะศึกษาให้ตลอด ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ที่จะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปเสมอ คือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิด จิตใจที่ตั่งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจเหนี่ยนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะเป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือคลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...
  • ...การให้การศึกษาแก่เด็กต้องเริ่มตั้งแต่เกิด ขึ้นต้นก็ต้องสอนให้รู้จักใช้อวัยวะและประสาทส่วนต่างๆ ต้องคอยควบคุมฝึกหัด จนสามารถใช้อวัยวะและประสาทส่วนนั้นๆ ทำกิจวัตรทั้งปวงของตนเองได้...ถัดมา ต้องสอนให้รู้จักทำการต่างๆ ให้รู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ ตามที่ต้องการ ให้ได้มากขึ้นเพื่อทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบาย...ฝึกกายให้มีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญและสามารถในการปฏิบัติ ประกอบกับการสอนวิชาความรู้ต่างๆ อันเป็นพื้นฐานสำหรับการประกอบอาชีพเลี้ยงตัว...อีกขั้นหนึ่ง คือการสอนและฝึกฝนให้เรียนรู้วิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นไป พร้อมทั้งการฝึกฝนให้รู้จักใช้เหตุใช้ผล สติปัญญาและหาหลักการของชีวิต เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ความเจริญงอกงามทั้งทางกายและทางความคิด...
  • ...ในด้านที่ว่าจะหาความรู้ที่จะเรียนจะสอนนักเรียนอย่างไร เราต้องศึกษาว่าเด็กเป็นอย่างไร ซึ่งเราก็เรียนจากเด็กเหมือนกัน...
  • ...แต่โบราณกาลมาครูได้รับการเคารพกราบไหว้อย่างเต็มที่ เพราะว่าเป็นผู้ที่ให้ความรู้ มาบัดนี้ครูส่วนมากถือการสอนเป็นอาชีพสำหรับหาเงิน เพราะว่าถูกสถานการณ์ต่างๆ บังคับ คือต้องมีอยู่มีกิน อันนี้ก็ขัดกัน แต่ถึงอย่างไรก็ยังรู้สึกว่าครูจะสามารถสอนอย่างเก่าได้โดยที่ครูต่างทำตัวให้น่าเคารพ แม้จะฝืดเคืองก็ยังกัดฟันสอนและแจกจ่ายความรู้ออกไป ดังนี้ก็จะได้ความเคารพจากลูกศิษย์และการสอนก็จะง่ายขึ้น แต่ว่าต้อวางตัวให้เป็นครูที่แท้...
  • ...การสอนให้นักเรียนมีความรู้ดีนั้นสำคัญมาก แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นอีก คือจะต้องฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักพิจารณานำความรู้นั้นไปใช้ในทางที่ถูกต้อง เหมาะสมแก่งานด้วย...
  • ...จึงคิดดูหลักการของฝรั่งโน้น นั่นคือต้องให้ผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือมีความรู้มากกว่า สอนผู้มีอายุน้อยหรือมีความรู้น้อยกว่า จะได้ความรู้มาเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีความรู้มากกว่า...การสอนนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มพูนความรู้ของตนเอง...

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
การอ่าน "จับคำ" จากพระบรมราโชวาท ทำให้ผมเห็นว่า ในหลวงทรงเน้นว่า การศึกษาเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน.... ตรงนี้สอดคล้องกับหลักการเรียนรู้สากลที่ได้รับการยอมรับทีหลังว่า บุคคลจะได้เรียนรู้ก็ต่อเมื่อได้คิดและทำด้วยตนเองเท่านั้น....

หมายเลขบันทึก: 556447เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท