ผมทำงานในโรงพยาบาลชุมชนมา 13 ปี ตั้งใจไว้ตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ว่าจะต้องออกมาอยู่โรงพยาบาลชุมชนในอำเภออย่างน้อยในช่วงแรกของการเป็นแพทย์ ผมใฝ่ฝันไว้ว่าอยากให้โรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจริงๆ เป็นของชาวบ้านที่ชาวบ้านรักใคร่และเข้ามาร่วมดูแล เป้าหมายในการทำงานของผมในโรงพยาบาลชุมชนต้องการสร้างสมดุล 3 ด้านคือประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจ้าหน้าที่มีความสุขและโรงพยาบาลอยู่รอด อยากให้โรงพยาบาลเป็นเหมือนศูนย์กระตุ้นการสร้างสุขภาพ (Healthy Complex) ที่ช่วยส่งกระแสการสร้างสุขภาพลงสู่ชุมชนอย่างสม่ำเสมอ เมื่ออยู่ใกล้โรงพยาบาลจะมีความซับซ้อน(Complexity)และเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง(High technology)และเมื่อออกห่างโรงพยาบาลเข้าใกล้ชุมชนความเชี่ยวชาญเฉพาะจะลดลงแต่ความทั่วไป ความธรรมดาที่สัมผัสได้จะสูงขึ้น(High touch) ยิ่งเข้าใกล้ชุมชน ใกล้ประชาชนยิ่งต้องการความง่าย (simplicity)มากขึ้น ในการจะทำให้ประชาชนสร้างสุขภาพตัวเองได้เมื่อคิดจากฐานของโรงพยาบาลที่จะต้องสร้างพันธมิตรระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน เราจะทำเป็น 5 ระยะ(Phasing) คือ
1.
เราทำเชิงรับให้เขา
เริ่มจากสร้างศรัทธาชาวบ้านโดยเน้นการรักษาให้ดีให้เขาเชื่อใจ ศรัทธา
เชื่อถือ ความเจ็บป่วยถือเป็นทุกข์สำคัญที่ทำให้ประชาชนนึกถึงเรา
หากแก้ทุกข์หรือลดทุกข์ให้ตรงใจเขาได้เขาก็จะประทับใจและเชื่อมั่นทำให้เราทำเรื่องอื่นๆได้ง่ายขึ้น
อย่างน้อยๆแพทย์ตรวจตรงเวลา ลดการรอคอย พูดเพราะวาจาน่าฟัง
เขาก็จะรู้สึกดีแล้ว
2.
เราทำเชิงรุกให้เขา
เราออกไปส่งเสริมป้องกันโรคให้ชาวบ้านเพื่อบอกวิธีที่เขาจะไม่ป่วยซึ่งก็ทำให้อัตราเจ็บป่วยในโรคที่ป้องกันได้ลดน้อยลง
3.
เราและเขาทำเชิงรุก
เรากับชาวบ้านช่วยกันส่งเสริมป้องกันโรค
ช่วยกันทำกิจกรรมหรือโครงการสร้างสุขภาพร่วมกับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน
กลุ่มต่างๆของชุมชนโดยการใช้งบประมาณทั้งของเราและจากชุมชน
4.
เขาทำเราสนับสนุน
ชาวบ้านช่วยกันส่งเสริมป้องกันโรคโดยมีเราเป็นผู้สนับสนุนด้านความรู้และ
เทคโนโลยี
5.
เราและเขาคือพวกเราช่วยกันทำ
โดยรั้วโรงพยาบาลจะเป็นอาณาเขตของอำเภอ
เตียงนอนที่บ้านชาวบ้านจะเป็นเตียงนอนของโรงพยาบาล
หมู่บ้านแต่ละหมู่จะเป็นหอผู้ป่วย
โดยมีญาติผู้ป่วยเป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้
พ่อแม่พี่น้องในบ้านจะเป็นพยาบาลประจำตัวผู้ป่วย
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจะเป็นพยาบาลประจำตึก
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างๆจะเป็นหมอที่ดูแลผู้ป่วย
แพทย์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วย
และเมื่อนั้นการออกเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้านก็จะเป็นการทำวอร์ดราว(Ward
Round)ที่สมานความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโรงพยาบาลและชุมชนได้
เมื่อนั้นเราจะเป็นโรงพยาบาล 10,000 เตียง
ที่แทรกอยู่เป็นเนื้อเดียวกับชาวบ้าน เราคือชาวบ้าน
ชาวบ้านคือเรา โรงพยาบาลจะมีชาวบ้านเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
เป็นหุ้นส่วนที่ร่วมดูแลโดยการจัดตั้งเป็นมูลนิธิที่ดูแลโดยชาวบ้าน
บริหารโดยชาวบ้าน
คุณภาพโรงพยาบาลก็จะตรงกับความต้องการของชาวบ้าน
มีกรรมการบริหารจากชาวบ้านมาบริหารจัดการโรงพยาบาล
เหมือนกับวัดที่เจริญได้ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน
ไม่ต้องมีงบประมาณก็อยู่ได้ ขยายได้ เจริญเติบโตได้
มีการสร้างเครือข่ายขึ้นมาโดยเริ่มต้นที่โรงเรียนเน้นนักเรียน
ครู ผู้เกี่ยวข้อง ปรับพฤติกรรมสุขภาพเด็ก
เชื่อมความรู้จากเด็กสู่ครอบครัวและเสริมสายใยรักภายในครอบครัว
ดูแลสุขภาพที่วัดเน้นให้เป็นที่สร้างสุขภาพทั้งพระ
มัคทายก อุบาสก
ดูแลสุขภาพในครอบครัวที่บ้าน
รวมตัวเป็นเครือข่ายสร้างสุข(สหสาขาวิชาชีพสร้างสุข)
ที่มี ครู(ศึกษา) – หมอ(สาธารณสุข) –
พ่อ(ครอบครัว) – พระ(ศาสนา) เป็นแกนนำ
ภายใต้การสนับสนุนจากชุมชน ท้องถิ่น ราชการ
เพื่อช่วยกันแก้ไขภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง
(Social Immunodeficiency Syndromes: SIDS)
เน้นสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม (Social Immune) 3
อย่างเพื่อต่อต้านSocial Immunodeficiency virus(SIV)คือ
1.
ความรู้(การเรียนรู้)
สร้างโดยใช้การจัดการความรู้(Knowledge Management)
2. ความรัก
สร้างโดยครอบครัวและชุมชน ทำให้รักตนเอง/ครอบครัว/ชุมชน
3. ความอดทน
สร้างโดยครอบครัวและศาสนา ให้อดทนต่อตนเอง ต่อผู้อื่น
ต่อสิ่งเย้ายวนในทางเสื่อม
ทำให้เกิดการขยายบทบาทหน้าที่และขอบเขตให้โรงพยาบาลที่มีขอบเขตของโรงพยาบาลเป็นขอบเขตของอำเภอ
งบประมาณทั้งอำเภอคืองบประมาณของโรงพยาบาลที่ใช้สำหรับสร้างสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต
ทำให้โรงพยาบาลเป็นศูนย์สาธิตการสร้างสุขภาพ(Healthy Complex)
เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนและเป็นโรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจหรือ
To be the hospital of choice
อย่างแท้จริง