บ้านแม่ : เมื่อแม่จากไปและงานที่จัดให้แม่


แม่เสียชีวิตในช่วงที่บ้านนครนายกมีอากาศและบรรยากาศดี เพราะเป็นหน้าน้ำ บริเวณบ้านมีน้ำมาก น้ำใสเห็นตัวปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำ นกต่างๆ ก็มีให้เห็นหลายชนิด อากาศไม่ร้อนเกินไป

ดิฉันหมดหน้าที่เป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ใช้เวลาเคลียร์งานเคลียร์ของอยู่หลายวันจึงได้อพยพกลับบ้านที่กรุงเทพฯ ลูกชายสองคนไปรับแม่และช่วยกันทำหน้าที่ขับรถกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2559 นับว่าเป็นโอกาสดีที่ได้ว่างงานในตอนนั้นเนื่องจากสุขภาพของแม่ที่มีอายุ 102 ปี กำลังทรุดลง (น้องสาวจำว่าแม่อายุครบ 103 ปีในเดือนกันยายน 2559 โดยไม่ได้ดูปีที่เกิดในบัตรประชาชน) ดิฉันจึงมีเวลาไปดูแลแม่ที่บ้านนครนายกได้บ่อยขึ้น

หลังจากบันทึกนี้ สภาพร่างกายของแม่ไม่ดีขึ้น ดูเหมือนกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ จะหายไป กินอาหารได้ทีละน้อย หลับเสียส่วนใหญ่ เรี่ยวแรงลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ เราพี่น้องคุยกันแล้วไม่ประสงค์จะพาแม่ไปรักษาที่โรงพยาบาลใด แม้จะมีแพทย์ผู้ใหญ่ยินดีจะช่วยประสานงานกับแพทย์โรงพยาบาลประจำจังหวัดให้ เราอยากให้แม่อยู่ที่บ้านท่ามกลางการดูแลของลูกหลานรวมทั้งทีมของคุณแอน อังศุมาลิน มั่งคั่ง จาก รพ.ปากพลี และ คุณแมว อรพินท์ นวมนิ่ม จาก รพ.สต. บ้านเกาะกา สมาชิกคนสำคัญของเครือข่ายเบาหวาน เป็นผู้ประสานงานกับแพทย์เพื่อสั่งการรักษาให้แม่ตามสมควร

ดิฉันได้ปรึกษา พญ.อารยา ทองผิว ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล สะพานควาย และ ผศ.ดร.นิโรบล กนกสุนทรรัตน์ อาจารย์พยาบาลผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลแผล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นระยะๆ ด้วย

ดิฉันไปเยี่ยมและดูแลแม่ทุก 2-3 วัน วันอื่นๆ ก็สอบถามอาการทางโทรศัพท์ เช้าวันที่ 29 กันยายน 2559 ดิฉันไปถึงบ้านแม่เมื่อเวลาประมาณ 09.45 น. น้องสาวรายงานว่าเพิ่งป้อนอาหารและยา รวมทั้งทำความสะอาดร่างกายแม่ จัดท่าให้นอนตะแคง เสร็จเรียบร้อย มองเข้าไปในห้องเห็นแม่นอนหลับอยู่จึงยังไม่ได้เข้าไปหา ดิฉัน น้องสาว และหลานสาว ช่วยกันเตรียมวัตถุดิบสำหรับทำกับข้าวโดยไม่มีลางสังหรณ์ใดๆ

ประมาณ 10.50 น. น้องสาวอาบน้ำเสร็จและเข้าไปแต่งตัวในห้องที่แม่อยู่ จึงพบว่าแม่ของเราไม่หายใจแล้ว แม่จากไปอย่างเงียบๆ เรารีบแจ้งข่าวให้พี่น้องทุกคน แจ้งผู้ใหญ่บ้านให้ไปแจ้งเรื่องกับทางราชการ ในช่วงเวลานั้นคุณแมวและคุณน้อย สุรินทร์ โชครุ่ง จาก รพ.สต.บ้านเกาะกามาเยี่ยมบ้านพอดี เราจึงได้ช่วยกันทำความสะอาดร่างกายและแต่งตัวให้แม่ใหม่ จัดการเรื่องข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ด้วย

เราตัดสินใจจัดงานศพแม่ที่บ้าน เพราะแม่คุ้นเคยและอยู่ที่บ้านหลังนี้มานานมาก ถ้านับเวลาที่ดิฉันจำความได้ก็น่าจะไม่น้อยกว่า 60 ปี พี่น้องและพระรวมทั้งคนของวัดใกล้บ้านมาช่วยกันจัดสถานที่ที่บ้านให้เหมาะสำหรับการรดน้ำและพิธีสวด เดี๋ยวนี้ทุกอย่างสะดวกมาก เราสั่งข้าวของเครื่องใช้ ดอกไม้ต่างๆ ได้ทางโทรศัพท์ สมัยที่เตี่ยเสียชีวิตเมื่อยี่สิบกว่าปีเกือบสามสิบปีก่อน จำได้ว่าเราต้องซื้อดอกไม้สดมาจัดทำดอกไม้ประดับหน้าศพกันเอง วิถีการร่วมงานศพของชาวบ้านก็ต่างออกไป ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่นนิยมส่งพวงหรีดมาเคารพศพ หากไม่มีคนคอยกำกับการจัดสถานที่เขาจะติดพวงหรีดทั่วบ้านเลย พี่น้องจะพูดกันว่า “ที่นี่เขาทำกันอย่างนี้” ต้องบอกว่าเราอยากจะทำให้ดีกว่าเดิม

ในวันแรก มีการประกาศในหมู่บ้านเกาะกาว่าแม่เสียชีวิตแล้ว มีธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งเป็นที่รู้กันคือพิธีรดน้ำศพจะทำกันตอน 16.00 น. พิธีสวดจะเริ่มตอน 20.00 น. ชาวบ้านจะมากันตามเวลานั้น ญาติๆ มากันเป็นระยะๆ เพื่อพูดคุยและอยู่เป็นเพื่อนลูกหลาน

เราจัดงานให้แม่ 7 วัน ตั้งครัวที่บ้าน เลี้ยงพระเช้าแล้วจัดอาหารใส่ปิ่นโตไปถวายพระเพล ทำอาหารตอนเช้ากินได้ไปถึงเย็น มีแขกจำนวนไม่มากนักที่จะมาทานอาหารที่บ้านงานในเวลาเช้า-กลางวัน-เย็น มีอาหารเบาๆ เลี้ยงแขกหลังพระสวดเสร็จตอนกลางคืนเท่านั้นที่ต้องทำปริมาณมากหน่อย งานครัวจึงไม่เป็นภาระมากเกินไป อาจเป็นเพราะการเดินทางสมัยนี้สะดวกสบาย มีถนนไปถึงทุกที่ เกือบทุกบ้านมีรถใช้ ชาวบ้านจึงไม่จำเป็นต้องมาอยู่ที่บ้านงานทั้งวัน

การจัดงานให้แม่เป็นโอกาสที่ทำให้ได้พบปะญาติพี่น้องที่บางคนเราไม่เคยเจอกันมาก่อน แม่มีอายุเกินร้อยปีจึงมีญาติและคนรู้จักมาก

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยบอกว่าถ้าแม่เสียชีวิตเมื่ออายุเกินร้อยปี ในงานศพไม่ต้องใส่ชุดดำ ธรรมเนียมคนจีนจะใส่ชุดที่มีสีสันด้วยซ้ำและไม่ต้องกล่าวว่าเสียใจ พวกเรายังไม่คุ้นและไม่รู้ชัดจึงแต่งกายสีดำ ดำ-ขาว หรือสีทำนองนั้น มีน้อยคนที่ใส่ชุดสีสดใสมางาน กลางวันเราได้รับแขกที่อยู่ไกลซึ่งไม่สะดวกในการเดินทางมาฟังสวดในเวลากลางคืน

เจ้าภาพงานสวดของแม่มีทั้งลูกหลาน ญาติพี่น้อง แม่ได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มาเป็นเจ้าภาพงานสวดคืนวันที่ 4 ตุลาคม ร่วมกับทีมจาก รพ.ปากพลี ท่าน ดร.สุเมธ ขับรถมาเองพร้อมกับท่านพลตรีศรีศักดิ์ เลิศล้ำ อดีตรองแม่ทัพภาค 4 และอดีตรักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มาถึงที่หมายโดย GPS แสนรู้พาเดินทางอ้อมไปหน่อย

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์รับเป็นเจ้าภาพในงานสวดคืนสุดท้ายคือวันที่ 5 ตุลาคม ท่านนายกสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน มีเมตตามาเป็นประธานด้วยตนเอง พร้อมผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รองศาสตราจารย์ ดร.อมรา ช้างทรัพย์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ คุณอรพินท์ ไชยพงศ์ ผู้กำกับดูแลหน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพ และคณะเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยฯ ที่มากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา บางคนก็มาเองก่อนหน้านั้น

งานฌาปนกิจของแม่จัดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม มีผู้มาร่วมงานจำนวนหลายร้อยคน ดูด้วยสายตาน่าจะประมาณ 500 คน ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เกียรติมาเป็นประธานให้ โดยไม่ได้บอกมาก่อน ท่านเพิ่งกลับจากเมืองจีน เมื่อรู้ข่าวก็มาเอง นับว่างานของแม่ได้รับเกียรติจากผู้หลักผู้ใหญ่มากมาย เป็นที่น่าภาคภูมิใจ

ลูกสาวของอาคนหนึ่ง อดีตเป็นครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ปัจจุบันทำหน้าที่มัคทายกของวัดแห่งหนึ่ง ทำหน้าที่กล่าวถึงประวัติของแม่ ของชำร่วยในงานฌาปนกิจ เป็นที่แปลกตาแปลกใจของชาวกรุงเทพ เพราะเป็นถ้วยที่ใช้ใส่อาหาร ซึ่งมาจากข้อเสนอของพระหลวงพี่ ท่านบอกว่าแจกของอย่างอื่นก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ แจกเป็นถ้วยหากชาวบ้านไม่เอาไปก็สามารถถวายวัดเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เราจึงซื้อถ้วยมาจำนวน 500 ใบ ซึ่งในที่สุดก็แทบไม่เหลือถ้วยให้ถวายวัดเลย วันรุ่งขึ้นเราเก็บเถ้ากระดูกของแม่ ซึ่งเหลืออยู่เพียงน้อยนิดมาเก็บไว้ที่บ้าน

เราตั้งรูปและเถ้ากระดูกของแม่ไว้ที่บ้าน จัดอาหาร 3 มื้อสำหรับแม่ตามที่มัคทายกแนะนำว่าจะต้องทำอย่างนี้เป็นเวลา 100 วัน พอเสร็จงานของแม่ ลูกๆ ที่ดูแลแม่มานาน โดยเฉพาะน้องสาว ต้องปรับตัวปรับใจปรับกิจวัตรของตัวเอง เพราะไม่ได้ทำกิจกรรมการดูแลแม่เหมือนอย่างเคย พวกเราขอให้แม่ไปสู่สุขคติ ภาวนาขอให้เตี่ยและพี่ๆ 4 คนที่จากไปก่อนแม่ มารับแม่ไปอยู่ด้วยกัน ที่สำคัญแม่ยังคงอยู่ในใจลูกๆ หลานๆ ตลอดไป

แม่เสียชีวิตในช่วงที่บ้านนครนายกมีอากาศและบรรยากาศดี เพราะเป็นหน้าน้ำ บริเวณบ้านมีน้ำมาก น้ำใสเห็นตัวปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำ นกต่างๆ ก็มีให้เห็นหลายชนิด อากาศไม่ร้อนเกินไป มีฝนตกมากอยู่สองวันเท่านั้น ทำให้จิตใจลูกหลานและคนที่มางานรู้สึกสบายตาสบายใจไปด้วย



บ้านแม่ในหน้าน้ำ



น้ำใสจนเห็นฝูงปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำ



แมลงปอ (Dragonfly) ตัวนี้มีสีแดงสด ตัดกับ background สีเขียวด้านหลังที่ข้างบ้านแม่



นกกวัก (White-breasted Waterhen) กับลูก หากินอยู่แถวหน้าบ้านแม่



นกยางกรอก (Pond Heron) น่าจะเป็นพันธุ์จีน ที่กอผักบุ้งข้างบ้านแม่



อีแพรดแถบอกดำ (Malaysian Pied Fantail) ที่มีอยู่มากมายในบริเวณบ้านแม่และในสวน



จาบคาหัวเขียว (Blue-tailed Bee-eater) ที่ต้นกระถินณรงค์ ไม่ไกลจากบ้านแม่


วันที่ 14 ตุลาคม ดิฉันและพี่สาวไปที่นครนายก แวะเยี่ยมอาคนสุดท้ายของเราที่มีอายุ 88 ปีแล้ว ที่บ้านในสวนใกล้เมืองนครนายก ก่อนเดินทางต่อไปที่บ้านแม่ พบว่าพี่ๆ น้องๆ และหลานสาวช่วยกันล้างขัดพื้นกระดานจัดเก็บข้าวของต่างๆ จนบ้านดูน่าอยู่น่าสบาย เรามีเรื่องพูดคุยกันมากมายถึงตอนที่เตี่ยและแม่ยังมีชีวิตอยู่


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559

หมายเลขบันทึก: 617128เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2016 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2016 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอแสดงความเสียใจด้วยค่ะอาจารย

ขอบคุณคุณหนูรี แม่จากไปสบายแล้วค่ะ

เสียใจด้วยนะครับ ขอให้ท่านได้พักผ่อนและเดินเล่นในดินแดนที่มีความสุขและสบายนะครับ ส่งกำลังใจให้อาจารย์และทุกๆ ท่านในครอบครัว เข้มแข็ง แล้วจะผ่านพ้นไปได้ดี ท่านมองดูและห่วงใยพวกเราเสมอนะครับ

พรพิมล พงษ์สุวรรณ์

ขอแสดงความเสียใจด้วยค่ะอาจารย?

ขอบคุณคุณทิมดาบและคุณพรพิมล น้องสาวยังรู้สึกว่าแม่ยังอยู่กับเราที่บ้านค่ะ

-ขอแสดงความเสียใจด้วยนะครับอาจารย์

ขอแสดง..ความเสียใจ..และ..ขอให้ คุณแม่ท่าน..เข้าสู่สุขคติสุข..เจ้าค่ะ..ด้วย คาระวะ..จาก..ยายธี..เจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท