​ชีวิตที่พอเพียง : 2770. จากหลากหลายกลายเป็นหนึ่ง


ผมคลั่งใคล้กระบวนทัศน์ เคออร์ดิค มากว่าสิบปี ถึงกับเคยไปเข้า workshop จัดโดย Chaordic Commons ที่อเมริกา แต่คราวนั้นผิดหวัง ไม่ได้พบ ดี ฮ็อค พบแต่วิทยากรของการประชุมปฏิบัติการ แต่ก็ได้แนวคิด มาใช้งานตลอดมา


จากการอ่านหนังสือ Birth of the Chaordic Age แต่งโดย Dee Hock การไปเข้า workshop การสังเกตสภาพแวดล้อมและการทำงานรอบตัว ผมเขียนบันทึกชุด องค์กรเคออร์ดิค ไว้ถึง ๔๙ บันทึก อ่านได้ ที่นี่


วันนี้หยิบหนังสือ จากหลากหลายกลายเป็นหนึ่ง ซึ่งแปลจาก One from Many : VISA and the Rise of Chaordic Organizationเขียนโดย Dee Hock ตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 ฉบับแปลนี้ตีพิมพ์ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เอามารำลึกชาติ เส้นทางการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ของตัวเอง เส้นทางหนึ่ง ที่เปลี่ยนจากเชื่อหรือใช้ การบริหารแบบควบคุมและสั่งการ (Top – Down, Command & Control) มาเป็นบริหารแบบเคออร์ดิค (Chaordic) หรือระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (CAS – Complex-Adaptive Systems) ที่มีการจัดระบบด้วยตนเอง (self-organized) และเกิดการก่อตัวของสิ่งใหม่ (emergence) ขึ้นได้เอง ในช่วงยี่สิบกว่าปีหลังของชีวิต


หนังสือเล่มนี้ เวลานี้สั่งซื้อได้ในราคาเพียง ๑๐๐ บาท สั่งซื้อได้ ที่นี่ แค่อ่านคำนิยมของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี คำนำ ของ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และบทเกริ่นนำโดยปีเตอร์ เซงเก้ ก็เกินคุ้มแล้ว


ในสายตาของผม หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือคลาสสิค ที่ต้องเก็บไว้อ่านแล้วอ่านอีก (ดังที่ผมกำลังทำ อยู่นี่แหละ) เพื่อทำความเข้าใจ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (mindset) ด้านการจัดการ หรือการมองความเชื่อมโยง ของสรรพสิ่ง ดังนั้น เมื่อผมเห็นสำนักพิมพ์ OpenWorlds ลดราคาหนังสือนี้จาก ๓๐๐ เหลือ ๑๐๐ บาท ผมจึงมองว่าสังคมไทยประเมินคุณค่าของ หนังสือเล่มนี้ต่ำไป


อ่านบทเกริ่นนำของปีเตอร์ เซงเก้ หน้า ๒๒ แล้วผมฉุกคิด ว่าหัวใจสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ คือ “ไม่มีใครเข้าใจความเป็นทั้งหมด” ของสรรพสิ่ง แต่การเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วย การใคร่ครวญไตร่ตรองสะท้อนคิด จะช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้น ตามบริบทของเรา และเมื่อเราแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับผู้อื่น เราก็จะเข้าใจตามบริบทของเขาด้วย


หนังสือเล่มนี้ จึงไม่ใช่แค่หนังสือด้านการบริหารหรือการจัดการ หรือเกี่ยวกับองค์กรเคออร์ดิค เท่านั้น ยังเป็นหนังสือด้านการศึกษา และเป็นหนังสือธรรมะด้วย เพราะผู้แต่ง (ดี ฮ็อค) เล่าเรื่องสัตว์ร้ายสี่ตัวที่อยู่ภายใน ตัวเขาอยู่ตลอดเวลา สัตว์ร้ายสี่ตัวนี้คือ อัตตา ความโลภ ความอิจฉา และความมักใหญ่ใฝ่สูง ในการเดินทางแห่ง ชีวิตของคนเรา ต้องหมั่นฝึกไล่จับสัตว์ร้ายสี่ตัวนี้เข้ากรง อยู่ตลอดชีวิตของเรา แต่ถ้าใครทำให้เจ้าสัตว์ร้ายสี่ตัว ภายในตนนี้ตายชั่วนิรันดร์ไปได้ ก็จะเป็นชีวิตสุดประเสริฐ ผมหวังแค่ทำให้มันเชื่องและสงบเสงี่ยมไม่ออกมา เพ่นพ่านมากนัก เวลานี้ผมตีความกระบวนการฝึกสัตว์ร้ายนี้ว่าเป็นการฝึก Executive Function & Self-Regulationซึ่งต้องทำตั้งแต่ก่อนคลอด ตอนเป็นเด็กเล็ก ตอนวัยรุ่น และตลอดชีวิต


ในหน้า ๒๐๘ ดี ฮ็อค สะท้อนความรู้สึกของตนต่อ “บริษัท” ที่เป็นเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้น แล้วเติบใหญ่เปลี่ยนแปลงจนสามารถเรียกร้องสิทธิและกอบโกยผลประโยชน์ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมภาพรวม และเป็นต้นเหตุของช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งเวลานี้เกิดแนวคิด CSR บีบให้บริษัทต้อง รับผิดชอบต่อสังคม แต่ CSR ส่วนใหญ่ก็ถูกเบี่ยงเบนอีก ไม่เป็น CSR จริงเป็นแค่ CSR เพื่อประชาสัมพันธ์ ให้ดูดี


ผมชอบแนวทางมองสิ่งต่างๆ ๔ แนว ในหน้า ๑๔๖

  • มองอย่างที่มันเคยเป็น
  • มองอย่างที่มันเป็นอยู่
  • มองอย่างที่อาจเป็นไป
  • มองอย่างที่น่าจะเป็น


วิธีมองสองแบบหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบหลังสุดนี่แหละ ที่เป็นพื้นฐานของนวัตกรรม และการเกิดองค์กรเคออร์ดิค ดี ฮ็อค ใช้วิธีคิดแบบหลังต่อสู้จนเกิดบริษัท VISA International


เมื่ออ่านจบเล่ม ผมก็เข้าใจว่า ดี ฮ็อค ต้องการบอกผู้อ่านว่า เวลานี้อารยธรรมของมนุษย์กำลังเข้าสู่ยุค “ล้มเหลวเชิงสถาบัน” (institution failure) คือมนุษย์เจริญก้าวหน้าในช่วงสามสี่ร้อยปีหลังนี้ผ่านการจัด ระบบสังคม ระบบองค์กร แบบที่มี “พิมพ์เขียว” ชัดเจน มีการจัดองค์กร และการจัดการเป็นลำดับชั้น มีกติกาตายตัว มีการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ชุดความคิด ความเชื่อ หรือกระบวนทัศน์แบบนี้กำลัง นำพามนุษย์เข้าสู่จุดจบ หรือทางตัน


ท่านเสนอชุดความคิด ความเชื่อ กระบวนทัศน์ ของการจัดองค์กร แบบใหม่ ที่เรียกว่า chaordic หรือ complex-adaptive organization ที่ตัวรวมใจรวมพลังคือเป้าหมายที่ทรงคุณค่าร่วมกัน (shared purpose) ร่วมกันออกข้อตกลงหรือกติกาในการทำงานร่วมกัน ภายใต้ความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายแนวราบ มีการจัดระบบองค์กรหรือระบบการทำงานที่ทุกคน/ทุกส่วน รู้ว่าตนรับผิดชอบอะไร สัมพันธ์กับใคร มีระบบข้อมูลข่าวสารที่รับรู้ร่วมกัน มีการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับการทำงาน เกิดการพัฒนาระบบ/องค์กร ในลักษณะของ “การผุดบังเกิด” (emergence) และทวีความซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ จนไม่มีใครเข้าใจระบบ ทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องเข้าใจระบบทั้งหมด องค์กรก็ขับเคลื่อนไปเสมือนมีชีวิต


ท่านเชื่อว่า องค์กรแบบหลังสอดคล้องกับธรรมชาติมากกว่า และทรงพลังมากกว่า สร้างสรรค์มากกว่า หรือกล่าวว่าเปิดโอกาสให้พลังสร้างสรรค์ของมนุษย์ออกมาทำงานได้มากกว่า


แต่อย่าเข้าใจผิดว่าองค์กรเคออร์ดิคจะราบรื่นนะครับ หนังสือเล่าเรื่องราวของการเผชิญอุปสรรค ความลุ่มๆ ดอนๆ มากมาย ที่จะต้องฟันฝ่า ยิ่งกว่านั้น องค์กรเคออร์ดิคที่เป็นผู้ร้ายหรือเป็นวายร้ายก็มีมาก นะครับ เช่น ลัทธิก่อการร้าย ขบวนการค้ายาเสพติด ขบวนการอาชญากรรมที่มีการจัดตั้ง และอื่นๆ อีกมาก


องค์กรเคออร์ดิคด้านดี มีคุณประโยชน์ยิ่ง นอกจากบริษัทบัตรเครดิตวีซ่า ก็มีอีกมาก เช่น อินเทอร์เน็ต, World Weather Watch, AA (Alcoholics Anonymous), ระบบควบคุมการจราจรทางอากาศ, ระบบวิวัฒนาการ, ระบบทางชีววิทยา, และระบบที่เล็ก ที่สุดคือครอบครัว


ท่านเสนอ รหัสพันธุกรรม ๑๐ ประการสำหรับองค์กรหรือระบบเคออร์ดิค ได้แก่ (๑) สมาชิกภาพ แบบเปิดกว้าง (๒) องค์กรประชาธิปไตย (๓) อำนาจสูงสุดเป็นของคนงาน (๔) ทุนเป็นส่วนเสริม (๕) การมี ส่วนร่วมในการบริหารจัดการ (๖) กำหนดเพดานค่าจ้าง (ไม่ให้มีช่องว่างระหว่างรายได้สูงสุดกับรายได้ต่ำสุด มากเกินไป) (๗) ความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ (๘) การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (๙) ธรรมชาติอันเป็นสากล (๑๐) การศึกษา แต่ผมคิดว่าท่านเผลอลืมข้อสำคัญที่สุด ... การที่สมาชิกทุกคนมีความชัดเจนในเป้าหมาย อันทรงคุณค่าขององค์กร


ดี ฮ็อค ตั้งคำถามว่าปัจจัยหลักที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบขนาดใหญ่ทั่วทั้งสังคม มีอะไรบ้าง และตอบว่ามี ๔ อย่าง

  • ตัวอย่าง
  • แบบจำลอง
  • รากฐานทางสติปัญญา
  • องค์กร ที่เป็นองค์กรระดับโลก ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่าย


หลังจากออกจากบริษัทวีซ่า อินเตอร์เนชั่นนัล เมื่อปี 1984 เขาไปจำศีลตัดขาดจากโลกภายนอกอยู่ใน สวนขนาด ๒๐๐ เอเคอร์ เกือบสิบปี จนโดนเหตุการณ์ดึงออกมา “ผจญภัย” เพื่อสร้างองค์กรและสังคมในฝัน จนเกิดหนังสือเล่มนี้ พิมพ์ออกมาในปี 2005 ที่จบด้วยข้อสรุปว่า ความฝันนั้นยังรอการผุดบังเกิดอยู่


หนังสือ One From Many : VISA and the Rise of Chaordic Organization สามารถดาวน์โหลดฟรีได้ที่ http://library.uniteddiversity.coop/REconomy_Resou...



วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๕๙


หมายเหตุ บันทึกนี้วรรคตอนอาจไม่ถูกตามหลักภาษา เนื่องจากข้อจำกัดของการแสดงผล


หมายเลขบันทึก: 616995เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2016 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2016 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท