ระบบการจัดการด้านนิรภัยสนามบิน ไทย


ความเสี่ยงไม่มีคำว่าต่อรอง

...................................................................

ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน

............................................................................................................

ฉบับที่ ๘๐ ว่าด้วยมาตรฐานการก่อสร้างสนามบิน

ฉบับที่ ๘๑ ว่าด้วยการจัดทำคู่มือการดำเนินงานสนามบิน

ฉบับที่ ๘๒ ว่าด้วยระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน

ฉบับที่ ๘๒ ว่าด้วยการตรวจค้นเพื่อรักษาความปลอดภัยในการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ

ฉบับที่ ๘๔ ว่าด้วยค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของผู้โดยสารออกจากสนามบิน

...................................................................................................................................................................................................................

ฉบับที่ ๘๒

ว่าด้วยระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. ๒๔๙๗ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการการบินพลเรือนโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกข้อบังคับตามภาคผนวก ๑๔ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ในเรื่องระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน (Safety management system) ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสนามบินสาธารณะจะดำเนินการสนามบินสาธารณะได้ก็ต่อเมื่อได้จัดให้มีระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน โดยจัดทำเป็นส่วนหนึ่งของคู่มือสนามบินที่ต้องยื่นให้กรมการขนส่งทางอากาศให้ความเห็นชอบ

ข้อ ๒ ระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน ต้องมีรายละเอียดในเรื่องดังต่อไปนี้

๒.๑ นโยบายความปลอดภัยและวัตถุประสงค์ในการจัดการด้านความปลอดภัย (Safety policy and objectives)

๒.๑.๑ นโยบายความปลอดภัย ที่มีการรับรองโดยผู้บริหารสูงสุดหรือเทียบเท่าขององค์กร สอดคล้องกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยสนามบินของประเทศและของสนามบินเองรวมทั้งแสดงความสำคัญของความปลอดภัย ในการดำเนินการสนามบิน โดยนโยบายความปลอดภัยนั้นจะต้องเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไป และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการสนับสนุนทั้งทางด้านบุคลากรและเงินทุนในการดำเนินการเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน ให้มีความเหมาะสมกับองค์กรตลอดเวลา

๒.๑.๒ วัตถุประสงค์ในการจัดการด้านความปลอดภัย ที่แสดงให้เห็นว่าสนามบินได้จัดให้มีการปรับปรุงระดับความปลอดภัยให้ดีขึ้นอยู่เสมอ มีการประเมิน และลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และส่งเสริมให้บุคลากรทำการรายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยอย่างอิสระและปราศจากการลงโทษ รวมทั้งการระบุหน้าที่ความรับผิดชอบในระดับบริหารจัดการและปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัย

๒.๒ โครงสร้างองค์กรและความรับผิดชอบ (Organizational structure and responsibilities)

๒.๒.๑ ระบบการบริหาร ให้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีความรับผิดชอบสูงสุดโดยตรงต่อระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงนั้นมีอำนาจหน้าที่ที่สามารถให้การสนับสนุนบุคลากร เงินทุน และตัดสินใจอย่างเต็มที่เกี่ยวกับความปลอดภัย

๒.๒.๒ ระบบการบริหาร ให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบในกิจกรรมของระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน และกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

๒.๓ ระบบเอกสาร (Documentation)

๒.๓.๑ การจัดเก็บข้อมูลที่ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบินมีความเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

๒.๓.๒ ระบบเอกสารที่ทำ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบินสามารถรับทราบได้ทั่วไป

๒.๔ ระบบการจัดเก็บและการวิเคราะห์ในการระบุภาวะอันตรายและการจัดการความเสี่ยงจากภาวะอันตราย (Safety hazard identification and risk management)

๒.๔.๑ การระบุภาวะอันตราย ที่แสดงให้เห็นว่าสนามบินได้จัดให้มีกระบวนการในการระบุภาวะอันตรายทั้งในเชิงติดตาม (reactive) เชิงป้องกัน (proactive) และเชิงคาดการณ์ (predictive) สำหรับการจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ภาวะอันตราย

๒.๔.๒ การจัดการความเสี่ยง ที่แสดงให้เห็นว่าสนามบินได้จัดให้มีกระบวนการในการประเมินและลดความเสี่ยง เพื่อให้เป็นไปตามระดับความปลอดภัยขององค์กร

๒.๔.๓ การสอบสวนเกี่ยวกับความปลอดภัยภายในสนามบิน (Internal safety investigations) ที่แสดงให้เห็นว่าสนามบินได้จัดให้มีกระบวนการในการสอบสวนเกี่ยวกับความปลอดภัยภายในสนามบิน

๒.๕ การประกันความปลอดภัย (Safety assurance)

๒.๕.๑ การติดตามและประเมินความปลอดภัย (Safety performance monitoring and measurement) ที่แสดงให้เห็นว่าสนามบินได้จัดให้มีการติดตามดูแลการดำเนินการด้านความปลอดภัยภายในสนามบินและประเมินมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงต่างๆ โดยระบบการติดตามและประเมินความปลอดภัย จะประกอบด้วย ระบบการรายงาน ระบบการตรวจสอบ ระบบการศึกษาวิเคราะห์ หรือระบบการสำรวจ เป็นต้น

๒.๕.๒ การจัดการการเปลี่ยนแปลง (Management of change) ที่แสดงให้เห็นว่าสนามบินได้จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้นและกำหนดมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงนั้น

๒.๕.๓ การพัฒนาระบบความปลอดภัย (Continuous improvement of the safety system) ที่แสดงให้เห็นว่าสนามบินจัดให้มีการปรับปรุงระดับความปลอดภัยของสนามบินอยู่ตลอดเวลา

๒.๖ การส่งเสริมความปลอดภัย (Safety promotion)

๒.๖.๑ การฝึกอบรมด้านความปลอดภัย (Safety training) ที่แสดงให้เห็นว่าสนามบินได้จัดให้มีโครงการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรในแต่ละตำแหน่ง เพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นมีความรู้ที่เหมาะสมเพียงพอและสามารถปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบินโดยจะต้องมีโครงการฝึกอบรมสำหรับผู้บริหารระดับสูงของสนามบินด้วย

๒.๖.๒ การสื่อสารขององค์กรที่เกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย (Safety communication) ที่แสดงให้เห็นว่าสนามบินได้จัดให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจและส่งเสริมให้บุคลากรตระหนักถึงความปลอดภัย

๒.๗ แผนฉุกเฉิน (Emergency plan) ที่แสดงให้เห็นว่าสนามบินมีการจัดการภาวะฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ รวมถึงการกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วย โดยมีการระบุถึงหน่วยงานและผู้รับผิดชอบที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการขณะเกิดภาวะฉุกเฉิน

ข้อ ๓[๑] ให้ใช้ข้อบังคับนี้ เมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑

พลเรือเอก ธีระ ห้าวเจริญ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน

ความสำคัญของระบบการจัดการความปลอดภัย (Safety Management System-SMS) ขององค์กรอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย และทั่วโลก

องค์กรด้านการบินประกอบด้วย Aircrew Airline AirTraffic-Control และ Airport

ความสำคัญของ SMS ต่อผู้ประกอบการท่าอากาศระหว่างประเทศของไทย
•เป็นมาตรฐาน ICAO กำหนดให้ท่าอากาศยานระหว่างประเทศต้องจัดทำคู่มือสนามบิน(Aerodrome Manual) และระบบการจัดการความปลอดภัย( Safety Management System-SMS)
•เป็นข้อบังคับตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศพ.ศ.2497 ( ฉบับที่ 11-แก้ไขเพิ่มเติมปี 2551) )และข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน กบร.ฉบับที่ 80,81,82 เพื่อใช้เป็นเอกสารในการยื่นขอ ใบรับรองสนามบิน (Aerodrome Certificate)
•เป็นข้อเสนอแนะของ ACI –Airport Council International ให้ท่าอากาศยานสมาชิกควรจัดให้มีระบบการจัดการความปลอดภัยเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ใช้บริการ

ความหมายและคำนิยามของระบบ SMS
ตามนิยามของ ICAO (Annex 14 Aerodrome Manual และ Doc-9859 AN Safety Management System-SMS ) คือ ระบบที่นำมาใช้ในการจัดการกับความปลอดภัยที่สนามบิน ซึ่งมีองค์ประกอบของระบบฯจะต้องประกอบไปด้วย นโยบาย โครงสร้างองค์กร (Organizational Structure) หน้าที่ความรับผิดชอบ(Responsibilities) ระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติ กระบวนการทำงาน บทบัญญัติต่าง (Provisions) การระบุสภาวะอันตราย การจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (Identifies Hazard and Risk Management) การประกันความปลอดภัย (Safety Assurance) และการส่งเสริมความปลอดภัย (Safety Promotion) ซึ่งผู้ดำเนินการสนามบิน จะต้องนำระบบดังกล่าวไปปฏิบัติ และจะต้องจัดให้มีการควบคุมความปลอดภัยที่สนามบินและจัดให้มีการใช้สนามบินอย่างปลอดภัย

องค์ประกอบของระบบ SMS ตาม Doc-9859 AN Safety Management System-SMS / 2nd ,2009

ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ

1. นโยบาย แผนการดำเนินงาน วัตถุประสงค์และเป้าหมาย

2. การระบุสภาวะอันตรายและการบริหารจัดการกับความเสี่ยง

3. การประกันความปลอดภัย

4. การส่งเสริมความปลอดภัย



หน้าแรก

สมัครสมาชิก: บทความ (Atom)

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

DR.AIRPORT

ดูโปรไฟล์ทั้งหมดของฉัน

หมายเลขบันทึก: 616989เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2016 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2016 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท