การปฏิรูปการศึกษาไทย (ตอนที่ ๑๓)


ถ้าจะปฏิรูปอุดมศึกษา โดยไม่ปฏิรูปการศึกษาพื้นฐานและระบบพัฒนาคนในสังคมไทยทั้งระบบคงจะเป็นไปไม่ได้

การมอบนโยบายปฏิรูปการศึกษาแก่ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา

"สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดการประชุมการมอบนโยบายการปฏิรูปการศึกษาให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศกว่า 600 คน โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมชี้แจงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2559 ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ"

ผมขอชื่นชม พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ และทีมงานของท่าน ที่มีความรู้และวิสัยทัศน์ สามารถสรุปรวมรวมประเด็นปัญหา กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ การปฏิรูปอุดมศึกษาได้ดีและมุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง นับเป็นนิมิตหมายและจุดเริ่มต้นที่ดี ในการปฏิรูปการศึกษาไทยในส่วนของอุดมศึกษา

แต่ขอเรียนเสนอ (แบบเอาใจและเอาสติปัญญาความคิดช่วยด้วย) ในสิ่งที่ท่านรัฐมนตรีและทีมงานคงจะทราบกันดีอยู่ว่า งานปฏิรูปจริงข้างหน้ายังมีอีกมากที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติ เพื่อปฏิรูปอุดมศึกษาอย่างจริงจังและสำเร็จ ในขั้นนี้เป็นเพียงขั้นวางแผนและให้นโยบายเท่านั้น (แม้จะมีบางเรื่องได้ทำจริงบ้างแล้ว) ขั้นต่อไปยังจะต้องผลักดันให้เกิดการปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเกิดผลสำเร็จ ยังคงจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร เพราะเรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวคน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ และ สกอ.

ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ และประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและยุทธศาสต์ คงจะต้องทำงานระยะยาว

การปฏิรูปอุดมศึกษา อาจจะเกิดความล้มเหลว หรือสำเร็จได้ยาก หากไม่มีการมองระบบการศึกษาและการพัฒนาคนของประเทศทั้งระบบ เพราะอุดมศึกษา แม้จะมีความสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง อุดมศึกษาไม่ได้อยู่ลอยๆ โดยแยกออกจากการศึกษาพื้นฐาน และการพัฒนาคนที่ทำงานแล้วและคนในสังคม อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อไปจะยิ่งเร็วขึ้น นักเรียน นิสิต-นักศึกษาและคนในสังคม ก็คงจะต้องเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันเช่นกัน ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปอุดมศึกษา โดยไม่ปฏิรูปการศึกษาพื้นฐานและระบบพัฒนาคนในสังคมไทยทั้งระบบคงจะเป็นไปไม่ได้

วันก่อนเห็นข่าวในเรื่องการแยกอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ผมจึงเสนอให้ตั้งเป็น "กระทรวงอุดมศึกษาและวิจัยหรือนวัตกรรม" เสียเลย กระทรวงนี้จะต้องกำกับดูแลนโยบายและยุทธศาสตร์อุดมศึกษาตามที่ท่านรัฐมนตรีมอบหมาย เพื่อให้ดำเนินตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ซึ่งมหาวิทยาลัยก็จะต้องปฏิรูปเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 เพื่อสร้างคนไทย 4.0 และสังคมไทย 4.0 ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กระทรวงอุดมศึกษาและวิจัยหรือนวัตกรรม จะต้องเป็นกระทรวงในเวอร์ชั่น 4.0 ด้วย

กระทรวงอุดมศึกษาและวิจัยหรือนวัตกรรม เวอร์ชั่น 4.0 เป็นอย่างไร คงจะไม่ใช่แค่การใช้เครื่องไม้เครื่องมือดิจิทัล โดยคนทำงานยังมีความคิดและจิตใจ (mindset) แบบราชการที่ล้าสมัยเดิมๆ อย่างน้อยที่สุดก็อาจจะลองถามความคิดเห็นคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่เคยสัมผัสกับกระทรวงและระบบราชการเดิม ผู้ซึ่งชอบมองและคิดอะไรอย่างจริงจัง ก็ได้ว่าท่านมองและคาดหวัง กระทรวงอุดมศึกษาฯ เวอร์ชั่น 4.0 อย่างไรบ้างครับ

หมายเลขบันทึก: 615950เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2016 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2016 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท