​วิจัยมนุษยศาสตร์พื้นฐาน



เอ่ยเรื่องวิจัย สิ่งสำคัญที่สุดคือ การตั้งโจทย์ที่มีความหมาย มีความชัดเจน ความเชื่อมโยง ความลุ่มลึก และเหมาะสม (relevant)


เช้าวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ผมมีบุญ ได้รับเชิญจาก ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ด้านประวัติศาสตร์ ให้ไปร่วมประชุมโครงการ “ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย ในปริทรรศน์ ประวัติศาสตร์” ที่ สกว.


ทำให้ได้เรียนรู้ ตีความ ทำความเข้าใจ วิธีจัดการงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ ที่ผมคิดว่าสุดยอด ที่น่าจะมี การขยายไปสู่มนุษยศาสตร์สาขาอื่นๆ หรือแม้แต่สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ก็ใช้วิธีการจัดการแนวเดียวกัน นี้ได้


จากรายงานการประชุมโครงการนี้ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ ผมได้รับทราบว่า บุคคลสำคัญในโครงการมี ๓ กลุ่ม คือ (๑) หัวหน้าโครงการ (ดร. วินัย) (๒) ที่ปรึกษาโครงการ คือนักวิจัย/วิชาการอาวุโส (๓) นักวิจัย ที่จะต้องรับผิดชอบโครงการของตน และร่วมเรียนรู้กับนักวิจัยท่านอื่นๆ และร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ


รายชื่อที่ปรึกษาโครงการได้แก่ ศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์, ศ. ดร. สดชื่น ชัยประศาสธน์, ศ. ดร. อารยะ ปรีชาเมตตา, คุณนวพร เรืองสกุล, ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, รศ. ดร. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด, ศ. ดร. เมธี ครองแก้ว, ศ. ดร. ผาสุก พงศ์ไพจิตร


รายชื่อนักวิจัยได้แก่ อ. กมลทิพย์ ธรรมกีระติ, ดร. จันทิมา บรรจงประเสริฐ, อ. จิรวุฒิ หลอมประโคน, นส. ชลธิชา ขุนทอง, นายชัยพงษ์ สำเนียง, อ. เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์, อ. ลลิตา ภคเมธาวี, ผศ. ดร. วรพร ภู่พงศ์พันธุ์, อ. วีระพงศ์ ยศบุญเรือง, ผศ. ดร. ศุภการ สิริไพศาล, ผศ. อลิสา เลี้ยงรื่นรมย์, อ. อังศุรักษ์ พรหมสุวรรณ์, ดร. อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล, ดร. ศุพฤฒิ ถาวรยุติการ, ผศ. ดร. ภูมินทร์ บุตรอินทร์, ดร. เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์, นายภูวิน บุญยะเวชชีวิน, ดร. ธันยพร จันทร์กระจ่าง, ดร. กัลยาณี ทองเลี่ยมนาค, อ. ธีรพร พรหมมาศ, อ. พิมพ์อุมา ธัญธนกุล, อ. วิลุบล สินธุมาลย์ รวม ๒๒ คน นับเป็นทีมวิจัยที่ใหญ่ และมาจากหลากหลายสถาบัน


ดร. วินัย ตั้งชื่อการประชุมนี้ว่า อาศรมวิจัย มีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็น มีการนำเอาเรื่องราวของเอกสารชั้นต้นมานำเสนอและร่วมกันตั้งคำถามหรือให้ข้อคิดเห็น เช่นในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน อ. วีระพงศ์ ยศบุญเรือง จาก มอ. ปัตตานี ได้เสนอเอกสารเรื่อง “จดหมายเหตุร้อยเอกเจมส์ โลว์” (James Low) เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ฝั่งตะวันตก


ที่เป็นกิจกรรมหลักคือ การนำเสนอเค้าโครง หรือความก้าวหน้าของโครงการวิจัย โดยเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน มีการนำเสนอดังนี้


  • พัฒนาการของกลุ่มทุนและเครือข่ายของธุรกิจท้องถิ่นในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2462 - ปัจจุบัน โดย ผศ. ดร. ศุภการ สิริไพศาล
  • ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจภูเก็ต 2500 - 2550 โดย อ. ลลิตา ภคเมธาวี
  • ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจภาคใต้ ตั้งแต่สมัยโบราณถึงสิ้นคริสตศตวรรษที่ 15 โดย อ. กมลทิพย์ ธรรมกีระติ
  • ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของภาพยนตร์ไทย โดย ดร. อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล
  • ธุรกิจหนังสือพิมพ์กับสังคมไทย ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง - 2015 โดย ดร. จันทิมา บรรจงประเสริฐ
  • ธุรกิจการค้าสมัยใหม่กับสังคมไทย โดย อ. จิรวุฒิ หลอมประโคน
  • ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจข้าวในภาคใต้ โดย ผศ. อลิสา เลี้ยงรื่นรมย์
  • พัฒนาการของกลุ่มทุนจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พ.ศ. 2446 - ปัจจุบัน โดย คุณพิภู บุษบก

ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม มีการนำเสนอเรื่อง

  • An Economic History of Land Rights in Thailand โดย ดร. ธันยพร จันทร์กระจ่าง และ ดร. เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจภาคใต้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1819 – 1997 โดย อ. วีระพงศ์ ยศบุญเรือง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ผมไม่ได้อยู่ประชุมทั้งวัน เพราะต้องไปทำงานอื่นต่อ มีข้อสังเกตว่า นักวิจัยแต่ละโครงการย่อย ได้รับประโยชน์มาก จากคำแนะนำของที่ปรึกษา เรื่องประวัติศาสตร์หรือเรื่องอดีต หลายเรื่องไม่มีจารึกไว้ แต่มีในประวัติศาสตร์บอกเล่า


เป็น “อาศรมวิจัย” เพื่อการมาชุมนุมกันตั้งโจทย์วิจัย และช่วยกันทำความชัดเจนของผลงานวิจัย ที่ต้องการ ที่น่าชื่นชมยิ่งคือ ตั้งโจทย์วิจัยด้านประวัติศาสตร์ ที่เป็นเรื่องราวหลากหลายด้านในสังคม ซึ่งในกรณีนี้เน้นที่เศรษฐกิจและสังคม เป็นการสร้างนวัตกรรมในการทำงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์


หากมีโอกาส ผมจะหาทางชักชวนให้นักวิจัยกลุ่มนี้ทำวิจัยประวัติศาสตร์สาธารณสุขของไทย



วิจารณ์ พานิช

๑๘ ส.ค. ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 615018เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2016 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2016 07:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท