บทเรียนนอกตำรา




</strong>

“บทเรียนนอกตำรา”

สวัสดีค่ะนี่ก็ถือว่าเป็นครั้งที่สองหลังจากเมื่อหนึ่งปีที่แล้วที่ฉันได้เขียนถึงเรื่องราวที่ว่าฉันมาเป็นนักกิจกรรมบำบัดได้อย่างไรฉันคิดว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่ค่อนข้างหนักหน่วงและผ่านไปได้ยากในการที่จะเลือกเรียนอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยหารู้ไม่ว่าในตอนนี้ การเรียนนั้นยากยิ่งกว่า เข้าใจยากสุดๆ และ ขอยอมรับโดยตรงว่ามีหลายครั้งที่ฉันไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรแต่หากให้ย้อนเวลากลับไปฉันก็จะยังเลือกเรียนที่เดิมบนเส้นทางเดิมเส้นทางการเรียนนอกตำราที่ได้มากกว่าแค่ความรู้...

เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมาคลาสเรียนของฉันได้เรียนกัวข้อการพิจารณาการใช้รถนั่งคนพิการ และการประเมินทักษะการฝึกใช้ wheelchairซึ่งถึงแม้ว่าตารางเรียนจะบอกไว้แบบนั้นแต่ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งในหลายๆครั้งที่ไม่ได้เรียนเพียงตามตำราแต่เป็นการเรียนผ่านการสวมบทบาทแสดงละครซึ่งในครั้งนี้มีการจับคู่กันเพื่อสวมบทบาทเป็นบทที่แตกต่างกันโดยที่ฉันคู่ของฉันได้สลับกันสวมบทบาทเป็นผู้รับบริการ below knees amputation และการเป็นนักกิจกรรมบำบัดโจทย์ในครั้งนี้นักกิจกรรมบำบัดจะพาผู้รับบริการ below knees amputation ไปยังศาลเจ้าพ่อขุนทุ่งเพื่อบูชาขอพรให้การสอบที่กำลังจะถึงนี้ผ่านไปด้วยดี ซึ่งระยะทางจากคณะกายภาพบำบัดไปยังศาลเจ้าพ่อขุนทุ่งนี้ไกลพอสมควร ทำให้โจทย์ในครั้งนี้เป็นการท้าทายความสามารถของพวกเรานักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่สามไปอีกขั้นในการที่จะสวมบทบาทเพื่อที่จะเข้าใจความรู้สึกของทั้งผู้รับบริการและนักกิจกรรมบำบัดการได้ใช้ความรู้มาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารวมไปถึงการฝึกใช้และได้ลองพัฒนาทักษะต่างๆจากการได้ลงมือปฏิบัติ (เสมือน) จริง

สำหรับช่วงที่การสอบกำลังจะเริ่มต้นขึ้นมีอยู่ไม่น้อยที่นักศึกษาที่อ่านหนังสือไม่ทันไม่มั่นใจในตนเองสำหรับการสอบ ต้องการที่พึ่งพาทางใจอยากจะไปขอพรให้ตนเองนั้นสอบผ่าน.. และสถานที่ยอดฮิตสำหรับนักศึกษามหิดลก็คงหนีไม่พ้นศาลเจ้าพ่อขุนทุ่ง สำหรับในครั้งแรก ซึ่งผู้รับบริการของฉันในครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ใช่ค่ะ ในครั้งแรกฉันได้รับบทเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่จะใช้ความรู้ความสามารถเท่าที่มีในปัจจุบันในการพาผู้รับบริการไปยังจุดหมายปลายทางได้ด้วยตนเอง แต่การเดินทางในครั้งนี้ไม่ง่ายดายนักเนื่องจากผู้รับบริการต้องใช้ wheelchairในการเคลื่อนย้ายตนเองไปยังสถานที่ต่างๆ และระยะทางจากคณะกายภาพบำบัด(สถานที่ที่เราอยู่)กับศาลเจ้าพ่อขุนทุ่ง(จุดมุ่งหมายที่เราจะไป)นั้นค่อนข้างไกลพอสมควรดังนั้นเราจึงมีการวางแผนร่วมกันในการเลือกเส้นทางที่จะไปเพื่อลดระยะทางให้สั้นที่สุดและมีอุปสรรคน้อยที่สุดเพื่อเป็นการสงวนพลังงานและสะดวกต่อการเดินทางซึ่งในการเดินทางในครั้งนี้ฉันซึ่งได้รับบทเป็นนักกิจกรรมบำบัดก็เดินทางไปเป็นเพื่อนเพื่อพาเขาไปยังสถานที่ที่เขาต้องการจะไปเพื่อประเมินทักษะต่างๆในการใช้รถเข็นของผู้รับบริการการประเมินสื่อสิ่งแวดล้อมตลอดระยะทางที่เขาจะไปว่าเหมาะสม ควรปรับตรงไหนหรือไม่เพื่อเอื้อต่อการที่เขาจะสามารถมาคนเดียวได้ประเมินการรู้คิดและอื่นๆ ซึ่งจะใช้เป็นประโยชน์ในการตั้งเป้าหมายและวางแผนในการรักษาเพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเองและพึ่งพาผู้อื่นได้น้อยที่สุด..

เมื่อได้เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางความเป็นนักกิจกรรมบำบัดของฉันก็สิ้นสุดลงฉันได้รับบทบาทใหม่เพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้รับบริการด้วยใช่ค่ะ ในรอบนี้ฉันได้รับบทเป็นผู้รับบริการ และเพื่อนของฉันรับบทเป็นนักกิจกรรมบำบัดโดยในรอบนี้จุดหมายปลายทางคือเราต้องการที่จะกลับไปที่เดิมเพราะตอนนี้ได้มาขอพร สบายใจแล้วอยากกลับไปเรียนต่อเพราะการสอบจะพึ่งพาเพียงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ ต้องมีความรู้ด้วยและในการสวมบทบาทในครั้งนี้ทำให้ฉันได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างมากกว่าตอนที่ได้รับบทเป็นนักกิจกรรมบำบัดเพราะตอนที่ฉันได้ลองสวมบทบาทเป็นนักกิจกรรมบำบัด ฉันทำไปตามหน้าที่เสมือนการซ้อมบทบาทการเป็นตนเองในอนาคตแต่ในการที่จะสวมบทบาทเป็นผู้รับบริการมันมีอะไรมากกว่านั้นนั่นคือทำให้ฉันสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้รับบริการได้มากขึ้นฉันรู้สึกอ่อนล้าและรู้สึกท้อแท้ว่าเมื่อไรฉันจะไปถึงที่หมายปลายทางสักที ถึงแม้ว่าจะสามารถใช้ wheelchair ได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีกำลังกล้ามเนื้อพอในการเข็นเป็นระยะเวลานานๆเพราะระหว่างทางมีอุปสรรคมากมายหลายอย่างทั้งระยะทางที่ไกล มีหลุม ทางต่างระดับ ทางลาดชันที่มีความชันมากทางไม่เรียบมีรถสวนทาง รวมถึงการต้องข้ามถนน ฯลฯในตอนนั้นก็มีความคิดขึ้นมาภายในหัวว่า ทำไมฉันถึงจะต้องมาทำอะไรแบบนี้เป็นคนปกติธรรมดานั้นง่ายกว่ามาก ฉันรู้สึกไม่อยากที่จะเข็นต่อไปอยากจะลงเดินเองหรือให้ผู้บำบัดมาเข็นให้เสียเลย เพราะครั้งนี้เราแค่แสดงละคร แต่ผู้รับบริการนั้นไม่สามารถทำแบบเราได้ ผู้รับบริการไม่สามารถเลือกได้ว่าจะลงเดินเอง ซึ่งนักบำบัดก็จะคอยถามอยู่เสมอไหวหรือเปล่าคะ?พักก่อนไหม?สู้ๆนะคะอีกนิดเดียวลองเข็นต่อไปอีกนิดนึงนะคะอีกนิดเดียวก็จะถึงแล้วค่ะในความจริงฉันรู้สึกเหนื่อยมากๆ และไม่อยากที่จะทำอะไรแต่เมื่อมีคำที่แสดงถึงความห่วงใยเหล่านี้ที่คอยถามและกระตุ้นเราตลอดเวลามันสามารถช่วยได้ไม่มากก็น้อยจริงๆสิ่งนี้ทำให้รู้สึกว่า ฉันไม่ได้เดินทางคนเดียวตอนนี้เรากำลังที่จะพยายามเดินทางไปยังจุดมุ่งหมายเดียวกันเดินทางไปด้วยกันถึงแม้การเดินทางในครั้งนั้นทำให้ฉันเหนื่อยล้ามากแค่ไหน แต่กำลังใจจากคนข้างกายก็ได้ช่วยบรรเทาความล้าให้มีแรงฮึดสู้ต่อได้จริงๆ

จากการเรียนในครั้งนี้ ฉันอาจจะไม่ได้รับความรู้ในการใช้ wheelchair ที่ถูกต้องแต่สิ่งที่ฉันได้รับคือการได้รู้ว่า ณ ตอนนี้ฉันขาดตกบกพร่องทักษะใดไปบ้างฉันยังต้องเรียนรู้ด้านไหนเพิ่มเติมรวมไปถึงฉันมีความพร้อมแค่ไหนในการที่จะเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่ดีและนอกจากการได้รับรู้ถึงความสามารถของตนเองในปัจจุบัน ฉันยังได้รู้ด้วยว่าในอนาคตฉันอยากที่จะปฏิบัติตนต่อผู้รับบริการอย่างไร..

ขอบคุณค่ะ.. “บทเรียนนอกตำรา”

หมายเลขบันทึก: 613987เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2016 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2016 08:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท