เรื่องเล่าจากการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น


การประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยครั้งที่ 3 สำหรับปี พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกเครือข่ายฯให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งดังกล่าว เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมานี้ ผมเองในฐานะประธานเครือข่ายฯ ได้มีโอกาสเดินทางไปประชุมครั้งสำคัญนี้ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย จึงอยากนำเอาความประทับใจและเนื่อหาสาระสำคัญของการประชุมมาแจ้งให้หลายๆท่านที่ติดตามการดำเนินงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยได้ทราบอย่างเป็นระยะๆ

การประชุมครั้งที่ 3 นี้จัดขึ้นเป็นทางการ ณ ห้องประชุม ตึกสำนักงานอธิการบดี โดยมี รศ. ดร. สมหมาย ปรีเปรม

รองอธิการบดีฝ่ายการคลังและทรัพย์สิน เป็นผู้กล่าวต้อนรับสมาชิกเครือข่ายฯที่เข้าร่วมประชุม หลังจากเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการแล้ว เราได้รับฟังการบรรยายถึงภาพรวมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และแนวคิดการสร้างตึก Net Zero Energy Building ซึ่งเป็นการออกแบบอาคารภายใต้แนวคิดของการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในอาคาร โดยแหล่งพลังงานหลักจากแสงอาทิตย์ มีการผสมผสานแนวทางการออกแบบเชิงสถาปัตย์ร่วมกับหลักการทางวิศวกรรมพลังงาน ส่งผลให้อาคารดังกล่าวสามารถควบคุมการใช้พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้อย่างสูงสุด ถือเป็นอาคารที่มีการบริหารจัดการแหล่งพลังงานและการใช้พลังงานได้อย่าน่าทึ่ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หลังจากที่เราได้รับฟังการบรรยายมาระยะหนึ่ง ก็ได้มีโอกาสลงมาถ่ายรูปร่วมกับตึก Net Zero Energy Building ที่บริเวณหน้าตึกดังกล่าว หลังจากนั้นเจ้าภาพได้นำเราขึ้นรถบัสขนาดเล็กประมาณ 30 ที่นั่ง ติดแอร์เย็นฉ่ำ และใช้พลังงานเชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยรถบัสดังกล่าวเป็นรถโดยสารสาธารณะภายในมหาวิทยาลัย ใช้บริการฟรีไม่คิดสตางค์ทั้งนักศึกษา บุคลากร และผู้ที่เข้ามาติดต่องานกับทางมหาวิทยาลัย จัดเป็นรถที่มีความคล่องตัวสูง จุคนนั่งได้มาก ที่สำคัญเป็นบริการสาธารณะที่ผู้บริหารต้องการนำมาใช้บริหารจัดการการขนส่งเพื่อลดความแออัดในการนำรถส่วนตัวมาใช้ภายในมหาวิทยาลัย บนรถบัสเราได้มีโอกาสนั่งดูทัศนียภาพภายในมหาวิทยาลัยไปพร้อมๆกับวิทยากรรับเชิญจากฝ่ายสื่อสารองค์กรของมหาวิทยาลัย ภายใต้พื้นที่ประมาณ 55,00 ไร่ของมหาวิทยาลัยเราได้มีโอกาสนั่งรถวนเยี่ยมชมในแต่ละจุดสำคัญ อาทิเช่นอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ทางวัฒธรรม เป็นต้น เราได้รับทราบปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในหลายๆเรื่องเช่นกัน อาทิเช่น การสร้างวงเวียนขึ้นมาหลายๆแห่งบนถนนภายในมหาวิทยาลัย เพื่อชะลอความเร็วของรถ และช่วยลดอุบัติเหตุ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนไม่น้อยในการบริหารจัดการสุนัขจรจัด ตั้งแต่ฉีดวัคซีน ทำหมัน ใส่ปลอกคอ และจดบันทึกไว้เป็นฐานข้อมูล ผมเชื่อเหลือเกินว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายๆมหาวิทยาลัยประสบปัญหาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในเรื่องของสุนัขจรจัด ด้วยเพราะคนไทยมีจิตใจโอบอ้อมอารี ชอบให้อาหารเป็นทานแก่สุนัชจรจัด แต่หากจะให้รับไปเลี้ยงดูกลับไม่มีคนไหนอยากนำกลับไปสักคน ซึ่งหามหาวิทยาลัยไม่บริหารจัดการให้ดี ก็จะมีการขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น วันดีคืนดีหากไปกัดนักศึกษาหรือบุคลากร ผู้บริหารก็ต้องรับผิดชอบไปตามระเบียบครับ ก่อนกลับเสร็จสิ้นการนั่งชมมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วยรถบัส สมาชิกเครือข่ายได้มีโอกาสร่วมกันปลูกต้นไม้ ถือเป็นไฮไลท์สำคัญอีกงานหนึ่งที่ประทับใจมากครับ

เรากลับมาที่ห้องประชุมอีกครั้งเพื่อทำการประชุมเครือข่ายฯอย่างเป็นทางการ ผลการประชุมโดยสรุปที่ประชุมมีมติรับรองสถานภาพสมาชิกใหม่จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 18 , 19 และ 20 ตามลำดับ ที่ประชุมมีมติรับรองร่างการประชุมเครือข่ายฯประจำปี 2559 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2559 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และท้ายสุดมีมติเห็นชอบความร่วมมือเบื้องต้นกับภาคเอกชนในแนวทางการดำเนินงานเพื่อการลดการใช้ถุงพลาสติก

หากถามถึงตัวผมว่าผมได้มีโอกาสไปร่วมประชุมครั้งนี้แล้วได้อะไร ผมได้เรียนรู้อย่างสำคัญว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นที่พึ่งของสังคมได้ จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นถือเป็นมหาวิทยาลัยที่สำคัญในแถบภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญต่อจังหวัดเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมหาวิทยาลัยไปตั้งอยู่ที่ไหน ผมเชื่อเหลือเกินว่าคนในท้องถิ่นต่างคาดหวังต่อมหาวิทยาลัยว่าจะนำความเจริญมาสู่พื้นที่ ดังนั้น ผู้บริหารหรือบุคลากรที่ทำงานควรตระหนักเสมอว่ามหาวิทยาลัยต้องเป็นที่พึ่งของชุมชน และประเทศให้ได้

ผมได้เรียนรู้อีกว่าการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยมันไม่มีแบบแผนตายตัว ด้วยเพราะมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างในบริบทของตนเอง การดำเนินงานทางยุทธศาสตร์ยังมีความจำเป็น แต่ผมเชื่อว่าเราต้องอาศัยการดำเนินงานเชิงรุกในเชิงแทคติกร่วมด้วยเสมอ ยกตัวอย่างปัญหาสุนัขจรจัดที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นพยายามจัดการเป็นต้น

สุดท้ายผมเรียนรู้ว่า การทำงานเป็นเครือข่าย ทำให้เรามีพื้นที่ของการสร้างความร่วมมือ การสร้างกัลยาณมิตรที่มีความคิดคล้ายๆกันและการสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างกัลยาณมิตร ทั้งนี้มิใช่เพื่อมหาวิทยาลัยของตนเอง แต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ชุมชน สังคม และประเทศต่างหากครับ

หมายเลขบันทึก: 613427เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2016 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2016 09:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท