กายภาพบำบัด...คัดกรองความสุข


ขอบพระคุณอ.สุวรรณี และอ.วรินทร์ ที่ให้โอกาสผมได้สอนนศ.กายภาพบำบัดปี 4 ในส่วนของจิตวิทยาเชิงบวก...แม้ว่าชั้นเรียนจะระบุให้บรรยายให้ห้องเรียนด้วยเวลา 4 ชม. ผมขอชื่นชมความอดทนพยายามเรียนรู้และความร่วมมือกับการบรรยายเชิงปฏิสัมพันธ์ การใช้กลุ่มพลวัติ และการใช้สะครสื่อสาร ของนศ. ทุกท่าน

กิจกรรมหนึ่ง เมื่อผมเข้าชั้นเรียน ผมเห็นความเหนื่อยล้าง่วงนอนของนศ.น่าจะเป็นเพราะบรรยากาศและระยะเวลายาวนานที่น้องๆอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมและนั่งเรียนกับเตียงยาวๆน่านอน ผมจึงขอให้นศ.หยิบกระดาษ 1 แผ่นแล้วทบทวนเขียนความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาว่ามีหัวข้ออะไรบ้างให้ได้ 10 ข้อ ใช้เวลา 10 นาที แล้วลองสุ่มนศ.ถึง 3 ท่านได้มีจำนวนมากถึง 9 จาก 10 ข้อ ก็พบว่า "ความรู้ทางจิตวิทยาที่นศ.ทบทวนได้คือ ทฤษฎีพื้นฐานทางจิตวิทยาเกี่ยวกับแรงจูงใจของมาส์โลว์ การวางเงื่อนไขของอิริคสัน ภูเขาน้ำแข็งจิตใต้สำนึกของฟรอยด์ การเสริมแรงทางบวก จนถึงความรู้เกี่ยวกับภาวะสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชศาสตร์...นั่นคือ นศ.ควรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จิตวิทยาเชิงบวกแบบองค์รวมทั้งแนวกว้างของพื้นฐานจิตใจอารมณ์ของตนเองแล้วค่อยๆรู้ลึกฝึกฝนนำไปช่วยผู้รับบริการทางกายภาพบำบัดซึ่งเน้น 3P เพื่อการศึกษา Positive Psychology คือ ดึงศักยภาพของมนุษย์ทุกคนหรือ Potential, ดูคุณค่าของความเป็นมนุษย์ให้บวกมากขึ้นหรือ Person และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในปัจจุบันขณะหรือ Present"

กิจกรรมสอง ผมจึงเริ่มเนื้อหาแรกคือ ค้นหาความแตกต่างระหว่างความสุขที่แปลว่า "Happiness" กับ "Well-Being" โดยให้นศ.ให้คำจำกัดความของความสุขไม่เกิน 1 ประโยคแล้วค้นหาเพื่อนๆจับกลุ่มให้มีคำจำกัดความใกล้เคียงกันมากที่สุด ก็แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ความสุขกายสบายใจในตัวเรา ความสุขกายใจสังคม ความสุขปล่อยวาง ความสุขสงบ และความสุขสบายร่างกาย แปรผลได้ว่า ความสุขภาพรวมของชีวิตในแนวกว้างตั้งแต่เกิดมารับรู้สึกนึกคิดถึงประสบการณ์ความสุขต่างๆ เราเรียกว่า Happiness หรือความสุข แต่นศ.ควรเรียนรู้ความสุขในปัจจุบันขณะ หรือความอยู่เย็นเป็นสุข หรือ Well-Being มากขึ้นที่มีทั้ง Personal-Social-Spiritual Well-Being (เทคนิคการถามความรู้สึกอะไร เพราะอะไรหรือทำไมรู้สึกเช่นนั้น แล้วก็ให้บอกว่าจะจัดการความรู้สึกนั่นๆได้อย่างไร แล้วพรรณาความรู้สึกเป็นนามธรรมในปัจจุบันขณะไม่เกิด 7 คำหรือวลีที่ Subjective ของ SOAP note)


กิจกรรมสาม การยืนสำรวจอารมณ์ศูนย์หัว (กลัว) ศูนย์อก (เศร้า) และศูนย์ท้อง (โกรธ) ในสภาวะที่ไม่ง่วง ไม่โยกตัว มีสติ ยืนมั่นคง ก็พบนศ.ส่วนใหญ่ (20%) มีความตึงเครียดทางอารมณ์ที่มากกว่า 7/10 (สเกล 0-10) ที่ศูนย์หัวพอๆกับศูนย์ท้อง (รวมกันได้ 15%) อีก 5% ที่ศูนย์อก ก็แนะนำการฝึกอานาปาณสติพร้อมเป่าลมหายใจออกทางปากจนหายง่วงเพราะใช้หัวคิดมากเกินไป มีการปรับเปลี่ยนท่าทาง และเคลื่อนไหวมากขึ้นถ้าเศร้าๆ หรือจิบน้ำเล็กน้อยถ้าหงุดหงิด แล้วหายใจแก้ง่วงเข้าทางจมูกนับในใจ 1-4 ค้างในท้องนับในใจ 1-7 แล้วปล่อยลมหายใจออกทางปากนับในใจ 1-8 (รหัส 4-7-8) ถ้ายังคงง่วงก็จะเป็นการทำให้ร่างกายเครียดจนเกินไปจนเกิดความเหนื่อยล้าทางความคิด ก็จะให้สมองได้พักเต็มที่ไม่เกิน 15 นาทีด้วยการงีบในท่าที่สบาย ถ้าเกินกว่านี้ถือเป็นการนอนหลับพักผ่อนจริงๆจังๆไป มิใช่จะนำมาใช้ในห้องเรียนได้ เหตุแห่งความล้าทางความคิดเกินขึ้นได้เสมอเมื่อจัดตารางเรียนให้อยู่ในท่าเดิมๆและเป็นผู้เรียนเป็นฝ่ายถูกป้อนความรู้มากกว่า 30 นาทีด้วยช่วงเวลาสูงสุดของสมองที่จะจดจ่อมีสมาธิรับสารจากการฟัง

กิจกรรมสี่ การดูคลิปความรู้สึกที่ทุกข์และสุขของบัณฑิตผู้มีคุณพ่อที่เสียสละและทำงานเป็นยามด้วยความมุ่งมั่นอยากให้ลูกเรียบจบปริญญา เส้นทางชีวิตต่างๆ นี้คือ Happiness ความสุขอยู่รอบตัวแม้ว่าชีวิตจะมีความลำบาก และ Well-Being อยู่ที่ฉากสุดท้ายที่บัณฑิตกำลังกราบเท้าคุณพ่อที่เป็นยาม แต่เมื่อนศ.ทุกคนได้หาตัวแทนหลังระดมสมองก็ยังมีความผสมผสานระหว่าง "Happiness" กับ "Well-Being"


กิจกรรมห้า การนำห้ากลุ่มข้างต้น คัดเลือกผู้นำกลุ่มที่เป็นผู้ที่นศ.ทั้งกลุ่มคิดว่ามีความสุขที่สุดทำหน้าที่จับเวลาการเล่าเรื่องของเพื่อนคนละไม่เกิน 2 นาที และคัดเลือกสองผู้สังเกตการณ์กลุ่มที่พูดน้อยที่สุดมาฝึกบันทึกอารมณ์บวกลบจากแววตา การหายใจ และการแสดงสีหน้าท่าทาง ในตำแหน่งของเพื่อนๆที่ล้อมวงเล่าเรื่อง โจทย์ของการเล่าเรื่องคือ "ให้ย้อนทบทวนความรู้สึกนึกคิดขณะที่ตัวเองเจ็บป่วยมากที่สุดในชีวิต" เมื่อทุกคนเล่าเรื่องจบก็พบว่า ในเหตุการณ์ที่วิกฤตของชีวิตก็เกิดการเรียนรู้ออกมาเป็นการแสดงอารมณ์บวก (ใส่เครื่องหมายบวก) หรือการแสดงอารมณ์ลบ (ใส่เครื่องหมายลบ) แล้วให้ใช้ใจแห่งการรับรู้ความเป็นจริงในอารมณ์ปัจจุบันขณะ (Well-Being ของการพึงพอใจในชีวิต ณ ขณะนี้) ออกมาในระดับสเกลความรู้สึก 1 (น้อย) ถึง 7 (มาก) พร้อมกับตัดสินใจจากการรับฟังความคิดเห็นในการสังเกตอารมณ์บวกลบของตนให้ชัดเจนว่า "เรากำลังรู้สึกอารมณ์ลบหรือบวกด้วยสเกลเท่าไรจาก 1-7" เมื่อตัดสินใจได้ก็บันทึกไว้ แล้วประมวลดูว่า "ก่อนและหลังทำกิจกรรมใดๆที่มีเป้าหมาย สเกลความอยู่เย็นเป็นสุขเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลง" เหตุผลที่ไม่ใช้สเกล 0 เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่ต้องการแสวงหาแรงจูงใจให้เกิดสุขจึงเริ่มต้นที่ 1 และเมื่อมีสุขภาวะแห่งการแบ่งปันความสุขช่วยเหลือผู้อื่นๆในสังคม จึงทำให้เราคงเก็บเกี่ยวความสุขได้ไม่มีวันได้คะแนนเต็ม 10 จึงคัดกรองด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม Self-Efficacy หรือความเชื่อมั่นในความสุขความสามารถ (ศักยภาพ) ในแต่ละรายบุคคลที่คะแนนสเกล 7 ขึ้นไป จึงใช้สเกลสุขภาวะปัจจุบันขณะหรืออยู่เย็นเป็นสุขกายใจสังคม หรือ Subjective Well-Being (SWB) ที่ 1-7 และสามารถนำไปบันทึกไว้เป็นรูปธรรมที่ Objective ของ SOAP note ได้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังทำกิจกรรม สามารถนำไปบันทึกไว้เป็นรูปธรรมที่ Assessment ของ SOAP note ได้

กิจกรรมหก การสื่อสารความรู้สึกกับเพื่อนแบบจับคู่ด้วยการมองตาสลับกันตอบโจทย์ว่า "เพื่อนเราสบายดีมีสุขอย่างไร" หลังสื่อสารทางสายตาคนละ 1 นาที ก็ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า สิ่งที่สื่อสารแววตาตรงหรือต่างจากคำพูดที่คิดอย่างไร แล้วทำอีกรอบคนละ 3 นาที ตอบโจทย์ว่า "จุดดี จุดที่ควรปรับปรุง และควรพัฒนาอย่างไร (Sandwich Feedback)" พบว่า "การสื่อสารที่ใช้ความคิดและ/หรือใช้ความรู้สึกมากเกินไป ทำให้เกิดการสื่อสารที่ต่างกัน ดังนั้นการฝึกสื่อสารอ่านใจและให้ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะทำให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างเป็นรูปธรรมคือ การสังเกตและการสัมผัสความรู้ความเข้าใจผ่านแววตา สีหน้า อารมณ์ (หายใจ) รอยยิ้ม ได้ถึง 55% ภาษาท่าทาง การใช้มือ การสัมผัส การขยับร่างกาย ได้ถึง 38% ทีเหลืออีก 7% คือภาษาพูด


กิจกรรมเจ็ด ให้จับกลุ่มใหม่คือ นับ 1-2-3 แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คัดเลือกหาสมาชิกในกลุ่มที่อยากเป็นนักร้อง นักเต้น นักแสดง (พระเอก นางเอก ตัวอิจฉาสองคน นักกายภาพบำบัดผู้มีสเกล SWB 7/7 และ ผู้ป่วยผู้มีสเกล SWB 1/7) และที่เหลือคือผู้กำกับการแสดงในโจทย์ให้คิดออกแบบละครความสุขพร้อมแสดงร้องเต้นไม่เกิน 10 นาทีต่อกลุ่ม มีเวลาสื่อสารจากผู้กำกับที่สมมติพูดไม่ได้และไม่ได้ยิน ส่วนนักร้องนักเต้นกับนักแสดงใช้เสียงได้ มีเวลาช่วยกันคิดช่วยกันทำไม่เกิน 5 นาที พร้อมพัก 5 นาทีก่อนแสดงจริง ทั้งนี้ให้นักแสดงออกนอกห้อง และทีเหลือดูคลิปประกอบเพลงพระราชนิพนธ์สายฝนกับยิ้มสู้เพื่อให้ได้ไอเดียประกอบละครสร้างสรรค์ของกลุ่ม พบว่า "อารมณ์บวกและลบผสมผสานกันในละครความสุขของทั้งสามกลุ่ม ทำให้ได้บทเรียนรู้ถึงการสื่อสารให้แต่ละตัวละคร นักร้อง นักเต้น และผู้กำกับ ต้องพยายามสื่อสารอารมณ์บวกและลบให้ชัดเจน ก่อนที่จะร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่มีฉากสนุกสนานร่าเริง มีความรักทั้งแบบเพศวิถีจนถึงเมตตา และมีความเข้มแข็งทางร่างกายจิตใจสังคม" นับเป็นประสบการณ์ชีวิตคิดบวกให้นศ.ทุกท่านได้เข้าใจการจัดการอารมณ์ของตนเองขณะทำงานเป็นทีมด้วยความรู้สึกมากกว่าความคิด




นัดหมายการเรียนครั้งต่อไป คือการประยุกต์จิตวิทยาเชิงบวกเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายอารมณ์ ขณะที่นศ.มีประสบการณ์การฝึกงานทางคลินิกกายภาพบำบัด มาเล่าเรื่องราวให้เพื่อนๆผ่านการเขียนสะท้อนกรณีศึกษาไม่เกิน 1 หน้า A4


หมายเลขบันทึก: 612934เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2016 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2016 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ได้ความรู้เยอะเลย ขอบพระคุณนะคะ

ยินดีและขอบพระคุณมากครับคุณมนัสดาและพี่ดร.เปิ้น

เรียนรู้ผ่านกิจกรรมและความรู้สึกของตัวเอง และช่วยกันเรียนเป็นกลุ่ม น่าสนุกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท