นิสิตใหม่ร่วมใจทำบุญตักบาตร : รับน้องใหม่ ฮีต 12 คองกิจกรรม


กิจกรรมการรับน้องใหม่ที่สอดรับกับโมเดล“ฮีต 12 คองกิจกรรม” อันหมายถึงการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรม “ฮีต 12 คอง 14” ของสังคมอีสานและสังคมไทยที่ประกอบรูปร่างขึ้นจากฐานคิดหรือฐานความรู้อันหลากหลายเรื่อง โดยเฉพาะ “วิถีวัฒนธรรมไทยในสังคมพุทธ” ที่ว่าด้วยการทำบุญตักบาตรในเทศกาลเข้าพรรษา หรือกระทั่งฐานคิดอันเป็นความเชื่อของการทำบุญสร้างกุศลเพื่อ “เอาฤกษ์เอาชัย” ในห้วงการเดินทางมาต่างบ้านต่างเมือง จึงต้อง “ฝากเนื้อฝากตัว” เป็นลูกหลานต่อฐานที่มั่นใหม่เพื่อการใช้ชีวิตและเรียนรู้ชีวิต

กิจกรรมรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีหลากหลายและต่อเนื่อง เริ่มต้นจากสัมผัสแรกของการ “ตุ้มโฮม” (โฮมตุ้ม) นิสิตใหม่เข้าสู่กิจกรรมอันเป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านการทำบุญตักบาตร (โครงการนิสิตใหม่ร่วมใจทำบุญตักบาตร) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559


กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การผนึกกำลังจากหลายภาคส่วน หลักๆ คือองค์การนิสิตที่บริหารงานโดยพรรคพลังสังคม (กลุ่มนิสิตพลังสังคม) และองค์กรอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น สภานิสิต ชมรมพุทธศาสน์และสมาธิ คณะกรรมการประชุมเชียร์ คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตทั้ง 20 คณะ รวมถึงคณะกรรมการฝ่ายพัฒนานิสิตที่ประกอบด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนานิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม






ในครรลอง ฮีต 12 คองกิจกรรม : ฮีต 12 คอง 14


กิจกรรมครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการรับน้องใหม่ที่สอดรับกับโมเดล“ฮีต 12 คองกิจกรรม” อันหมายถึงการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรม “ฮีต 12 คอง 14” ของสังคมอีสานและสังคมไทยที่ประกอบรูปร่างขึ้นจากฐานคิดหรือฐานความรู้อันหลากหลายเรื่อง โดยเฉพาะ “วิถีวัฒนธรรมไทยในสังคมพุทธ” ที่ว่าด้วยการทำบุญตักบาตรในเทศกาลเข้าพรรษา หรือกระทั่งฐานคิดอันเป็นความเชื่อของการทำบุญสร้างกุศลเพื่อ “เอาฤกษ์เอาชัย” ในห้วงการเดินทางมาต่างบ้านต่างเมือง จึงต้อง “ฝากเนื้อฝากตัว” เป็นลูกหลานต่อฐานที่มั่นใหม่เพื่อการใช้ชีวิตและเรียนรู้ชีวิต

ก่อนถึงวันจัดงานคณะกรรมการบริหารองค์การนิสิตทำการหารือร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายพัฒนานิสิตอย่างเป็นระบบ มีการทบทวน “ความเก่า” จากปีการศึกษา 2558 กันหลายเรื่อง เพื่อมิให้ปัญหาเก่าๆ ก่อเกิดอย่างซ้ำซาก รวมถึงการต่อยอดสิ่งดีๆ ให้มีพลังมากยิ่งขึ้น เช่น

  • จำนวนพระสงฆ์ที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับให้สมดุลกับจำนวนนิสิต
  • การยกเลิกสถานที่จากถนนหน้ามหาวิทยาลัยมาสู่ถนนภายในมหาวิทยาลัย เพื่อมิให้กระทบต่อการสัญจรสาธารณะของชุมชนและให้ง่ายต่อการนำนิสิตใหม่เข้าสู่การปฐมนิเทศในอาคารพลศึกษา
  • การลดตอนขั้นตอนในศาสนาพิธี เน้นความเรียบง่ายและเหมาะสม
  • การจัดระบบการจราจรของนิสิตใหม่และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย
  • การหนุนเสริมข้อมูลอันเป็นองค์ความรู้ผ่านพิธีกรเพื่อการสื่อสารต่อน้องใหม่ในเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย หรือการเรียนและการใช้ชีวิต
  • ฯลฯ



ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ : รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต



การประชุมหารือดังกล่าวนี้ คือ “ระบบและกลไก” อันสำคัญของการพัฒนานิสิตผ่านกระบวนการเรียนรู้นอกหลักสูตรบนฐานกิจกรรมของนิสิต (โดยนิสิตเพื่อนิสิต) เพราะเป็นการทำงานร่วมระหว่างนิสิตกับนิสิต และระหว่างนิสิตกับมหาวิทยาลัย ส่งผลนิสิตที่เป็นนักกิจกรรมรู้สึกว่าตนเองได้รับการหนุนเสริมจากระบบ ไม่ใช่ทำงานแต่เพียงลำพัง เช่นเดียวกับนิสิตใหม่ก็รู้สึกอบอุ่นใจที่อยู่ในบริบทความรักของนิสิตรุ่นพี่และอาจารย์ หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย







ทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน : วันใหม่ชีวิตใหม่

นอกจากมิติการทำงานร่วมกันระหว่างนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับอาจารย์และบุคลากรแล้ว กิจกรรมรับน้องครั้งนี้ยังยึดโยงถึงการทำงนในระดับจังหวัดของคณะสงฆ์ด้วยเช่นกัน เนื่องเพราะต้องนิมนต์พระสงฆ์ร่วม 550 รูปมาบิณฑบาต–

กระบวนการให้ได้มาซึ่งพระสงฆ์จำนวนมากเช่นนี้ ได้รับความเมตตาตาจากพระเทพสิทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคามที่ร่วมหนุนเสริมให้ได้มาซึ่งพระสงฆ์จำนวนดังกล่าว พร้อมๆ กับการแสดงธรรมะฝากแก่นสารความคิดแก่นิสิตเนื่องในวาระของการเป็นน้องใหม่ที่กำลังเริ่มต้นชีวิตใน “วันใหม่-ชีวิตใหม่” ในหลายประเด็น เป็นต้นว่า

  • 3 อย่า : ประกอบด้วย อย่าลืมตน อย่าผิดศีลธรรม และอย่าเสียคน
  • 3 ตระหนัก : ประกอบด้วย กินให้รู้ อยู่ให้สังวร นอนให้มีสติ

รวมถึงการเชื่อมโยงสู่ “แก่นคิด” ที่เกี่ยวข้องกับจารีตประเพณีของสังคมอีสานและสังคมไทย ตลอดจนสังคมโลกอย่างเท่าทัน รวมถึงเรื่องความกตัญญู การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง การรับผิดชอบต่อหน้าที่ และการตระหนักถึงกระบนการสร้างคนผ่านการพัฒนาความคิดบนฐานของการแก้ปัญหาและการใช้คุณธรรมเป็นเครื่องมือในการคลี่คลาย หรือสร้างภูมิคุ้มกันต่อชีวิตและสังคมให้สมกับที่สังคมยกย่องเชิดชูว่า “นิสิต” คือ “ปัญญาชน” หรือ “บัณฑิต”







บูรณาการความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นของความเป็น “มมส” และ “ฮีตคอง” ของการตักบาตร

กิจกรรมการตักบาตรครั้งนี้ มีกระบวนการบ่มเพาะองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อนิสิตใหม่อยู่หลายเรื่อง กล่าวคือพิธีกรได้สอดแทรกเรื่องราวสำคัญๆ ผ่านกระบวนการเป็นระยะๆ เช่น

  • ประวัติการก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ และคณะต่างๆ โดยสังเขป
  • ระเบียบวินัยว่าด้วยการแต่งกายและการดำเนินชีวิตของการเป็นนิสิต
  • สถานที่สำคัญในมหาวิทยาลัย
  • กิจกรรมสำคัญในมหาวิทยาลัย
  • ฯลฯ

เช่นเดียวกับการสอดแทรกความรู้ที่ว่าด้วยหลักคิดของการทำบุญตักบาตร ธรรมะในชีวิต ขั้นตอนและข้อพึงระวังของการตักบาตร รวมไปถึงกำหนดการของกิจกรรมที่มีในวันนี้ นั่นก็คือการปฐมนิเทศนิสิตใหม่






มีความหมายใดในการเรียนรู้


ถึงแม้กิจกรรมการตักบาตรครั้งนี้ จะเป็นกิจกรรม “รับน้องใหม่” แต่ในมิติของ “องค์กรนิสิต” แล้วย่อมหมายถึงการเรียนรู้ “ภาวะผู้นำ” ขององค์กรนิสิต โดยเฉพาะภาวะผู้นำที่หมายถึงทักษะทางสังคม Soft skills ที่นิสิตหรือผู้นำนิสิตต้องมีในหลายๆ ทักษะ

การงานในครั้งนี้ ผมถือว่าคณะกรรมการบริหารองค์การนิสิต สภานิสิต หรือกระทั่งชมรมพุทธศาสนาและสมาธิ และอื่นๆ ได้เรียนรู้ประเด็นว่าด้วยทักษะของการเป็นผู้นำอยู่หลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น

  • จินตนาการเชิงสร้างสรรค์และการคิดแบบเชื่อมโยง หรือทักษะของการคิดแบบบูรณาการนับตั้งแต่การกำหนดแนวคิดและรูปแบบกิจกรรม การกำหนดจำนวนพระสงฆ์ กำหนดเส้นทางการบิณฑบาต การตกแต่งฉาก เวทีและป้ายประชาสัมพันธ์
  • การมอบหมายภารกิจบนฐานของการบริหารคนและบริหารงานอย่างมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกันอย่างเป็นเครือข่ายทั้งที่เป็นนิสิตกับนิสิต นิสิตกับอาจารย์-เจ้าหน้าที่ และนิสิตกับคณะสงฆ์
  • การสื่อสารและการทำงานบนความเหมือนและความต่างของผู้คนและองค์กร
  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งเรื่องดินฟ้าอากาศ การต้อนรับขับสู้ทั้งผู้บริหาร น้องใหม่ หรือกระทั่งพระสงฆ์
  • ฯลฯ

หรือกระทั่งการได้เรียนรู้และบ่มเพาะเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เรื่องวิถีไทย เรื่องวิถีพุทธในสังคมไปพร้อมๆ กัยทั้งนิสิตรุ่นพี่และรุ่นน้องที่สอดรับกับนโยบายหลักของการพัฒนานิสิต ประจำปีการศึกษา 2559 ที่ประกอบด้วยเรื่องหลักๆ คือ สิ่งแวดล้อม (ขยะ) คุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติ วิถีไทย สิ่งเสพติด ภาษาและอาเซียน





โดยสรุปแล้ว นี่คืออีกหนึ่งกิจกรรมของการรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และถือเป็นกิจกรรมรับน้องใหม่ที่ยึดโยงอยู่กับฐานคิดหลายอย่าง เช่น ฮีต 12 คองกิจกรรมขององค์กรนิสิต ฮีต 12 คองมหาวิทยาลัย (ปฐมนิเทศนิสิตใหม่) หรือฮีต 12 คอง 14 ของสังคมอีสานที่ว่าด้วยการทำบุญตักบาตรในเทศกาลเข้าพรรษาที่ถูกผนึกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันโดยไม่ต้องแยกส่วน

นอกจากนั้นยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้เรื่องผู้นำไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ สื่อให้เห็นถึงการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรมของสังคมและการใช้ระบบ PDCA เข้ามาเกี่ยวโยง ดังจะเห็นได้จากการทบทวนผลการดำเนินงานจากปีที่ผ่านมา จากนั้นจึงมาออกแบบเพื่อป้องกันปัญหาเดิม หรือต่อยอดจากสิ่งอันดีงามอย่างมีส่วนร่วม -




รับน้องใหม่,รับน้องสร้างสรรค์
เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2559
มหาสารคาม



ภาพ : องค์การนิสิต/อติรุจ อัคมูล/กมลรัตน์ ลีทหาร /อัมพล นุกิจ/จันเพ็ญ ศรีดาว



หมายเลขบันทึก: 612164เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2016 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2016 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เบิกทางชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยได้เชื่อมโยงกับรากฐานวิถีชุมชนเมืองตักศิลาอีสานอย่างดีเชียวค่ะ

สวัสดีครับพี่หมอธิฯ

การงานครั้งคือกิจกรรมบนฐานวัฒนธรรมของสังคมพุทธ กรือฮีตคอง ... เพียงแต่ไม่ได้ประสานชุมชนรายรอบเข้าามามีส่วนร่วม แต่เน้นการทำงานร่วมกับคณะสงฆ์ในระดับจังหวัด...

ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมอันเป็นสัมผัสแรกของนิสิตใหม่เมื่อมาเยือนมหาวิทยาลัย...และถูกบรรจุไว้ในการรับน้องใหม่ด้วยเช่นกันครับ

เป็นการรักษาประเพณีอันดีงามและทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาไว้ด้วยการบำรุงพระภิกษุสามเณร นอกจากนี้การทำบุญตักบาตรยังเป็นการลดความตระหนี่ในใจ ฝึกการเป็นผู้ให้ ฝึกการทำบุญร่วมกันเป็นหมู่คณะ ช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันและที่สำคัญคือ จิตใจอันผ่องใสของเราที่มีขึ้นหลังจากที่ได้ทำบุญตักบาตรแล้วนั้นเอง

องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ตระหนักถึงอานิสงส์ของการทำบุญตักบาตร ประกอบกันเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นของนิสิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม องค์การนิสิตจึงจัดกิจกรรมนิสิตใหม่ร่วมใจทำบุญตักบาตร เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ก่อนที่จะเข้าศึกษาเล่าเรียน ในโอกาสสำคัญของการเป็นนิสิตใหม่แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นาย' ปฏิพัทธ์

องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ตระหนักถึงอานิสงส์ของการทำบุญตักบาตร ประกอบกันเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นของนิสิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม องค์การนิสิตจึงจัดกิจกรรมนิสิตใหม่ร่วมใจทำบุญตักบาตร เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ก่อนที่จะเข้าศึกษาเล่าเรียน ในโอกาสสำคัญของการเป็นนิสิตใหม่แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

...

ข้อความข้างต้น อันเป็นปฐมบทแรกคิด หรือจุดมุ่งหมายของการจัดกิจกรรม ซึ่งสอดรับกับการจัดกิจกรรมในแบบ "ฮีต 12 คองกิจกรรมที่บูรณการอยู่กับฮีต 12 คองสังคม หรือฮีต 12 คองมหาวิทยาลัย" อย่างชัดเจนมากๆ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท