หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ดินโพน : เรื่องเล่าจากนิสิต (E-book)


นิสิตเกิดทัศนคติที่ดีต่อการมองชุมชนในฐานะชุมชนแห่งความรู้ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ “ภาชนะที่ว่างเปล่า” เช่น การปลูกผัก การบำรุงรักษาดิน การสร้างเศรษฐกิจชุมชน การกำจัดศัตรูพืช ความเชื่อ (คติชนวิทยา) เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในชุมชน หรือกระทั่งเข้าใจถึงสถานการณ์จริงอันเป็นปัจจุบันเกื้อหนุนให้ชุมชนขาดความตระหนักในการจัดการทรัพยากรในชุมชนในระยะยาว โดยมุ่งผลิตเพื่อมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก


ผมใช้เวลามากโขกับการจัดทำหนังสือ "ดินโพน : เรื่องเล่าจากนิสิต" ส่วนหนึ่งเพราะติดพันยึดโยงอยู่กับภารกิจอื่นๆ หรือกระทั่งความขี้กียจส่วนตัวก็มีส่วน หากแต่วันนี้ทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว เรื่องเล่าจากนิสิตที่ไม่เคยผ่านการฝึกอบรมการเขียนใดๆ ปรากฏรูปร่างหน้าตาในแบบ E-book

จากนี้ไปคือส่วนหนึ่งที่ผมได้เขียนถึงเรื่องเล่าดังกล่าว



"ดินโพน : เรื่องเล่าจากนิสิต"


ภายหลังจากที่ ดร.ธายุกร พระบำรุง ส่งเรื่องเล่าของนิสิต (ทีมผู้ช่วยวิจัย) มาให้ผมอ่าน บอกตามตรงเลยว่า “ดีใจและชื่นชม” เป็นที่สุด เพราะเอาแค่นิสิตสละเวลาส่วนตัวไปช่วยทำงานวิจัยกับอาจารย์ “ลงพื้นที่-ลงชุมชน” กับอาจารย์ก็เหนื่อยมากโขอยู่แล้ว ยังหาเวลามาฝึก “การคิดการเขียน” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ หรือเรื่องราวที่ได้เรียนรู้คืนกลับเข้าสู่ระบบ ต้องยอมรับว่านิสิตมีความกระหายใคร่เรียนรู้อยู่มากโข รวมถึงอาจารย์เองก็มีศาสตร์และศิลป์ของการเป็น “โค้ช” ที่ไม่ธรรมดา จนสามารถกระตุ้นให้นิสิตกล้าที่จะคิดและเขียนเรื่องเล่าออกมาได้

เรื่องเล่าทั้ง 6 เรื่องจากนิสิต คือภาพสะท้อนกระบวนการเรียนรู้ของนิสิตในสังกัดคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ตามครรลองนโยบายเชิงรุกมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ผูกโยงอยู่กับ “งานวิชาการรับใช้สังคม” ทั้งที่เป็นงานบริการวิชาการ (โครงการหนึ่งหลักสูรหนึ่งชุมชน) และงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่บูรณาการ
คู่กันไปกับการเรียนการสอนและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเสร็จสรรพในแบบ 4 In 1 ที่ใช้หลักคิดสำคัญคือ

  • การเรียนรู้คู่บริการแบบมีส่วนร่วม
  • การเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน
  • การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม
  • นิสิตกับชุมชนเป็นศูนย์กลาง



"ดินโพน : เรื่องเล่าจากนิสิต"




มหาวิทยาลัยได้อะไรจากการเรียนรู้คู่บริการในครั้งนี้

เป็นการยากที่จะบอกว่ามหาวิทยาลัยที่หมายถึง ผู้สอน (อาจารย์) ได้อะไรจากการขับเคลื่อนงานวิชาการรับใช้สังคม หรืองานวิชาการในแบบ “เรียนรู้คู่บริการ” เช่นนี้ ยิ่งหากมองถึงประเด็น “ความเข้มแข็งและยั่งยืน” ยิ่งยังไม่สมควรด่วนดิบปักธงเป็นบทสรุปอย่างอหังการว่า “บรรลุแล้ว-สำเร็จแล้ว” เพราะนี่คือครั้งแรกของอาจารย์และนิสิตที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ (เรื่องดินโพน) ในชุมชนบ้านดอนจำปาฯ

ทว่าถึงแม้จะเป็นเพียงครั้งแรก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการงานในครั้งนี้มีความสำเร็จหลายเรื่องผลิบานและงอกงามอย่างน่าชื่นชม ดังเช่นกรณีตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ดังนี้

  • เห็นการจัดการเรียนรู้ในแบบ “ชุมชนเป็นห้องเรียน” หรือ “ผู้เรียนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง” เช่น กรณีการเชื่อมโยง “ห้องเรียนที่มีชีวิต” ระหว่างห้องเรียนในมหาวิทยาลัย (ชั้นเรียน) และนอกชั้นเรียนที่หมายถึงพื้นที่อันเป็นเรือนเพาะชำ (โรงเรือน) และห้องทดลอง (Lab) ที่ยึดโยงไปยังห้องเรียนชุมชน ทั้งที่เป็นครัวเรือนในหมู่บ้าน แปลงผัก และท้องทุ่ง
  • เห็นการเรียนรู้ในมิติเรียนรู้คู่บริการและการใช้เครื่องมือสำคัญๆ เช่น การลงพื้นที่จริงเพื่อ “สัมภาษณ์ สังเกตการณ์” รวมถึงการเข้า “ฝังตัว” อันหมายถึงร่วมใช้ชีวิตจริงสัมผัสจริงกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้ระบบและกลไกของ “ศิลปวัฒนธรรม” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ในแขนงต่างๆ ไปในตัว รวมถึงการนำชุดความรู้ใหม่ไปเผยแพร่ให้กับชุมชนผ่านการบรรยายและสาธิต หรือฝึกปฏิบัติการร่วมกันในเรื่องน้ำหมักชีวภาพจากผักคะน้าและการทำปุ๋ยไส้เดือนดิน



"ดินโพน : เรื่องเล่าจากนิสิต"


  • เห็นการบูรณาการการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระดับบัณฑิตและมหาบัณฑิตเข้าด้วยกัน เช่น นิสิตระดับบัณฑิต (ป.ตรี) เน้นการทดลองเรื่องการเพาะผักคะน้าในดินโพนและดินทั่วไป หรือการวิเคราะห์แร่ธาตุในดินโพน รวมถึงการทำน้ำหมักชีวภาพจากผักคะน้า ส่วนนิสิตในหลักสูตรมหาบัณฑิต (ป.โท) รับผิดชอบเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ หรือบำรุงรักษาดินด้วยปุ๋ยจากเดือนดิน
  • เห็นการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ยกตัวอย่างเช่น นิสิตและอาจารย์เรียนรู้จากชุมชนในเรื่องเทคนิคการปลูกผักคะน้า ความรู้และคติชนเกี่ยวกับเรื่องดินโพน การใช้สะเดา หรือน้ำหมักชีวภาพจากสะเดาเพื่อไล่แมลง ขณะที่มหาวิทยาลัยก็ถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่แก่ชุมชนในเรื่องปุ๋ยจากไว้เดือนดิน การอนุรักษ์และพื้นฟูดินโพน หรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
  • เห็นการบูรณาการพันธกิจหลักในแบบ 4 In 1 อย่างเป็นหนึ่งเดียวบนฐานของการจัดการเรียนการสอนเพื่อการรับใช้สังคม หรือการทำงานวิชาการรับใช้สังคม
  • เห็นกระบวนการและผลลัพธ์ที่ว่าด้วยชุดความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูเรื่องดินโพน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในชุมชน







นิสิตได้อะไรจากการเรียนรู้คู่บริการในครั้งนี้

  • นิสิตเกิดองค์ความรู้ใหม่ในทางวิชาชีพที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องดินโพน โดยจะเห็นได้จากเรื่องเล่าทั้ง 6 เรื่องสะท้อนชัดเจนว่าก่อนหน้านี้นิสิตไม่รู้จัก หรือแทบไม่รู้จัก “ดินโพน” หรือ “ดินจอมปลวก” เลยและการได้รู้จักผ่านการเรียนรู้คู่บริการ ไม่ใช่แค่รู้จักว่าคืออะไร หากแต่หมายถึงรู้จักคุณค่าและมูลค่าของดินโพน รวมถึงองค์ความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ เช่น น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยจากไส้เดือนดิน
  • นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการเสาะแสวงหาองค์ความรู้ผ่านกระบวนการที่มีเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ นับตั้งแต่การเก็บข้อมูลชุมชน วิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ชุมชนทั้งที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อนำมาสู่การพัฒนาเป็น “โจทย์” เพื่อการช่วยเหลือชุมชน รวมถึงการเชื่อมโยงโจทย์ในชุมชนเข้าสู่กระบวนการทดลองในมหาวิทยาลัย ผ่านการสร้างโรงเรือนเพาะชำผักบนดินโพนและดินอื่นๆ มีการสังเกตการณ์ วิเคราะห์ผล และคืนข้อมูล-ความรู้กลับให้ชุมชน
  • นิสิตได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติการจริงอย่างเป็นทีม ไม่ใช่การเรียนรู้เชิงเดี่ยวในแบบปัจเจกบุคคล และการเรียนรู้ในลักษณะของโครงการ/โครงการ (Problem – based Learning) ดังจะเห็นได้จากการทดลองเรื่องการวิเคราะห์แร่ธาตุในดินโพน ประสิทธิภาพของการปลูกผักด้วยดินโพน



"ดินโพน : เรื่องเล่าจากนิสิต"


  • นิสิตเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และใช้ชีวิต และเข้าใจในหลักคิดสำคัญของการจัดการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” ที่หมายถึงการมีจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ สอดรับกับปรัชญา เอกลักษณ์ อัตลักษณ์และค่านิยมการเป็นนิสิต
  • นิสิตเกิดทัศนคติที่ดีต่อการมองชุมชนในฐานะชุมชนแห่งความรู้ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ “ภาชนะที่ว่างเปล่า” เช่น การปลูกผัก การบำรุงรักษาดิน การสร้างเศรษฐกิจชุมชน การกำจัดศัตรูพืช ความเชื่อ (คติชนวิทยา) เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในชุมชน หรือกระทั่งเข้าใจถึงสถานการณ์จริงอันเป็นปัจจุบันเกื้อหนุนให้ชุมชนขาดความตระหนักในการจัดการทรัพยากรในชุมชนในระยะยาว โดยมุ่งผลิตเพื่อมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
  • นิสิตเห็นความเป็นจริงในอีกมุมหนึ่งของสังคม เช่น ชุมชนในชนบท ความง่ายงามของวิถีวัฒนธรรมและคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งยึดโยงกับการบ่มเพาะให้นิสิตได้รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม
  • นิสิตเกิดทักษะที่หลากหลายในการเรียนและการใช้ชีวิตบนฐานของการรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เป็นต้นว่าการเรียนรู้และตระหนักสู่ Soft skills ที่สำคัญๆ ในศตวรรษที่ 21 เช่น ภาวะผู้นำ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มนุษยสัมพันธ์ การสื่อสาร ความเป็นทีม ประชาธิปไตย คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์
  • นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการจัดการความรู้สู่การเผยแพร่/สื่อสร้างสรรค์ เช่น การนำองค์ความรู้ไปผลิตเป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ วีดีทัศน์ คลิปเพลง เรื่องเล่า ละครเวที



"ดินโพน : เรื่องเล่าจากนิสิต"



ชุมชนได้อะไรจากการเรียนรู้คู่บริการในครั้งนี้

  • เกิดกลุ่มจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดเรื่องดินโพน (ผู้ใหญ่ -เด็กและเยาวชน) ที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยวิจัยและขยายผลต่อเนื่องเป็น “ชมรมรักดินโพน ณ มหาสารคาม” ซึ่งมีทั้งชุมชนบ้านดอนจำปา และชุมชนอื่นๆ และเริ่มมีการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวภายในชุมชนและภายนอกชุมชนเป็นระยะๆ
  • ชุมชนได้รับองค์ความรู้ใหม่ เช่น แร่ธาตุในดินโพน การอนุรักษ์และฟื้นฟูดินโพน การทำน้ำหมักจากผักคะน้าอันเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในชุมชน การฟื้นฟูสภาพดินผ่านไส้เดือนดิน
  • ชุมชนได้รับรู้ร่วมกันและเกิดภาวะตื่นตัวเกี่ยวกับสถานการณ์ของดินโพนในชุมชนที่กำลังเสื่อมโทรมและสูญหาย
  • ชุมชนได้รับรู้และตื่นตัวต่อสถานการณ์อันเสื่อมโทรมของดินที่เกิดจากการใช้สารเคมีในวิถีเกษตรกรรมในชุมชนและผลกระทบที่มีต่อระบบสุขภาพชุมชน




"ดินโพน : เรื่องเล่าจากนิสิต"




นี่คือ “บางมุมมอง” ของผมที่มีต่อการงานในครั้งนี้ อันหมายถึงการสังเคราะห์ถึงความจริงผ่านเรื่องเล่าของนิสิตและประสบการณ์ตรงที่สัมผัสได้เมื่อครั้ง “ลงสู่ชุมชน” ร่วมกับอาจารย์และนิสิต

ถึงตรงนี้ก็ยังยืนยันว่า เร็วเกินกว่าที่จะด่วนสรุปว่านี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่อีกชิ้นงานหนึ่งของการขับเคลื่อนงานวิชาการรับใช้สังคมในเรื่องของดินโพน เพราะเป็นเพียงระยะแรกเริ่มของการเข้าไปศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าว

ถึงกระนั้นก็เถอะ แม้จะเป็นเพียงระยะแรกเริ่ม โดยส่วนตัวผมก็ยังมองว่านี่คือการเริ่มต้นที่ดีของการจัดการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมที่แอบอิงเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับความเป็นจริงของสังคม – ความเป็นจริงที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน และบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน

จากนี้ไปคือการหนุนเสริมแรงใจและทรัพยากรต่างๆ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การปักธงชัยเรียนรู้คู่บริการเรื่องการพลิกฟื้นเรื่องดินโพน หรืออื่นๆ ตามครรลองร่วมกันอย่างจริงจัง จริงใจและต่อเนื่อง มิใช่ “ตูมเดียวแล้วหาย” หรือกระทั่ง “ปล่อยให้คนทำงานหรือชุมชนแบกรับชะตากรรมอย่างลำพัง”





อย่างไรเสีย มีเวลาก็เรียนเชิญเข้าอ่านฉบับเต็ม "ดินโพน : เรื่องเล่าจากนิสิต" ในแบบ E-book ได้เลยนะครับ

...

10 สิงหาคม 2559

มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 612158เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2016 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2016 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านแล้วมีควสมสุข

เห็นการทำงานครบเลย

  • การเรียนรู้คู่บริการแบบมีส่วนร่วม
  • การเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน
  • การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม
  • นิสิตกับชุมชนเป็นศูนย์กลาง ชอบใจประเด็นเรื่องความเชื่อในชุมชน
  • เอาผักนักเรียนกองทุนการศึกษาในหลวงมาฝากด้วยครับ
  • ขายได้แล้ว
  • อ่านต่อที่ https://www.gotoknow.org/posts/609934
  • -สวัสดีครับอาจารย์

    -"โฮมพาข้าว"เป็นวิถีที่น่ามองมาก ๆ นะครับ

    -เรื่งอราวต่าง ๆมักจะเกิดขึ้นจากวิถีแห่งการ"โอมพาข้าว"เสมอ ๆ ครับ....

    -ขอบคุณครับ


    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท