สั่งสมพลังสมอง


นิตยสาร Scientific American Mind ฉบับเดือน กรกฎาคม/สิงหาคม ๒๕๕๙ ลงบทความเรื่อง Banking Against Alzheimer’s บอกเราว่า แม้ว่าเราสั่งให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมอง ที่มาจาก ความชราไม่ได้แต่เราสามารถสั่งสมพลังของการเรียนรู้ ที่เรียกว่า cognitive reserveซึ่งอาจหมายถึงพลัง สำรองของสมองที่ทำให้แม้มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มากับความชราแต่ก็ไม่เกิดอาการหลงลืม (dementia)

กายภาพมีริ้วรอยความชราแต่สมองยังแจ๋วเกิดได้จากการสั่งสมพลังสมอง

เป้าหมายคือให้สมองยังดีอยู่จนถึงวันตายซึ่งสมัยนี้หวังยากเพราะคนเราอายุยืนขึ้นมากต่างจากคนสมัยก่อน ที่มักตายเสียก่อนสมองจะเสื่อม

ผู้เขียบบทความ คือ David A. Bennett เป็นหมอนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมอง (Neuroscience) และเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยที่ทำงานวิจัยระยะยาวในคนสูงอายุถึง ๓,๒๐๐ คนจนเมื่อคนเหล่านั้นตายก็ อุทิศสมองให้ศึกษา รายละเอียดในสมองต่อ

ข้อค้นพบสำคัญคือคนแก่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมองที่เกิดจากความชราทุกคนแต่เพียงครึ่งเดียวของคนที่มีการเปลี่ยนแปลงของสมองเช่นนั้น ที่เกิดอาการหลงลืม อะไรคือปัจจัยที่ป้องกัน คนครึ่งหนึ่งจากอาการหลงลืม

คำตอบข้อที่ ๑ พันธุกรรมครับเป็นข่าวดีสำหรับคนที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่สมองยังแจ๋วจนแก่เฒ่า และตายไปอย่างผม

คำตอบข้อที่ ๒ อาหาร เขาบอกว่ามี MIND Diet ช่วยบำรุงสมองอาหารสูตรนี้คือ ผลไม้จำพวก berry, ผัก, ธัญญพืชที่เป็น whole grain, และเมล็ดผลไม้ (nut)จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการหลงลืม เข้าใจว่าอาการสุขภาพนี้ไปลดสารพิษต่อสมอง

คำตอบข้อที่ ๓ พฤติกรรม หรือกิจกรรม คนสูงอายุที่ยังมีกิจกรรม ไม่ว่าการงาน งานสังคม หรือกิจกรรมออกกำลังกายจะเป็นโรคหลงลืมได้ยากขึ้น

ผมขอแนะนำให้คนที่ต้องการสร้างตัวเป็นนักวิจัยอ่านบทความนี้ เพราะผู้เขียนบอกวิธีออกแบบการวิจัยระยะยาวของสถาบันอย่างฉีกแนวทำให้มีผลงานวิจัยไขความลับของการสั่งสมพลังสมอง ตามที่เขียนในบทความนี้

แถมยังเขียนได้สนุกสนานน่าอ่านเป็นบทความที่คนธรรมดาอ่านเข้าใจง่ายโดยยกตัวอย่างผู้ป่วย ตัวจริงสองคน เพศหญิงเหมือนกัน เริ่มต้นวิจัยอายุ ๘๐ วัดความสามารถของสมอง ด้วย Global Cognition Test ได้ค่าเท่าๆ กันแต่คนหนึ่งมีอาการหลงลืม และผลการวัด GCT ลดลงต่อเนื่องในขณะที่อีกคนหนึ่งสมองยังดี จนตายอายุ ๘๗ พอๆ กันแต่ผลการวัด GCT ยังอยู่ในระดับเดิมจนตาย คำตอบของความแตกต่างอยู่ที่ วิถีชีวิตต่างกัน

คนแรกเรียนจบเพียงชั้นมัธยมคนหลังจบมหาวิทยาลัยและมีคะแนนทดสอบบุคลิก สูงด้าน เป็นคน “มีเป้าหมายชีวิตมีมโนธรรมและคะแนนต่ำด้าน ประสาทอ่อนกังวลซึมเศร้าและหลีกเลี่ยง อันตรายที่คนหลังคะแนนสูงมากคือ มี “พื้นที่ชีวิต กว้างมาก

ผู้เขียนเสนอ “บัญญัติสิบประการ เพื่อการมีสมองดียามชรา ได้แก่

  • เลือกพ่อแม่ที่ดี (ใครเลือกเกิดได้บ้าง) เพื่อให้ตนได้พันธุกรรมดีมีการศึกษาดีได้เรียนภาษาที่สอง และเรียนดนตรีไม่ได้รับการทอดทิ้งทางอารมณ์
  • เข้าร่วมกิจกรรมทั้งทางกายภาพและทางสมองอย่างสม่ำเสมอ
  • มีแวดวงสังคม และเข้าร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอ
  • ออกไปนอกบ้าน เพื่อทำความรู้จักสิ่งใหม่ๆ
  • สนุกสนานร่าเริงและมีความสุข
  • หลีกเลี่ยงคนที่มองโลกแง่ร้ายคนที่อยู่กับความหดหู่
  • มีความโอบอ้อมอารี และขยันขันแข็ง
  • ใช้เวลาทำสิ่งที่มีความหมาย มีเป้าหมายชัดเจน
  • จงทำใจให้มีสุขภาพจิตดีสิ่งที่ดีต่อใจจะดีต่อสมองด้วย
  • กินอาหาร MIND เน้นผัก ผลไม้สด และปลา

ทำให้นึกถึงท่านองคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เคยกล่าวว่าคนแก่มี ๓ กลุ่มคือกลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้านกับกลุ่มติดเตียง ที่ชีวิตดีดีที่สุดคือกลุ่มแรก บัญญัติสิบประการข้างต้นจะช่วยผู้สูงอายุให้ดำรงชีวิตอยู่ในกลุ่มแรกได้นานที่สุดให้ช่วงชีวิตในกลุ่มที่สองและสามสั้นที่สุด

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 612086เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2016 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2016 07:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท