​ชีวิตที่พอเพียง 2720a. ขบวนการสีเขียว ขบวนการสุขภาวะ


อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมมีความสุข ที่ได้เห็นตัวอย่างของความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก ผมเชื่อว่ามีตัวอย่างคล้ายๆ กันอีกมากมายเป็นพันเป็นหมื่น แต่อาจไม่เป็นเครือข่ายกว้างขวางขนาดนี้ และผมเชื่อว่า โรงพยาบาลชุมชนเป็นแหล่ง สร้างสรรค์ที่ดี เพราะมีคนหลายวิชาชีพทำงานร่วมกัน และชักชวนชาวบ้านและคนในพื้นที่เข้าร่วมได้ง่าย

ชีวิตที่พอเพียง 2720a. ขบวนการสีเขียว ขบวนการสุขภาวะ

ช่วงงาน R2R Forum 9 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ ดร. ผาสุข แก้วเจริญตา แห่งโรงพยาบาลลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เอาหนังสือมามอบให้เล่มหนึ่ง ชื่อ ตลาดสีเขียว โรงพยาบาลลับแล : CSR ภาครัฐด้านการสร้างสุขภาพเพื่อชุมชน หน้าปกหนังสืออยู่ที่ภาพใน FB นี้

อ่านเรื่องราวในหนังสือแล้ว ผมตีความว่า สิ่งที่ทีมงานของโรงพยาบาลลับแลดำเนินการร่วมกับภาคีที่กว้างขวางมาก มีคุณค่ามากกว่าชื่อหนังสือ และมีคุณค่ามากตามชื่อบันทึกนี้ เพราะเป็นการทำงานเชิงเคลื่อนไหว เพื่อสร้าง “ชุมชนสีเขียว” หรือ “พื้นที่สีเขียว” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ไร้สารพิษ เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวของ “ขบวนการสีเขียว” เป็นเรื่องราวของคนเล็กๆ กิจกรรมเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในเชิงคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณค่าต่อ “สุขภาวะ” ของผู้คน

ยิ่งใหญ่ในเชิงคุณค่าของการทำงานสร้างสุขภาวะขั้นพื้นฐาน ที่คนในชุมชนเอื้ออาทรต่อกัน

ยิ่งเข้าไปชมเว็บไซต์ http://www.2creativehealth.com ตามที่ให้ไว้ในหนังสือ ยิ่งน่าตื่นเต้น น่าตื่นเต้นว่า ทีมงานเขารู้ ว่าสิ่งที่เขากำลังร่วมกันทำเป็นการสร้างสรรค์ด้านสุขภาพ (creativity in health) เป็นการสร้างสุขภาพเชิงบวกโดยฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ร่วมกันดำเนินการ และร่วมกันหาวิธีดำเนินการแบบใหม่ๆ เสียแต่ว่า เว็บไซต์นี้ไม่เคลื่อนไหวมา ๒ - ๓ ปีแล้ว กิจกรรมของเครือข่ายนี้คึกคักต่อเนื่อง แต่เว็บไซต์ไม่ต่อเนื่อง

ผมชื่นชมที่ข้อความในหนังสือ ชี้ให้เห็นว่า มีพลังของการสร้างสรรค์อยู่ในพื้นที่ แต่คนมักมองไม่เห็นหรือไม่รู้ว่ามี ดังตัวอย่าง ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนไทย จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้เขียนบอกว่าอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ใกล้ๆ นั่นเอง แต่ทีมงานไม่รู้จัก ซึ่งเมื่อรู้จักและเข้าไปหาทางร่วมมือ ก็ได้รับความรู้เพิ่มเติมสำหรับเอามาทำงาน และกลายเป็นภาคี ร่วมกันทำงานส่งเสริม “อาชีพสีเขียว” “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” และ “ตลาดสีเขียว” อย่างเข้มแข็ง

พลังสร้างสรรค์สุดๆ อีกแหล่งหนึ่งคือ มูลนิธิ MOA Thai ผมขอเชิญชวนให้เข้าไปอ่านเว็บไซต์ จะได้สัมผัสอุดมคติของการก่อตั้งมูลนิธินี้

ผมชอบข้อสรุปในหน้า ๑๒๕ ว่า “อย่าละเลยที่จะแสวงหาแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชนของเรา

จะเห็นว่า กิจกรรมสร้างสรรค์ตามที่เล่าในหนังสือเล่มนี้มีหลายมิติ จากมุมหนึ่งเป็นโครงการอำเภอสร้างสุข ซึ่งจะเห็นว่า มีตัวละครแสดงบทบาทมากมาย ไม่เฉพาะคนในวิชาชีพสุขภาพเท่านั้น ผู้ผลิตและผู้บริโภคด้านอาหาร ก็มีส่วนขับเคลื่อน “อำเภอสร้างสุข” ได้ อ่านจากหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็จินตนาการได้ว่า คนทุกคนในอำเภอมีส่วนขับเคลื่อน “อำเภอสร้างสุข” ได้

แกนนำในหนังสือ ร่วมกันฝัน แล้วลงมือทำ ทำเป็นทีม ทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ระดมความคิด เพื่อดำเนินการอย่างเป็นระบบ แสวงหาความรู้มาใช้ สร้างเครือข่าย (เครือข่ายผู้ผลิต เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายคนกล้าเปลี่ยนวิถีชีวิต เครือข่ายแกนนำนักจัดการสุขภาพชุมชน เครือข่ายโซเชี่ยลมีเดีย) ซึ่งผมเชื่อว่า หากยังดำเนินการต่อเนื่อง จะเชื่อมโยงเครือข่ายออกไปได้อีกมาก เช่นเครือข่ายวัด เครือข่ายวิทยุชุมชน เครือข่ายครู เครือข่ายนักเรียน (ซึ่งก็มีร่องรอยอยู่บ้างในหน้า ๑๑๕) เครือข่าย อบต. ฯลฯ

ที่น่าชื่นชมมากคือคนกล้าเปลี่ยนชีวิต ดังตัวอย่าง นส. สาวิตรี แทนเทือก (น. ๑๒๘) วิศวกรธีระ บัวนุช (น. ๑๓๐) ที่มีส่วนนำเอาความรู้ด้านการจัดการจากการทำงานในเมืองหรือในระบบเข้าไปเสริมให้แก่เครือข่ายในชนบท

ผมชอบที่ทีมแกนนำใช้หลักการ KM ในการทำงาน คือเมื่อมีเป้าหมายจะทำอะไร ก็สืบหาว่าที่ไหนทำเรื่องนั้นได้ดี แล้วติดต่อขอไปดูงาน เช่น ไปดูงาน ตลาดนัดสีเขียวจังหวัดสุรินทร์, มูลนิธิเกษตรกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง , ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนไทย จังหวัดอุตรดิตถ์, และ กลุ่มเกษตรกรบ้านแม่ทา แนวทางง่ายๆ เช่นนี้ ทำให้สมาชิกได้ “ความรู้ปฏิบัติ” (tacit knowledge) จากแหล่งดูงาน กลับมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตน ผมคิดว่าการไปดูงานกิจการของชุมชนอื่นที่ทำได้ดีตามที่เล่าในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเรียกว่าเป็น “KM ชุมชน”

ในหลักการ KM 3.0 ต้องมีวิธีการดึงความรู้จากภายนอกมาใช้อย่างแยบยล การดูงานเป็นวิธีการไปเสาะหา ความรู้จากภายนอกมาใช้ในกิจการของตน เป็นวิธีการดึงความรู้จากภายนอกอย่างชาญฉลาด แต่ต้องมีการเตรียมตัว (BAR) และมีการสรุปบทเรียน (AAR) เพื่อร่วมกันวางแผนนำเอาความรู้ที่หมาะสมมาใช้

ความงดงามของเรื่องราวในหนังสือ คือการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง การเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้ตลาดสีเขียวนอกจากขยายตัวแล้ว ยังขยายไปสู่ ร้านกินดี กิจกรรมสุขภาพองค์รวม ตลาดประชารัฐชุมชน

ผมชอบตอนที่ ๓ ที่บอกเล่าเรื่องราวจากใจของทีมงานเครือข่ายตลาดสีเขียว โรงพยาบาลลับแล รวม ๓๒ คน ต่อด้วยความในใจของลูกค้า ซึ่งสะท้อนจิตใจใฝ่สุขภาพ ต้องการอาหารปลอดสารพิษที่เชื่อถือได้ บางคนถึงกับซื้อส่งไปให้ครอบครัวที่กรุงเทพ รวมแล้ว ความในใจของคนที่เกี่ยวข้องสะท้อนจิตใจที่ดีงาม ปรารถนาดีต่อผู้อื่น และสะท้อนวิถีพอเพียง

ผมชอบสาระในบทที่ ๒๐ หน้า ๑๘๕ - ๑๘๖ ที่ระบุประเด็นพัฒนา ๗ ด้านคือ

  • ขยายเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรรมธรรมชาติ
  • จัดหาตลาดที่ยั่งยืน
  • ควบคุมคุณภาพการผลิต
  • รับรองคุณภาพผลผลิต และแบรนด์สินค้าของเครือข่าย
  • สื่อสารกับผู้บริโภค และการทำตลาดซื้อขายล่วงหน้า ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค
  • จัดหาทีมพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน
  • สื่อสารประชาสัมพันธ์การดูแลสุขภาพองค์รวม การแพทย์ผสมผสาน และเกษตรธรรมชาติ เพื่อการดูแลสุขภาพที่เข้าถึงประชาชน

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมมีความสุข ที่ได้เห็นตัวอย่างของความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก ผมเชื่อว่ามีตัวอย่างคล้ายๆ กันอีกมากมายเป็นพันเป็นหมื่น แต่อาจไม่เป็นเครือข่ายกว้างขวางขนาดนี้ และผมเชื่อว่า โรงพยาบาลชุมชนเป็นแหล่ง สร้างสรรค์ที่ดี เพราะมีคนหลายวิชาชีพทำงานร่วมกัน และชักชวนชาวบ้านและคนในพื้นที่เข้าร่วมได้ง่าย

ขอแสดงความชื่นชม และคารวะสมาชิกของตลาดสีเขียว โรงพยาบาลลับแล ทุกท่าน

วิจารณ์ พานิช

๖ สิงหาคม ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 611893เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2016 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2016 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท