กาลครั้งหนึ่งของป้ายรับน้อง


ป้ายทุกป้ายมีที่มาที่ไป มีปัจจัยที่เหมือนและต่าง อย่างน้อยป้ายทุกป้ายก็บ่งบอกตัวตนของ "รุ่นพี่" หรือ "เอกลักษณ์-อัตลักษณ์" ของนิสิต หรือคณะนั้นๆ อยู่วันยังค่ำ และป้ายแต่ละป้ายก็บ่งบอกถึงนิยามของการอยู่ร่วมกันอย่างชัดแจ้งว่าที่ตรงนี้คือที่ไหน และต้องเรียนรู้ที่จะเติบโตไปด้วยกันอย่างไรบ้าง



ช่วงนี้เป็นเทศกาล "เปิดเรียนใหม่" ในรั้วอุดมศึกษา

ใช่ครับ - ผมเรียกว่าเป็น “เทศกาล” เพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เปิดเรียนกันในเดือนสิงหาคม อันเป็นผลพวงของ “ประชาคมอาเซียน”

ไม่เชื่อก็ลองสัญจรเข้าไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เลย จะพบกับความเป็น “น้องใหม่” ที่หน้าสดใสเปล่งประกายออร่าและแต่งกายด้วยชุดใหม่ๆ เดินกรีดกรายหลากล้นอยู่ในมหาวิทยาลัยฯ

หรือไม่ก็จะสะดุดตากับป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ นานาที่บ่งบอกในทำนองเดียวกัน ประมาณว่า "ยินดีต้อนรับนิสิต-นักศึกษาใหม่" อย่างหนาตา






เทศกาลเปิดเรียนใหม่

หลายต่อหลายคนอาจพุ่งประเด็นไปยังกิจกรรม “รับน้อง” ว่าในความเป็นสถาบันที่เรียกขานตนเองว่า “อุดมศึกษา” นั้นมีวิธีการ “รับน้อง” ด้วย “ปัญญา” แค่ไหน หรือจริงๆ แล้วยังคงรับน้องในแบบ “ไม่ใช้ปัญญา” หรือ "ดักดาน" อย่างน่าสะท้อนใจ







เอาตามตรงนะ – ผมเองก็สนใจในประเด็นเหล่านั้นเช่นกัน หากแต่ด้วยประสบการณ์ตรงในเรื่องเหล่านี้มายาวนานร่วม 2 ทศวรรษ ผมไม่ค่อยตื่นเต้นอันใดนักกับเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะในสถาบันของตนเอง ผมรู้ว่าอะไร คือ อะไร และกิจกรรมที่ว่านั้นยึดโยงไปยังกิจกรรมอะไรบ้าง

แต่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะเริ่มต้นจากกิจกรรมประชุมเชียร์ อันหมายถึง "ร้องเพลงเชียร์" ร่วมกันในระดับมหาวิทยาลัย แลุะผ่องถ่ายไปยังคณะ รวมๆ แล้วไม่เกิน 10 วันๆ ละไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง จากนั้นถึงจะเป็นการ "รับน้อง" ที่หมายถึงลอดซุ้มร่วมกันอีกเล็กน้อย ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวันด้วยซ้ำไป --






เทศกาลเปิดเรียนใหม่ของแต่ละปี

เรื่องของป้ายรับน้อง เป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญไม่แพ้ประเด็นอื่นๆ

ทุกๆ ปีผมมักเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อเกี่ยวกับเรื่อง “ป้ายรับน้อง”

ใจจดใจจ่อราวกับตัวเองเป็นน้องใหม่เสียเอง ! ประมาณว่า ----

  • จะมีป้ายรับน้องที่เขียนด้วย “ลายมือ” หรือที่เรียกว่า "เขียนป้าย" สักกี่ป้ายกันนะ
  • จะมีรูปอะไรเป็นสีสันบนป้ายบ้างนะ
  • จะมีคำคม ปรัชญาใดบนป้ายบ้างนะ
  • จะมีภาพล้อเลียน หรือภาพชวนคิดใดๆ บนป้ายบ้างนะ
  • จะมีประเด็น "สังคม" หรือ "บ้านเมือง" บนป้ายรับน้องสักกี่ป้ายกันนะ
  • ฯลฯ


เพราะสิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไรๆ ได้หลายอย่างเลยทีเดียว




นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว

ผมยังคิดไปกระทั่งว่า ในแต่ละปีระหว่างป้ายรับน้องที่ "เขียนด้วยมือ" บนแผ่นไม้ (ป้ายไม้) หรือเขียนด้วยมือบนแผ่นผ้าใบกับป้ายรับน้องในแบบฉบับที่ปริ้นเป็น "ไวนิล" อันไหนจะมีมากมีน้อยไปกว่ากัน

หรือจะยังมีป้ายในแบบ "ผ้าฝ้ายดิบ" (ป้ายผ้า) อยู่อีกหรือไม่

นี่คือพลวัตในวิถีวัฒนธรรมของนักกิจกรรมโดยแท้ เป็นพลวัตในแบบที่ไม่จำเป็นต้องพิพากษาว่าป้ายรับน้องในแบบใด “ดี” หรือ “ไม่ดี” ไปกว่ากัน

หรือป้ายรับน้องของใคร สวย ไม่สวย ตกยุค ไม่ตกยุค

เพราะในแต่ละยุคสมัย นักกิจกรรมล้วนมีวิธีคิดที่ต่างกัน รวมถึงมีวิธีการและเครื่องไม้เครื่องมือที่ต่างกัน

เรื่องพรรค์นี้เป็นเรื่องของจิตใจ -

ใช่ครับ ใจในแบบ "ใจนำพา ศรัทธานำทาง"






สำหรับผมแล้ว ผมหลงรักบรรยากาศของการ “เขียนป้าย” เป็นที่สุด

การเขียนป้าย ถือเป็นกระบวนการสร้างผู้นำที่ดีเลยทีเดียว มีคนเขียน มีคนเชียร์ เฮฮาสนุกสนานราวกับอยู่ในบรรยากาศของการแข่งกีฬาก็ไม่ปาน และที่สำคัญคือการได้เขียนป้ายนั้น ช่วยให้นักกิจกรรมได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างแนบแน่น


เอาง่ายๆ เลยนะ เขียนป้ายผ้าก็ได้อีกบรรยากาศ เขียนป้ายไม้ก็ได้อีกบรรยากาศ

ป้ายแผ่นเดียวเป็นเหมือนเตรียมงานหรือการจัดงานไปอย่างเสร็จสรรพ เพราะน้อยนักที่นักกิจกรรมจะถูกลอยแพจากมิตรสหายให้มานั่งหลังขดหลังแข็งเขียนป้ายคนเดียวท่ามกลางลมหนาวและลมร้อน หรือกระทั่งละอองฝนที่ไม่เป็นมิตร

นั่นยังไม่รวมถึง เรื่องการนัดหมายห้วงเวลาเพื่อให้พรรคพวกมาช่วยกันติดตั้งป้าย (ขึ้นป้าย) ใครมาก่อนมาหลังต่างล้วนมีวาสนาได้สัมผัสบรรยากาศอันสุดแสนจะวิเศษด้วยกันทั้งนั้น เพราะทุกๆ ครั้งที่กำลังเขียนป้าย คนทำกิจกรรมก็จะมาใช้ชีวิตร่วมกัน ผ่านกระบวนการสำคัญๆ เช่น รองพื้น –ผสมสี-คิดคำ-ตีเส้น-เขียนคำ ฯลฯ

ขณะเขียนก็มีนาฏกรรมหลากรูปลักษณ์ให้ได้สัมผัสแตะต้อง บ้างตั้งมโหรีตีกลองร้องเต้น บ้างต้มมาม่าทำขนม บ้าง “ย่างเสือ-ก้อยดึก” บ้างจับกลุ่มติว หรือไม่ก็ทำรายงานช่วยกัน มีกระทั่งปลุกปลอบคนอกหัก บ้างก็ไปขโมยป้ายขโมยสีของมิ่งมิตรมาก็มี (แต่ผมไม่เคยนะ) ฯลฯ







ในอดีตที่ผมมีสถานะการเป็นนิสิต (2534-2537) ป้ายรับน้องแต่ละป้ายมักจะมี “วาทกรรม” ให้ชวนคิดชวนอ่านและชวนท่องจำเสมอ

บ้างเป็นวลีสั้นๆ อ่านแล้ว “กินใจ” บางป้ายเป็นบทกลอน บทกวี พออ่านก็ประทับใจและมีแรงกระตุ้นที่จะทำความรู้จักหรือตามหาองค์กรต้นสังกัดของป้ายเหล่านั้น เพื่อไปฝากตัวเป็น "สาวก"

ขณะที่ป้ายบางป้ายก็เต็มไปด้วยภาพต่างๆ นานา กล่าวคือ มีทั้งภาพเหมือน ภาพล้อ ภาพตัวละครจากภาพยนตร์และทีวีอันโด่งดัง ฯลฯ

เรียกได้ว่าป้ายแต่ละป้ายมีเสน่ห์ชวนให้น้องใหม่ หรือกระทั่งนิสิตรุ่นเก่าเก๋าหยุดดู-หยุดชมไม่น้อยเลยทีเดียว






ครับ--- ยืนยันอีกครั้งว่าเรื่องป้ายรับน้องในแบบเขียนด้วยมือหรือในแบบไวนิล - ไม่มีผิดไม่มีถูก

ไม่ใช่ว่า "มี" ดีกว่า "ไม่มี" เพราะผมเชื่อว่าป้ายทุกป้ายมีที่มาที่ไป มีปัจจัยที่เหมือนและต่าง อย่างน้อยป้ายทุกป้ายก็บ่งบอกตัวตนของ "รุ่นพี่" หรือ "เอกลักษณ์-อัตลักษณ์" ของนิสิต หรือคณะนั้นๆ อยู่วันยังค่ำ

และป้ายแต่ละป้ายก็บ่งบอกถึงนิยามของการอยู่ร่วมกันอย่างชัดแจ้งว่าที่ตรงนี้คือที่ไหน และต้องเรียนรู้ที่จะเติบโตไปด้วยกันอย่างไรบ้าง







สำหรับปีนี้ ปีการศึกษา 2559
ผมเห็นป้ายรับน้องในแบบที่เขียนด้วยลายมือมากกว่าที่รังสรรค์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

แต่ละป้ายมักขึ้นต้นเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ "ว่าที่ภุมริน 11"

ใช่ครับ -- ยืนยันว่าเป็น "ว่าที่ภุมริน 11 ไม่ใช่ว่าที่เสือตัวที่ 11"

และถึงแม้ว่าป้ายแต่ละป้ายจะไม่ค่อยพบเจอกับคำคมและคารมหวานๆ หรือคารมในแบบฮาๆ หรือกระทั่งคิดไม่ออกบอกไม่ถูกถึงขั้นต้องแบกกลับไปคิดต่อที่หอพักก็เถอะ ผมก็สุขใจเป็นที่สุด

ส่วนน้องใหม่ คงอาจจะมีบ้างล่ะที่อ่านป้ายรับน้องแล้วอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ด้วยอารมณ์ประมาณว่า "แล้วพวกผมต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะหลุดพ้นจากสถานะของการเป็น "ว่าที่...." สักที" (ทั้งๆ ที่ตอนนี้ก็รายงานตัว ลงทะเบียนเรียน จ่ายค่าเทอมและเข้าเรียนไปแล้ว) ----

55555





...

ยินดีต้อนรับ
3 สิงหาคม 2559
จามรี 5

หมายเลขบันทึก: 611808เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2016 01:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2016 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-เทศกาลรับน้องนะครับ

-แต่ละป้ายบ่งบอกถึงความนัยย

-น่าสนุกกับการเดินชมและอ่านแต่ละป้าย นะครับอาจารย์

-มีจะใครไหมที่คิดเหมือนกับผม 555

-หากมีผมคงได้เห็นป้าย...ทั้งหมดกี่ป้าย..

-ขอบคุณครับ


สวัสดีครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ผมเองเดินไม่รอบมหาวิทยาลัย นะครับ 55

แต่รู้ว่าป้ายจะเป็นไปในทำนอวงเดียวกันคือ การขึ้นต้นด้วยคำว่า "ว่าที่........" เพื่อบ่งบอกว่า "มีเงื่อนไข"

เช่นเดียวกับไม่ค่อยเขียนอะไรในเชิงปรัชญาเหมือนในอดีตแล้วครับ

นี่อาจเป็นภาพสะท้อนหนึ่งในทางกระบวนทัศน์ของผู้นำนิสิตด้วยเช่นกัน กระมังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท