เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๙. เคล็ดลับของการเป็นพ่อแม่ที่ดี


บันทึกชุด เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ นี้ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind หนังสือเล่มนี้เพิ่งออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

บันทึกที่ ๙ เคล็ดลับของการเป็นพ่อแม่ที่ดี ตีความจากบทความชื่อ What Makes A Good Parent? (http://www.scientificamerican.com/article/what-makes-a-good-parent/) โดย Robert Epsteinคำตอบคือการแสดงความรักความใกล้ชิดมาเป็นอันดับหนึ่งตามด้วยการให้โอกาสลูกเป็นตัวของตัวเองความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ และการจัดการความเครียดของตัวพ่อแม่เอง

ผู้เขียนให้ข้อสรุปไว้ ๓ ข้อดังนี้

  • ผู้เขียนผลงานวิจัย แล้วสรุปทักษะที่สำคัญ ๑๐ อย่างสำหรับการเป็นพ่อแม่ที่ดีและนำไปถามพ่อหรือแม่ ๒,๐๐๐ คนให้เรียงลำดับความสำคัญ ต่อการเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพดี มีความสุข และประสบความสำเร็จ
  • การแสดงความรัก (love and affection) มาเป็นอันดับหนึ่งตามด้วยคำตอบที่ไม่คาดฝันคือการจัดการความเครียดของตนเองและการดำรงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่สำคัญกว่าพฤติกรรมที่เพ่งไปที่ตัวเด็ก
  • คนทุกประเภทมีความสามารถในการเลี้ยงลูกเท่าๆ กันและทุกคนสามารถเรียนรู้ วิธีเลี้ยงลูกที่ดีได้ไม่ยาก

ผู้เขียนบทความเอาหลักฐานมาบอกว่า ผู้คนสนใจและกังวลเรื่องวิธีเลี้ยงลูกมากกว่าการลดน้ำหนักของตัวเอง โดยมีหลักฐานจากรายชื่อหนังสือใน Amazon.com ในหมวด parenting มีกว่า ๑๘๐,๐๐๐ รายการแต่ในหมวด dieting มีกว่า ๗๖,๐๐๐ รายการเท่านั้น

ความน่ากังวลอย่างหนึ่งอยู่ที่ หนังสือต่างเล่มให้คำแนะนำที่ขัดกันผู้เขียนจึงใช้วิธีเขียนบทความนี้แบบ อิงหลักฐานจากงานวิจัยจำนวนมาก เลือกทักษะสำคัญที่สุด ๑๐ อย่างของพ่อแม่ที่ผลงานวิจัยให้ผลสอดคล้องกัน ว่ามีผลต่อความสุขความสำเร็จของลูกนำมาให้พ่อแม่ตอบคำถาม (แบบปรนัย ให้คะแนนไม่เห็นด้วยหรือ เห็นด้วยกับแต่ละข้อความรวม ๑๐๐ ข้อความ โดยคลิกคะแนนจาก ๑ ถึง ๑๐) ใน online test ที่ http://MyParentingSkills.com เป็นกระบวนการวิจัยที่ผู้เข้ามาตอบคำถามไม่รู้ตัวและเขามีวิธีดำเนินการเพื่อให้ ผลงานวิจัยนี้น่าเชื่อถือ

บัญญัติสิบประการสำหรับพ่อแม่

ต่อไปนี้เป็นปัจจัยบทบาทของพ่อแม่ ที่มีผลต่อสุขภาพ ความสุข และความสำเร็จ ของลูกเรียงตามลำดับความสำคัญ ตามที่พ่อแม่ ๒,๐๐๐ คน ตอบแบบสอบถาม

  • แสดงความรักความผูกพัน ด้วยการกอดรัด บอกรัก และมีเวลาอยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือเล่นด้วยกัน สองต่อสอง
  • จัดการความเครียดทั้งของตนเองและของลูกโดยฝึกเทคนิคผ่อนคลาย และฝึกตีความเหตุการณ์ด้วยมุมมองเชิงบวกปัจจัยนี้เป็นอันดับที่ ๑๐ ในบทสังเคราะห์ผลงานวิจัย
  • ทักษะด้านความสัมพันธ์โดยธำรงความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่สมรส หรือคู่ที่หย่ากันไปแล้วเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น
  • ความอิสระและเป็นตัวของตัวเอง ปฏิบัติต่อลูกอย่างมีความนับถือ (respect) ต่อลูกและส่งเสริมให้ลูกช่วยตัวเองและพึ่งตนเองได้
  • การศึกษาและการเรียนรู้ส่งเสริมและเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ และให้โอกาสทางการศึกษา
  • ทักษะชีวิตให้มีรายได้มั่นคง และมีแผนอนาคต
  • การจัดการพฤติกรรมโดยเน้นใช้การเสริมแรงเชิงบวก ใช้การลงโทษเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ปัจจัยนี้เคยมีนักวิจัยยักษ์ใหญ่ คือ B.F. Skinner ให้น้ำหนักสูงมากแต่ผลงานวิจัยและพ่อแม่ ให้น้ำหนักไม่มาก
  • สุขภาพสร้างลีลาชีวิตและนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • ศาสนาส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตวิญญาณและศาสนาเข้าร่วมในกิจกรรมทางศาสนาและจิตวิญญาณ
  • ความปลอดภัยปกป้องจากความชั่วร้ายอย่างระมัดระวัง โดยรับรู้เรื่องกิจกรรมและเพื่อน

พ่อแม่ที่ดีคือใคร

ผู้เขียนวิเคราะห์ผลงานวิจัยจำนวนมากโดยวิธีที่เรียกว่า factor analysis และบอกว่า

ปัจจัยที่ไม่มีน้ำหนักต่อการเลี้ยงลูกที่ดีกว่ากัน ได้แก่

  • เพศหญิงชาย
  • ผู้ที่ยังอยู่กับคู่สมรสกับผู้ที่หย่าแต่คู่ที่หย่าลูกมีความสุขน้อยกว่าเล็กน้อย
  • เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์
  • คนเป็นเกย์กับคนรักคนต่างเพศ โดยที่คนเป็นเกย์มีคะแนนสูงกว่านิดหน่อย

ปัจจัยที่มีน้ำหนักว่าเลี้ยงลูกได้ดีกว่า ได้แก่

  • ระดับการศึกษา

การเป็นพ่อแม่ที่ดีฝึกได้

ข่าวดีคือทักษะการเป็นพ่อแม่ที่ดีเป็นสิ่งที่ฝึกได้ มีโปรแกรมฝึกที่พิสูจน์ว่าได้ผล เช่น Parenting Wisely (https://www.parentingwisely.com)และโปรแกรมฝึกของ The National Effective Parenting Initiative (http://EffectiveParentingUSA.org)

ผู้เชี่ยวชาญก็ผิดได้

ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำแนะนำวิธีเลี้ยงลูกอาจให้คำแนะนำที่ขัดแย้งกันเพราะไม่ได้ติดตามผลการวิจัยใหม่ๆแต่โดยทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำถูกต้องเรื่องสมรรถนะของพ่อแม่ที่ให้ผลดีต่อลูกแต่มีข้อผิดพลาดใหญ่ ๒ ประการ คือ (๑) จัดอันดับการจัดการความเครียดไว้ที่อันดับ ๘ ใน ๑๐ สมรรถนะหลักในขณะที่ผู้เขียน จัดไว้อันดับที่ ๒ (๒) มีอคติต่อเรื่องจิตวิญญาณและศาสนาจัดไว้อันดับสุดท้ายใน ๑๐ และบางคนถึงกับไม่ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่มีหลักฐานว่าการฝึกด้านจิตวิญญาณหรือด้านศาสนามีผลดีต่อเด็ก

สู่สถานการณ์ในบ้าน

พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกเป็นจะส่งผลดีอย่างเด่นชัด ๓ ประการ (๑) ลดความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูก (๒) เพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในคู่สมรสหรือในคู่ที่หย่ากันแล้ว (๓) ได้ลูกที่มีความสุขและความสามารถ

ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ของตนเองที่มีลูกจากการแต่งงานสองครั้ง พบว่าประสบการณ์มีความสำคัญจึงเลี้ยงลูกรุ่นหลังได้ดีกว่า ประสบการณ์สอนให้ผู้เขียนแสดงบท facilitator มากกว่า controller

ผมขอเพิ่มเติมว่า พ่อแม่ที่สนใจเรื่องการเลี้ยวลูกวัยรุ่น ควรได้อ่านหนังสือ สอนเด็กให้เป็นคนดี ซึ่งดาวน์โหลดหนังสือที่เล่มได้ฟรีที่ https://www.scbfoundation.com/stocks/15/file/1412914130hxaig15.pdf โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรอ่านคำนิยมของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ที่ชี้ให้เห็นว่าหัวใจสำคัญของการกล่อมเกลาเด็ก ให้เป็นคนดี คือปฏิสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างเด็กกับคนรอบข้างและปฏิสัมพันธ์ที่ดีนั้น ไม่เพียงช่วยให้เด็ก เป็นคนดีเท่านั้นยังช่วยให้ผู้ใหญ่พัฒนาเป็นคนดีด้วย

วิจารณ์ พานิช

๒๘ พ.ค. ๒๕๕๙



หมายเลขบันทึก: 611800เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2016 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2016 07:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาส่งบันทึกงานมหกรรมพลังเยาวชน ฮักบ้านเกิดน่าน ปี ๒ ค่ะ

https://www.gotoknow.org/posts/611842


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท