​แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model: HBM)


เราจะแปลงทฤษฎี แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ ไปสู่กิจกรรมที่เป็นรูปธรรมได้อย่างไร?

แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model: HBM)

ในปี ค.ศ. 1950 นักจิตวิทยาสังคมในประเทศสหรัฐอเมริกากลุ่มหนึ่งได้พัฒนาแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพขึ้นมาใช้เพื่ออธิบายความล้มเหลวของโครงการตรวจคัดกรองโรควัณโรคที่เกิดจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือกับโครงการที่ถึงแม้ว่าจะเป็นการบริการที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ตาม โดยเชื่อว่าบุคคลจะมีความพร้อมในการแสดงพฤติกรรมเมื่อมีการรับรู้ถึงความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค และบุคคลจะมีโอกาสแสดงพฤติกรรมได้มากขึ้น หากประเมินแล้วพบว่ามีประโยชน์หรือผลดีมากกว่าผลเสียหรืออุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย (Skinner, Tiro, and Champion, 2015)

ต่อมา Becker และ Maiman (1975) ได้ปรับปรุงแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพโดยเพิ่มปัจจัยร่วม และปัจจัยกระตุ้นการปฏิบัติเข้าไปเพราะถึงแม้ว่าจะเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของบุคคลแต่ก็มีอิทธิพลต่อการป้องกันโรคซึ่งจะช่วยให้แบบจำลองนี้สามารถใช้อธิบายและทำนายพฤติกรรมการป้องกันและรักษาโรคของบุคคลได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น (ภาพที่ 1)

องค์ประกอบของทฤษฎี

องค์ประกอบของทฤษฎีของแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการในปัจจุบัน ประกอบด้วย 6 ตัวแปรซึ่งแต่ละตัวแปรมีนิยามดังนี้

การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค (Perceived susceptibility) หมายถึง ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และการคาดคะเนของบุคคลเกี่ยวกับโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคใดๆ ของตนเองว่ามีมากน้อยเพียงใด

การรับรู้ความรุนแรงของโรค (Perceived severity) หมายถึง ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และการคาดคะเนของบุคคลที่เกิดจากการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการป่วยด้วยโรคใดๆ ทั้งที่มีต่อด้านสุขภาพ ได้แก่ ชีวิต ความพิการ ความสมบูรณ์แข็งแรง การเกิดโรคแทรกซ้อน ความเจ็บปวดทรมานรวมถึงผลกระทบที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น การสูญเสียหน้าที่การงาน ทรัพย์สินเงินทอง และสถานะทางสังคม เป็นต้น

ผลรวมของการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค และการรับรู้ความรุนแรงของโรคจะทำให้เกิด การรับรู้ภาวะคุกคาม (Perceived threat) ซึ่งหากบุคคลรับรู้ภาวะคุกคามมากก็จะมีผลทำให้บุคคลนั้นๆ เกิดความโน้มเอียงที่จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงหรือเป็นตัวผลักดันให้บุคคลมีการป้องกันและรักษาโรคนั้นๆ มากตามไปด้วย

การรับรู้ประโยชน์ (Perceived benefit) หมายถึง ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และการคาดคะเนของบุคคลเกี่ยวกับประโยชน์หรือผลดีที่ตนเองจะได้รับจากการปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันหรือรักษาโรค เช่น ลดความรุนแรงของโรค ลดผลกระทบทางสุขภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความพอใจหรือความรู้สึกด้านคุณค่าในตนเอง เป็นต้น

การรับรู้อุปสรรค (Perceived barriers) หมายถึง ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และการคาดคะเนของบุคคลเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดตามมาหลังจากปฏิบัติตามคำแนะนำหรือจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น การเสียค่าใช้จ่าย การทำให้เกิดความอับอายหรือความยากลำบากใจ หรือเป็นการกระทำที่ยุ่งยากหรือทำได้ยาก เป็นต้น

ปัจจัยกระตุ้นการปฏิบัติ (Cues to action) หมายถึง เหตุการณ์หรือกิจกรรมที่กระตุ้นหรือเป็นแรงจูงใจให้บุคคลเกิดความพร้อมในการแสดงพฤติกรรมการป้องกันและรักษาโรค ซึ่งประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ 1) ปัจจัยกระตุ้นการปฏิบัติจากภายในบุคคล (Internal cues) ได้แก่ ความรู้สึกถึงอาการผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนเองซึ่งไปเพิ่มระดับการรับรู้ภาวะคุกคามให้เพิ่มขึ้น และ2) ปัจจัยกระตุ้นการปฏิบัติจากภายนอกบุคคล (External cues) ได้แก่ การสื่อสารผ่านสื่อสารมวลชน และคำแนะนำจากบุคคลใกล้ชิด อาการเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อน

ปัจจัยร่วม (Modifying factors) หมายถึง ปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ที่ส่งผลโดยอ้อมต่อพฤติกรรมการป้องกันและรักษาโรคของบุคคล ได้แก่ อายุ เพศ เชื้อชาติ บุคลิกภาพ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และความรู้ที่เกี่ยวข้อง

การประยุกต์ใช้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ

องค์ประกอบของแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 การประยุกต์ใช้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

ตัวแปร

การนำไปประยุกต์ใช้จัดกิจกรรม

การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค

  • การให้ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับโอกาสการเกิดโรคที่สัมพันธ์กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ บุคลิกภาพ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
  • การคัดกรองหรือประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรค
  • จัดกิจกรรมเสริมสร้างการรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น การสนทนากลุ่มระหว่างผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค และการให้ประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง
  • การยกตัวอย่างกรณีศึกษา (Case studies

การรับรู้ความรุนแรงของโรค

  • การให้ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ระยะของอาการแสดงของโรค และผลกระทบที่รอบด้าน
  • การวิเคราะห์หรือประเมินผลเสียที่จะเกิดตามมาจากการป่วยเป็นโรคนั้นๆ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ บุคลิกภาพ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
  • จัดกิจกรรมเสริมสร้างการรับรู้ความรุนแรงของโรค เช่น การจัดสนทนากลุ่มระหว่างผู้เสี่ยงกับตัวแบบที่กำลังทนทุกข์ทรมาน หรือสูญเสียโอกาสด้านต่างๆ ที่เกิดจากการเจ็บป่วยเป็นโรคนั้นๆ
  • การยกตัวอย่ากรณีศึกษา (Case studies)

การรับรู้ประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรค

  • การให้ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรค
  • การวิเคราะห์ประโยชน์ของการป้องกันและรักษาโรคนั้นๆ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ บุคลิกภาพ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
  • จัดกิจกรรมเสริมสร้างการรับรู้ประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรค เช่น การใช้ตัวแบบที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเกิดผลกระทบทางบวก
  • การประเมินเปรียบเทียบระหว่างผลดีและผลเสียของการพฤติกรรมสุขภาพนั้นๆ
  • การยกตัวอย่ากรณีศึกษา (Case studies)

การรับรู้อุปสรรคในการป้องกันและรักษาโรค

  • การวิเคราะห์อุปสรรคในการป้องกันและรักษาโรค ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ บุคลิกภาพ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
  • การให้ข้อมูลที่เป็นจริงเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอุปสรรคในการป้องกันและรักษาโรค
  • วางแผนเพื่อขจัดหรือลดอุปสรรคในการป้องกันและรักษาโรค ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน เช่น จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น
  • การมีส่วนร่วมในการขจัดและลดอุปสรรคของสมาชิกในครอบครัว เพื่อนที่ทำงาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • มีระบบการช่วยเหลือที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • การประเมินผลการขจัดหรือลดอุปสรรค
  • การยกตัวอย่ากรณีศึกษา (Case studies)

ปัจจัยกระตุ้นการปฏิบัติ

  • ปัจจัยภายในบุคคล
    • ประเมินพยาธิสภาพและระยะของการเกิดโรค เพื่อกระตุ้นการรับรู้ความเสี่ยงและความรุนแรง
    • สร้างแรงจูงใจจากภายใน เช่น ความพึงพอใจ ความภาคภูมิใจ การเห็นคุณค่าในตนเองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
  • ปัจจัยภายนอกบุคคล
    • การมีส่วนร่วมของครอบครัว เพื่อน กลุ่มและชุมชน ในการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นเตือน
    • การรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์
    • การให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน
    • การใช้ระบบเตือนความจำที่เหมาะสมเพื่อให้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
    • การจัดกิจกรรมกระตุ้นเตือน เสริมแรงทางบวก และประเมินผล

การรับรู้ความสามารถของตนเอง

  • การกำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย
  • การฝึกปฏิบัติการและการให้แนวทางสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้บรรลุตามพฤติกรรมเป้าหมายที่กำหนดไว้
  • การให้การเสริมแรงทางบวก เช่น การกล่าวชมเชย การให้รางวัล
  • การสาธิต และใช้ต้นแบบที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นๆ ได้ประสบผลสำเร็จ
  • การลดความวิตกกังวลและผลกระทบด้านจิตใจที่เป็นผลจากกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ข้อเท็จจริงเมื่อนำHBM ไปใช้

ข้อเท็จจริงที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่รวบรวมได้จากงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับผลและประสิทธิผลของการนำแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพไปใช้ พบว่า

เมื่อนำ HBM ไปใช้ทำนายพฤติกรรมสุขภาพของบุคคล

ผลการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของ Skinner Tiro และ Champion พบว่า การรับรู้อุปสรรคเป็นตัวแปรที่มีอำนาจพยากรณ์สูงสุดในการทำนายพฤติกรรมสุขภาพของบุคคล ทั้งพฤติกรรมการป้องกันโรคและการรักษาโรคและการรับรู้ประโยชน์เป็นตัวแปรที่มีอำนาจพยากรณ์สูงเป็นอันดับที่สอง โดยเฉพาะเมื่อนำไปศึกษากับพฤติกรรมสุขภาพด้านการป้องกันโรคและพฤติกรรมการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีลักษณะเป็นพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายหรือใช้ระยะเวลาสั้นๆ เช่น การให้ความร่วมมือเข้าร่วมการตรวจคัดกรองโรค ฯ มากกว่าการนำไปใช้กับพฤติกรรมที่ใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนนานๆ หรือพฤติกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่น การสูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมการออกกำลังกาย ฯ

เมื่อนำ HBM ไปใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของบุคคล

ผลการศึกษาของNoar Benac และ Harris พบว่า โปรแกรมที่ประยุกต์ใช้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพที่มีกิจกรรมเสริมสร้างการรับรู้ความสามารถของตนเองจะมีผลทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ดีกว่าโปรแกรมที่ไม่มีกิจกรรมดังกล่าว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการเสริมสร้างการรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นมักมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเองพร้อมๆ กับการมีทัศนคติเชิงบวกและความรู้สึกที่ดีต่อการปรับเปลี่ยนไปสู่พฤติกรรมเป้าหมาย ซึ่งตรงกันข้ามกับการเสริมสร้างการรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคและการรับรู้ความรุนแรงของโรคที่กิจกรรมส่วนใหญ่มักเน้นไปที่การสร้างความรู้สึกกลัวหรือการรับรู้ถึงภาวะคุกคามเท่านั้น

ข้อจำกัดของแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ

เนื่องจากแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพเป็นแบบจำลองด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญเฉพาะกับมีฐานคิดเกี่ยวกับกระบวนการคิดและกระบวนการตัดสินใจของบุคคลเป็นหลัก ดังนั้น จึงมีพฤติกรรมสุขภาพอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถอธิบายหรือปรับเปลี่ยนได้ด้วยลำพังการใช้ทัศนคติและความเชื่อ เช่น พฤติกรรมที่มีภาวะเสพติดร่วมด้วยที่จำเป็นต้องมีระบบการบำบัดรักษาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ใช้เวลานาน เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯ พฤติกรรมที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุและผล เช่น พฤติกรรมการควบคุมอาหารเกินพอดี (โรคคลั่งผอม) และพฤติกรรมที่เป็นผลมาปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น การทำงานในสถานที่ที่อันตราย หรือการอาศัยในแหล่งเสื่อมโทรมและเป็นมลพิษ ฯ จึงอาจเป็นข้อจำกัดหนึ่งของการนำไปใช้อธิบายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของบุคคลได้อย่างรอบด้าน

สรุป

แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1950 โดยกลุ่มนักจิตวิทยาสังคมในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับอิทธิพลมาจากทฤษฎีการตอบสนองต่อสิ่งและทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยม แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้อธิบายพฤติกรรมการป้องกันโรคและพฤติกรรมการรักษาโรคของบุคคลโดยมี 6 องค์ประกอบ คือ ปัจจัยส่วนบุคคล การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค การรับรู้ความรุนแรงของโรค ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติ การรับรู้ประโยชน์ และการรับรู้อุปสรรคในการป้องกันและรักษาโรค และในระยะหลังมีการเสนอตัวแปรการรับรู้ความสามารถของตนเองเข้าไปเพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้กับพฤติกรรมสุขภาพที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพก็มีข้อจำกัดในการนำไปใช้กับพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่สามารถอธิบายหรือปรับเปลี่ยนได้ด้วยทัศนคติและความเชื่อ เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ พฤติกรรมการอดอาหาร รวมทั้งพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากอิทธิพลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีการนำแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพไปใช้ร่วมกับทฤษฎีหรือแบบจำลองด้านพฤติกรรมสุขภาพอื่นๆ มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น


หมายเหตุ

เนื้อหาในบันทึกนี้ ผู้เขียนเรียบเรียงเพื่อจัดทำหนังสือเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ: แนคิด ทฤษฎี และการประยุกต์ใช้ (อยู่ระหว่างดำเนินการจัดพิมพ์)



หมายเลขบันทึก: 611058เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2016 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2016 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท